ขับเคลื่อน 3 กลยุทธ์ ‘สร้าง-เสริม-ส่วนร่วม’ สกัดนักสูบหน้าใหม่-ลดจำนวนสิงห์รมควัน

เป็นภารกิจที่หลายหน่วยงานดำเนินการกันมาอย่างเข้มข้นยาวนาน สำหรับการ “รณรงค์ลดสูบบุหรี่”

รวมถึง สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่ยกเป็นปฏิบัติการครั้งสำคัญ โดยมีการรณรงค์อย่างต่อเนื่อง และเข้าถึงพื้นที่โดยตรง

โดยมุ่งหวังเพื่อสกัดกั้นบุหรี่กับผู้สูบหน้าใหม่ และลดปริมาณการบริโภคในกลุ่มผู้สูบหน้าเดิม

สำหรับปีนี้ สสส. พร้อมด้วยเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ จัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อออกแบบการรณรงค์และขับเคลื่อนกิจกรรม “เลิกสูบ ก็เจอสุข: 5 วิถี ปลอดบุหรี่โดยชุมชนท้องถิ่น” โดยนำเสนอข้อมูลของผู้สูบบุหรี่ ให้กับตัวแทนจากชุมชนทั่วประเทศที่มาร่วมรับฟังและแลกเปลี่ยนไปพร้อมกัน

Advertisement

ดวงพร เฮงบุณยพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน สสส.ระบุว่า จากการดำเนินงานด้านการควบคุมการบริโภคยาสูบ ในระยะ 3 ปีที่ผ่านมา พบว่าชุมชนท้องถิ่น เป็นอีกหนึ่งกลไกที่สามารถเป็นแนวทางจัดการปัญหาในพื้นที่ได้ ดังนั้น จึงมุ่งเน้นไปที่การใช้กลไกในพื้นที่กำหนดมาตรการทางสังคมเพื่อการควบคุมการสูบบุหรี่ในพื้นที่

โดยใช้ 5 ปฏิบัติการสำคัญ คือ 1.สร้างบุคคลต้นแบบ 2.เพิ่มพื้นที่ปลอดบุหรี่ 3.สร้างคลินิกเลิกบุหรี่ 4.เพิ่มกติกาทางสังคม 5.บังคับใช้กฎหมาย ผ่าน 3 กลยุทธ์ ประกอบด้วย สร้าง เสริม และส่วนร่วม

สร้าง คือ การสร้างนักรณรงค์ที่ทำหน้าที่ในการสร้างการรับรู้ และสร้างความตระหนักถึงพิษภัยและผลกระทบจากบุหรี่

Advertisement

เสริม คือ การเสริมทักษะ เสริมความรู้ความเข้าใจถึงพิษภัย โทษของบุหรี่ ให้กับกลุ่มนักสูบหน้าเดิม เข้าสู่กระบวนการ ลด ละ เลิก และป้องกันไม่ให้เกิดนักสูบหน้าใหม่เพิ่มขึ้น

ส่วนร่วม เป็นปฏิบัติการของการรวมตัว ร่วมกัน เพื่อเสริมพลังซึ่งกันและกันในการขับเคลื่อนงาน อาทิ เครือข่ายผู้นำชุมชนไม่สูบบุหรี่ เครือข่าย อสม.ไร้ควัน เครือข่ายบ้านไร้ควัน เพื่อกำหนดมาตรการควบคุมในพื้นที่

ดวงพร ยังเผยถึงข้อมูลล่าสุดจากเครือข่ายว่า อัตราการสูบบุหรี่ของประชากรไทยขณะนี้ พบมีผู้สูบบุหรี่ 7.52 เปอร์เซ็นต์ เป็นชาย 87.83 เปอร์เซ็นต์ เป็นหญิง 12.17 เปอร์เซ็นต์ หรือคิดเป็นอัตราส่วนใน 10 คน มีผู้หญิง 1 คน ผู้ชาย 9 คน และถ้าดูตามกลุ่มอายุ พบว่า วัยแรงงานอายุระหว่าง 15-59 ปี สูบบุหรี่มากที่สุด คิดเป็น 64.23 เปอร์เซ็นต์ ตามมาด้วยผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป 25.64 เปอร์เซ็นต์ เยาวชนอายุระหว่าง 15-24 ปี 4.97 เปอร์เซ็นต์ ช่วงอายุต่ำกว่า 12 ปี 3.89 เปอร์เซ็นต์ และเด็กมัธยมศึกษาอายุ 13-18 ปี 1.26 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ

“ที่น่ากลัวคือกลุ่มผู้สูงอายุที่มีแนวโน้มมีอาการป่วยสูง ซึ่งการสูบบุหรี่มีโอกาสเป็นโรคได้มากกว่า 30 โรค ส่วนผู้ป่วยเรื้อรังไม่ว่าโรคใดถ้ายังสูบบุหรี่ การรักษาจะได้ผลลดลง บางโรคอาจจะมีอาการรุนแรงขึ้น เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคความดัน” ดวงพรกล่าว

ด้าน ดร.นพ.บัณฑิต ศรไพศาล รองผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) รักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก (สำนัก 1) อธิบายว่า ข้อมูลล่าสุดจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ที่สำรวจพฤติกรรมการสูบบุหรี่และดื่มสุราของประชากรครั้งที่ 18 ปี 2560 พบว่า คนไทยมีอัตราการสูบบุหรี่ลดลงอย่างเห็นได้ชัดและลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป้าหมายการลดอัตราการสูบบุหรี่ของประเทศไทยที่รับมาจากองค์การอนามัยโลกคือ ภายในปี 2568 จะต้องลดจำนวนผู้สูบบุหรี่ให้เหลือประมาณ 9 ล้านคน หรือลดลงให้ได้อีก 1 ล้านคนภายใน 7 ปี

ซึ่งการจะลดจำนวนผู้สูบบุหรี่ได้จะต้องใช้กลยุทธ์ต่างกันในแต่ละพื้นที่

ดร.นพ.บัณฑิตเล่าว่า มาตรการลดสูบบุหรี่ที่เป็นสากล ส่วนใหญ่จะมาจากประเทศที่มีความเป็นเมือง ดังนั้น การออกแบบเรื่องการลดสูบบุหรี่ ไม่ว่าจะเป็นการขึ้นภาษี หรือการงดสูบในพื้นที่สาธารณะจะค่อนข้างได้ผล แต่ประเทศไทยมีบางพื้นที่ เช่น ในต่างจังหวัด จะต้องมีการออกแบบกระบวนหรือกลยุทธ์แตกต่างจากในเมือง

“อย่างเรื่องภาษีบุหรี่ ประเทศไทยต้องมีการแก้ไข เพราะเราขึ้นเฉพาะภาษีบุหรี่มวน แต่พวกยาเส้นภาษีต่ำมาก แล้วยาเส้นก็มีการสูบเยอะในต่างจังหวัด เพราะฉะนั้น จะต้องเขยิบภาษียาเส้นขึ้นมา” ดร.นพ.บัณฑิตอธิบาย

นอกจากนี้ ในพื้นที่ต่างจังหวัดยังมีการออกแบบมาตรการรณรงค์ ผ่าน อสม. และ พระ ด้วย

“เนื่องจากคนต่างจังหวัดเขาสูบบุหรี่ในที่โล่งในไร่-นา ดังนั้น ใช้เรื่องงดการสูบบุหรี่ในพื้นที่สาธารณะคงทำไม่ได้ แต่การที่เรามี อสม.แค่เขาใส่เสื้อเลิกสูบบุหรี่ ก็สามารถสร้างความรู้สึกว่ากำลังถูกเตือนโดยสื่อเคลื่อนที่แล้ว ยังมีเรื่องของพระและวัดที่จะเป็นอีกกลไกสำคัญด้วย ยังมีเรื่องของการสร้างบุคคลต้นแบบถ้าเราได้คนเลิกสูบมาเป็นตัวอย่างในการชวน เขาจะรู้สึกว่าการเลิกบุหรี่เป็นเรื่องที่สามารถทำได้มากกว่าเอาคนที่ไม่สูบบุหรี่ไปชวน ซึ่งวิธีการนี้เป็นกระบวนการที่เหมาะกับพื้นที่ต่างจังหวัด”

ดร.นพ.บัณฑิตกล่าวอีกว่า สำหรับกลุ่มการรณรงค์ลดสูบบุหรี่มีอยู่ 2 มิติ คือ กลุ่มผู้สูบบุหรี่เดิม และกลุ่มนักสูบหน้าใหม่ ซึ่งคนที่สูบอยู่แล้วเราต้องชวนเขาเลิก จะยากในลักษณะของการติด ส่วนคนสูบหน้าใหม่ ความยากอยู่ที่การแข่งกับธุรกิจ ซึ่งจะมีวิธีโฆษณาการออกสินค้าที่ยั่วยวน และวิถีชีวิตของคนรุ่นใหม่ปัจจุบันทยอยมีความสุขแบบฉับพลันมากขึ้นเรื่อยๆ โอกาสเกิดการเสพติดก็จะเยอะขึ้น ยิ่งมีสื่อออนไลน์ ยิ่งทำให้สิ่งเหล่านี้เข้าถึงได้เร็วและง่ายขึ้นตรงนี้น่ากลัวมาก

และเนื่องจากมันไม่มีการแทรกแซงเพียงวิธีการเดียว (single intervention) จึงเป็นเรื่องยากในการจัดการหรือควบคุม แต่โดยหลักจะใช้วิธีควบคุมซัพพลายด้วย 4 “P” คือ

1.Products ต้องมีการควบคุม ถ้าปล่อยให้มีการออกแบบ เช่น เป็นแบบที่วัยรุ่นชอบ แบบที่ผู้หญิงชอบ ก็จะทำให้เกิดผลิตภัณฑ์เเบบนี้เต็มไปหมด

2. Price เป็นเรื่องราคาขาย ที่ต้องมีการขึ้นภาษีเป็นระยะ

3.Pass คือ ช่องทางจัดจำหน่าย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสถานที่ คือการห้ามขายหน้าโรงเรียน หรือรูปแบบการขาย เช่น การแบ่งขาย หรือขายให้เด็กอายุน้อย เป็นต้น

4.Promotion ซึ่งรวมถึงการโฆษณาต่างๆ

อย่างไรก็ดี ทั้งหมดนี้ เป็นเพียงส่วนหนึ่งในมาตรการรณรงค์เพื่อลดการสูบบุหรี่เท่านั้น

ดร.นพ.บัณฑิตทิ้งท้ายว่า การจะสร้างสังคมปลอดบุหรี่ ต้องทำหลายมาตรการควบคู่กัน สมมุติว่า 1 มาตรการมีผลแค่ 10 เปอร์เซ็นต์ ก็ต้องมีการดำเนินถึง 10 มาตรการเพื่อให้ได้ผล 100 เปอร์เซ็นต์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image