สะท้อนมุม ร่างทรง 4G เสรีภาพบน ‘ความเชื่อ’ หรือแค่เรื่อง ‘งมงาย’

ห้วงเวลาที่ผ่านมา ข่าวคราวเกี่ยวกับเรื่อง “ร่างทรง” หรือ “คนทรงเจ้า” สร้างแรงกระเพื่อมในสังคมอย่างมาก

เกิดคลิปร่างทรง คลิปการทำพิธีกรรมรูปแบบต่างๆ ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด เรียกเสียงวิพาษ์ในวงกว้างถึงขั้นเปิดเวทีดีเบตให้สองฝ่ายโต้เหตุผล เผยความเห็นของตัวเองผ่านหน้าจอโทรทัศน์

เพราะเรื่องทำนองนี้ พูดไปก็มีทั้งคน “เชื่อ” และ “ไม่เชื่อ”

บางรายลุกลามเป็นคดี อาทิ น.ส.สุริยเทพ พระมหาสุริยะ ซึ่งอ้างเป็นร่างทรงจตุคามรามเทวา หรือร่างทรง 4G

Advertisement

แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า กระแสต่างๆ ที่เกิดขึ้นมีความเชื่อมโยงกับวัฒนธรรมที่มีมายาวนาน นับเเต่โบราณกาลนั้น สังคมอุษาคเนย์นับถือศาสนาผี เป็นจุดร่วมของวัฒนธรรม

รวมถึงการนับถือพลังจากธรรมชาติ พลังเหนือธรรมชาติที่อาจเป็นวิญญาณ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ตามความเชื่อในสังคมนั้นๆ

ดร.ศิลป์ชัย เชาว์เจริญรัตน์

ในประเด็นดังกล่าว ดร.ศิลป์ชัย เชาว์เจริญรัตน์ นักวิชาการด้านศาสนวิทยา ให้ความเห็นว่า เรื่องของร่างทรงมีมาก่อนศาสนาใดๆ ไม่เคยถูกกำจัดไปจริงๆ เเละไม่สามารถกำจัดไปได้ นอกจากนั้นยังถูกหลอมรวม ให้ได้รับการยอมรับในชนชั้นทุกระดับ กลายเป็นเรื่องงมงายที่คุ้นเคย

Advertisement

“เเต่ปรากฏการณ์ยุคใหม่ของร่างทรง 4G อาจเป็นที่แปลกตาจากเดิม เพราะมีการผสมเรื่องราวของบุคคลใหม่ๆ รวมทั้งใช้วิธีนำเสนอใหม่ๆ หลุดออกจากกรอบเดิม อันเป็นวัฒนธรรมที่คุ้นเคย ทำให้เกิดกระแสโจมตีขึ้น เเต่เชื่อว่าถ้ากลุ่มคนที่อ้างว่าเป็นร่างทรงยังคงรูปแบบเดิมก็คงจะไม่เกิดกระแส”

ต่อมุมมองการ “จัดระเบียบร่างทรง” ที่มีการเรียกร้องให้ตั้งกฎกติกาป้องกันมิจฉาชีพใช้ความศรัทธาเเละความเชื่อมาหากิน

ดร.ศิลป์ชัยให้ความเห็นว่า คนที่ออกมาเรียกร้องให้จัดระเบียบร่างทรงน่าจะไม่เข้าใจ และไม่ดูในข้อเท็จจริงว่าเป็นอย่างไร ซึ่งอาจกระทบเรื่องสิทธิเสรีภาพด้านความเชื่อ เกิดปัญหาความไม่เสมอภาคขึ้นได้ ดังนั้นจึงต้องดูรอบด้านว่า ถ้าจัดการคนทรง แล้วหมอดู ช่างสัก หมอคุณไสย หรือผู้มีชื่อเสียงที่ออกโทรทัศน์ในลักษณะดังกล่าวต้องถูกจัดระเบียบด้วยหรือไม่ เพราะหากจัดการ ทุกอย่างต้องเสมอภาคกัน ขณะเดียวกัน “พระสงฆ์” ในวัดต่างๆ ก็ต้องจัดระเบียบให้ครบทั้งหมดด้วย

ทั้งนี้ หากจะจัดระเบียบเรื่องดังกล่าว ถามว่าสังคมไทยพร้อมหรือไม่?

“ทุกอย่างเป็นความเชื่อเชิงศาสนา ทุกคนมีสิทธิในการนับถือโดยเสมอภาคกันทุกศาสนา ดังนั้นถ้าศาสนาต่างๆ มีสิทธิที่คนจะเชื่อหรืองมงายได้ โดยอาจจะพิสูจน์ไม่ได้เหมือนกัน แล้วทำไมหลายคนจะไม่มีสิทธินับถือ “ร่างทรง” เเล้วถ้าบอกว่าการนับถือสิ่งเหล่านี้ผิด หรือมองเรื่องเเบบนี้เป็นเรื่องหลอกลวงทั้งหมด เเล้วจะทำอย่างไรกับอีกหลายเรื่องที่เกิดขึ้น ยังมีเรื่องของการจัดฉากซึ่งมีโอกาสเกิดความไม่เสมอภาคกัน ดังนั้นเรื่องเเบบนี้ทุกคนมีสิทธิและเสรีภาพที่จะงมงายก็ได้เหมือนกัน”

ปู่มหามุนีโต อริยดาบส

‘จริง-ไม่จริง’ มีปนกัน

แนะสังคมศึกษา ทำความเข้าใจ

อย่างไรก็ดี การจะหาข้อพิสูจน์ว่าเจ้าเข้าทรงจริงหรือไม่นั้น นับเป็นเรื่องที่เหนือธรรมชาติเเละยากที่จะหาข้อพิสูจน์ เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับความเชื่อส่วนบุคคล ต้องใช้วิจารณญาณในการตัดสิน ไม่ใช่อคติในการมอง

ในมุมมองของ ปู่มหามุนีโต อริยดาบส ผู้ดูแลด้านสื่อของกลุ่มฤๅษี ยอมรับว่า “ร่างทรงมีทั้งจริงและไม่จริง” พร้อมขยายความว่า ถ้าถามเรื่องไสยเวทย์ หรือในทางพุทธปฏิบัติธรรม การเข้าทรงนั้นเป็นเรื่องจริง

“แต่ถามว่าทำไมถึงออกมาร่ายรำ อันนี้ไม่ใช่นะครับ นี่เป็นความเชื่อเป็นบรรทัดฐานความคิดของบุคคลนั้นที่ต้องการสื่อให้คนอื่นรู้ถึงสิ่งที่ตัวเองเผชิญมาหรือเป็นความเชื่อของตัวเอง เลยอยากเป็นเทพ อยากเป็นเทวดากันไปหมด”

จากกระเเสสังคมที่เกิดขึ้น ปู่มหามุนีโตให้ความเห็นว่า เพราะสังคมศึกษาแต่ทางโลก โดยที่ไม่ได้ศึกษาประเพณี วัฒนธรรม หรือพิธีกรรมต่างๆ เมื่อไม่เข้าใจจึงมองว่าเรื่องเหล่านี้เป็นปฏิหาริย์หรือไม่ เเละเกิดคำถามต่อว่า แล้วทำแบบนี้ถูกต้องไหม จึงต้องออกมาชี้แจงเพื่อให้สังคมเข้าใจในสิ่งต่างๆ

อาจารย์แม่โจ๊ก

ขณะที่ อาจารย์แม่โจ๊ก สายญาณบารมีพระแม่ศรีมหาอุมาเทวี ชลบุรี หรือหลายคนเรียกว่า “พระแม่” หรือ “พระมารดา” หนึ่งในผู้ที่อยู่ในกระเเสโจมตีจากผู้ที่ไม่เชื่อเรื่องการทรงเจ้า เปิดใจกับกระเเสที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องนี้ว่า “เป็นสิทธิเสรีภาพในการนับถือ”

อาจารย์แม่โจ๊กระบุว่า ทุกวันนี้มี 2 ด้าน ทั้งร่างทรงจริงและไม่จริง แต่เป็นสิทธิเสรีภาพในการนับถือ เพราะการศรัทธาบูชาเทพไม่เกี่ยวกับการนับถือศาสนา เป็นเพียงเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจเท่านั้น

“ทำให้เรารู้สึกมีพลังและมีความเชื่อขึ้นมาในตนเองว่าเราจะทำความดีมากขึ้น เเล้วเมื่อมีสิ่งดีๆ เกิดขึ้นกับเรา จากนั้นเราก็ชี้เเนะให้คนทำแต่ความดี แต่สังคมไม่เข้าใจ” เป็นมุมมองของอาจารย์แม่โจ๊กที่อยากบอกต่อสังคม

ส่วนเรื่องจะออกข้อบังคับเป็นกฎหมายนั้น อาจารย์แม่โจ๊กบอกว่า “ก็เป็นสิ่งที่ดี”

“สิ่งที่ทำตอนนี้เกิดจากการมีความสุขที่ได้ทำ แม้จะไม่ได้เงิน รวมทั้งก่อนหน้านี้ก็ไม่ได้เรียกร้องเงินทองแต่อย่างใด เพราะต้องเสียสละตัวเองในการปฏิบัติตนให้อยู่ในศีลและภาวนา ส่วนเวลารับกิจก็ห้ามกินเนื้อสัตว์ หรือทำอะไรที่ผิดศีล เน้นการปฏิบัติ เเละทำความดี” อาจารย์แม่โจ๊กระบุ

‘ความเชื่อ’ กับ ‘พื้นที่สื่อ’ ในยุค 4G

ปิดท้ายด้วยความเห็นของ คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง หรือ “เชฟหมี” อาจารย์ประจำภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ที่มีมุมมองต่อประเด็นนี้ว่า เป็นเรื่องของการเเย่งชิงพื้นที่ของสื่อในสังคม

“ผมคิดว่าโลกออนไลน์เป็นพื้นที่ที่มีการใช้งานกันมาก แล้วประเทศไทยเป็นสังคมของความเชื่อ เพราะฉะนั้นเมื่อหลายคนนำเรื่องความเชื่อของตัวเองมาใช้ในพื้นที่นี้ ซึ่งไม่ได้มีเพียงเรื่องของร่างทรงเท่านั้น ยังมีเรื่องของความเชื่อทางศาสนา หรือปรากฏการณ์ทางความคิดที่แตกต่างกันทางการเมือง ทุกอย่างอยู่ในโซเชียลหมด ซึ่งการนำความเชื่อเรื่องร่างทรงเข้ามาเผยเเพร่ในสื่อออนไลน์คงไม่มีอิทธิพล ทำให้การนับถือการทรงเจ้าเพิ่มขึ้นหรือลดลงกว่าเดิม เเต่เป็นเรื่องของการแย่งชิงพื้นที่ออนไลน์กันเท่านั้น”

เป็นมุมมองเรื่อง “ร่างทรง” บนพื้นที่สื่อออนไลน์ ที่ถึงเเม้จะถูกโจมตีจากคนที่ไม่เชื่อ เเต่ถ้าถามว่าร่างทรงจะหายไปจากพื้นที่ออนไลน์หรือไม่ เชฟหมีระบุว่า “คงไม่หาย” เพราะสังคมออนไลน์คือพื้นที่ที่ใครก็สามารถใช้ได้

ส่วนประเด็นการจัดระเบียบร่างทรงนั้น ในมุมมองนี้ เชฟหมีตั้งคำถามว่าจะจัดระเบียบอย่างไร?

“เพราะกลุ่มคนเหล่านี้ไม่ได้สังกัดองค์กรทางศาสนา ไม่ได้เป็นนักบวชในศาสนาไหน ฉะนั้นจะเอาอำนาจด้านใดไปเป็นข้อบังคับ ประกอบกับประเทศไทยมีกฎหมายบังคับใช้อยู่ ถ้าเมื่อใดที่มีการละเมิดกฎหมายก็จัดการตามกฎหมายเท่านั้น ส่วนตัวยังมองไม่เห็นแนวทางว่าจะทำอย่างไร เพราะเรื่องนี้ถือเป็นสิทธิเสรีภาพในการเชื่อ” เชฟหมีอธิบาย

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

ส่วนปรากฏการณ์สังคมที่มีการโต้เเย้งว่า ร่างทรงเป็นเรื่อง “จริง” หรือ “เฟค”

เชฟหมีมองว่า ไม่ใช่ปัญหา หากมองเรื่องนี้บนจุดยืนในเรื่องของสิทธิและเสรีภาพทางศาสนาก็ไม่ผิดที่จะเชื่อ และมีสิทธิที่จะเชื่อได้ หากไม่ละเมิดสิทธิของคนอื่น แต่ถ้าความเชื่อเกี่ยวโยงกับมิติความเชื่ออื่นๆ ก็ต้องยอมถูกวิจารณ์ได้จากคนที่ไม่เชื่อ เพราะเป็นสิทธิของเขาเหมือนกันที่จะวิพากษ์วิจารณ์ ตราบใดที่การโต้แย้งไม่ได้เกิดอันตรายกับสังคม เพราะนี่คือเรื่องปกติในสังคมประชาธิปไตย

“แล้วถ้ามองในมุมมองความเชื่อหลายๆ ด้านในสังคมไทย ไม่ได้มีเฉพาะเรื่องการทรงเจ้า เข้าทรงผี ยังมีความเชื่อจำนวนมาก ซึ่งหากอยู่บนพื้นฐานของสิทธิเสรีภาพทางศาสนา คิดว่าสังคมไทยก็คงมีพื้นที่ให้กับความเชื่อที่แตกต่างหลากหลายได้ แต่ตราบใดที่เรายังไม่พัฒนาสังคมให้เป็นสังคมประชาธิปไตยเเท้จริง และไม่มีการเน้นย้ำสิทธิและเสรีภาพของคน แน่นอนว่าจะเกิดกระแสแบบนี้เรื่อยๆ” เชฟหมีทิ้งท้าย

ข้างต้นเป็นเพียงความเห็นส่วนหนึ่ง ท่ามกลางกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมไทยที่ยังไม่มีแนวโน้มว่าจะไปในทิศทางไหน แล้วจะจบลงอย่างไร

อย่างไรก็ตาม เรื่องของ “ร่างทรง” เป็นเรื่องของความเชื่อส่วนบุคคลที่คงหาข้อสรุปไม่ได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image