ทัศนา ‘วัด-วัง’ เมืองเพชร ฟังเกร็ดเรื่องเล่า ‘สองแผ่นดิน’ จุดเปลี่ยนความเชื่อ ‘อิทธิฤทธิ์-ปาฏิหาริย์’

ถ้ำเขาหลวง

“สิงหาคม” นับเป็นเดือนที่มีความสำคัญในรอบปี นอกจากจะมี “วันแม่แห่งชาติ” คือวันที่ 12 สิงหาคมแล้วยังมีความสำคัญ เป็นเดือนที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 เสด็จพระราชดำเนินทางชลมารคพร้อมด้วยพระราชโอรส พระราชธิดา โดยเรือพระที่นั่งอรรคราชวรเดช จากท่านิเวศวรดิฐ เพื่อไปทอดพระเนตรสุริยุปราคาเต็มดวงที่หว้ากอ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ตรงกับวันที่ 18 สิงหาคม

ในการเสด็จฯครั้งนั้น มีพระราชโอรสและพระราชธิดาตามเสด็จด้วย โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงอยู่ด้วยขณะทรงเป็นเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ฯ นอกจากนี้ยังมีเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ ข้าราชบริพาร อีกจำนวนมาก โดยเส้นทางเสด็จฯผ่านทาง จ.เพชรบุรี

ต่อมาทรงนำความรู้ด้านวิทยาศาสตร์มาปรับใช้ในการสร้างพระราชวังบนยอดเขา คือ “พระนครคีรี” หรือ “เขาวัง” กลางเมืองเพชรบุรี รวมทั้งพัฒนา จ.เพชรบุรีด้วย

อันที่จริงเมืองเพชรบุรีในอดีตมีพระมหากษัตริย์ทรงสร้างวังถึง 3 รัชกาลด้วยกัน ตั้งแต่รัชกาลที่ 4 รัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 6 จึงถือว่าเพชรบุรีเป็นจังหวัดเก่าแก่ และมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ เพราะมีความเป็นมายาวนานถึง 3,000 ปี เห็นได้จากการค้นพบร่องรอยของมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์ เครื่องมือหิน ลูกปัดหิน ลูกปัดแก้ว เป็นต้น

Advertisement

นักประวัติศาสตร์จากคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากรอย่าง ดร.พัสวีสิริ เปรมกุลนันท์ กล่าวถึงเพชรบุรีว่า เป็นเมืองที่มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์และโบราณคดียาวนานตั้งแต่ยุคแรกเริ่มในดินแดนไทยตราบถึงปัจจุบัน ที่สำคัญยังเป็นดินแดนที่มีความผูกพันเกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์ในราชวงศ์จักรี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสมัยรัชกาลที่ 4 เป็นต้นมา เนื่องจากทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกที่เสด็จฯแปรพระราชฐานไปประทับแรมยังต่างจังหวัด และทรงโปรดปรานเมืองเพชรบุรีเป็นอย่างยิ่ง จนกระทั่งทรงเลือกพื้นที่บนเขามหาสวรรค์ (มไหสวรรย์) กลางเมืองเพชรบุรีเป็นที่สร้างพระราชวังที่ประทับ รู้จักกันในปัจจุบันว่า “เขาวัง” หรือ “พระนครคีรี” นับเป็นพระราชฐานที่ประทับแห่งแรกที่ได้สร้างขึ้นอย่างถาวรนอกเหนือจากพระบรมมหาราชวัง

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนครคีรี

ดร.พัสวีสิริอธิบายว่า สถาปัตยกรรมบนพระนครคีรีแสดงถึงพระราชนิยมของรัชกาลที่ 4 และสะท้อนถึงนวัตกรรมอันทันสมัยในช่วงเวลานั้น ไม่ว่าจะเป็นการสร้างพระราชวังบนยอดเขาโดยใช้รูปแบบสถาปัตยกรรมที่ปรากฏอิทธิพลศิลปะตะวันตกผสมผสานกับศิลปะจีนและไทย น้อยคนนักที่จะทราบว่ารัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯให้ทดลองติดตั้งสายล่อฟ้าที่นี่เป็นครั้งแรกในประเทศไทย และมีเจดีย์ทรงระฆังที่สร้างด้วยหินอ่อน ที่นำมาจากเกาะสีชัง จ.ชลบุรี อยู่อีกฟากฝั่งทะเลอ่าวไทย

ที่พระนครคีรี ยังมีหอชัชวาลเวียงชัย เปรียบเสมือนประภาคาร และเป็นสถานที่สำหรับทอดพระเนตรดาวพุธ โดยมีระบุในจดหมายเหตุของหมอบรัดเลย์ พระนครคีรีจึงเป็นพระราชวังที่แสดงถึงความทันสมัยและศิวิไลซ์เป็นอย่างยิ่ง นอกจากเป็นสถานที่เสด็จฯประทับแรมแล้ว ยังใช้รับรองพระราชอาคันตุกะเรื่อยมาจนถึงสมัยรัชกาลที่ 5 กล่าวคือใช้เป็นที่รับรองพระราชอาคันตุกะที่สำคัญ คือ ดยุกและดัชเชสโยฮันเบรต แห่งเมืองบรันทวีท เจ้าผู้ครองนครรัฐของเยอรมนี โดยตอนนั้นเป็นรัฐโยฮันเบรต

Advertisement

บริเวณพระนครคีรีบนยอดเขายังมีพระที่นั่งต่างๆ อีกหลายองค์ อาทิ พระที่นั่งเพชรภูมิไพโรจน์ เป็นพระที่นั่งองค์ใหญ่ที่สุด สร้างแบบตึกฝรั่ง ใช้เป็นวังที่ประทับของรัชกาลที่ 4 มีห้องพระบรรทม ห้องทรงอักษร ห้องออกว่าราชการ ฯลฯ ภายในพระที่นั่งตกแต่งด้วยข้าวของมีค่าสวยงาม ส่วนใหญ่เป็นของจากยุโรป

ต่อมาที่สำคัญอีกองค์คือ พระที่นั่งเวชยันต์วิเชียรปราสาท นับเป็นพระมหาปราสาทสำคัญมีศิลปะแบบไทย สร้างอยู่ท่ามกลางตึกฝรั่งของพระที่นั่งต่างๆ แต่ดูไม่ขัดตา การสร้างพระมหาปราสาทองค์นี้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชประสงค์ที่จะหล่อพระบรมรูปของพระองค์เท่าขนาดจริงมาประดิษฐานไว้ แต่พอให้ฝรั่งปั้นรูปจำลองถวายให้ทอดพระเนตร ไม่ทรงพอพระราชหฤทัย ภายหลังจึงให้ช่างไทยสมัยนั้นปั้นหุ่นใหม่ ก็ทรงพอพระทัย จึงโปรดฯให้หล่อพระบรมรูปนั้นขึ้น แต่ยังไม่ทันเสร็จก็เสด็จสวรรคตเสียก่อน เรื่องราวยังไม่จบเท่านี้ แต่มีรายละเอียดอีกว่าสุดท้ายพระบรมรูปนั้น ทำไมจึงมาอยู่ที่ตรงนี้ได้

นอกจากนั้นยังมี พระที่นั่งปราโมทย์มไสวรรย์ พระที่นั่งราชธรรมสภา สำหรับประกอบพระราชพิธีต่างๆ ทางศาสนา เป็นต้น

บนพระนครคีรียังมีการสร้างพระเจดีย์ทรงกลมขนาดใหญ่ พระราชทานนามว่า พระธาตุจอมเพชร ในนั้นประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ส่วนยอดเขาที่ไกลสุดเป็นที่ตั้งของ วัดพระแก้วน้อย ที่บริเวณไหล่เขาทางด้านทิศตะวันออกมีวัดโบราณชื่อ วัดสมณ (สะ-มะ-นะ) ปัจจุบันชื่อทางการเรียก วัดมหาสมณาราม หรือ วัดเขาวัง

วัดมหาสมณารามราชวรวิหาร

ใกล้กับพระนครคีรี ยังมีเขาหลวง เป็นเขาสำคัญขนาดใหญ่ในเมืองเพชร มีถ้ำขนาดใหญ่ประดิษฐานปูชนียวัตถุที่มีอายุเก่าแก่ถึงสมัยอยุธยา อาทิ พระพุทธไสยาสน์ รอยพระพุทธบาท พระพุทธรูปปางมารวิชัย หรือหลวงพ่อถ้ำหลวง สิ่งสำคัญภายในถ้ำที่แสดงถึงความเกี่ยวข้องกับพระราชวงศ์จักรี คือ พระพุทธรูปในศิลปะรัตนโกสินทร์ มีจารึกพระปรมาภิไธยและตราพระบรมราชสัญลักษณ์ของรัชกาลที่ 1-4 เชื่อว่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯให้สร้างพระพุทธรูปเหล่านี้ขึ้น เพื่อถวายพระราชกุศลแด่รัชกาลที่ 1-4

รวมทั้งภายในถ้ำเขาหลวงยังมีพระพุทธรูปขนาดหน้าตักประมาณ 1 ศอก ที่เรียงรายอยู่รอบผนังถ้ำจำนวนกว่า 100 องค์ เกือบทุกองค์มีจารึกพระนามพระบรมวงศานุวงศ์ในพระราชวงศ์จักรี สมัยรัชกาลที่ 4-5 พระพุทธรูปที่มีจารึกพระนามพระราชวงศ์เหล่านี้น่าจะสร้างขึ้น เพื่อเป็นการบำเพ็ญพระราชกุศลของพระราชวงศ์

จึงนับได้ว่าถ้ำเขาหลวงเป็นสถานที่ที่ปรากฏพระพุทธรูปที่มีจารึกพระนามพระราชวงศ์ที่มีจำนวนมากที่สุดในประเทศไทย

เรื่องราวของพระนครคีรีและรัชกาลที่ 4 ยังเกี่ยวพันไปถึงกลุ่มชาติพันธุ์ลาวโซ่ง หรือไทยทรงดำ ที่แต่เดิมอาศัยอยู่บริเวณสิบสองจุไท ประเทศจีน ถูกกวาดต้อนเข้ามาในไทยช่วงสมัยธนบุรีและต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ที่โปรดให้ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่เพชรบุรี ชาวลาวโซ่งเหล่านี้เป็นแรงงานสำคัญในการสร้างทางขึ้นไปยังพระนครคีรี เป็นที่เล่าขานกันมาถึงปัจจุบัน

ห่างจากตัวเมืองเพชรบุรีออกมาอีกไม่ไกลมากนักเป็นที่ตั้งของ พระรามราชนิเวศน์ หรือ พระราชวังบ้านปืน ว่ากันว่ารัชกาลที่ 5 ทรงซื้อที่ดินจากราษฎรแล้วตัดถนนเข้าไป โดยลงมือสร้างเมื่อ พ.ศ.2450 รัชกาลที่ 5 ทรงวางศิลาฤกษ์และพระราชทานนามไว้ก่อน พร้อมทั้งให้หล่อรูปพระนารายณ์ทรงธนู แต่ชาวบ้านเรียกพระนารายณ์ปืน ซึ่ง “ปืน” ในที่นี่หมายถึงลูกธนู หล่อเสร็จทรงตั้งใจนำมาไว้ที่ประดิษฐานพระบรมราชานุสาวรีย์ปัจจุบัน แต่สร้างไม่เสร็จก็สวรรคตก่อน รัชกาลที่ 6 จึงมาสร้างต่อ เมื่อรัชกาลที่ 6 สร้างเสร็จไม่เคยเสด็จฯประทับอย่างเป็นทางการ และไม่ได้ใช้เป็นวังอย่างสมบูรณ์ จะเสด็จฯมาก็ต่อเมื่อมีการฝึกซ้อมเสือป่าเท่านั้นเอง

พระราชวังบ้านปืน

“กระแสความตื่นตัวในวัฒนธรรมตะวันตกของชนชั้นนำสยามช่วงต้นรัตนโกสินทร์ เริ่มมีบทบาทอย่างชัดเจนในสมัยรัชกาลที่ 3 ขณะนั้นถือว่าชนชั้นปกครองยังมีท่าทีในการอนุรักษนิยม ด้วยเหตุที่ผู้นำฝ่ายอนุรักษนิยมเป็นพระมหากษัตริย์ แต่เมื่อเปลี่ยนแผ่นดินมาสู่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เจ้านายและชนชั้นนำทั้งปวงก็เปลี่ยนมารับวัฒนธรรมตะวันตกได้โดยง่าย เป็นผลมาจากทรงแลกเปลี่ยนความรู้กับชาวตะวันตกมาเป็นเวลานานขณะที่ทรงผนวช

“แนวความคิดและศิลปวิทยาการสมัยใหม่ จึงเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้งานศิลปกรรมที่สร้างขึ้นตามพระราชประสงค์ในรัชกาลที่ 4 มีความโดดเด่นกว่ายุคสมัยอื่น แนวความคิดที่สำคัญคือแนวสัจนิยมและมนุษยนิยม งานศิลปกรรมในพระราชประสงค์ เช่น งานจิตรกรรมฝาผนังพระอารามหลวง ไม่นิยมเขียนรูปไตรภูมิโลก แต่เขียนภาพและเรื่องราวอย่างสมจริง เป็นเหตุเป็นผลมากกว่าจะเป็นเรื่องของอิทธิปาฏิหาริย์ หรือการสร้างพระบรมรูปที่สมจริง ขัดกับความเชื่อว่าไม่ควรกระทำ”

จะเป็นเช่น ดร.พัสวีสิริ อาจารย์สาวจากคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ว่าไว้หรือไม่ เป็นคำถามที่ชวนค้นหาคำตอบอย่างยิ่ง !!!

วัดกุฏิบางเค็ม
วัดกุฏิบางเค็ม

ทัวร์ ทัศนา ‘วัด-วัง’ เมืองเพชร

ฟังเกร็ดเรื่องเล่า ‘สองแผ่นดิน’ จ.เพชรบุรี-ประจวบคีรีขันธ์

วันที่ 18-19 สิงหาคม 2561

วิทยากร : ผศ.ดร.พัสวีสิริ เปรมกุลนันท์

ราคา 5,800 บาท

โปรแกรมการเดินทาง

วันเสาร์ที่ 18 สิงหาคม 2561

07.00 น. ออกเดินทางสู่ จ.เพชรบุรี

10.00 น. ถึงอุทยานประวัติศาสตร์พระนครคีรี หมู่พระราชวังบนขุนเขาแห่งเมืองเพชรบุรี นั่งรถรางสู่ยอดเขาเพื่อเข้าชมหมู่พระที่นั่งที่สำคัญต่างๆ ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนครคีรี อาทิ พระตำหนักสันถาคาร พระที่นั่งเพชรภูมิไพโรจน์ พระที่นั่งปราโมทย์มไหสวรรย์ พระที่นั่งเวชยันต์วิเชียรปราสาท

จากนั้นเดินเท้าไปยังพระธาตุจอมเพชร พระเจดีย์ที่รัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯให้สร้างขึ้นทับพระเจดีย์โบราณของวัดอินทรคีรีซึ่งชำรุดทรุดโทรม พร้อมชมวัดพระแก้วน้อย พุทธสถานประจำพระราชวังพระนครคีรี

12.00 น. รับประทานอาหารกลางวัน ที่ร้านอาหารพวงเพชร

13.00 น. เดินทางไปยังวัดมหาสมณารามราชวรวิหาร วัดสำคัญที่รัชกาลที่ 4 เคยเสด็จฯมาพักอยู่เมื่อครองเพศบรรพชิต และโปรดฯให้ทรงบูรณะซ่อมแซมเมื่อครั้งให้สร้างพระนครคีรี ชมจิตรกรรมฝาผนังที่โดดเด่นด้วยเทคนิคการเขียนภาพแบบเพอร์สเปกทีฟอย่างตะวันตก

14.00 น. เดินทางสู่ถ้ำเขาหลวง ตั้งอยู่บนเขาหลวง โดยสถานที่แห่งนี้เป็นที่รู้จักผ่านวรรณคดีที่สำคัญ เช่น นิราศเมืองเพชร ของสุนทรภู่ และนิราศเขาหลวง ชมพระพุทธรูปประจำแผ่นดินทั้งหมด 4 องค์ สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 เพื่อถวายพระราชกุศลแด่รัชกาลที่ 1-3 และของส่วนพระองค์ พระพุทธรูปแต่ละองค์มีจารึกพระปรมาภิไธยที่ฐาน

15.30 น. เดินทางไปยัง อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์

17.00 น. รับประทานอาหารเย็นที่ร้านปลาทู เรสเตอรองท์

18.00 น. เดินทางไปยังที่พัก IBIS HUA HIN พักผ่อนตามอัธยาศัย

วันอาทิตย์ที่ 19 สิงหาคม 2561

07.30 น. รับประทานอาหารเช้า

08.30 น. เดินทางไปยังวัดห้วยมงคล ที่ประดิษฐานรูปเหมือนหลวงพ่อทวดองค์ใหญ่ที่สุดในโลก แต่เดิมใช้ชื่อว่า “วัดห้วยคต” ต่อมารัชกาลที่ 9 พระราชทานนามใหม่จากห้วยคต เป็นห้วยมงคล เนื่องจากครั้งที่เสด็จฯมายังวัดนี้ได้มีดำริให้สร้างถนนใหม่ จากถนนดินเป็นถนนลาดยาง โดยพระราชทานนามให้เช่นเดียวกับชื่อวัด โดยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จฯทอดพระเนตร เททองหล่อองค์หลวงพ่อทวด เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2547 และพระราชทานพระราชานุญาตให้คณะกรรมการจัดสร้างอัญเชิญพระนามาภิไธยย่อ ส.ก. ขึ้นประดิษฐานที่หน้าองค์รูปหล่อองค์หลวงพ่อทวดองค์นี้

09.30 น. เดินทางไปยังเจดีย์ทุ่งเศรษฐี โบราณสถานสำคัญตั้งอยู่ติดเขานางพันธุรัต ชมฐานของสถูปในวัฒนธรรมแบบทวารวดีที่ยังหลงเหลือยู่

10.45 น. เดินทางไปยังเมืองเพชรบุรี

12.00 น. รับประทานอาหารกลางวัน

13.00 น. เดินทางไปยังพระรามราชนิเวศน์ หรือ พระราชวังบ้านปืน เป็นพระราชวังที่ประทับฤดูฝนของรัชกาลที่ 5 ทรงโปรดเกล้าฯให้สร้างขึ้นเมื่อเสด็จประพาส จ.เพชรบุรี

14.30 น. แวะซื้อของฝากของเมืองเพชรบุรี

15.00 น. เดินทางไปวัดกุฏิบางเค็ม วัดเก่าแก่สมัยอยุธยา มีโบสถ์ไม้สักแกะสลักทั้งหลังเป็นเรื่องทศชาติชาดก และเรื่องราวจากวรรณกรรมจีนชื่อดัง “ไซอิ๋ว” แห่งเดียวในประเทศไทย

16.30 น. เดินทางกลับกรุงเทพฯ

20.00 น. ถึงมติชนอคาเดมี โดยสวัสดิภาพ

***กำหนดการอาจมีการเปลี่ยนแปลงตามความเหมาะสม

สนใจติดต่อ มติชนอคาเดมี

Inbox : Facebook Matichon Academy

Tel : 0-2954-3977-84 ต่อ 2115, 2116, 2123, 2124

Mobile : 08-2993-9097, 08-2993-9105

line : @matichonacademy

หลวงปู่ทวด วัดห้วยมงคล
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image