คนรุ่นใหม่! พลิกโฉมการอ่านด้วยนวัตกรรม ผลักดันไทยสู่สังคมแห่งการเรียนรู้

รู้หรือไม่ว่า คนไทยไม่ได้อ่านหนังสือแค่เพียง 8 บรรทัดต่อปีอีกต่อไป!!

จากการเก็บข้อมูลล่าสุดของสำนักงานอุทยานการเรียนรู้ (TK park) ร่วมกับสำนักงานสถิติแห่งชาติ ช่วง พ.ศ.2558 และทำการวิเคราะห์ข้อมูลก่อนเผยแพร่สู่สาธารณชนเมื่อ พ.ศ.2559 มีการยืนยันแล้วว่า “คนไทยใช้เวลาอ่านหนังสือเพิ่มมากขึ้นเป็น 66 นาทีต่อวัน โดยกลุ่มเด็กและเยาวชนเป็นกลุ่มที่มีอัตราการอ่านสูงสุดในทุกวัย”

“อย่างไรก็ตามยังมีการเร่งสร้างวัฒนธรรมการอ่านให้คนไทยทุกเพศทุกวัย ด้วยโครงการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตในทั่วทุกภูมิภาค เพื่อร่วมสร้างการเรียนรู้ที่เข้มแข็งให้เกิดในสังคม”

เป็นการวางรากฐาน “สังคมไทย” สู่ “สังคมรักการอ่าน”

Advertisement

แม้ประเด็นการอ่านและการเข้าถึงข้อมูลความรู้จะมีแนวโน้มที่ดีขึ้น แต่ก็ยังพบปัญหาประชาชนขาดทักษะการอ่านหนังสือในหลายพื้นที่ ส่งผลให้รัฐบาลและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเกิดความตระหนักถึงความสำคัญของการอ่าน

สอดคล้อง “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ออกมาสนับสนุนเรื่องของแผนแม่บทด้านการอ่านเมื่อเร็วๆ นี้

Advertisement

โดยกล่าวในรายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” ว่าอยากสนับสนุนให้คนไทยทุกคนรักการอ่าน เพราะเป็นพื้นฐานในการสร้างแนวคิด เป็นคนมีเหตุมีผล ใช้สติปัญญาในการแก้ไขปัญหาของตนเองให้ลุล่วง

พร้อมกำชับให้ทุกหน่วยงานร่วมกันใช้การอ่านเป็นเครื่องมือในการผลักดันประเทศไทย ให้ก้าวสู่สังคมแห่งการเรียนรู้อย่างมั่นคงและยั่งยืน รวมทั้งปลูกฝังให้คนไทยมีทักษะด้านการอ่าน เขียน คิด และพูดอย่างมีประสิทธิภาพ

ขณะเดียวกัน บิ๊กตู่ยังได้มอบหมายให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่ หาแนวทางเพิ่มอัตราการอ่านของประชาชน จากสื่อส่งเสริมการอ่านที่หลากหลาย พร้อมให้ทำการสำรวจข้อมูลเกี่ยวกับห้องสมุดแต่ละพื้นที่ในประเทศไทยว่ามีหนังสือเพียงพอต่อความต้องการของประชาชนในจังหวัดนั้นๆ หรือไม่

เพื่อนำมาเป็นข้อมูลในการดำเนินงานพัฒนาระบบห้องสมุดทั่วประเทศ ให้ประชาชนมีโอกาสในการเข้าถึงความรู้ต่างๆ มากขึ้นต่อไปในอนาคต

ดังนั้นเพื่อเป็นการส่งเสริมเรื่อง “การอ่าน” อย่างจริงจัง เเละเป็นการตอบรับนโยบายของรัฐบาลไปพร้อมกัน

สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) จึงจัดโครงการประกวดนวัตกรรมส่งเสริมการอ่านทั่วประเทศ เพื่อส่งเสริม สนับสนุน เพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานตามโครงการพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ภายใต้การดำเนินงานโครงการ “เมืองนักอ่าน”

โดยมีความคาดหวังว่าจะเป็นการจุดประกายให้บุคลากรภาคีเครือข่าย และอาสาสมัคร ได้มีนวัตกรรมส่งเสริมการอ่านที่หลากหลาย

ส่งผลให้ประชาชนได้รับการบริการด้านการอ่านอย่างมีประสิทธิภาพตามบริบทของเเต่ละพื้นที่ เเละตามความสนใจหรือความถนัดของผู้อ่าน เป็นการเพิ่มอัตราการอ่านของประชาชนในทุกภูมิภาคของประเทศ

กฤตชัย อรุณรัตน์ เลขาธิการ กศน. ระบุว่า หากมองในภาพรวมจากผลงานที่แต่ละจังหวัดได้มาจัดแสดงนั้น ถือว่าประสบความสำเร็จในเชิงของแนวคิดและวิธีการ เพราะเรามองเห็นถึงสิ่งที่ประชาชนได้รับประโยชน์จากการอ่าน มองเห็นถึงนวัตกรรมที่จะสามารถแก้ปัญหาได้ตรงจุดและสอดคล้องกับประชาชน

เนื่องจากปัจจุบันภาพรวมด้านการอ่านของประชาชนในประเทศนั้นยังมีการประเมินผลที่ไม่เป็นไปตามเกณฑ์ที่น่าพึงพอใจ จึงต้องมีมาตรการกระตุ้นที่ให้ประชาชนเกิดความตระหนัก มีแรงบันดาลใจ และเห็นประโยชน์ของการอ่าน รวมถึงการนำความรู้ที่ได้นั้นไปใช้ในชีวิตประจำวันด้วยเช่นกัน

“หากมองในเชิงนวัตกรรมที่แต่ละหน่วยงาน แต่ละสถานศึกษา ได้นำมาแสดง ผมว่าเขาได้พยายามมองถึงจุดที่มีปัญหาและศึกษาวิธีการแก้ไข ซึ่งตรงนี้จะเป็นสิ่งหนึ่งที่ทุกสถานศึกษาต้องพยายามคิดค้นกระบวนการต่างๆ เพื่อตอบสนองต่อสภาพปัญหาเหล่านั้นให้เขาได้รับประโยชน์จากการอ่านให้มากที่สุด”

กฤตชัย อรุณรัตน์


สำหรับการจัดงานประกวดนวัตกรรมการอ่านในครั้งนี้ มาจากการตั้งโจทย์เรื่องการอ่านขึ้น จากนั้นกลุ่มผู้เข้าร่วมจะมีการค้นคว้าความรู้มาตอบสนองต่อประเด็นที่วางไว้


กฤตชัยกล่าวต่อว่า สำหรับการจัดกิจกรรมเกี่ยวกับนวัตกรรมนี้ถือว่าเป็นประโยชน์ ในการแลกเปลี่ยนไอเดียจากการดำเนินการกันในแต่ละพื้นที่ เพื่อสนองต่อความต้องการและกระตุ้นให้ประชาชนได้เกิดนิสัยรักการอ่าน อันนี้เป็นวัตถุประสงค์หลักและเป็นไปตามพระบรมราโชบายของสมเด็จพระเทพฯ ที่ต้องการให้มีการส่งเสริมและเกิดนวัตกรรมที่พัฒนาการอ่านให้เพิ่มมากขึ้น

ขณะเดียวกันยังรับกับนโยบายของบิ๊กตู่ เรื่องการอ่านด้วย

“ผมคิดว่าดีมากครับ ที่รัฐบาลมีแผนงานในการสนับสนุนห้องสมุดทั่วประเทศ เราเคยออกไปทำกิจกรรมห้องสมุดเคลื่อนที่ ซึ่งเป็นกิจกรรมที่สนองกับนโยบายของรัฐที่จะส่งเสริมการอ่าน โดยคาดว่าจะส่งผลให้ทุกคนได้เกิดการอ่านที่มีประสิทธิภาพยิ่งกว่าเดิม ได้เนื้อหาสาระเพิ่มขึ้นในระยะเวลาที่น้อยลง” กฤตชัยอธิบาย

และว่า เรื่องการส่งเสริมการอ่านสิ่งที่อยากจะเห็น คือภาพทุกภาคส่วนเน้นการเชื่อมโยงและร้อยเรียงเรื่องของกิจกรรม โดยบูรณาการเข้ากับภารกิจหน้าที่ของแต่ละหน่วยงาน ทำให้ประชาชนซึมซับและเกิดนิสัยรักการอ่านโดยไม่รู้ตัว กลายเป็นหนึ่งในวิถีชีวิตของเขาเอง ว่าจะต้องอ่านเพื่อเพิ่มพูนความรู้หรือตอบสนองความต้องการต่างๆ อยู่เสมอ

พร้อมยกตัวอย่าง เช่น กระทรวงศึกษาธิการอาจเน้นให้เกิดการเรียนการสอนผ่านกิจกรรมในห้องสมุดให้มากขึ้น ส่วนกระทรวงการท่องเที่ยวอาจจะสอดแทรกเกร็ดความรู้ในสถานที่ต่างๆ หรือกระทรวงวัฒนธรรมอาจจะหากิจกรรมให้ประชาชนได้เรียนรู้เรื่องของประวัติศาสตร์วัฒนธรรมของท้องถิ่น เป็นต้น

“วันนี้เราก็มีการบูรณาการเป็นแผนในการขับเคลื่อน ‘การรักการอ่าน’ โดยมีกระทรวงวัฒนธรรมเป็นแม่งาน ส่วนกระทรวงศึกษาธิการก็เป็นคณะทำงานในการขับเคลื่อน ซึ่งก็ถือว่ามีทิศทางที่ดีพอสมควร”

เลขาธิการ กศน.บอกอีกว่า เรื่องการอ่านมีหลายนัยยะ ประการแรกคือการอ่านที่เกิดจากใจ มีความรู้สึกอยากอ่านและเป็นคนที่ใฝ่รู้อยู่เสมอ ส่วนประการที่ 2 นั้นจะเป็นเรื่องขององค์ความรู้ที่อยากจะรู้ว่าเรื่องนั้นๆ ว่ามีความเป็นมาอย่างไรเป็นเรื่องของสาระและเนื้อหาความรู้ และประการที่ 3 คือเรื่องของพฤติกรรม

“ผมอยากให้ทุกคนมีนิสัยในการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ด้วยการอ่าน เพราะฉะนั้นการอ่านของผมก็จะรวมเป็นลักษณะของการให้มีจิตใจในการที่จะใฝ่รู้ ให้เป็นคนที่อยากจะหาองค์ความรู้ และก็ให้ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ ซึ่งจะใช้การอ่านให้สามารถตอบสนองตรงจุดนี้ได้” กฤตชัยกล่าวทิ้งท้าย

ภายใต้ผลงานชื่อว่า “เล่นตามพ่อ” ของ กลุ่มอิงดอย จาก กศน. อ.แม่สรวย จ.เชียงราย ที่นำแนวคิดที่เชื่อมโยงการอ่านและการเรียนเข้ากับการเล่น นำไปสู่การสร้างมุมมองการเล่นที่ได้เนื้อหาสาระ จนสามารถคว้ารางวัลชนะเลิศของโครงการนวัตกรรมการอ่านระดับประเทศ ประจำปี 2561 ไปได้

ผลงาน “เล่นตามพ่อ” ได้ใช้องค์ความรู้จากภูมิปัญญาท้องถิ่น และการละเล่นพื้นบ้านแบบพอเพียงมาเป็นแรงบันดาลใจ โดยมี ศรานันท์ มีหวัง ผู้อำนวยการ กศน. อ.แม่สรวย, นัยนา สมควร บรรณารักษ์ชำนาญการ ห้องสมุดประชาชน, วีรวัฒน์ กังวานนวกุล ผู้ร่วมก่อตั้งพิพิธภัณฑ์เล่นได้ และ รามิล กังวานนวกุล นักศึกษา กศน. ร่วมกันทุ่มเทแรงกายแรงใจในการดำเนินงาน

ไม่เพียงเเต่นำองค์ความรู้จากคนเฒ่าคนแก่ในพื้นที่มาถ่ายทอดในรูปแบบของเล่นพื้นบ้าน ยังต่อยอดนวัตกรรมส่งเสริมการอ่านนี้ด้วยการนำมาผสมผสานเข้ากับเทคโลยีในปัจจุบัน จนกลายเป็นนวัตกรรมของเล่นที่ตอบโจทย์คนทุกเพศทุกวัย

ไม่ว่าใครก็สามารถเข้าถึงและเรียนรู้ความเป็นท้องถิ่นได้อย่างดี เช่น ตุ๊กตาไม้แบบกลไกอัตโนมัติ โฮโลแกรมฉายภาพเครื่องเล่นพื้นบ้านโบราณ 3 มิติแบบแฮนด์เมด รวมถึงการจัดทำหนังสือที่รวบรวมความรู้เกี่ยวกับของเล่นพื้นบ้านกว่า 50 ชนิด เป็นต้น ซึ่งจะเป็นการอนุรักษ์ของเล่นพื้นบ้านเก่าแก่และรักษาคุณค่าของภูมิปัญญาท้องถิ่นให้คงอยู่สืบไป ไม่จางหายไปตามกาลเวลา

รามิล นักศึกษา กศน. ยังเป็นสมาชิกกลุ่ม Young Maker ซึ่งเป็นกลุ่มที่ดูเเลต่อยอดผลิตภัณฑ์ในพิพิธภัณฑ์เล่น และได้นำนวัตกรรมส่งเสริมมานำเสนอร่วมกับกลุ่มอิงดอย ในงานครั้งนี้

“ผมและเพื่อนๆ อยากทำของเล่นพื้นบ้านให้น่าสนใจมากขึ้น โดยใส่ตัวเฟือง ใส่กลไก และใส่ความเป็นคนรุ่นใหม่ลงไปในชิ้นงาน แม้เบื้องหน้าคือสิ่งประดิษฐ์ แต่เบื้องหลังของชิ้นงานล้วนมาจากการอ่านและการศึกษาอย่างละเอียดทั้งสิ้น” รามิลอธิบายถึงเเนวคิดเเละที่มาของผลงาน

ขณะที่ วีรวัฒน์ ผู้ร่วมก่อตั้งพิพิธภัณฑ์เล่นได้ ผู้เป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนกิจกรรมนี้กล่าวเสริมว่า หากผลิตของเล่นพื้นบ้านอย่างเดียว ผมเรียกว่าผลิตซ้ำทางความรู้ แต่การที่เด็กๆ รุ่นใหม่ลุกขึ้นมาผสมผสานเทคโลยีเข้ากับของเล่นพื้นบ้าน นั่นคือการต่อยอดความรู้อย่างแท้จริง

ทั้งหมดเป็นเพียงส่วนหนึ่งของนวัตกรรมที่จะส่งเสริมเเละสนับสนุนในการเข้าถึงองค์ความรู้ในการอ่านอย่างมีประสิทธิภาพและน่าสนใจ

แต่สิ่งสำคัญที่สุดที่จะทำให้เกิดการอ่าน คือ การปลูกฝังการรักการอ่าน ทำให้เกิดการขวนขวายและความมุ่งมั่นตั้งใจเพื่อเข้าถึงข้อมูลที่เป็นตัวหนังสือ และสร้างความรู้สึกที่ว่าโลกนี้ยังมีอะไรอีกมากมายให้ได้ศึกษาอยู่เสมอ ดังคำกล่าวว่า “Knowledge is endless to learn. การเรียนรู้ไม่มีที่สิ้นสุด” นั่นเอง

ทีมชนะเลิศ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image