แก้ปัญหาท่วม-แล้ง จ.พัทลุง วางแนวทางจัดการน้ำ ‘ท่าเชียด’

ไม่กี่วันก่อนหน้านี้ พายุโซนร้อน “เบบินคา” (BEBINCA) ได้เคลื่อนตัวจากประเทศเวียดนาม และอ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชั่นและหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมประเทศลาว ทำให้เกิดฝนตกหนักและมีน้ำท่วมในหลายพื้นที่

ขณะที่ประเทศไทยอิทธิพลพายุเบบินคาส่งผลให้เกิดวาตภัยและอุทกภัยเข้าขั้นวิกฤตในภูมิภาคต่างๆ ของประเทศ โดยเฉพาะในภาคเหนือและอีสานตอนบนที่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก

เเม้หย่อมความกดอากาศต่ำที่อ่อนกำลังลงจากพายุดีเปรสชั่นจะเคลื่อนออกจากบริเวณภาคเหนือตอนบนของประเทศไทยเข้าปกคลุมประเทศพม่าแล้วก็ตาม เเต่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน และอ่าวไทย ยังคงมีกำลังแรง

เช่นนี้ ทำให้ภาคเหนือยังคงมีฝนมากกว่าบริเวณอื่นๆ และมีฝนตกหนักบางพื้นที่บริเวณภาคเหนือ ด้านตะวันตกของภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ตอนบนด้วย

Advertisement

เป็นเหตุให้สถานการณ์ภัยทางธรรมชาติในไทยยังไม่คลี่คลายนัก

สำหรับ จังหวัดพัทลุง แม้จะไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากพายุเบบินคาก็ตาม แต่ที่ผ่านมาจังหวัดพัทลุงมักประสบปัญหาอุทกภัยเป็นประจำทุกปี เนื่องจากฝนที่ตกหนักในช่วงฤดูฝนในพื้นที่ตอนบนลุ่มน้ำบริเวณเทือกเขาบรรทัด ทำให้น้ำป่าไหลหลากและเกิดน้ำท่วมฉับพลันในหลายพื้นที่ ขณะเดียวกันยังส่งผลให้ลำน้ำหลายสายเอ่อล้นตลิ่งท่วมพื้นที่ริมฝั่งน้ำ เเละเกิดน้ำท่วมขังบริเวณที่ราบลุ่มหลายเเห่ง

ดังนั้น การวางแผนบริหารจัดการน้ำจึงเป็นเรื่องสำคัญ ไม่เพียงต้องจัดสรรให้เพียงพอต่อการดำเนินชีวิตของชาวบ้านและภาคการเกษตรเท่านั้น ยังต้องควบคุมดูแลไม่ให้น้ำมีมากเกินไปจนเข้าท่วมพื้นที่ของชาวบ้านและสร้างความเสียหายให้กับชาวบ้านด้วย

Advertisement

ด้วยเล็งเห็นถึงความสำคัญของการจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ กรมชลประทานจึงจัดสัมมนา แนวทางการบริหารจัดการน้ำ “ปรับปรุงโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาท่าเชียด” จ.พัทลุง เพื่อรองรับการเพาะปลูกพืชของเกษตรกรในพื้นที่กว่า 1 แสนไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 5 อำเภอ 8 ตำบล คือ อ.เขาชัยสน ได้แก่ ต.เขาชัยสน ต.จองถนน, อ.บางแก้ว ได้แก่ ต.ท่ามะเดื่อ ต.นาปะขอ ต.โคกสัก, อ.ตะโหมด ได้แก่ ต.แม่ขรี, อ.ป่าบอน ได้แก่ ต.ป่าบอน และ อ.ปากพยูน ได้แก่ ต.ฝาละมี

ซึ่งจากเดิมพื้นที่ในโครงการเหล่านี้จะเป็นนาข้าวเกือบทั้ง 100% เพราะสภาพดินเหมาะแก่การปลูกข้าว สภาพฝนก็มากพอ มีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 2,642 มิลลิเมตรต่อปี แต่เมื่อราคายางพาราปรับตัวเพิ่มสูงมากเป็นกิโลกรัมละ 100-200 บาท เมื่อ 10 กว่าปีก่อน ทำให้เกษตรกรเกือบทั้งหมดหันมาเปลี่ยนการปลูกพืชใหม่ จากเดิมที่เป็นการปลูกข้าวเกือบทั้งหมด กลายเป็นปลูกยางพาราและปาล์มน้ำมันแทน

ส่งผลทำให้การบริหารจัดการน้ำโครงการฯ ท่าเชียด ต้องทำการเปลี่ยนแปลงการบริหารจัดการไปด้วย เพราะการขยายพื้นที่ทำการเกษตรของเกษตรกรยังขาดแหล่งน้ำคอยสนับสนุน

นับเป็นกรณีศึกษาสำคัญของประเทศไทย เพราะมีไม่บ่อยมากนักที่จะได้เห็นการปรับเปลี่ยนการทำการเกษตรเกือบทั้งหมดของพื้นที่ จากพืชอายุสั้นอย่าง “ข้าว” มาเป็นไม้ยืนต้นอย่าง “ยางพารา” และ “ปาล์มน้ำมัน”

เฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีฝ่ายวิชาการ กรมชลประทาน กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำของพื้นที่โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาท่าเชียด โดยการสร้างอ่างเก็บน้ำคลองหัวช้างที่อยู่ด้านเหนือ ความจุประมาณ 30 ล้านลูกบาศก์เมตร เพื่อส่งน้ำตามลำน้ำเดิมมายังคลองท่าเชียด มีระยะทางกว่า 30 กิโลเมตร ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาได้ในระดับหนึ่ง เพราะยังมีเกษตรกรท้ายอ่างเก็บน้ำคลองหัวช้างซึ่งก็ต้องการน้ำในการทำการเกษตรเช่นเดียวกัน สูบน้ำในระหว่างทางการส่งน้ำ ทำให้ปริมาณน้ำไม่เพียงพอในการส่งน้ำให้ถึงท่าเชียด

“ปัญหาเรื่องน้ำอีกประการหนึ่งเกิดจากกลุ่มผู้ใช้น้ำยังไม่เข้มแข็ง ถึงแม้ว่าจะมีการจัดตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำ (JMC) ขึ้นมา แต่ในตอนแรกที่ให้เลือกตั้งคณะกรรมการกันเองกลับไม่ประสบผลสำเร็จ จนล่าสุดเมื่อต้นปี 61 ผู้ว่าฯพัทลุง ตัดสินใจเปลี่ยนโครงสร้างใหม่ โดยแต่งตั้งรองผู้ว่าฯเป็นประธาน และคัดเลือกนายอำเภอ 5 อำเภอ เป็นกรรมการร่วมกับเกษตรกรและตัวแทนกรมชลประทาน ทำให้การขับเคลื่อนการบริหารจัดการน้ำโครงการท่าเชียดเริ่มเป็นรูปเป็นร่าง”

เฉลิมเกียรติกล่าวอีกว่า ส่วนของกรมชลประทานเองกำลังศึกษาปรับปรุงโครงการส่งน้ำ ทั้งด้านแหล่งน้ำต้นทุนโดยเพิ่มความจุอ่างเก็บน้ำคลองหัวช้างจาก 30 ล้านลูกบาศก์เมตร เป็น 33 ล้านลูกบาศก์เมตร และเสริมสันฝายท่าเชียดจากเดิมเก็บน้ำในลำน้ำได้ 5 แสนลูกบาศก์เมตร เป็น 8 แสนลูกบาศก์เมตร จะช่วยเพิ่มความมั่นคงเรื่องน้ำได้มากขึ้น และยังปรับปรุงโครงสร้างคลองส่งน้ำทั้ง 8 สาย ความยาวรวม 90 กิโลเมตร เนื่องจากทรุดโทรมจากการใช้งานมานานเกือบ 50 ปี และตอบสนองต่อการปรับเปลี่ยนพืชซึ่งมีความต้องการใช้น้ำแตกต่างกัน

สำหรับโครงการฯ ท่าเชียด ได้ดำเนินงานมาเป็นเวลานาน ปัจจุบันมีที่กำลังทำการศึกษาหาแนวทางเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการปรับปรุงโครงการส่งน้ำฯ ท่าเชียด โดยแบ่งเป็น 3 ด้าน คือ

1.การปรับปรุงด้านชลประทาน

ด้านโครงสร้าง มีการปรับปรุงคลองส่งน้ำและอาคารประกอบทั้งโครงการ ซึ่งจะลดการสูญเสียน้ำยกระดับการแพร่กระจายน้ำพร้อมขยายขนาดคลองส่งน้ำบางช่วงเพื่อให้เพียงพอต่อการส่งน้ำไปยังพื้นที่เพาะปลูกในอนาคต และสามารถส่งน้ำได้ตามวิธีการส่งน้ำแบบหมุนเวียน

ด้านการบริหารจัดการน้ำ มีการปรับปรุงระบบชลประทานให้เหมาะสมกับวิธีการส่งน้ำ โดยระบบชลประทานเดิมออกแบบให้ส่งน้ำแบบตลอดเวลา (Continuous Flow Method) ซึ่งการส่งน้ำในช่วงฤดูแล้งเป็นการส่งน้ำแบบหมุนเวียน (Rotation Method) โดยส่งน้ำเข้าคลองส่งน้ำสลับกันแต่ละคลอง วันและเวลาจะกำหนดกันใน

กลุ่มผู้ใช้น้ำ แต่ก็ยังประสบปัญหาน้ำไม่เพียงพอไม่ทั่วถึงปลายคลอง ดังนั้นจึงปรับแผนการส่งน้ำจากเดิมส่งน้ำรอบ 23 วัน เป็นรอบการส่งน้ำไม่เกิน 7 วัน จำนวนวันที่จะส่งน้ำมีการแบ่งกันตามสัดส่วนพื้นที่โดยประมาณเท่าเทียมกัน

2.การปรับปรุงด้านระบบระบายน้ำ

โครงการฯ ท่าเชียด มีระบบระบายน้ำที่ประกอบไปด้วยคลองธรรมชาติหลายสาย ซึ่งปัจจุบันมีปัญหาน้ำท่วมขังในพื้นที่โครงการในฤดูฝนโดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ตอนล่างใกล้กับทะเลสาบสงขลา จากการศึกษาในโครงการนี้พบว่าปัญหาน้ำท่วมมีสาเหตุมาจากการที่คลองธรรมชาติมีความจุไม่เพียงพอกับปริมาณน้ำหลาก และยังมีปัญหาเพิ่มเติมจากน้ำในทะเลสาบสงขลาหนุนสูงในฤดูฝน เนื่องจากน้ำฝนในลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาได้ระบายลงมาสะสมในทะเลสาบทำให้ระดับน้ำในทะเลสาบสูงขึ้น การเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่สามารถทำได้โดยเพิ่มขีดความสามารถของคลองธรรมชาติต่างๆ โดยการขยายขนาดคลองธรรมชาติที่เป็นปัญหา ปรับปรุงโดยการขุดลอกคลองธรรมชาติด้วยอัตราระบายน้ำสูงสุดในรอบ 5 ปี

3.การเพิ่มปริมาณต้นทุนน้ำ

เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการเก็บกักน้ำในอ่างเก็บน้ำคลองหัวช้าง และฝายท่าเชียดเพื่อเพิ่มศักยภาพการกักเก็บน้ำ โดยการเสริมสันฝายอาคารระบายน้ำล้นเป็นบานประตูแบบพับได้ ทำให้ระดับกักเก็บเพิ่มขึ้น ก็จะได้ปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นประมาณ 3 ล้าน ลบ.ม. การก่อสร้างอ่างเก็บน้ำโหล๊ะจังกระที่ความจุ 25 ล้าน ลบ.ม. และอ่างเก็บน้ำเหมืองตะกั่ว อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่ความจุ 10.4 ล้าน ลบ.ม. และอ่างเก็บน้ำคลองบางครามที่ความจุ 7.5 ล้าน ลบ.ม.

ทั้ง 3 ด้านเป็นการวางแนวทางเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการปรับปรุงโครงการส่งน้ำฯ ท่าเชียด ให้ใช้งานได้อย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคตอีกอย่างน้อย 50 ปี

ซึ่งการวางแผนปรับปรุงแก้ไขแผนการบริหารจัดการน้ำทั้งหมดนี้ จะช่วยทำให้ชาวบ้านในพื้นที่ได้รับประโยชน์ในการมีน้ำใช้อย่างเพียงพอ และไม่เกิดปัญหาน้ำท่วมขังเหมือนทุกครั้งที่ผ่านมา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image