มอง ‘ผู้คน’ ผ่าน ‘ผ้าน่าน’ ถักทอความหลากหลายกลายเป็นผืน

ซิ่นป้อง ซิ่นลายขวางเย็บ 2 ตะเข็บ ลายขวางทอด้วยเทคนิคขิด

จากเมืองเล็กๆ ที่อยู่นอกสายตา กลับมาอยู่ในความสนใจด้านการท่องเที่ยวด้วยความมีเสน่ห์สงบเรียบง่าย

เสน่ห์เมืองน่านก่อขึ้นจากความหลากหลายของผู้คนที่อพยพโยกย้ายกันมาแต่เก่าก่อน ทั้งไทยวน ไทลาว ไทลื้อ ไทยภูเขา ซึ่งมีการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกันเรื่อยมา

ที่น่าสนใจคือ “ผ้าน่าน” ซึ่งถูกชูขึ้นมาเป็นอัตลักษณ์น่าน จากการทอผ้าใช้กันเองจนถึงการใช้ในงานประเพณีต่างๆ ทำให้ผ้าในแต่ละพื้นที่ของจังหวัดน่านมีลักษณะเฉพาะตัวสวยงามต่างกันไป

ศูนย์วัฒนธรรมเฉลิมราชหออัตลักษณ์นครน่าน วิทยาลัยชุมชนน่าน ได้จัดงาน “หลากเรื่อง ร้อยลาย ในผ้าน่าน” รวมมรดกผ้าเมืองน่านมาให้ชมทั้งผ้าโบราณ ผ้าร่วมสมัยหลากรูปแบบ สาธิตปักผ้า-ทอผ้า และเสวนา

Advertisement

ดร.สิริกร มณีรินทร์ นายกสภาสถาบันวิทยาลัยชุมชน กล่าวว่า งานนี้เป็นความร่วมมือจากความสนใจในศิลปะของมนุษยชาติในภาคเหนือตอนบน จากการตั้งหออัตลักษณ์นครน่านได้เห็นความร่วมมือของเยาวชนที่เข้ามาร่วมคิดว่าจะขับเคลื่อนหออัตลักษณ์อย่างไร เป็นสัญลักษณ์พื้นที่ขับเคลื่อนคนระหว่างรุ่นโดยไม่ต้องมีคนจากส่วนกลางมาช่วย โดยที่ผ่านมามีการจัดกิจกรรมอย่างหลากหลาย หวังว่าพื้นที่การเรียนรู้เช่นนี้จะมีในทุกจังหวัดและเป็นแบบอย่างให้กับที่อื่นได้โดยเฉพาะพื้นที่ใกล้เคียง

ผ้าน่านหลากรูปแบบที่นำมาจัดแสดงสะท้อนความหลากหลายของผู้คนที่น่าน

ผ้าพื้นเมืองน่านจะมีผ้าพื้น, ผ้าขาวม้า, ถุงย่าม (ลายขาวดำ), ผ้าห่ม (ผ้าตาแสงหรือผ้าตาโก้ง), ผ้าลายคาดก่านแบบน่าน ส่วนผ้าพื้นเมืองจากแหล่งอื่นที่เกิดจากการอพยพย้ายถิ่นในอดีตจะมี ผ้าตีนจกจากเมืองพิชัย, ซิ่นม่าน, ซิ่นเชียงแสนจากเชียงตุง, ผ้าลายลื้อจากเมืองเงิน เมืองคง เมืองฮุน เมืองล้า และสิบสองปันนา, ผ้าไหมซิ่นลาวจากหลวงพระบางและเวียงจันทน์, ซิ่นก่านคอควาย, ซิ่นตามะนาวจากแพร่, ซิ่นลายขวางจากเชียงใหม่ เป็นต้น

Advertisement

ลักษณะผ้าซิ่นเมืองน่านในอดีตแบ่งได้ 7 ประเภทใหญ่ 1.ซิ่นเชียงแสน 2.ซิ่นม่าน 3.ซิ่นป้อง 4.ซิ่นก่าน 5.ซิ่นตีนจก 6.ซิ่นแบบเมืองเงิน 7.ซิ่นนาหมื่น

ซิ่นม่าน ซิ่นพื้นบ้านใช้สวมอยู่บ้านหรือไปงานบุญ
สิริกร มณีรินทร์

ให้ผ้าเล่าเรื่องมนุษย์

รศ.ทรงศักดิ์ ปรางค์วัฒนากุล ผู้เชี่ยวชาญผ้าน่าน กล่าวว่า เคยเขียนหนังสือ “ผ้าล้านนา : ยวน ลื้อ ลาว” ซึ่งชื่อนี้แสดงถึงความเป็นเมืองน่าน คือความเป็นลูกผสม มีวัฒนธรรมเป็นอัตลักษณ์โดดเด่น ผ้าน่านจึงหลากหลายมาก ซึ่งคิดว่าซิ่นเมืองน่านที่เป็นอัตลักษณ์พื้นบ้านที่ควรส่งเสริม คือ “ซิ่นเชียงแสน” แต่คนไม่ค่อยรู้จักเพราะเป็นซิ่นที่เรียบง่ายธรรมดา ซึ่งแค่ซิ่นประเภทเดียวก็มีความซับซ้อนเชิงประวัติศาสตร์และศิลปวัฒนธรรมมากแล้ว

รศ.ทรงศักดิ์บอกว่า การทอผ้ามีหลายประเภท แต่ “ซิ่น” เป็นสัญลักษณ์ของเพศแม่ที่ถูกนำมาใช้ในพิธีกรรม เช่นการทำขวัญข้าว ซึ่งผ้าที่ใช้ในพิธีกรรมจะถูกทอขึ้นอย่างประณีตสวยงามเป็นพิเศษ จึงไม่นำมาใช้สวมใส่ทั่วไป และซิ่นนี้จะตกเป็นมรดกสู่ลูกหลาน เรียก “ซิ่นมูลมัง”

“ซิ่นเป็นชีวิตจิตใจวัฒนธรรมดั้งเดิมที่สำคัญ ความคิดที่บอกว่าซิ่นเป็นของต่ำ ห้ามรอดราวตากซิ่นเป็นความเชื่อของคนเชื่อเรื่องเครื่องรางของขลัง เป็นความคิดแบบชายเป็นใหญ่”

ซิ่นยังเป็นตัวแทนความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มชน รศ.ทรงศักดิ์ชี้ให้เห็นว่าผ้าน่านไม่ได้มีอยู่แค่ที่น่าน แต่กระจายไปตามลุ่มน้ำตามการเดินทางของผู้คน และเมืองน่านในอดีตมีอาณาเขตการปกครองไปถึง น้ำปาด ฟากท่า ซึ่งอยู่ในเขตอุตรดิตถ์ปัจจุบันที่มีคนลาวหลวงพระบางอพยพมาอยู่ เกิดเป็นวัฒนธรรมร่วมเรื่องผ้า

ซิ่นเชียงแสน ซิ่นพื้นบ้านนุ่งในชีวิตประจำวัน เป็นผ้าฝ้ายลายขวาง ใช้สีแดงเข้มหรือครามเป็นสีพื้น

ส่วนกลุ่มไทลื้อ รศ.ทรงศักดิ์บอกว่า ในอดีตเจ้านายเมืองน่านดูแลลื้ออพยพไปถึงเชียงม่วน เชียงคำ เชียงของ ก่อนการแบ่งเขตจังหวัด โดยซิ่นลื้อเมืองน่านเป็นลูกผสมไม่เหมือนซิ่นลื้อที่อื่น

“จะมีซิ่นลื้อเมืองเงินที่ถูกชูขึ้นมาจนคนคุ้นตา ลักษณะเด่นเป็นซิ่น 2 ดูก (ตะเข็บ) ลายเกิดจากเส้นพุ่ง มีหลักอยู่ที่ไชยบุรี ซึ่งแต่ก่อนไม่ได้แบ่งลาวไทย ตอนนี้ไชยบุรีก็ชูผ้าเมืองเงินขึ้นมาใช้ตกแต่งขบวนแห่ คนเมืองเงินทอผ้าเก่งมาก จนซิ่นเมืองเงินมีอิทธิพลต่อชนกลุ่มอื่น เพราะคนไทยวน ขมุ ลัวะ มลาบรี ก็ซื้อมานุ่งกัน เป็นความสัมพันธ์ระหว่างชนเผ่าในสังคมพหุวัฒนธรรม”

รศ.ทรงศักดิ์ย้ำอีกว่า ความรักในชาติพันธุ์ถิ่นกำเนิดเป็นเรื่องน่าภูมิใจ แต่อย่าหลง เพราะการจะเข้าใจเรื่องผ้าต้องเข้าใจประวัติศาสตร์ ที่ไม่ได้มีแค่เรื่องผ้า แต่เป็นเรื่องมนุษย์ เรื่องวัฒนธรรม และอื่นๆ มากมาย

ซิ่นน่าน อัตลักษณ์ความหลากหลาย

ด้าน เทิดศักดิ์ อินแสง ผู้เชี่ยวชาญผ้าในกลุ่มชาติพันธุ์น่าน กล่าวว่า สิ่งที่พูดกันว่า “ผ้าซิ่นเชียงแสน 3 ดูก ซิ่นจกวิเศษเมืองน่าน” นั้น ไม่ได้หมายถึงแค่ซิ่นน่าน แต่เชียงแสนนี้หมายรวมถึงผ้าราชบุรี เสาไห้ ลับแล สีคิ้ว ดอยเต่า ลำปาง เป็นต้น ส่วนผ้าเชียงแสนที่น่านจะเป็นคนละแบบกับเชียงแสนดั้งเดิม

“หลังยุคบ้านเมืองระส่ำระสาย คนทอผ้ามีแต่ความทรงจำว่าผ้าซิ่นที่ตัวเองเคยใส่เป็นยังไง ช่วง ร.1-ร.3 ยังไม่มีการทอผ้า และไม่พบซิ่นเชียงแสนที่ติดตัวมาตอนเชียงแสนแตก จนยุคสร้างบ้านแปงเมือง ร.3-ร.4 บ้านเมืองเริ่มสงบสุข คนก็เอาทักษะการทอผ้าเดิมมาทอขึ้นใหม่ แต่ซิ่นเชียงแสนน่านจะหลากหลายกว่าซิ่นเชียงแสนที่อื่นเพราะความเป็นพหุวัฒนธรรม มีทั้ง ยวน ลื้อ ลาว”

เทิดศักดิ์อธิบายอีกว่า ไทยวนจะเด่นที่การทอตีนจก ไทลื้อจะมีเทคนิคเกาะล้วงที่เรียกลายน้ำไหล ซึ่งบนจิตรกรรมฝาผนังหนานบัวผันวัดภูมินทร์ (ราว พ.ศ.2410) จะปรากฏซิ่นเชียงแสนแบบน่านซึ่งเป็นลูกผสมแล้ว

สุทธิพันธ์ เหรา, เทิดศักดิ์ อินแสง, ทรงศักดิ์ ปรางค์วัฒนากุล, เจ้านิดถาคง สมสนิท
นิทรรศการผ้าโบราณ 7 ชาติพันธุ์ จัดโดย เทิดศักดิ์ อินแสง
จิตรกรรมฝาผนังวิหารวัดหนองบัว อ.ท่าวังผา นุ่งผ้าซิ่นคำเคิบ ตัวซิ่นเป็นซิ่นป้องยกดอกและคาดก่านต่อตีนด้วยผ้าจก

วัฒนธรรมที่ปรับตัวจะไม่ตาย

“ทำอะไรต้องมี ‘ขวัญ’ ไม่เช่นนั้นจะไม่มีชีวิต”

คำกล่าวของ เจ้านิดถาคง สมสนิท ศิลปินฝรั่งเศสผู้เชี่ยวชาญผ้าหลวงพระบาง ซึ่งมองว่าน่านเป็นเมืองที่ยังมีเสน่ห์และมี “ขวัญ” อยู่ ซึ่งเขาหมายถึง “จิตวิญญาณ”

“การเปิดประตูให้การท่องเที่ยวต้องทำให้ดีแล้วคนจะมาเอง “ผ้า” เป็นภาษาสากล มรดกจากผ้าจะทำให้เราไปได้ไกล แต่ต้องมีการสะสมรักษาและเผยแพร่ ถ้าทอผ้ามาแต่ไม่มีพิธีกรรมไม่มีการใช้ก็ถือว่าใช้ไม่ได้ ผ้าซิ่นเป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ ปัจจุบันในลาวทางวังเวียงวันศีลจะไม่ทอผ้า ทุกกี่ทุกเรือนจะเอาผ้าซิ่นโปะ ผ้าห่อคัมภีร์ก็ใช้ซิ่น ต้นไม้ไม่มีลูกก็เอาผ้าซิ่นนุ่ง เป็นสัญลักษณ์ของ “ขวัญ” อย่าคิดว่าผ้าซิ่นต่ำแต่เป็นเรื่องจิตวิญญาณ

“เสน่ห์เมืองน่านเหมือนหลวงพระบางที่เป็นเมืองกระทบ ต้องผสมผสานอย่างสมดุล การเอาผ้าไปใช้ก็ต้องคิดว่ามีสัญลักษณ์อะไรที่ต้องเคารพ วัฒนธรรมใดมีการผสมและวิวัฒนาการแล้ว วัฒนธรรมนั้นจะไม่ตาย แต่วัฒนธรรมที่ไม่ปรับตัวจะไปไม่รอด” เจ้านิดถาคงกล่าว

แบบไหนคือน่านแท้?

หนึ่งตัวอย่างการนำผ้าน่านไปประยุกต์ใช้จนเป็นที่รู้จักวงกว้าง

สุทธิพันธ์ เหรา ผู้ออกแบบเครื่องแต่งกายละคร “รากนครา” ที่หยิบผ้าน่านไปใช้ เล่าว่า ซึมซาบความงามของผ้าเมืองน่านตั้งแต่มาศึกษาซิ่นมัดก่างที่เมืองปัวสมัยเรียน ป.ตรี ต่อมามีโอกาสทำการแสดงชุดต่างๆที่เชียงใหม่ก็เอาผ้าน่านไปให้ช่างฟ้อนนางรำใส่

“ปี 2559 มีโอกาสได้ทำเสื้อผ้าละครเรื่องรากนครา มีเมืองหนึ่งชื่อเชียงคำ คุยกับเจ้าของบทประพันธ์แล้วอยากให้เป็นเมืองสมมุติจึงเปลี่ยนชื่อเป็นเชียงพระคำ และเสนอให้เมืองนี้ใช้วัฒนธรรมน่านและวัฒนธรรมร่วมแถบหลวงพระบาง โดยนำ “เสื้อแขบคำ” แบบหลวงพระบางที่ได้รับอิทธิพลไทลื้อมาใช้ในละคร ซึ่งพบจิตรกรรมฝาผนังที่มีเสื้อแบบนี้ และพบเสื้อนี้ที่เมืองน่านและลุ่มน้ำน่านเขตอุตรดิตถ์

“ยังมีซิ่นที่ออกแบบให้นางเอกใส่ โครงสร้างคล้ายซิ่นม่าน ใช้เทคนิคมัดก่าง เพิ่มลายมุก ใส่สายย้อย สอดแทรกไหมเงินไหมคำ คิดใหม่บนพื้นฐานโครงสร้างเทคนิคเดิม และผืนอื่นๆ ในละครก็ทอเลียนผ้าโบราณได้รับการตอบรับที่ดีจากแฟนละครและผู้บริโภคผ้าไทย ทำให้คนนิยมผ้าน่านขึ้นมาอีกครั้ง” สุทธิพันธ์กล่าว

ภาพจากละครรากนครา

ช่วงท้ายมีคำถามหนึ่งจากผู้ฟังที่น่าสนใจว่า เมื่อซิ่นน่านมีหลากหลายมาก แล้วแบบไหนคือซิ่นน่านที่แท้จริง?

สุทธิพันธ์ตอบชัดเจนว่า ซิ่นน่านที่แท้จริงคือซิ่นทั้งหมดที่เกิดในพื้นที่นี้

“น่านเกิดจากการประกอบสร้างจากกลุ่มชนต่างๆ ผ่านประวัติศาสตร์หลายร้อยปี ไม่สามารถชี้ชัดได้ว่าแบบไหนเป็นน่านแท้ 100% ไม่มีวัฒนธรรมแบบนั้นในโลก กิโมโนญี่ปุ่นก็รับอิทธิพลมาจากจีน ผ้าน่านมีตีนจกจากวัฒนธรรมไทยวน เพราะมีกลุ่มคนยวนอยู่ มีอิทธิพลไทลื้อ ไทลาว และเชียงแสนที่อพยพมา ความเป็นน่านเหมือนแกงโฮะ เอาความงามแต่ละพื้นที่มาผสมผสาน แต่ละอำเภอก็มีผ้าแตกต่างกัน เชียงของ เทิง เชียงคำ ก็อยู่ในเขตน่านโดยการปกครองแบบดั้งเดิม อย่าแบ่งว่าอะไรแท้ไม่แท้ เพราะผสมกันมาหมดแล้ว” สุทธิพันธ์กล่าว

ในความหลากหลายของผ้าเมืองน่าน ยังมีเรื่องราวอีกมาก แต่ละผืนสะท้อนประวัติศาสตร์ ชีวิตความเป็นอยู่ของชาติพันธุ์ที่ไม่เพียงแต่ควรเก็บรักษา แต่ยังควรปรับใช้อย่างวัฒนธรรมที่มีชีวิต

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image