‘แลรี่ ไดมอนด์’ เปิดมุมมอง วิกฤตการณ์ประชาธิปไตยโลก ‘ปัญหา ทิศทาง และความอยู่รอด’

หลายประเทศทั่วโลกปกครองด้วยระบอบ “ประชาธิปไตย” ด้วยมองว่า “ประชาธิปไตย” เป็นรูปแบบที่มีความเป็นธรรม เนื่องจากเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการปกครอง ครอบคลุมไปจนถึงการให้ความสำคัญเรื่อง “สิทธิ” และ “เสรีภาพ” ต่างๆ ตามที่มนุษย์พึงจะได้รับ

ทำให้ในหลายศตวรรษที่ผ่านมา การปกครองระบอบ “ประชาธิปไตย” เป็นรูปแบบที่ได้รับความนิยมอย่างมาก

ทว่า ณ ปัจจุบันนี้ ความเป็นประชาธิปไตยในหลายประเทศเริ่มมีความเปลี่ยนแปลง มีความเลือนราง จนเกิดความตื่นตัว กระทั่งเกิดคำถามว่า โลกเรากำลังเกิดวิกฤตขึ้นกับประชาธิปไตยหรือไม่

จากปัญหาดังกล่าว “สถาบันพระปกเกล้า” ได้จัดการบรรยายพิเศษหัวข้อ “เราจะรับมือกับวิกฤตการณ์ประชาธิปไตยโลกได้อย่างไร?” โดย ศาสตราจารย์แลรี่ ไดมอนด์ ศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด สหรัฐอเมริกา ร่วมวิเคราะห์เจาะลึก

Advertisement

ศ.แลรี่บอกว่า ในเวลานี้ประชาธิปไตยทั่วโลกกำลังอันตรายอย่างยิ่ง โดยสิ่งที่เป็นอันตรายมีอยู่ 5 ข้อ คือ 1.การถดถอยของประชาธิปไตยและเสรีภาพทั่วโลก 2.นโยบายประชานิยมที่ไม่มีความเป็นเสรีนิยม 3.การแบ่งขั้วทางการเมืองอย่างรุนแรงจากโซเชียลมีเดีย 4.การฟื้นคืนของอำนาจเผด็จการอย่างสาธารณรัฐประชาชนจีนและรัสเซีย และ 5.การเสื่อมถอยของคุณค่าประชาธิปไตยและความเชื่อมั่นในตัวเองของสหรัฐและสหภาพยุโรป

“เราไม่ควรเศร้าหรือท้อไปกับสิ่งเหล่านี้ ต้องตั้งมั่นและพึงระวังเอาไว้ ครั้งนี้ผมจะพูดอย่างตรงไปตรงมา เพื่อให้เห็นภาพลักษณ์ของประชาธิปไตยทั้งโลกที่กำลังเปลี่ยนไป รวมทั้งเหตุผลของพัฒนาการและภาวะถดถอย”

จากนั้น ศ.แลรี่ได้ยกตัวอย่าง การแบ่งขั้วทางการเมืองอย่างรุนแรงจากโซเชียลมีเดีย พร้อมอธิบายว่า บางประเทศในทวีปเอเชียเสมือนสหรัฐในขณะนี้มาก กล่าวคือ ในด้านมุมมองทางการเมือง ด้านการแบ่งกลุ่มการเมืองที่มีพรรคหลักเพียง 2 พรรค รวมถึงคล้ายจะมีการแบ่งพรรคพวกกันในโลกออนไลน์

Advertisement

“ปัจจุบันเกิดการปั่นข่าวในโซเชียลขึ้นทุกวัน จะเห็นว่าพื้นที่ประชาชนหายไป เกิดการแบ่งแยกกันมากขึ้น เนื่องจากการสูญเสียปฏิสัมพันธ์กับคนที่เห็นต่าง ทุกคนอยู่กับความคิดของตัวเอง ทำให้ความหลากหลายทางความคิดหายไปจนไม่สามารถคุยกับคนอื่นได้ ขณะที่ในโซเชียลมีเดียเราแทบไม่รู้ว่าอะไรคือข้อเท็จจริงบ้างเพราะมีข่าวปลอมเข้ามา ดังนั้น ถ้าแต่ละคนสนใจแต่ข่าวปลอมที่เห็น ไม่ได้คิดหรือทำให้เข้าใจตรงกันว่าอะไรเป็นข้อเท็จจริง เราจะคุยกันได้อย่างไร เพราะคุยกันก็อาจจะพัง หรือบางครั้งเรามองว่าอีกฝ่ายโกหกด้วยซ้ำ ซึ่งตอนที่ยังไม่มีโซเชียลมีเดียสถานการณ์ยังดีกว่าตอนนี้ เพราะการปล่อยข่าวปลอมในวงกว้างทำได้ยาก” ศ.แลรี่กล่าว

แลรี่ ไดมอนด์

ส่วนภาพรวมของทิศทางการพัฒนาประชาธิปไตยโลก ศ.แลรี่มองว่า ตอนนี้เป็นยุคที่ 3 โดยยุคแรกเริ่มจากการปฏิวัติโปรตุเกส ภายหลังอยู่ภายใต้เผด็จการมา 60 ปี มาสู่ความเป็นประชาธิปไตย กระทั่งความเป็นประชาธิปไตยเริ่มกระจายไปทั่วโลก ทว่า การขับเคลื่อนประชาธิปไตยในขณะนั้นเกิดขึ้นได้ไม่นานก็ไปถึงจุดสิ้นสุด ต่อมาเริ่มขยายไปยังสหภาพยุโรป

ซึ่งรากฐานที่ส่งเสริมพลังอำนาจของสหภาพยุโรปและสหรัฐในขณะนั้นมีมากพอให้อีกหลายประเทศพัฒนาไปสู่ความเป็นประชาธิปไตย โดยใช้รูปแบบความเชื่อของแต่ละประเทศ รวมถึงสหภาพโซเวียตก็เริ่มให้ความร่วมมือ จึงเกิดการกระจายตัวอย่างรวดเร็ว

กลับมาที่ปัจจุบัน เสรีภาพภายใต้ประชาธิปไตยทั่วโลกกำลังระส่ำระสาย จะเห็นได้ว่าตอนนี้เรากำลังเจอกับความเสื่อมถอยระลอกใหม่ ดังเช่นช่วง 12 ปีที่ผ่านมาเกิดวิกฤตการล่มสลายของประชาธิปไตย โดยปี 2548 นับเป็นปีสุดท้ายที่มีการพัฒนาเรื่องเสรีภาพ ทุกอย่างจบลงในปี 2549 พอถึงปี 2550 จะเห็นได้ว่าประเทศที่เคยมีเสรีภาพกลับลดลงอย่างมาก หลายประเทศกำลังมุ่งสู่ทิศทางที่ผิด แทนที่จะพัฒนากลับเป็นถอยหลัง

“ช่วงเวลานี้ถือว่าน่าเป็นห่วงมาก เพราะขนาดสหรัฐหรือสหภาพยุโรปก็มีความเป็นเสรีน้อยลง เช่น การเลือกตั้งในประเทศบราซิล คนที่เคยโดนคดี แต่มีฐานเสียงเยอะ ออกจากคุกมาก็กลับไปลงเลือกตั้งใหม่ นี่เป็นประชาธิปไตยไม่เต็มใบ แม้จะมีการเลือกตั้ง มีการแข่งขัน มีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมบ้าง แต่ก็ยังเป็นอำนาจนิยมเบาๆ ไม่ใช่ประชาธิปไตย”

แม้ประเทศอำนาจนิยมจะมีอำนาจมากขึ้น แต่นี่ไม่ใช่แค่การเสื่อมถอย หากแต่เป็นการพังทลายลงของประชาธิปไตยทั่วโลก โดยเฉพาะช่วง 10 ปีที่ผ่านมา พบว่า ไม่ใช่ “อเมริกา” ประเทศเดียวที่เกิดการพังทลาย แต่ยังมีอีกกว่าร้อยละ 33 ของประเทศต่างๆ ทั่วโลกที่เกิดวิกฤตการณ์นี้


ยืนยันด้วยตัวเลขอัตราการพังทลายช่วง 10 ปีแรกอยู่ที่ร้อยละ 6 แต่ไม่กี่ปีมานี้สูงถึงร้อยละ 16 รวมทั้งประเทศไทยด้วย ซึ่งอันตรายมาก

“มันไม่ได้มาครั้งเดียวใหญ่ๆ แต่มาทีละระลอก เริ่มจากการทำให้พรรคตรงข้ามเป็นตัวร้าย การพยายามเข้าไปควบคุมศาล สถาบันต่างๆ รวมถึงคุมสื่อ คุมอินเตอร์เน็ต และสื่ออิสระ ตลอดจนมหาวิทยาลัยต่างๆ กลายเป็นเล่นพรรคเล่นพวกระหว่างนักการเมืองและนักธุรกิจ โดยสาเหตุพื้นฐานของปัญหาเหล่านี้มาจากหลักกฎหมายอ่อนแอ ไม่สามารถควบคุมอำนาจต่างๆ ได้ อีกทั้งสถาบันทางการเมืองอ่อนแอลงมาก เช่น รัฐสภา พรรคการเมือง รัฐธรรมนูญ ดังนั้น ถ้ามีอำนาจทางกฎหมายที่แข็งแรงก็จะรับมือ หรือควบคุมอำนาจที่มาจากสิ่งที่เราไม่ต้องการได้ นอกจากนี้ ยังมีปัญหาจากเศรษฐกิจที่ไม่ดี จากการบริหารกำกับประเทศที่ไม่ดี ทำให้รัฐบาลสูญสิ้นความชอบธรรม

“อีกองค์ประกอบสำคัญของการล่มสลายครั้งนี้คือ สหภาพยุโรปกับอเมริกามองว่าตัวเองจะทำอะไรก็ได้ ทำลายพรรคฝ่ายตรงข้ามได้ ยกตัวอย่าง ประเทศยูกันดาที่มีประธานาธิบดีคนเดียวดำรงตำแหน่งนานถึง 30 ปี โดยแก้รัฐธรรมนูญเรื่องข้อจำกัดด้านอายุเพื่อให้ตัวเองยังคงดำรงตำแหน่งต่อได้ แม้ฝ่ายค้านจะคัดค้าน แต่หลังจากนั้นก็เกิดเหตุการณ์ทหารบุกเข้าสภา ทำร้ายสมาชิกพรรคฝ่ายตรงข้ามที่ไม่เห็นด้วย รวมถึงหลายประเทศมีอำนาจมากขึ้นจนไม่สนใจประเทศอื่น ในสถานการณ์นี้ทำให้ประชาธิปไตยอยู่ในจุดเสี่ยง อย่างไรก็ตาม เมื่อประชาธิปไตยเสื่อมถอยทั่วโลก เรามองได้ 2 อย่าง คือ สิทธิด้านการเมือง-เสรีภาพ และความโปร่งใส-หลักกฎหมายจะลดลง”

แน่นอน จะไม่เอ่ยถึง “ประชาธิปไตย” กับ “การเลือกตั้ง” ไม่ได้

ประเด็นนี้ ศ.แลรี่อธิบายว่า เวลาคิดถึงประชาธิปไตย ไม่ใช่มองแค่การเลือกตั้งเท่านั้น แต่ต้องมีหลักการด้านเสรีภาพ มนุษย์ต้องมีโอกาสได้เลือกและเปลี่ยนผู้นำอย่างโปร่งใสเพื่อความเป็นกลาง ซึ่งเป็นองค์ประกอบพื้นฐานของประชาธิปไตย ควรให้ประชาชนมีอำนาจเปลี่ยนแปลงประเทศอย่างแท้จริง ไม่ใช่มีอำนาจซ่อนอยู่เบื้องหลัง คอยบังคับชี้นำผู้นำอีกที และต้องมีองค์ประกอบอื่นๆ ด้วย เช่น การเข้าถึงประชาธิปไตยโดยเท่าเทียมกัน มีการแข่งขันอย่างเสรี โดยรัฐบาลมีหน้าที่รับผิดชอบความเป็นอยู่ประชาชน มีความเป็นเสรีนิยม รวมถึงการคุ้มครองชนกลุ่มน้อย คนทั่วไป กลุ่มคน องค์กร ควรให้เกียรติมนุษย์

เพราะสิ่งเหล่านี้จะช่วยให้ประชาธิปไตยอยู่รอด

ศ.แลรี่กล่าวอีกว่า อีกหนึ่งเหตุผลที่เป็นปัญหาใหญ่คือ ความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจ เพราะความเหลื่อมล้ำขยายตัวรุนแรงในหลายประเทศ หากไม่ทำอะไรเพื่อป้องกัน ประชาธิปไตยก็จะเสื่อมถอย เกิดการแบ่งขั้ว ทำให้คุณภาพและความเชื่อมั่นลดลง

“รัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตยต้องมีคุณภาพสูง คณะรัฐบาลที่ดีต้องควบคุมการละเมิดอำนาจ หรือคอร์รัปชั่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ คอยรับฟังข้อร้องเรียนจากประชาชน รักษาไว้ซึ่งกฎหมาย โดยเฉพาะเสรีภาพ ผมไม่อยากพูดตรงเกินไป แต่นี่คือจุดที่ประเทศไทยมีปัญหา”


พร้อมอธิบายถึงประเด็นที่ประเทศไทยถูกจับตามองในระดับนานาชาติคือ “รัฐประหาร” และ “ร่างรัฐธรรมนูญ”

“ร่างรัฐธรรมนูญที่จะนำมาใช้ต้องให้องค์กรอิสระตรวจสอบได้ เพื่อให้เกิดนายกฯที่มาจากการเลือกตั้ง นี่เป็นประเด็นที่คนที่คอยจับตาดูประเทศไทยอยู่ และเป็นที่ถกเถียงกันมากในนานาชาติ เพราะหากเรามีวัฒนธรรมและรัฐธรรมนูญที่แข็งแกร่งก็จะช่วยลดผลเสียที่เกิดจากความฉ้อฉลได้ ถ้าจุดนี้ไม่ดีก็เสียทั้งหมด ตลอดจนการทำรัฐประหารเป็นการเปลี่ยนแปลงประเทศที่มักเจอในประเทศที่มีความเป็นประชาธิปไตยน้อย เพราะประชาธิปไตยที่เกิดขึ้นใหม่ไม่ใช่ประชาธิปไตยที่เข้มแข็ง แต่เปราะบางมาก เพราะการแพร่หลายของประชาธิปไตยหยุดลง เกิดความเสื่อมถอยทางสิทธิ เสรีภาพ อิสรภาพ และหลักกฎหมาย”

อย่างไรก็ตาม ระบบที่มาจากประชาธิปไตย แม้มีช่องโหว่หรืออ่อนแอแค่ไหนก็ต้องรักษาไว้ ถึงทุกวันนี้ประชาธิปไตยเปลี่ยนไปแล้วก็ตาม

สำหรับไทยเอง ศ.แลรี่เล่าว่า เคยมาเยือนแล้วตั้งแต่ปี 2518 ไม่แปลกหากเขาจะรู้สึกผูกพัน จนมีความตั้งใจช่วยประเทศให้พัฒนาไปสู่อนาคตให้ได้

พร้อมเชื่ออย่างยิ่งว่า ประเทศไทยจะพบวิธีการกลับสู่ประชาธิปไตยสำเร็จและยั่งยืนได้แน่นอน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image