‘อัยยวัฒน์’ ชูธง 4 ด้าน 17 โครงการ จุดประกาย ‘ไทยเพาเวอร์’

อัยยวัฒน์ ศรีวัฒนประภา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ของ คิง เพาเวอร์ เปิดห้องเล่าเรื่องที่ไม่ใช่การค้าให้ฟังเมื่อวันก่อน

เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับโครงการของ “คิง เพาเวอร์” ที่เรียกว่า “คิง เพาเวอร์ ไทย เพาเวอร์ พลังคนไทย”

อัยยวัฒน์ย้อนบอกกล่าวถึงที่มาของโครงการว่า “มีคนถามผมว่าทำไม คิง เพาเวอร์ ไทย เพาเวอร์ พลังคนไทย” เพิ่งเกิดเมื่อปีที่แล้ว ความจริง คิง เพาเวอร์ ทำโครงการมานานมากหลายโครงการ แต่ว่าไม่เคยมีใครมารวมให้เป็นกลุ่มเป็นก้อน ผมจึงไปคุยกับทีมงาน กระทั่ง คิง เพาเวอร์ เข้าไปบริหารทีมฟุตบอลเลสเตอร์ ซิตี้ ที่อังกฤษ แล้วได้แชมป์พรีเมียร์ลีก นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้น

“เหตุการณ์ช่วงนั้นได้จุดประกายให้ผมและคุณพ่อ (วิชัย ศรีวัฒนประภา) มั่นใจว่าคนไทยเราสามารถทำสิ่งที่ไม่น่าเชื่อได้ เราพูดกันมาตลอดว่าคนไทยเก่ง คนไทยมีความสามารถหลายด้าน ไม่ใช่เฉพาะแค่เรื่องกีฬา จึงกลายเป็นที่มาของการจับกลุ่มก้อนโครงการต่างๆ ที่ คิง เพาเวอร์ ทำมา และเกิดเป็น ‘คิง เพาเวอร์ ไทย เพาเวอร์ พลังคนไทย’ เมื่อปี 2560 ซึ่ง 1 ปีที่ผ่านมาเรามีทั้งหมด 17 โครงการ”

Advertisement

สำหรับโครงการ “คิง เพาเวอร์ ไทย เพาเวอร์ พลังคนไทย” แบ่งออกเป็น 4 ด้าน คือ ด้านกีฬา ด้านดนตรี ด้านชุมชน ด้านการศึกษาและสุขภาพ แต่ละด้านจะมีโครงการ ซึ่งขณะนี้มี 17 โครงการ

มีเป้าหมายที่จะสนับสนุนศักยภาพคนไทยให้ก้าวไกลสู่เวทีโลกอย่างยั่งยืน

อัยยวัฒน์ ศรีวัฒนประภา

อัยยวัฒน์ขยายความว่า ด้านกีฬา หรือ Sport power เราทำด้านฟุตบอล เพราะเรามีความสามารถและมีแหล่งวัตถุดิบที่มากกว่าคนอื่น อันนี้ถือเป็นจุดแข็งมากๆ ของเรา

Advertisement

“ฟุตบอลอยู่ในเลือดของคนไทย บอลไทยสู่บอลโลกที่เราพูดกันทุกสมัยทุกปี ทำไม่ได้สักที ขณะที่ไอซ์แลนด์ มีประชากร 4 แสนคน สามารถไปบอลโลก ไปบอลยูโร สามารถชนะอังกฤษได้ ผมคิดว่าเราต้องเข้าใจวัตถุดิบหรือสิ่งที่เรามีให้ดี”

คิง เพาเวอร์ ไทย เพาเวอร์ พลังคนไทย ได้ทำโครงการ Fox Hunt คัดนักเรียนที่มีความสามารถในกีฬาฟุตบอลไปเรียนและฝึกซ้อมที่สโมสรเลสเตอร์ซิตี้ ประเทศอังกฤษ นอกจากนี้ ยังจัดโครงการ “ล้านลูก ล้านพลัง สร้างฝันเด็กไทย” ตั้งเป้าหมายแจกฟุตบอล 1 ล้านลูกให้แก่เยาวชนไทยและชุมชน เพื่อส่งเสริมความสามารถด้านกีฬา

แล้วยังมีโครงการ “100 สนามพลังเยาวชนไทย” ที่สร้างสนามฟุตบอลหญ้าเทียมจำนวน 100 สนามทั่วประเทศภายใน 5 ปี

อัยยวัฒน์บอกเล่าเรื่องราวโครงการด้านกีฬาว่า โครงการ Fox Hunt ไม่ได้มุ่งแค่กรุงเทพฯ แต่เราไปทั่วประเทศ ทำให้เราเจอเด็กที่เป็นช้างเผือก แม้จะมีคนบอกว่าช้างเผือกเข้ากรุงมาหมดแล้ว แต่ผมเชื่อว่าต่างจังหวัดยังมีอีกหลายคน

โครงการ Fox Hunt ได้ทำการคัดเลือกและส่งเด็กและเยาวชนไปฝึกหัดฟุตบอลที่สโมสรเลสเตอร์ ซิตี้ มา 3 รุ่นแล้ว และในปี 2561 กำลังดำเนินการรุ่นที่ 4

นักเรียนรุ่นแรกที่เดินทางไปเรียนและฝึกซ้อมฟุตบอล ได้สำเร็จกลับมาแล้ว 14 คนไปเล่นในไทยลีก อีก 2 คนไปเล่นที่ OH Leuven ประเทศเบลเยียม

“2 คนที่อยู่ที่เบลเยียม ไปเล่น ยู-21 ของเบลเยียม แมตช์แรกยิงไป 3 ลูก ผมเองได้พยายามผลักดันเขาให้ไปไกลกว่านี้ แต่เขาต้องอดทน ตอนนี้เขาอยากเล่นทีมใหญ่ เหมือนกับเป็นความฝันที่ต้องการเล่นทีมใหญ่ เราก็บอกไปว่า ได้เล่นแน่ แต่ต้องผ่านอะไรต่อมิอะไรอีกเยอะ ขอให้อดทน

คนอื่นๆ ที่ได้กลับมา และแข่งในไทยลีกก็ชนะ ผมมองว่าถ้าทำต่อไป 3-5 ปี น่าจะมีเด็กไทยจาก Fox Hunt ได้เล่นในทีมชาติไทย ได้ไปซีเกมส์ ได้ไปเอเชี่ยนเกมส์กันเยอะ”

อัยยวัฒน์ยังเล่าถึงการแจกลูกฟุตบอลและสร้างสนามฟุตบอลว่า ตอนเป็นเด็ก เป็นคนหนึ่งที่ไม่มีโอกาสได้เล่นบอลในสนามของโรงเรียน เพราะโรงเรียนหวงมาก โรงเรียนจะปักป้าย “งดใช้สนาม” สัปดาห์หนึ่งจะอนุญาตให้ใช้ 1 วัน ลูกฟุตบอลก็ต้องไปเบิกครูพละ ทำให้นักเรียนต้องไปซื้อฟุตบอลพลาสติก ไปพัฒนาเล่นกันเอง ไปหาที่เล่นกันเอง

“ผมจึงมองว่า ถ้าจะให้โอกาสเด็ก น่าจะมีสนามฟุตบอลให้ได้โชว์ฝีมือ ได้ออกกำลังกาย อย่างน้อยเขาก็จะได้รู้จักเพื่อน รู้จักแพ้ ชนะ และอภัย เด็กๆ น่าจะมีลูกฟุตบอล ได้อยู่กับลูกฟุตบอล การอยู่กับฟุตบอลไม่ใช่แค่ได้เตะ แต่เอามาเดาะ ฝึกยิง และอื่นๆ”

ผลที่เกิดขึ้นจะได้ประโยชน์ทั้งเด็ก โค้ช โรงเรียน ชุมชน ที่ตื่นตัวและมีการแข่งขันกีฬา

ด้วยไอเดียดังกล่าว คิง เพาเวอร์ จึงสร้างสนามฟุตบอลให้กับชุมชน 2 ปี 40 แห่ง และแจกฟุตบอลไปแล้ว 400,000 ลูก จากเป้าหมายทั้งหมดที่จะแจกล้านลูก

จากด้านกีฬา แวะเวียนมาถึงด้านดนตรี โดยอัยยวัฒน์เรียกว่า “Music power” มีเป้าหมายหนุนดนตรีไทยสู่โชว์ระดับนานาชาติ

อัยยวัฒน์ขยายความว่า เพราะเราเชื่อศักยภาพนักดนตรีไทย จึงปรึกษาหารือกันว่าจะมีที่ไหนที่เราจะช่วยต่อยอดให้คนไทยออกไปทำอาชีพด้านนี้ได้

“แล้วก็ทราบมาว่าวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล มีชื่อเสียงมานาน เราเชื่อว่าน้องๆ ที่เล่นอยู่ตามงาน ทั้งวงเล็ก วงใหญ่ จะมีสมาชิกจากวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดลอยู่ และเมื่อได้คุยกับ ดร.สุกรี เจริญสุข ในที่สุดก็คิดว่าน่าจะเริ่มต้นเชื่อมต่อระหว่างมหาวิทยาลัยกับภาคเอกชน ผลักดันให้เยาวชนสามารถต่อยอดในวิชาชีพได้ จึงสนับสนุนโครงการแข่งขันวงดุริยางค์เครื่องเป่านานาชาติแห่งประเทศไทยขึ้น เพื่อผลักดันให้โลกได้สัมผัสกับพลังด้านดนตรีของคนไทย”

จากนั้น อัยยวัฒน์เล่าต่อถึงเรื่อง Education and Health power ว่ามีโอกาสหารือกับรัฐมนตรีว่าการท่องเที่ยวและกีฬา ถามท่านว่า มีตรงไหนที่ คิง เพาเวอร์ จะช่วยได้บ้าง จะทำอย่างไรให้สถานที่

ท่องเที่ยวใหม่ๆ เกิดขึ้นในไทย รัฐมนตรีก็มาบอกว่า อยากให้ช่วยเรื่องส้วม ซึ่งแม้จะเป็นจุดเล็ก แต่มีความสำคัญมาก

“เราเคยไปเที่ยวต่างประเทศ เราจะมีความสุขมากเมื่อเข้าห้องสุขาดีๆ เพราะมันคือสถานที่ที่รองรับความทุกข์ของเรา เวลาเราไปเที่ยว พอรถจอด สิ่งที่คนวิ่งไปหาก่อน ไม่ใช่สถานที่ท่องเที่ยวนะ แต่เป็นห้องสุขา

นักท่องเที่ยวที่เดินทางไปเที่ยว ส่วนใหญ่จะบอกว่าห้องน้ำที่ดีที่สุดคือญี่ปุ่น แล้วก็บอกว่าประเทศไหนที่ห้องน้ำแย่ที่สุด เราไม่อยากให้ประเทศไทยมีห้องน้ำไม่ดี จึงตอบรับและดำเนินการโครงการ “พลังคนไทย สุขา สุขใจ” สร้างห้องน้ำในชุมชน 6 แห่ง สร้างเสร็จแล้ว 2 แห่ง ที่เชียงใหม่ และอุบลราชธานี กำลังดำเนินการอีก 4 แห่ง ที่ จ.หนองคาย น่าน เพชรบูรณ์ และเลย”

“การสร้างห้องน้ำนี้เราสร้างคนเดียวไม่ได้ ผมจึงเสนอว่าโครงการนี้ผมไม่หวง ขอให้ภาคเอกชนอื่นๆ มาทำได้เลย ไม่ต้องเอาแบบเราก็ได้ แต่เอามาตรฐานห้องน้ำประมาณนี้ คือ มีห้องน้ำชาย ห้องน้ำหญิงมากกว่าห้องน้ำชาย มีจุดให้คนพิการ มีการระบายน้ำ ระบายอากาศ

ห้องน้ำที่ก่อสร้าง ใช้งบหลังละ 900,000 บาท บางคนบอกว่าแพง แต่เราอยากได้วัสดุที่ดี สวยงาม ทนทาน การก่อสร้างห้องน้ำนี้ เราจะร่วมกับชุมชน และเมื่อสร้างเสร็จแล้วจะให้ชุมชนดูแล เพราะเราอยากให้ เมื่อทำแล้ว ห้องน้ำสะอาดตลอด ไม่ใช่เข้าไปแล้วเหม็น จึงขอให้ชุมชนช่วยกันรักษา

ตอนนี้การก่อสร้างดำเนินไป 6 แห่ง แต่จะสร้างให้ครบ 10 แห่งในปีนี้”

นอกจากนี้ ในปี 2560 คิง เพาเวอร์ ยังได้มอบทุนการศึกษาระดับปริญญาโท 10 ทุน เพื่อให้ไปศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัย เดอ มงฟอร์ต ประเทศอังกฤษ นอกจากนี้ ยังมีโครงการมอบทุนการศึกษาวันเด็ก 20 โรงเรียน โครงการ For U ให้นักศึกษา 15 สถาบัน มาเยี่ยมชมดูงาน ฝึกงาน และรับบรรจุเป็นพนักงานของ คิง เพาเวอร์ต่อไป

ขณะที่โครงการด้านสาธารณสุข มีโครงการ “ก้าวคนละก้าว” เพื่อหาเงินช่วยเหลือ 11 โรงพยาบาล และโครงการ “พลังคนไทย พลังใจให้ชีวิต” มอบตู้อบเด็กให้กับ 20 โรงพยาบาลทั่วภูมิภาค

อัยยวัฒน์เล่าว่า “ตอนที่ ตูน บอดี้สแลม มาหา และบอกว่าจะวิ่ง 55 วันทำอย่างไรให้คนติดตาม ผมยังบอกว่า ไม่ใช่เรื่องง่ายนะ แต่เขาก็ทำได้ แล้วพี่ตูนยังมีไอเดียสร้างหนังที่ถ่ายบรรยากาศทั้งหมดในตอนวิ่งให้คนได้ดู แต่ขอให้คนมาดูฟรีนะ พอดูแล้ว ถ้าอยากทำดี ก็ร่วมบริจาคสร้างตึกนวมินทรบพิตร 84 พรรษาให้โรงพยาบาลศิริราช”

ขณะที่การมอบตู้อบเด็กนั้นมาจากคุณแม่ ซึ่งความจริงแล้วครอบครัวผมบริจาคกันอยู่เสมอ เราทำมานานแล้ว ทำมาด้วยความรู้สึกว่า ถ้าเด็กรอดชีวิตเขาคงคิดถึงเรา ต่อไปใครจะไปรู้ว่าเด็กคนที่รอดนั้นจะได้เป็นนายกฯ หรือเป็นนักฟุตบอลในโครงการ Fox Hunt หรือเป็นทีมชาติก็ได้

แล้วก็มาถึงกิจกรรมที่อัยยวัฒน์มีความสนุกกับการดำเนินการ นั่นคือ Community power หรือการส่งเสริมอาชีพให้ชุมชน

“โครงการผ้าครามเป็นสิ่งที่ผมทำแล้วรู้สึกสนุกที่สุด ไทยเรามีสินค้ามหาศาล โครงการนี้คุณพ่อมีไอเดียเยอะมาก ไม่ใช่แค่ผ้าคราม แต่มีมหาศาล เราจัดทำวิดีโอเพื่อบันทึกเป็นความรู้ บอกให้คนที่อยากทำรู้ว่า เราควรจะต้องคิดอย่างไรสำหรับผลิตภัณฑ์หนึ่งๆ สมมุติว่า เป็นผ้าคราม การย้อมเป็นแบบไหน การเย็บเป็นอย่างไร จะได้บอกความรู้ให้กับอนาคตรับทราบ

ผลิตภัณฑ์ที่เราศึกษามีเยอะมาก ทั้งที่กินได้เลย หรือเป็นผ้า แต่อาจจะดำเนินการเรื่องผ้าก่อน จากผ้าคราม ไปเป็นผ้าไหม ต่อไปค่อยเป็นของกิน ซึ่งเราจะทำงานร่วมกับชุมชน ชุมชนมีของ เรามีความรู้ ยกตัวอย่างที่ภาคใต้ เขาขายหิมพานต์ แล้วต้องการอัพตัวเอง จึงมาคุยกับคิง เพาเวอร์ มาคุยเรื่องแพคเกจ การตลาด และอื่นๆ ตอนนี้ยอดขายสูง จากเดิมที่ขายได้วันละเป็นหมื่นบาท ตอนนี้ได้วันละเป็นแสน

จากความคิดที่จะให้ที่เกิดขึ้น ทำให้กลายเป็นนโยบายที่ คิง เพาเวอร์ ต้องการให้พนักงานมีโอกาสร่วมด้วย”

“ผมอยากให้คนมามีส่วนร่วม ผมอยากให้พนักงานเรารู้จักคำว่า ‘ให้’ พนักงานของเรา ใครมีลูกหลาน หรือคนใกล้ชิดที่มีลูกๆ ให้เขียนโครงการเข้ามา แล้วจะเอาฟุตบอลให้ 5 ลูก 10 ลูก ปรากฏว่าพนักงานเริ่มรู้สึกว่าอยากให้บ้างแล้ว”

อัยยวัฒน์บอกว่า ที่ลงทุนลงแรงไปทั้งหมด ก็เพราะอยากทำให้เป็นแบบอย่างของบริษัทว่า บริษัทๆ หนึ่งไม่ว่าจะเป็นบริษัทไหนก็สามารถทำดีให้สังคมได้

“การคืนให้ประเทศ การคืนให้ชุมชน การคืนให้คนยากไร้ มีความสำคัญกับ คิง เพาเวอร์ มากๆ ผมไม่ได้ทำเพื่อให้หน้าตาดี เพราะต้องไปประมูล เพราะไม่ประมูล ผมก็ทำอยู่แล้ว เราไม่ได้จับกระแสพี่ตูนดัง เพราะเราเริ่มกันมาตั้งแต่แรกๆ แต่คนที่เขาเดือดร้อนจริงๆ เขาทราบไหมว่าเรามีโครงการเหล่านี้”

“ผมอยากให้ 3-5 ปีข้างหน้า อยากเห็นนักกีฬาไทยไปเล่นต่างประเทศมากขึ้น ต้องการให้ลูกฟุตบอลที่ส่งไปทั่วประเทศเกิดผล

สนามฟุตบอลหญ้าเทียมสามารถสร้างประโยชน์ได้ อยากเห็นผลิตภัณฑ์จากชุมชนมากกว่านี้ ชุมชนมีรายได้มากขึ้น ต้องการให้นักดนตรีมีเวทีให้แสดง ภาคเอกชนหรือภาครัฐได้ใช้ความสามารถของนักดนตรีเหล่านั้น อยากเห็นน้องๆ ได้งาน ได้อาชีพ สามารถแข่งระดับโลกได้

เช่นเดียวกับโครงการด้านการศึกษา สาธารณสุข ก็อยากเห็นโครงการดีๆ เกิดขึ้น อย่างโครงการแบบพี่ตูน”

ทราบมาว่า งบประมาณของ คิง เพาเวอร์ ที่ใช้ในโครงการ “คิง เพาเวอร์ ไทย เพาเวอร์ พลังคนไทย” ในปีที่ผ่านมา ประมาณ 300-400 ล้านบาท

ด้วยจำนวนเงินดังกล่าว อัยยวัฒน์ประเมินความคุ้มค่าด้วยถ้อยคำที่ว่า “ผมชอบนะที่ได้ทำ”

“คุ้มค่าหรือไม่คุ้มค่าแล้วแต่คนมอง สำหรับผมที่ผ่านมา ผมพอใจ แต่อยากเห็นอีก 3-5 ปีต่อไปว่า สิ่งที่ คิง เพาเวอร์ ทำไป จะให้ประโยชน์อะไรกับประเทศบ้าง”

สุดท้าย อัยยวัฒน์ฝากว่า ใครที่สนใจอยากให้ คิง เพาเวอร์ มีโอกาสช่วยเหลือทั้งด้านกีฬา ด้านดนตรี ด้านชุมชน ด้านการศึกษาและสาธารณสุข ขอให้ติดต่อไปที่คิง เพาเวอร์ หรือสามารถติดตามข่าวสารได้ทาง https://www.facebook.com/kingpowerthaipower/

เพื่อร่วมกันผลักดันให้พลังไทยเปล่งประกาย

“ผมว่าคำว่า Thai power หรือพลังไทย มันชัดเจนมาก เพราะถ้าเรานำพลังคนไทยมารวมกัน แล้วก็ทำในสิ่งที่ดีต่อสังคม ช่วยกันพัฒนาประเทศ ผมว่าสิ่งที่ดีและสิ่งที่ยิ่งใหญ่จะเกิดขึ้นต่อประเทศไทยอย่างแน่นอน”

อัยยวัฒน์สรุป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image