‘ศิลปินไทยต้องหายใจด้วยตัวเอง’ ผ่าทางตันเวทีโลก เมื่อภาษาคืออุปสรรค และความ ‘อยู่ยาก’ ในยุคดิจิทัล

"เชื่อมสัมพันธ์" รางวัลที่ 1 การประกวดจิตรกรรมเอเซีย พลัส

ต่างรู้กันว่าในยุคปัจจุบันนี้ทุกอย่างต้องรวดเร็วทันใจ ไม่ว่าจะเป็นข่าวสารบ้านเมือง หรือแม้กระทั่งการดำเนินชีวิตในแต่ละวัน และการประกอบอาชีพยังคงต้องมีการปรับเปลี่ยนการทำงานตามยุคสมัย อย่างอาชีพซึ่งต่างต้องสร้างสรรค์และนำเสนอผลงานให้ผู้คนเป็นที่รู้จักและยอมรับในผลงานของตน

ด้วยเหตุนี้ จึงเกิดคำถามที่ว่า “ศิลปินไทย” ควรปรับตัวอย่างไรในการสร้างสรรค์นำเสนอผลงานศิลปะให้มีคุณค่ายิ่งขึ้นและเพิ่มมูลค่า เพื่อสามารถไปสู่เวทีระดับโลกได้

ศิลปินผู้คร่ำหวอดในวงการหลายท่าน ได้ร่วมหาคำตอบในวงเสวนา “ศิลปินไทยยุคดิจิทัล อยู่รอด หรือ อยู่ยาก” เนื่องในงานมอบรางวัลและเปิดนิทรรศการจิตรกรรมเอเซีย พลัส ครั้งที่ 8 ณ หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ ถนนราชดำเนินกลาง เมื่อเร็วๆ นี้

นิทรรศการ จิตรกรรมเอเซีย พลัส ครั้งที่ 8 ณ หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ เมื่อเร็วๆนี้

ศาสตราจารย์ถาวร โกอุดมวิทย์ ผอ.หอศิลป์ร่วมสมัยอาร์เดล มองว่า ไทยเรามีศิลปินและศิลปินรุ่นใหม่ระดับโลกหลายท่าน และเรามีบทบาทมากมายในการเคลื่อนไหวแต่หน่วยงานที่ปลุกให้ผู้คนสนใจในงานศิลปะและให้คนเข้าใจยังทำหน้าที่ไม่เพียงพอ สิ่งที่ศิลปินไทยเราขาดไม่ได้ คือการสื่อสารภาษาอังกฤษ ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญที่จะนำพาศิลปินไปสู่เวทีสากล ศิลปะเป็นภาษาที่ล้ำลึกกว่าการถูกนำมาแปลโดยผ่านล่าม เพราะฉะนั้นลมหายใจของศิลปินให้คนอื่นหายใจแทนไม่ได้ต้องหายใจด้วยตัวเอง

Advertisement

“หากเราไม่สามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้เราก็ไปสู่เวทีสากลไม่ได้ ศิลปินที่ดีต้องมีงานที่ดีเเละผู้จัดการที่ดี เราไม่สามารถทำอะไรคนเดียวได้ การไปสู่ความสำเร็จต้องใช้ความขับเคลื่อนทั้งองค์กร อย่าง แจ๊ก หม่า ถือว่าเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้มองเห็นว่าโลกเปลี่ยนไปแล้ว ถ้ายังมองแบบเดิมก็ไปต่อไม่ได้ ด้านสื่อออนไลน์สามารถช่วยได้มากในการค้นหางานศิลปะ แต่จะใช้มันอย่างไรในการนำเสนอผลงานออกมา นอกจากนี้ ความรู้เรื่องประวัติศาสตร์ก็เป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้เรารู้จักรากเหง้าของตัวเอง ต้องมีความรู้รอบตัว รู้สถานการณ์ว่าโลกหมุนไปในทิศทางไหนแล้ว ซึ่งจะง่ายต่อการนำเสนอเรื่องราวสู่สากลได้ และทุกอย่างจะนำไปสู่การปรับตัวในโลกยุคดิจิทัลเอง”

ด้าน ศาสตราจารย์อิทธิพล ตั้งโฉลก ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) กล่าวว่า ศิลปินไทยทั้งในอดีตและปัจจุบันถือว่าเป็นศิลปินที่มีคุณภาพไม่แพ้ชาติใด เป็นที่รู้จักยอมรับทั่วโลกและได้รับรางวัลมากมาย เพียงแต่หน่วยงานที่สนับสนุนยังไม่แรงพอ เห็นได้ชัดว่าวิวัฒนาการบ้านเรามาได้ไกลและไม่ล้าหลังกว่าที่ไหน ศิลปินไทยมีทักษะงานด้านฝีมือที่ดีแต่ขาดทักษะทางความคิด การพัฒนาความคิดหรือผลงานให้เป็นที่ยอมรับต้องอาศัยหลายฝ่ายช่วยกัน อาจต้องมีการสร้างพิพิธภัณฑ์หอศิลป์เพิ่มเพื่อให้ผู้ที่สนใจในศิลปะหรือบุคคลทั่วไปได้เยี่ยมชมผลงาน อย่างไรก็ตาม การขายผลงานได้นั้นไม่ได้ถือว่าเป็นความสำเร็จของการสร้างสรรค์ผลงาน

“การขายคือผลพลอยได้ เป้าหมายของการเป็นศิลปินคือการทำงานให้ดีที่สุดไม่คำนึงถึงยอดขาย” ศิลปินแห่งชาติย้ำชัด

Advertisement
เสวนา “ศิลปินไทยยุคดิจิทัล อยู่รอด หรือ อยู่ยาก” จากซ้ายถาวร โกอุดมวิทย์, อิทธิพล ตั้งโฉลก และ สมศักดิ์ รักษ์สุวรรณ

ปิดท้ายด้วยความเห็นของ สมศักดิ์ รักษ์สุวรรณ นายกสมาคมศิลปินทัศนศิลป์นานาชาติแห่งประเทศไทย ซึ่งมีความเห็นว่า การวางแผนเป็นสิ่งสำคัญ เปรียบเหมือนการลงทุนระยะยาวดังเช่นการการซื้อที่ดินรอความเจริญเพื่อสร้างมูลค่าเงินเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ การใช้สื่อออนไลน์ก็สำคัญ โดยศิลปินรุ่นใหม่ก็มีทักษะมากขึ้นกว่าสมัยก่อนทั้งในด้านการนำเสนอผ่านช่องทางออนไลน์และทักษะด้านภาษาอังกฤษ

“ตอนเด็กๆ ผมฐานะยากจน รองเท้าไม่มี ตอนนั้นรู้สึกด้อยค่า แต่ผมมีความฝันและผมก็รับผิดชอบฝันของตัวเอง ตอนนี้มีทุกอย่างที่เคยอยากได้ ไม่ว่าจะเป็นบ้าน รถยนต์หรือเงินทอง การที่ศิลปินจะไปสู่สากลได้นั้น มี 3 อย่างที่สำคัญ คือ 1.เครือข่าย ต้องพึ่งพาช่วยเหลือกันเพื่อนำผลงานไปแสดง 2.การส่งผลงานให้พิจารณา 3.การได้รับเชิญ เมื่อมีทั้ง 3 อย่างที่กล่าวมาแล้วก็จะเป็นที่รู้จักและได้รับเชิญแสดงงานอื่นต่อไป สำหรับอุปสรรคของศิลปินไทยที่จะมุ่งสู่สากลคือ ภาษาอังกฤษ แต่เด็กรุ่นใหม่ก็สื่อสารได้ดีขึ้น”

โฉมหน้า 3 ผู้ชนะเลิศ


สำหรับการประกวดจิตรกรรมเอเซีย พลัส ในปีนี้ มีภาพที่ได้รับรางวัลจำนวน 8 ภาพ รางวัลชมเชย 5 ภาพ รางวัลที่ 1-3 จำนวน 3 ภาพ โดยภาพจิตรกรรมสีน้ำมันที่มีชื่อ “เชื่อมสัมพันธ์” ของนายนภนันท์ รังสีธรรมคุณ นักศึกษาปริญญาโท คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้รับรางวัลที่ 1

นางณินทิรา โสภณพนิช กรรมการบริษัท เอเซีย พลัส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ได้เริ่มดำเนินการจัดการประกวดมาต่อเนื่อง ซึ่งปีนี้เป็นปีที่ 8 มุ่งสนับสนุนศิลปินหน้าใหม่และมืออาชีพได้มีผลงานและเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติสอดคล้องกับหัวข้อ “ทัศนียภาพแห่งสากล”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image