แกะรอย ‘ข้าหลวงไทย’ ไปย้าย ‘นครวัด’

“มติชนอคาเดมี” เพิ่งนำสมาชิกกลับจากการตระเวนสัมผัสมิติต่างๆ ของ “มหาปราสาทบันทายฉมาร์-สมโบรไพรกุก และอังกอร์-นครธม นครวัด” เมื่อวันที่ 14-16 ก.ย.ที่ผ่านมา (ย้อนอ่าน : ล้วง ‘ความลับ’ ในศิลา กัมพูชา 3 ยุค)

“รศ.ดร.ศานติ ภักดีคำ” นักวิชาการประวัติศาสตร์ ผู้นำทัวร์รอบนั้น นอกจากอธิบายอารยธรรมเก่าแก่ใกล้บ้าน ที่ทิ้งร่องรอยอันมโหฬารไว้ในรูปของสิ่งปลูกสร้างต่างๆ

ยังเปิดมุมมองน่าสนใจอีกหลายเรื่อง

ทั้งเรื่องที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงให้รื้อปราสาทหินจากเขมร ไปสร้างที่กรุงเทพฯ มีความเป็นมาอย่างไร

ปราสาทหินที่ว่าอยู่ที่ใกล้ๆ กับเมืองพระนคร หรือนครธม-นครวัด

ADVERTISMENT

และอีกเรื่องคือ การค้นพบ “เมกะซิตี้โบราณ” คือ “เมืองพระนคร” และ “นครวัด”

เครดิตเป็นของอองรี มูโอต์ นักสำรวจชาวฝรั่งเศส ที่ไปถึงนครวัดเมื่อเดือน ม.ค.2403

แล้วไปเสียชีวิตที่หลวงพระบางในปี 2404 บันทึกมูโอต์ที่ตีพิมพ์ออกมาหลังจากนั้น ทำให้โลกรู้จักนครวัด

บันทึกของมูโอต์ที่กลายเป็นหนังสือชื่อว่า Travels in the central parts of Indo-China (Siam), Cambodia, and Laos : during the years 1858, 1859, and 1860

ฉบับภาษาไทย คือ “บันทึกการเดินทางของอ็องรี มูโอต์ ในราชอาณาจักรสยาม กัมพูชา ลาว และอินโดจีนตอนกลางส่วนอื่นๆ” มติชนพิมพ์ออกมาเมื่อปี 2558

การย้ายปราสาท ความรับรู้ของคนไทยเกี่ยวกับนครวัด และการที่พระมหากษัตริย์ไทยสมัยอยุธยาไปตีเมืองพระนคร มีความเกี่ยวเนื่องกัน

เกี่ยวเนื่องกันอย่างไร นิตยสารศิลปวัฒนธรรมจัดเสวนา “ตามข้าหลวงไทยไปย้ายนครวัด” เมื่อ 27 กันยายนที่ผ่านมา

อาจารย์ศานติเป็นผู้บรรยาย และเอกภัทร์ เชิดธรรมธร ดำเนินรายการ เนื้อหาการเสวนาได้อธิบายประเด็นดังกล่าวอย่างน่าสนใจ

ขอนำมาเผยแพร่ต่อ เท่าที่พื้นที่จะอำนวย

อาจารย์ศานติ ภักดีคำ เสวนาและทัวร์กัมพูชา

คนไทยเรารู้จัก “พระนคร-นครวัด” ก่อนมูโอต์ไปถึงนครวัดหลายร้อยปี เช่นเดียวกับชาวเขมรก็รับรู้การมีอยู่และไม่ได้ละทิ้งสิ่งมหัศจรรย์ของโลกแห่งนี้

คนไทยรู้จักพระนครและนครวัดในชื่อต่างๆ ทั้ง พระพิษณุโลก-ศรียโสธรปุระ-พระนคร-เมืองพระนคร-นครหลวง-นครธม -นครวัด

ทั้งหมดคือเมืองหลวงของอาณาจักรเขมร ระหว่างพุทธศตวรรษ 14-20 ที่ขยับเคลื่อนย้ายไปมาบริเวณใกล้กับเสียมราฐในปัจจุบัน และนครวัด ซึ่งเป็นปราสาทศาสนสถานที่อยู่ในเมืองหลวงนั่นเอง

พระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ผู้ครองอาณาจักรเขมรช่วง พ.ศ.1656-1693 และทรงถือศาสนาฮินดูเป็นผู้สร้างนครวัด

ต่อมาพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ซึ่งครองอาณาจักรเขมร ระหว่าง พ.ศ.1724-1762 ทรงเปลี่ยนนครวัดเป็นศาสนสถานพุทธ และสร้าง “นครธม” เป็นเมืองหลวงในยุคพระองค์ ห่างจากพระนครหรือเมืองหลวงเดิม

ต่างประเทศตื่นเต้นกับ “นครวัด-นครธม” หลังตีพิมพ์บันทึกของมูโอต์

แต่ อ.ศานติ ระบุว่า ประมาณ 200 ปี หรือแม้แต่ 2-3 ปีก่อนมูโอต์ มีบาทหลวง นักเดินทางสเปน โปรตุเกส ญี่ปุ่น ไปถึงนครวัด

ส่วนคนไทยรู้จัก “เมืองพระนคร” มานานกว่านั้น ตั้งแต่ยุคสุโขทัย และละโว้ หรือลพบุรี

สุโขทัยปกครองโดยเจ้าท้องถิ่น แล้วพระนครหลวง อภิเษกเป็นเครือญาติ

ดังที่มีบันทึกว่า กษัตริย์แห่งศรีโสธรปุระหรือเมืองพระนคร ยกพระธิดาให้ “กมรแดงอัญผาเมือง” หรือพ่อขุนผาเมือง

และที่วัดศรีสวาย สุโขทัย มีศาลตาผาแดง คำว่าผาแดงมาจาก ประแดง ที่กร่อนมาจาก กมรเตง

ส่วนละโว้ มีความสัมพันธ์อีกแบบหนึ่ง

จารึกกัมพูชาระบุว่า พระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 ยกทัพมาตีละโว้ ทำให้ตกอยู่ภายใต้อาณาจักรเขมร

ในภาพสลักที่ระเบียงประวัติศาสตร์ที่ปราสาทนครวัด จึงมีภาพกองทัพละโว้ นำโดย “กมรเตงอัญศรีชัยสิงหวรมัน”

และยังจารึกภาพกองทัพสยามเดินสวนสนาม กับคำบรรยาย “เนียะ สยำ กก” หรือ นี่ กองทัพสยาม

จารึกปราสาทพิมานอากาศ ระบุว่าพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ทรงให้ “นฤปตินทรวรมัน” โอรสองค์หนึ่ง มาเป็นเจ้าครองเมืองละโว้

หลังจากพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 สวรรคต ละโว้แยกตัวเป็นอิสระ แต่ยังถือว่าสืบเชื้อสายมาจากพระนคร

อาณาจักรอยุธยาเกิดขึ้นในเวลาต่อมา จดหมายเหตุจีนระบุว่า อยุธยาเกิดจาก “หลัวหู” คือละโว้กับสุพรรณภูมิรวมกัน

พ.ศ.1974 สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 หรือเจ้าสามพระยา ยกทัพจากอยุธยาไปตีเมืองนครหลวง แล้วโปรดให้พระนครอินท์พระราชโอรสไปครองเมืองนครหลวงแทนในฐานะเมืองประเทศราช

แล้วนำพระประยูรญาติ ขุนนาง รูปหล่อต่างๆ กลับมากรุงศรีอยุธยาด้วย ทำให้อิทธิพลของเขมรในด้านการปกครอง ประเพณี ตลอดจนงานศิลปะมาปรากฏชัดในอยุธยา

ทำไมต้องไปตีนครธม นครวัด อาจารย์ศานติเฉลยว่า เพราะอยุธยาถือว่าเป็นญาติสายหนึ่งของพระนครหลวง

เมื่อมีอำนาจ จึงพยายามขยายอำนาจกลับไป

ทางดิ่งชันขึ้นยอดปราสาทนครวัด

ในรัชสมัยพระมหาธรรมราชา หรืออยุธยาตอนกลาง ครองราชย์ พ.ศ.2112-2133 จารึกกัมพูชาระบุว่าพระภิกษุจากศรีอยุธยานามว่า ” พระราชมุนี” เดินทางไป “นครวัด” และไปถึง “พนมบาแค็ง”

ระยะนั้นนครวัดกลายเป็นวัดพุทธ จากชื่อที่เคยเรียกว่า “พระพิษณุโลก” ตามคติฮินดู กลับมาเรียกว่า พระเชตพน กับพระเชตไพร

พระราชมุนี มาเห็นพระพุทธรูปแขนหัก คอหัก ได้จัดการซ่อมแซม เท่ากับว่าตอนนั้นเป็นวัดพุทธเถรวาท

บริเวณชั้นสองของนครวัด ยังมีบริเวณที่เรียกว่า “เพรียะพวน” หรือ “พระพัน” เกิดจากมีคนไปแสวงบุญ สักการะทำพระพุทธรูปไปถวาย นานเข้า มีจำนวนมากนับพันๆ กองพะเนิน

เท่ากับว่า นครวัดไม่ได้ถูกทิ้งร้าง แต่ลดความสำคัญจากเมืองใหญ่ กลายเป็นที่จาริกแสวงบุญ ขณะที่ตัวเมืองย้ายไปทางใต้

ต่อมารัชสมัย พระเจ้าทรงธรรม ระหว่าง พ.ศ.2154-2171 มีเอกสารกัมพูชาบันทึกว่าทรงส่งกองทัพไปกัมพูชา แต่หลักฐานไทยไม่ปรากฏ

บันทึกดัชต์ระบุว่า พระเจ้าปราสาททองได้เสด็จไปในกองทัพด้วย

ทำให้เกิดการเรียนรู้รับรู้เรื่องพระนครของอยุธยาตอนกลางอีกครั้ง

เมื่อพระเจ้าปราสาททองขึ้นครองราชย์ระหว่าง พ.ศ.2172-2199 ได้ทรงสั่งสร้างปราสาทนครหลวง

โดยใน พ.ศ.2174 ทรงพระกรุณาให้ช่างไป “ถ่ายอย่าง” พระนครหลวงและปราสาทกรุงกัมพุชประเทศ มาสร้างพระราชวัง เป็นที่ประทับร้อน ที่ตำบลริมวัดเทพจันทร์ สำหรับทรงพักกลางทางไปนมัสการพระพุทธบาท ให้ชื่อว่า “พระนครหลวง”

แต่สร้างไม่เสร็จในรัชกาล ต่อมาสร้างเป็นมณฑป ทำให้แตกต่างออกไปจากแบบที่ถ่ายมาเดิม

นอกจากนี้ ยังถ่ายแบบพระที่นั่งมาจากพระนครหลวง มาสร้าง “พระที่นั่งศิริยโสธรมหาพิมานบรรยงค์” ในพระราชวังอยุธยา

ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็นพระที่นั่งจักรวรรดิไพชยนต์ ไว้ทอดพระเนตรกระบวนแห่พิธีสนานจตุรงคเสนา

จากนั้นจึงเป็นธรรมเนียมที่ต้องมีพระที่นั่งไว้เพื่อพระราชพิธีนี้ ในสมัยกรุงเทพคือพระที่นั่งสุทไธสวรรค์

ท้ายที่สุด กัมพูชายุคหลัง นำแบบย้อนกลับไปสร้างพระที่นั่งจันทรฉายา อยู่หน้าพระราชวังหลวงที่ราชธานีพนมเปญ

และอีกแห่ง ได้แก่ วัดไชยวัฒนาราม สร้างโดยผังที่รับอิทธิพลจากเมืองพระนคร

ประตูนครธม

ส่วนการย้าย “นครวัด” เกิดขึ้นในยุครัตนโกสินทร์

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงพระราชดำริว่า ปราสาทศิลาเมืองเขมรมีมากนัก ถ้ารื้อปราสาทย่อมๆ มาทำไว้ที่เขามหาสวรรค์ ปราสาท 1 วัดปทุมวัน ปราสาท 1 ก็จะเป็นเกียรติยศไปภายหน้า

เขามหาสวรรค์ คือเขาวัง เพชรบุรี ส่วนวัดปทุมวัน คือวัดปทุมวนารามในปัจจุบัน

จึงโปรดฯ ให้พระสุพรรณพิศาล ขุนชาติวิชาออกไปสำรวจหลายแห่ง

ขุนชาติวิชากลับมากราบทูลว่าดูหลายแห่งทั่วทุกตำบล มีแต่ปราสาทใหญ่ๆ ทั้งนั้น จะรื้อเอาเข้ามาเห็นจะไม่ได้

มีปราสาทผไทตาพรหมอยู่ที่เมืองนครเสียมราฐ 2 ปราสาท สูง 6 วา พอรื้อได้

จึงโปรดฯให้มีตราออกไปเกณฑ์คนเมืองบัตบอง เมืองนครเสียมราฐ เมืองพนมศก ให้พระสุพรรณพิศาลไปรื้อแบ่งเป็น 4 ผลัด ผลัดละ 500 คน เมื่อเดือน เม.ย. พ.ศ.2402

ระหว่างรื้อ อยู่ๆ มีเขมร 300 คนฮือออกจากป่า ไล่แทงฟันฆ่าพระสุพรรณพิศาล พระวัง บุตรพระสุพรรณพิศาล ตาย 3 คน

ไล่แทงฟันพระมหาดไทย พระยกกระบัตร ป่วยเจ็บหลายคน แต่ไม่ทำอันตรายไพร่

ร.4 ทรงทราบ รับสั่งให้พระยาอภัยภูเบศร์ พระยาอานุภาพไตรภพ ไปติดตาม แล้วรื้อมาคนละปราสาทให้ได้

บรรดาเสนาบดี เข้าชื่อกันกราบบังคมทูลว่า ปราสาทศิลาเขมร สร้างจากปราสาทศิลาก้อนใหญ่ๆ รื้อลงไม่ไหว ถ้ารื้อได้ แต่เข้ามาปรับปรุงสร้างขึ้นใหม่ไม่ได้ จะเสื่อมเสียพระเกียรติมากขึ้นไปอีก

ท้ายที่สุดมีรับสั่งให้งดเรื่องปราสาทหิน แต่ให้สืบหาตัวผู้ร้าย อย่างไรก็ตาม ไม่มีหลักฐานว่าจับได้ และกลายเป็นประวัติศาสตร์ไป

แต่ก็ยังมีการให้พระยาสามภพพ่าย เป็นช่างไปจำลองแบบของปราสาทนครวัด มาสร้างไว้ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือวัดพระแก้ว

โดยเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2410 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้พระยาสามภพพ่ายออกไปถ่ายแบบปราสาทนครวัดมาสร้างจำลองไว้ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม

แต่การก่อสร้างยังไม่แล้วเสร็จ เสด็จสวรรคตเสียก่อน

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 จึงโปรดเกล้าฯ พระยาเพชรพิไชย (หนู หงสกุล) ออกแบบนครวัดจำลอง และโปรดเกล้าฯ ให้หม่อมเจ้าประวิช ชุมสาย สร้างหล่อปูนตามแบบจนแล้วเสร็จ พ.ศ.2425 ทันฉลองสมโภชพระนครครบ 100 ปี

และปรากฏมาจนบัดนี้

นั่นคือบางส่วนของประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์อันยาวนานและเต็มไปด้วยสีสันของไทย-กัมพูชาโบราณ

เนียะ สยำ กก