ครบรส ‘ซีไรต์-ประวัติศาสตร์-การเมือง’ มติชน ‘Readvolution’ ในงานมหกรรมหนังสือ

อีกไม่กี่วันก็จะถึง “งานมหกรรมหนังสือระดับชาติครั้งที่ 23” แล้ว

“สำนักพิมพ์มติชน” จึงไม่พลาดยกทัพหนังสือออกใหม่ จัดจำหน่ายภายในบูธสุดคึกคักสดใสสไตล์ “อเล็ก เฟส” (Alex Face) ศิลปินสตรีตอาร์ตแนวหน้าของเมืองไทย ในคอนเซ็ปต์ “Readvolution เปลี่ยนความคิด เปลี่ยนชีวิต เปลี่ยนอนาคต” พร้อมของพรีเมียมสุดเก๋โก้ ชวนร้อง “โอ้โห” เมื่อแรกเห็น

ทั้งยังจัดหนัก จัดเต็มกับกิจกรรมบนเวที อาทิ วันที่ 20 ต.ค. เวลา 16.00-17.00 น. “เลือดสีน้ำเงิน ประวัติศาสตร์ฝ่ายขวา” วิทยากรโดย ปฐมาวดี วิเชียรนิตย์ หรือในวันที่ 22 ต.ค. กับ “โลกทัศน์ประวัติศาสตร์” โดย ศ.ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์

รวมถึงกิจกรรม “แต่งหน้า จิบชา กับอุรุดา โควินท์” เจ้าของผลงาน “หยดน้ำหวานในหยาดน้ำตา” 1 ใน 3 เล่มจาก “มติชน” ที่ผ่านเข้ารอบชอร์ตลิสต์ ซีไรต์ 2561

Advertisement

ตลอดจนกิจกรรมพบปะนักเขียน แจกลายเซ็นที่บูธมติชน V10 อาทิ วันที่ 20 ต.ค. เวลา 14.00-15.00 น. พบ “หนุ่มเมืองจันท์” สรกล อดุลยานนท์ กับผลงานเล่มล่าสุด “เพราะฉะนั้น ฉันจึงถาม” ฟาส์ตฟู้ดธุรกิจ ลำดับที่ 30, วันที่ 23 ต.ค เวลา 16.00-17.00 น. พบ พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก เจ้าของผลงาน “อิน-จัน แฝดสยาม” รวมถึง “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” เจ้าของเรื่องราวในหนังสือ “ปักธงอนาคต The Future is Ours” เปิดทุกมิติของชีวิต ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ที่จะมาเยี่ยมเยียนบูธมติชนมากกว่า 1 ครั้งแน่นอน

ส่วนจะเป็นวันไหน เวลาใดบ้าง โปรดติดตาม

Advertisement

หมวดการเมืองเข้มข้น เจาะลึก ‘บุคคล-ปรากฏการณ์’

เกริ่นมาขนาดนี้ ไม่พูดถึง “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” คงไม่ได้

แต่ช้าก่อน แม้ชื่อหนังสือจะออกแนวเปิดเปลือยชีวิตเจ้าตัว กระนั้นผู้ถ่ายทอด “ปักธงอนาคต The Future is Ours” เปิดทุกมิติของชีวิต ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ กลับเป็น “เจนวิทย์ เชื้อสาวะถี”

ชายหนุ่มผู้อาศัยข้อมูลจากไดอารีส่วนตัวกว่า 10 เล่ม ผสมปากคำบุคคลรอบกายกว่า 80 ชีวิต รวมทั้งสืบค้นแฟ้มข่าวอีกหลายร้อยชิ้น ยังไม่นับการเดินทางแบบเกาะติดชีวิต “ธนาธร” ตลอดการเขียน

จึงให้ความมั่นใจได้ว่า “ปักธงอนาคต” เป็นหนังสือที่ทำให้คุณรู้จัก “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” มากกว่าที่เคย ไม่ว่าจะในบทบาทลูกชายของแม่ พี่ของน้อง สามีของภรรยา พ่อของลูก หลานของอา เจ้านายของลูกน้อง หรือเพื่อนกับเพื่อน

หลอมรวมเป็นเรื่องราวสุดเข้มข้นที่ผู้อ่านไม่ควรพลาด

เล่มต่อมากับ “การเมืองภาคประชาชน” โดย “อุเชนทร์ เชียงเสน” นักวิชาการหนุ่มผู้คร่ำหวอดกับการคิดวิเคราะห์ปรากฏการณ์ทางการเมืองในแง่มุมต่างๆ

ผู้เล็งเห็นถึงสถานการณ์บ้านเมืองแบบลุ่มๆ ดอนๆ ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475 จนถึงปัจจุบันที่มักแปรผันตามผู้มีอำนาจในยุคสมัย

“อุเชนทร์” สร้างสรรค์ผลงานผ่านวิทยานิพนธ์รัฐศาสตรมหาบัณฑิต สาขาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ก่อนต่อยอดเป็นหนังสือ “การเมืองภาคประชาชน” นำเสนอรากเหง้าของปัญหาบ้านเมืองภายหลังเหตุการณ์ทางการเมือง เชื่อมโยงไปยังจุดเริ่มต้นของวาทกรรมการเมืองภาคประชาชน นั่นคือ การตรวจสอบ ถ่วงดุล และคัดค้านนโยบายรัฐที่มีผลกระทบกับคนส่วนใหญ่

ที่สำคัญคือ การถือกำเนิด “พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย” เพื่อขับไล่ระบอบทักษิณทำให้เห็นการต่อสู้เรียกร้องในฐานะการเมืองภาคประชาชนที่ต่างไปจากอดีต ส่วนจะต่างอย่างไร หรือใครคือผู้กำหนดการเรียกร้อง ควรเลือกหาเล่มนี้ไปศึกษาเพิ่มเติม

อีกหนึ่งเล่มที่ผู้เขียนออกตัวเลยว่า “เนื้อหาส่วนใหญ่ไม่ได้วิจารณ์รัฐบาลอย่างเสียหาย แต่เป็นการเขียนเล่าถึงกรณีเปรียบเทียบในหลายๆ ที่ในโลกด้วย”

แน่นอน กำลังพูดถึง “เผด็จการวิทยา” หนังสือวิชาการจากการคัดสรรและเรียบเรียงจากคอลัมน์ในหนังสือพิมพ์มติชนของ “พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์” นักคิดนักวิเคราะห์ทางการเมืองจากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ในเล่มอธิบายถึงระบอบเผด็จการรูปแบบต่างๆ พร้อมให้ผู้อ่านย่อยสารอย่างง่ายด้วยการแบ่งเป็นหัวข้อใหญ่ ตั้งแต่ทฤษฎีว่าด้วยแนวคิดพื้นฐาน กองทัพและความมั่นคง การเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยและบทเรียนจากต่างประเทศ เรื่อยไปถึงความปรองดองสมานฉันท์และสังคมยุคหลังเผด็จการ

ถามว่า “เผด็จการ” น่าสนใจอย่างไร พิชญ์บอกว่า เผด็จการเป็นเรื่องน่าสนใจ แม้คนส่วนใหญ่จะไม่สนใจ เพราะเชื่อแค่ว่าเผด็จการคือคำที่ใช้วิจารณ์คนที่ไม่เป็นประชาธิปไตย แต่ไม่เข้าใจว่าเผด็จการทำงานได้อย่างไร

แต่ไม่ว่าระบอบเผด็จการจะมาในรูปลักษณ์ใด ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นความคิดและการกระทำที่สังคมโลกไม่สามารถยอมรับได้แน่นอน

ความภูมิใจครั้งใหม่ของ ‘มติชน’ กับ ‘ดับเบิลซีไรต์’ ของวีรพร

มาถึงวรรณกรรมไทยที่สร้างความภูมิใจครั้งล่าสุดให้ “มติชน” อย่าง “พุทธศักราชอัสดงกับทรงจำของทรงจำของแมวกุหลาบดำ” โดย “วีรพร นิติประภา”

ล่าสุด คว้ารางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน หรือ “ซีไรต์” ประเภทนวนิยาย ประจำปี พ.ศ.2561 ต่อจาก “ไส้เดือนตาบอดในเขาวงกต” ที่คว้าซีไรต์เมื่อปี 2558

ส่งผลให้ “วีรพร นิติประภา” กลายเป็นนักเขียนดับเบิลซีไรต์คนที่ 3 ของไทย และนักเขียนดับเบิลซีไรต์หญิงคนแรกในประวัติศาสตร์ทันที

“นำเสนอเรื่องเล่าของครอบครัวชาวจีนโพ้นทะเลด้วยมุมมองใหม่ การต่อสู้ดิ้นรนของชีวิตในแต่ละรุ่นของครอบครัวใหญ่ เล่าคู่ขนานไปกับเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของสังคมทั้งของไทยและจีนซึ่งส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตและชะตากรรมของตัวละครแต่ละตัว โดดเด่นในการใช้ความทรงจำและประวัติศาสตร์ความรู้สึกส่วนบุคคล ซึ่งกลายเป็นความทรงจำร่วมของสังคม มีทั้งเรื่องที่เลือกจะเล่า และเรื่องที่จะเลือกจะลืม แหว่งวิ่นและคลุมเครือ”

คือคำประกาศจากคณะกรรมการตัดสินซีไรต์ที่บอกความเป็น “พุทธศักราชอัสดงกับทรงจำของทรงจำของแมวกุหลาบดำ” อย่างชัดเจน

ด้านวีรพรให้สัมภาษณ์ติดตลกหลังทราบผลว่า “ไม่คิดว่าจะได้ ถ้าให้ตัวเองเป็นกรรมการก็จะทำทุกวิถีทางให้เล่มนี้ไม่ได้” พร้อมเอ่ยว่า คราวหน้าจะพยายามไม่ให้กรรมการลำบากใจอย่างนี้อีก

“หนังสือที่เข้ามาทั้งหมด นักเขียนทำเต็มที่ เข้ามาลองลิสต์ทั้ง 13 เล่มจนถึงเดี๋ยวนี้ก็ควรค่าแก่การอ่านทั้งสิ้น ดีใจที่หลังจากนี้ครอบครัวสกุล ‘ตั้ง’ จะถูกอ่าน เป็นที่รู้จักมากขึ้น

“อยากให้คนอ่านอ่านเล่มอื่นๆ ด้วย อย่ามุ่งอ่านแต่ซีไรต์อย่างเดียว” นักเขียนดับเบิลซีไรต์กล่าวเช่นนี้

ส่วน “ผุดเกิดมาลาร่ำ” โดย อารยา ราษฎร์จำเริญสุข นวนิยายของหญิงสามตน สามช่วงวัยของชีวิต นาม “ไลลียา” ที่มีมุมมองเรื่อง “ความตาย” ผิดแผกจากปกติ ทั้งยังมีเรื่องราวทับซ้อนความจริงของผู้เขียนรวมอยู่จำนวนมาก

และบทบันทึกเรื่องราวความรักระหว่าง “อุรุดา โควินท์” และคู่รัก “กนกพงศ์ สงสมพันธ์” ตราบจนลมหายใจสุดท้าย ในเรื่อง “หยดน้ำหวานในหยาดน้ำตา” ที่ทะลุเข้าถึงรอบชอร์ตลิสต์ซีไรต์ 2561 ก็พร้อมจัดจำหน่ายในราคาพิเศษด้วยเช่นกัน

ครบเครื่อง ‘ประวัติศาสตร์-วรรณกรรมแปล’
จัดหนักโปรโมชั่นดี ของพรีเมียมสวย

ด้านวรรณกรรมแปลก็ไม่น้อยหน้า “มติชน” จัดมาทั้ง “สองปี แปดเดือน กับยี่สิบแปดคืน” (Two Years Eight Months And Twenty-Eight Nights) จากซัลมาน รัชดี นักเขียนมือรางวัลระดับโลก แปลโดย สุนันทา วรรณสินธ์ เบล

นิยายแฟนตาซีที่ชวนผู้อ่านตะลุยไปในโลกจินตนาการ พบกับการฟาดฟันกันระหว่างภูตผี แฟร์รี่ต่างๆ ทั้งยังเกิดอาเพศพิสดารสุดมหัศจรรย์ที่กินเวลารวม 1,001 วันพอดิบพอดี นอกจากนี้ ยังผสานนัยยะสถานการณ์จริงบนโลก แฝงความรู้ทั้งด้านประวัติศาสตร์ ปรัชญา ศาสนา วัฒนธรรม คติความเชื่อไว้อย่างเต็มเปี่ยม

“ใต้เวิ้งฟ้า” (The Sheltering Sky) วรรณกรรมคลาสสิกที่บรรยายถึงความเวิ้งว้างของชีวิต ข้อจำกัดในการเข้าใจกันของมนุษย์ และความไม่จีรังของตัวตน ผ่านการเดินทางผจญภัยในทวีปแอฟริกาตอนเหนือหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เพิ่งยุติหมาดๆ ผลงานของพอล โบวล์ส แปลโดย อทิมา

หรือ “กันและกัน” (Two by Two) นวนิยายเล่มหนา ความยาวเกือบ 700 หน้า ผลงานของนิโคลัส สปาร์กส์ เจ้าพ่อนวนิยายรัก แปลโดย วรางคณา เหมศุกล

เรื่องราวของชายหนุ่มวัย 30 ที่ตัดสินใจออกจากงานเพื่อเริ่มต้นกิจการของตัวเอง ด้านชีวิตครอบครัวก็ย่ำแย่เต็มที เพราะภรรยาสุดที่รักตัดสินใจขอแยกทาง ทำให้เขากลายเป็นคุณพ่อเลี้ยงเดี่ยวอย่างห้ามไม่ได้

เมื่อเรื่องราวไม่เข้ารูปเข้ารอย ชายหนุ่มจะเผชิญปัญหาสาหัสไปได้อย่างไร ต้องอ่านแล้วหาคำตอบด้วยตัวเอง

ปรับโหมดมาทางหนังสือหมวดประวัติศาสตร์ที่มีตั้งแต่ยุคสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช กับเล่ม “ชันสูตรประวัติศาสตร์ ไขปริศนาพระเจ้าตาก” โดย รศ.นพ.เอกชัย โควาวิสารัช ที่จะมาไขข้อสงสัยในประเด็นเกี่ยวกับพระราชประวัติ ไล่เรียงไปจนถึงสวรรคต

เรื่อยมาถึง “การเมืองในราชสำนักฝ่ายใน สมัยรัชกาลที่ 5” โดยฉัตรดาว ลีเชวงวงศ์ เล่าเรื่องราวชีวิตเร้นลับของเหล่าอิสตรีที่เต็มไปด้วยความรัก แรงปรารถนา อำนาจ การเมือง และสายสัมพันธ์ ระหว่างพระภรรยาเจ้าและพระภรรยาที่ช่วงชิงความเป็นใหญ่เหนือสตรีทั้งมวล

หรือ “เลือดสีน้ำเงิน ซ้ายไม่จริง ขวาไม่แท้ และประชาธิปไตยในอุดมคติ” ของปฐมาวดี วิเชียรนิตย์ ฉายเบื้องหลังกลุ่ม “เลือดสีน้ำเงิน” ตั้งแต่ภูมิหลัง บทบาท และการเคลื่อนไหวในช่วงเวลารัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ยาวถึงยุคเผด็จการทหาร 2490-2500 มองลึกถึงอุดมการณ์ว่าเป็นอย่างไรแน่

และพลาดไม่ได้กับผลงานฟาส์ตฟู้ดธุรกิจ ลำดับที่ 30 ของ “หนุ่เมืองจันท์” ในชื่อ “เพราะฉะนั้น ฉันจึงถาม” หรือจะส่องดวงชะตาในหนังสือโหราศาสตร์ประจำปีที่ยืนหยัดคู่คนไทยเข้าสู่ปีที่ 38 อย่าง “ศาสตร์แห่งโหร” ที่โหราจารย์รุ่นใหญ่ต่างพยากรณ์ไว้แบบครบครัน

ยังมีโปรโมชั่นหนังสือราคาพิเศษ พร้อมรับของพรีเมียม ทั้งสมุดโน้ต, สติ๊กเกอร์, Mardi Pouch, Mardi Tote,Mardi Carryall และ Mardi Weekend Bag เมื่อซื้อครบตามจำนวน

แล้วมาพบกันที่งานมหกรรมหนังสือระดับชาติครั้งที่ 23 ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โซนพลาซ่า บูธ V10 ตั้งแต่วันที่ 17-28 ตุลาคม 2561

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image