เที่ยวพัทยา แบบโลว์คาร์บอน ‘ขึ้นรถไฟไปปั่นจักรยาน’

ภาพโดย #niceteamrace2018

ปู๊นๆ ถึงก็ช่าง ไม่ถึงก็ช่าง เสียงหวูดรถไฟกำลังร้องเรียกให้นักท่องเที่ยวไปสัมผัสทัศนียภาพงดงามระหว่างทาง พร้อมกับจักรยานคู่ใจ เป็นการเดินทางที่สุดแสนจะคลาสสิกกับรถไฟขบวนและเส้นทางใหม่ ที่เพิ่งเปิดให้บริการเส้นทางพิเศษเมื่อต้นปีที่ผ่านมานี้เอง ตามคอนเซ็ปต์ท่องเที่ยวแบบ “โลว์คาร์บอน”

ว่าแล้วลองมาคำนวณตัวเลขกันสักนิด…

ปกติ “รถยนต์” จะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เฉลี่ย 104 กรัม : คน : กิโลเมตร การเดินทางโดย “รถไฟ” จะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพียง 14 กรัม : คน : กิโลเมตร แต่หากเลือกใช้ “จักรยาน” จะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 0 กรัม

ดังนั้น หากนักท่องเที่ยวสามารถเดินทางในรูปแบบคาร์บอนต่ำ จะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เท่ากับ 4.2 กิโลกรัมต่อคนเท่านั้น เท่ากับสามารถลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 10 เท่า เป็นการช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมและส่งเสริมการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอีกด้วย ภายใต้โครงการนำร่องสำรวจเส้นทางเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวแบบคาร์บอนต่ำ ชูเส้นทางท่องเที่ยวและแหล่งท่องเที่ยว เพื่อให้เกิดการกระจายรายได้เข้าสู่ชุมชน โดยการผนึกกำลังของ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท.และการรถไฟแห่งประเทศไทย

Advertisement

ความสนุกเริ่มต้นตั้งแต่เวลา 06.45 น. จากสถานีหัวลำโพง อากาศแจ่มใส พร้อมมุ่งหน้าสู่พื้นที่พิเศษเมืองพัทยา จ.ชลบุรี โดยรถไฟแบบปรับอากาศ ชั้น 2 เส้นทางกรุงเทพฯ-บ้านพลูตาหลวง (สายตะวันออก) เพียง 3 ชั่วโมงเราก็มาถึงจุดหมาย

สำหรับในส่วนของเส้นทางจักรยานนั้น มุ่งเน้นกิจกรรมที่มีส่วนร่วมกับชุมชนท้องถิ่น ประกอบด้วย 3 เส้นทางหลัก ได้แก่ 1.เส้นทางการท่องเที่ยวโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เขาชีจรรย์ ซึ่งมีจุดแวะท่องเที่ยว เช่น ป่าสิริเจริญวรรษ พระพุทธรูปแกะสลักหน้าผาเขาชีจรรย์ อเนกกุศลศาลา (วิหารเซียน) วัดญาณสังวราราม และเดินเชื่อมไปสู่ตลาดจีนโบราณชากแง้ว พื้นที่เทศบาลตำบลห้วยใหญ่

2.เส้นทางท่องเที่ยวด้วยจักรยานชุมชนต้นแบบ นาเกลือ สะพานปลานาเกลือ กลุ่มพื้นบ้านประมงเรือเล็ก และ 3.เส้นทางเลียบชายหาดพัทยาเหนือ กลาง ใต้ และแหลมบาลีฮาย

Advertisement

เราเลือกเส้นทางแรก มีจุดปล่อยตัวที่สถานีวัดญาณสังวรารามวรมหาวิหาร ต.ห้วยใหญ่ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี มุ่งสู่ พระพุทธรูปแกะสลักหน้าผาเขาชีจรรย์ ระยะทาง 7 กิโลเมตร แวะชมความงดงามของพระพุทธรูปแกะสลักหน้าผาเขาชีจรรย์ ซึ่งเป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในการพัฒนาพื้นที่วัดญาณสังวราราม โดยมี สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทรงเป็นองค์อุปถัมภ์ และมีเจตนารมณ์ในการสร้างขึ้นเพื่อน้อมเกล้าฯ ถวาย พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ 9 เพื่อให้เป็นพระพุทธรูปแกะสลักหินประจำรัชกาลที่ 9 ในวาระทรงครองราชย์ 50 ปี

จากจุดนี้ปั่นกันต่ออีก 5 กิโลเมตร มุ่งหน้าสู่ โครงการป่าสิริเจริญวรรษอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นอีกมุมมองใหม่ของการท่องเที่ยวอันร่มรื่น เป็นพื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่ที่ใกล้พัทยามากที่สุด มีเส้นทางปั่นจักรยานราว 18 กิโลเมตร กว่า 200 โค้ง ตลอดระยะทางมีธรรมชาติอันเขียวขจีรายล้อมอยู่ หรือใครอยากจะปั่นแบบระยะสั้นก็ไม่ว่ากัน ขณะปั่นไปก็สัมผัสได้กับลมเย็นๆ ที่โชยมาตลอดเวลา รวมไปถึงความสนุกที่ได้ทักทายเพื่อนนักปั่นมากมาย ทำให้เส้นทางสีเขียวเล็กๆ แห่งนี้เป็นอีกสถานที่ปั่นแล้วไม่เบื่อ

หลังจากนั้น ปั่นกันต่อ ไปถึง วิหารเซียน หรือ อเนกกุศลศาลา เป็นสถานที่รวบรวมโบราณวัตถุของงานศิลปะไทยและจีน อยู่ใกล้กับเขาชีจรรย์ และไร่องุ่นซิลเวอร์เลค สามารถจัดโปรแกรมเที่ยวด้วยกันได้

ในส่วนของ “วิหารเซียน” มีอาคารจำนวน 3 ชั้น ด้านนอกอาคารได้จัดแสดงรูปหล่อโลหะแปดเซียนข้ามทะเล รูปหล่อพระศรีอาริยเมตไตรยโพธิสัตว์ตั้งอยู่บริเวณหน้าอาคาร รูปหล่อของ อาจารย์สง่า กุลกอบเกียรติ มีรูปปั้นศิลปะจีนต่างๆ เช่น เจ้าแม่กวนอิม ไซอิ๋ว เปาบุ้นจิ้น พระพุทธรูป สุสานจิ๋นซีฮ่องเต้รูปปั้นจักรพรรดิจิ๋นซีฮ่องเต้ ฯลฯ เยอะมากจนนับไม่ถ้วน ผลงานแต่ละชิ้นอยู่ในสภาพที่ดีมากๆ

พักให้หายเหนื่อย แล้วปั่นกันต่อ ถึง มูลนิธิพระมหาไถ่เพื่อการพัฒนาคนพิการ ซึ่งก่อตั้งโดย บาทหลวงเรย์มอนด์ เบรนเนน หรือที่หลายคนเรียกว่า คุณพ่อเรย์ โบสถ์เป็นสถาปัตยกรรมสมัยธนบุรี ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากจีน ด้านในประดับตกแต่งได้อย่างลงตัวสวยงาม มีสิ่งที่สะดุดตามากที่สุดของใครหลายคน ก็คงเป็นภาพวาดประวัติของพระเยซู อันสวยงามวิจิตร

แดดร่มลมตก ตะวันเริ่มคล้อยแล้ว เหล่าคณะนักปั่นเริ่มมองหาที่พักเหนื่อย จึงนัดรวมตัวกันที่ ตลาดเก่านาเกลือ ชุมชนที่ยังคงวิถีแบบเดิมๆ ใครชื่นชอบอาหารทะเล ต้องที่นี่ กุ้งหอยปูปลาตัวโตๆ ในตลาดมีไว้บริการในราคาจับต้องได้

นอกจากเส้นทางท่องเที่ยวที่ได้กล่าวมาข้างต้นแล้ว ยังมีอีกหลายมุมมอง หลายสถานที่ในเมืองพัทยาที่น่าไปเยือนมากๆ ในการพาเจ้าสองล้อคู่ใจไปตะลุย ง่ายๆ เพียงดูผ่าน แอพพลิเคชั่น Mobile Application Pattaya ที่ อพท.พัฒนาขึ้นมาโดยเฉพาะ สามารถใช้งานได้ทั้งแบบ online และ offline รองรับการใช้งานถึง 4 ภาษา พร้อมทั้งระบบนำทาง Voice Guidance สำหรับผู้ที่ปั่นจักรยานเพื่อบอกรายละเอียดทุกการเดินทาง

ทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ

ทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ รองผู้อำนวยการ อพท. อธิบายว่า จุดเริ่มต้นของโครงการนี้มาจากการที่การรถไฟแห่งประเทศไทยจัดมีขบวนรถไฟท่องเที่ยว ประจวบเหมาะกับที่ อพท.พยายามจะผลักดันการท่องเที่ยวแนวคาร์บอนต่ำอยู่แล้ว เรามีเส้นทาง และพัทยาก็มีนักท่องเที่ยวจำนวนมากมาเที่ยวชมธรรมชาติในแต่ละปี เราจึงเล็งเห็นประโยชน์ถ้ามีการประชาสัมพันธ์เส้นทางให้เชื่อมโยงกัน

ที่สำคัญคือ จักรยานเป็นพาหนะที่สามารถเข้าถึงได้ในทุกที่ โดยเราตั้งชุมชนเป็นเป้าหมาย เพราะเมื่อก่อนเวลาทำท่องเที่ยว รายได้จะไม่ตกสู่ชุมชน แต่ตอนนี้มีการกระจายรายได้ไปสู่ชุมชนโดยตรง ทำให้เกิดประโยชน์หลายด้าน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image