ไทยแลนด์ลูกทุ่งคอนเทสต์ 2019 ศึก ‘แชมป์’ ชน ‘แชมป์’ ร้องเด็ด เต้นเด่น ดนตรีปัง สุดมันส์สนั่นโขง

จากการประกวดวงดนตรีลูกทุ่งตลอดระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมา ใน “งานวันยางพาราบึงกาฬ” ได้สร้างกระแสตอบรับอย่างล้นหลาม

ไม่ว่าจะเป็นคนในจังหวัดบึงกาฬหรือใกล้เคียงที่มาจับจองพื้นที่หน้าเวทีรอชมทุกรายการแข่งขัน ยังมีคนไทยทั้งในประเทศและต่างประเทศให้กำลังใจผ่าน Live สดการแข่งขัน บนเฟซบุ๊ก Khaosod-ข่าวสด

ปีนี้ ไทยแลนด์ลูกทุ่งคอนเทสต์ 2019 กลับมาอีกครั้งอย่างยิ่งใหญ่ พร้อมประชันกันระดับ “แชมป์” ชน “แชมป์” ระหว่างวันที่ 15-18 ธันวาคม 2561 บริเวณสนามที่ว่าการอำเภอเมือง จังหวัดบึงกาฬ

ประเดิมวันแรก 15 ธันวาคม ด้วยการแสดงเปิดการแข่งขันจากโรงเรียนบึงกาฬ จ.บึงกาฬ ก่อนจะเข้าสู่โหมดต่อสู้อย่างดุเดือดของ 3 โรงเรียนในจังหวัดคือ โรงเรียนโซ่พิสัยพิทยาคม, โรงเรียนบึงโขงหลงวิทยาคม และโรงเรียนปากคาดพิทยาคม เพื่อหาผู้ชนะรอบคัดเลือกสาย ข.

Advertisement

จากนั้นวันที่ 16 ธันวาคม เป็นการแข่งขันของอีก 4 โรงเรียน คือ โรงเรียนเซกา โรงเรียนอนุบาลรัชดา โรงเรียนพรเจริญวิทยา และโรงเรียนศรีวิไลวิทยา เป็นการประชันของ 4 วงดนตรีเพื่อหาผู้ชนะรอบคัดเลือกสาย ข. อีก 1 ทีม ไปประชันกันในวันที่ 17 ธันวาคม เพื่อหาผู้ชนะเลิศของสาย ข.

และพลาดไม่ได้ด้วยประการทั้งปวงสำหรับการแข่งขันในวันสุดท้าย วันที่ 18 ธันวาคม กับการแข่งขันไทยแลนด์ลูกทุ่งสาย ก. รอบชิงชนะเลิศ ระหว่างแชมป์ระดับประเทศ อย่าง โรงเรียนเทพมิตรศึกษา จ.สุราษฎร์ธานี โรงเรียนปักธงชัยประชานิรมิต จ.นครราชสีมา โรงเรียนอ่างทองปัทมโรจน์ อ.เมือง จ.อ่างทอง โรงเรียนบึงกาฬ จ.บึงกาฬ มาประชันกับแชมป์จากสาย ข. เพื่อชิงเงินรางวัลกว่า 500,000 บาท พร้อมถ้วยรางวัลเกียรติยศจาก พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

งานนี้บอกเลยว่าแต่ละทีมเตรียมขนทีเด็ดสุดพิเศษมาให้ร่วมลุ้นร่วมเชียร์ให้ดังลั่นสนั่นโขงเลยทีเดียว!

Advertisement
โรงเรียนเทพมิตรศึกษา จ.สุราษฎร์ธานี ผู้ชนะเลิศอันดับ 1 “ไทยแลนด์ลูกทุ่งคอนเทสต์ 2018”
การแสดงรอบชิงชนะเลิศของโรงเรียนเทพมิตรศึกษา จ.สุราษฎร์ธานี

แต่งานดีๆ อย่างนี้คงเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าขาดผู้สนับสนุนหลักอย่าง จังหวัดบึงกาฬ องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) บึงกาฬ พร้อมหน่วยงานราชการและภาคเอกชน และที่สำคัญคือ บริษัท คาราบาว กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ผู้สนับสนุนหลักของเวทีไทยแลนด์ลูกทุ่งคอนเทสต์ครั้งนี้

กมลดิษฐ สมุทรโคจร รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท คาราบาว กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เล่าถึงจุดเริ่มต้นของการร่วมสนับสนุนการประกวดไทยแลนด์ลูกทุ่งคอนเทสต์ เกิดจากความคิดริเริ่มของทางผู้จัดที่เปิดเวทีการแข่งขันวงดนตรีลูกทุ่งขึ้น ซึ่งคาราบาวก็เห็นว่าเราอยู่ในวงการดนตรี มีโครงการ “ดนตรีสร้างคุณค่าชีวิต” ซึ่งเป็นโครงการสำหรับเยาวชน

“ที่ผ่านมาสิ่งที่เป็นดนตรีเยาวชน คาราบาวมักจะให้ความสนใจและพร้อมสนับสนุนเต็มที่ โดยมีเป้าหมายเพื่อให้เยาวชนได้มีการพัฒนาและได้รับโอกาส ซึ่งเป็นสิ่งที่ แอ๊ด คาราบาว ได้ให้ไว้เนื่องจากวงคาราบาวต้องต่อสู้มาด้วยตัวเอง เมื่อคาราบาวขึ้นมาอยู่จุดนี้ก็อยากจะมอบโอกาสนี้ให้กับน้องๆ ต่อไป” กมลดิษฐกล่าว

ฉะนั้นเมื่อจังหวะเหมาะประกอบกับแนวคิดที่สอดคล้องกัน กมลดิษฐจึงเห็นว่า เวทีดนตรีลูกทุ่งของเยาวชนที่บึงกาฬก็น่าไปด้วยกันได้กับคาราบาว รวมถึงยังเห็นประโยชน์ของกิจกรรมนี้เลยให้การสนับสนุนในงานวันยางพาราบึงกาฬในครั้งที่ผ่านมา

“ปีนี้เป็นปีที่ 2 แล้วที่คาราบาวเข้ามาสนับสนุน ปีก่อนเราเข้าไปดูว่างานเป็นอย่างไร และพบว่าเป็นความยิ่งใหญ่ในการนำสินค้าเกษตรกรไทยมาเพิ่มมูลค่า รวมถึงการประกวดไทยแลนด์ลูกทุ่งคอนเทสต์ซึ่งเข้ากันกับคาราบาวพอดี จึงคุยกับ เสถียร เศรษฐสิทธิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท คาราบาวกรุ๊ปว่า ถ้าไม่เชิญ เราก็จะไป (หัวเราะ)”

การที่บึงกาฬเป็นจังหวัดน้องใหม่ที่อยู่เหนือสุดแดนอีสานจะจัดงานยิ่งใหญ่ได้ขนาดนี้ สำหรับ กมลดิษฐ ไม่เรียกว่าผิดคาดแต่เป็นความน่าประทับใจมากที่จังหวัดทำได้ขนาดนี้และมีวิธีการจัดการได้ดี มีวงแชมป์ระดับประเทศมาเป็นตัวชูโรง เป็นเรื่องที่น่าสนใจ

นอกจากนี้ ในงานครั้งที่ผ่านมา กมลดิษฐบอกว่า มีหลายคนตั้งคำถามว่าวงคาราบาวจะมาร่วมงานหรือไม่ ครั้งนี้ไม่รอให้ถาม แต่ประกาศชัดว่าจะพาแอ๊ด คาราบาว และพี่น้องคาราบาวมาแบบเต็มวง เพื่อขึ้นแสดงในวันที่ 13 ธันวาคม ซึ่งเป็นวันเปิดงานวันยางพาราบึงกาฬ ไม่เพียงเท่านี้ยังเสริมความพิเศษด้วยกิจกรรมคืนกำไรให้คนบึงกาฬ เมื่อการซื้อเครื่องดื่มคาราบาว พร้อมแจกคูปองลุ้นรับเครื่องใช้ไฟฟ้าซึ่งจะแจกรางวัลทุกวัน และที่พิเศษคือวันสุดท้าย จะนำคูปองของทุกวันมาลุ้นหาผู้โชคดีรับรถจักรยานยนต์ 1 คัน จาก พินิจ จารุสมบัติ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และประธานสภาวัฒนธรรมไทย-จีนและส่งเสริมความสัมพันธ์

เป็นไฮไลต์พิเศษและมุมมองจากผู้สนับสนุนการประกวดไทยแลนด์ลูกทุ่งคอนเทสต์ 2019

และที่ไม่พูดถึงคงไม่ได้สำหรับคณะกรรมการคนสำคัญที่อยู่กับรายการไทยแลนด์ลูกทุ่งคอนเทสต์มาตลอด 4 ปี นับจากครั้งแรกที่เป็นเวทีการแข่งขันระดับจังหวัด ก่อนจะยกระดับเป็นงานระดับประเทศ

ครูสลา คุณวุฒิ ครูเพลงลูกทุ่งชื่อดัง ที่สำคัญยังเป็นผู้ประพันธ์บทเพลง “ครั้งหนึ่งที่บึงกาฬ”

อย่างไรก็ตาม การแข่งขันตลอด 4 ปีที่ผ่านมา ในมุมมองของครูสลา มองเห็นถึงพัฒนาการของเด็กบึงกาฬที่เก่งขึ้น ซึ่งเรื่องความเก่งในมุมมองของครูเพลงท่านนี้ เป็นเพียงส่วนหนึ่ง คือเห็นว่าเด็กมีการพัฒนาด้านการร้อง การเต้น การเล่นดนตรี

แต่สิ่งที่ครูสลามองว่ามันสำคัญมากกว่านั้นคือ การที่เรามีพื้นที่รองรับความฝันของเด็ก

“เราจะเอาความเก่งเป็นตัวชี้วัดอย่างเดียวไม่ได้เพราะแต่ละโรงเรียนมันมีรุ่น มันมีการผลัดไป สมมุติว่าปีนี้เคยเข้มแข็งมาก พอรุ่นนี้จบไปเขาก็ต้องสร้างคนใหม่เข้ามาก็ต้องมาดูว่าเขาจะพัฒนาอย่างไร เพราะฉะนั้นเรื่องฝีมืออาจจะสำคัญก็จริง แต่เรื่องหลักคือการให้เด็กมีจุดหมายปลายทางในการที่จะทดสอบความฝันของตัวเอง”

ครูสลาบอกว่า การประกวดวงดนตรีลูกทุ่ง ส่วนตัวมองในเรื่องของการให้เวทีกับเด็กและเยาวชน ไม่ได้มองเรื่องการคัดสรรคนเพื่อเข้าสู่วิชาชีพ ซึ่งเป็นเรื่องปกติถ้าเราอยู่ในจุดที่เคยชินอยู่แล้วอาจจะมองเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่กับเด็กกับชาวบ้านมันมีคุณค่ามาก

“การให้เวทีจะมีการสร้างสรรค์เกิดขึ้น ทำให้เขามีเป้าหมายในการก้าวเดินตามความฝันของเขา ซึ่งคนที่ถนัดด้านการร้องเพลงลูกทุ่ง หรือเล่นดนตรี ถ้าเล่นแล้วเขาไม่รู้ว่าจะต้องไปที่ไหนมันก็อาจจะไม่มีพลัง แต่พอเรามีเวทีเกิดขึ้นเยอะๆ ยิ่งเยอะเท่าไหร่ก็จะยิ่งมีประโยชน์กับเด็กเอง”

สำหรับงานวันยางพารา นับเป็นเวทีหนึ่งที่สำคัญ ซึ่งครูสลาให้ความเห็นว่า พอเราทำงานย้ำจนเป็นโลโก้ เป็นเครื่องหมาย หรือกระทั่งเป็นจุดหมายสำคัญที่ทุกคนมองเห็น ทำให้งานยางพาราบึงกาฬมีพลัง ทำให้เด็กที่เป็นแชมป์ก็อยากจะไปป้องกันแชมป์ เด็กที่ยังไม่ได้แชมป์ก็มีความพยายามขึ้น

“แต่ผมก็มองว่าในเรื่องของการแข่งขันเป็นประเด็นรองนะ ประเด็นหลักคืองานนี้เป็นเวทีในการประลองความฝันของเด็กๆ ถ้าเราจัดต่อเนื่องและมีเวทีชัดเจน จะทำให้เด็กที่รักด้านนี้มีเป้าหมายว่าเขาทำ เขาซ้อม แล้วเขาเล่นดนตรีไปเพื่ออะไร และวันนี้บึงกาฬ ก็ถือว่าเป็นงานหนึ่ง ที่อยู่ในเป้าหมายทางความฝันของเด็กแล้ว”

ครูสลาระบุอีกว่า การแข่งขันครั้งต่อไป อยากเห็นความสร้างสรรค์ การพัฒนาการ อยากเห็นโรงเรียนที่อาจจะไม่ใช่กลุ่มเดิมเพิ่มเข้ามา อยากให้พื้นที่นี้ขยายในการรองรับวงดนตรีที่อาจจะยังไม่เก่งไม่พร้อมแต่มีพื้นที่แสดงออก พร้อมฝากถึงเด็กทุกคนไม่ว่าจะมีความฝันด้านใดก็ตาม ทั้งกีฬา ดนตรี หรือการร้องเพลง อยากให้ลงมือทำ

“พ.ศ.ที่ผ่านมา หลายหน่วยงานหลายองค์กรเห็นความสำคัญและให้เวทีกับเด็กมากขึ้น เพราะฉะนั้นเมื่อเด็กมีเวทีแล้ว ก็อย่าเก็บความฝันไว้ อยากให้ลงมือทำ ส่วนจะดีไม่ดีก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ดังนั้น ฝากสำหรับเยาวชนทุกคนเมื่อมีใจรักแล้วก็ฝึกฝน แล้วมาทดสอบความฝันด้วยกัน” เป็นความเห็นจากครูเพลงระดับประเทศ

สอดคล้องกับกรรมการอีกท่าน ชุติเดช ทองอยู่ หรือ ครูเทียม คอมเมนเตเตอร์ชื่อดัง ผู้คร่ำหวอดในวงการลูกทุ่งที่มองว่า การที่ผู้ใหญ่ให้โอกาสเด็ก เด็กก็ตอบโจทย์ที่ผู้ใหญ่ให้ นั่นคือความสุขของผู้ใหญ่และครูบาอาจารย์ด้วย ถึงการเดินทางมันจะไกลมาก แต่เมื่อเราไปเห็นแบบนั้นแล้วเรื่องการเดินทางไม่ใช่อุปสรรคเลย ส่วนเรื่องพัฒนาการเห็นแน่นอนสำหรับเด็กบึงกาฬ เพราะเรื่องพัฒนาการเมื่อมีการนับ 1 มันก็จะมี 2 และ 3 ตามมา

“สิ่งที่เราเห็นจากปีแรกที่เราไปสัมผัส เวทีที่เปิดครั้งแรกย่อมมีอุปสรรคกับเด็กทุกอย่าง แต่การเรียนรู้จากครูอาจารย์ที่ไปคอมเมนต์ จากนั้นพอปีที่ 2 และปีที่ 3 พอเราไปเห็น พบว่าดีขึ้น เห็นภาพชัดเจนขึ้น เข้าสู่โลกความจริงของวงดนตรีมากขึ้น เป็นเรื่องที่ครูอาจารย์ได้กลับมาคุยกัน และมองว่าเป็นเรื่องที่น่าภาคภูมิใจ”

ครูเทียมยังแย้มถึงส่วนที่เป็นคะแนนว่า แบ่งเป็นส่วนๆ อันดับแรกคือ เรื่องการเต้น เสื้อผ้าเครื่องแต่งกายรองลงมา ตามด้วยการแสดงที่สวมบทบาท และภาพรวมที่มองเห็นคือ เสื้อผ้าและท่าเต้นไปด้วยกันกับเพลงหรือไม่ สำหรับวงดนตรีที่อยากได้คะแนนจากครูเทียม คือสิ่งที่เห็นว่างดงาม อย่างเรื่องอัตลักษณ์ของคน อัตลักษณ์ของพื้นถิ่น

“ความเป็นพื้นถิ่นหยิบมาเมื่อไหร่มันก็น่ามองน่าชมมากๆ แต่การเป็นสากลคือการพัฒนา แล้วจะทำอย่างไรที่จะเอาสากลมาพัฒนากับอัตลักษณ์ของตนเองแล้วค่อยๆ ก้าว ค่อยๆ ผสาน นั่นต่างหากที่เป็นเรื่องงดงามมากๆ ดังนั้น การเอาอัตลักษณ์ที่มีความงดงามทำให้ร่วมสมัยเป็นเรื่องที่ดีมาก เหมือนเรามองว่าหนูเข้าใจพื้นที่ เข้าใจบอกเล่าแล้วมันงดงาม และจุดนี้น่าจะได้คะแนนจากครู” ครูเทียมทิ้งท้าย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image