2561 [ไม่ว่าดีหรือร้าย] กรุงเทพฯไม่เหมือนเดิม

ตลอดช่วงเวลาในพุทธศักราชสองพันห้าร้อยหกสิบเอ็ด รัตนโกสินทร์ศก 237

กรุงเทพฯเมืองฟ้าอมร ได้รับการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากมาย ไม่ว่าจะในนามของการอนุรักษ์ หรือพัฒนา อีกทั้งคำกล่าวอ้างที่ว่าเพื่อความ “เป็นระเบียบเรียบร้อย”

ชุมชน ตลาด สะพาน พื้นที่ว่างเปล่า แผงค้า ไม่เว้นแต่ผู้คน ถูกเข้ามาดูแลโดยหน่วยงานภาครัฐผู้ปรารถนาดี

สร้างภาพมหานครของประเทศไทยที่อาจไม่ใช่ “ภาพจำ” อันคุ้นตา

Advertisement

ไม่ว่าดีหรือร้าย แต่กรุงเทพฯไม่เหมือนเดิม

สวนสาธารณะที่สร้างบนชุมชนป้อมมหากาฬเดิม หลังรื้อเรือนไม้เก่าแก่และสิ่งปลูกสร้างออกทั้งหมด ปักป้ายเล่าประวัติศาสตร์ชุมชน โดยให้คนย้ายออกทั้งหมดในเดือนเมษายน 2561


ปิดตำนานชุมชนชานพระนคร เช็กอินสวนสาธารณะแห่งใหม่

เมื่อนิยามของคำว่าชุมชนต้องประกอบด้วย “ชีวิต” 25 เมษายน พ.ศ.2561 จึงนับเป็น 24 ชั่วโมงสุดท้ายของ ชุมชนป้อมมหากาฬ ที่อยู่อาศัยมาหลายชั่วอายุคน หลัง กทม.เข้ารื้อถอนอย่างเท่าเทียม ไม่ว่าเก่าหรือใหม่ ก็ล้วนพังราบลงมากองกับพื้น ปิดตำนานการต่อสู้เรียกร้องสิทธิการอยู่อาศัยในพื้นที่เดิมร่วมกับโบราณสถานสำคัญของกรุงรัตนโกสินทร์อย่างตัวป้อมและกำแพงพระนคร

Advertisement

แม้มีการประชุมคณะกรรมการหลากหลายฝ่ายเป็นเวลาหลายเดือนระหว่างปี 2560 แม้นักวิชาการทั้งไทยและนานาชาติจะคัดค้านพร้อมร่วมเสนอ “ทางออก” ตลอดมา แม้ชาวบ้านยืนยันขอมีส่วนร่วมพัฒนาเมืองอย่างแข็งขัน

ทว่า 25 ปีเต็มของศึกชานกำแพงแห่งนี้ที่กำลังเข้าสู่ปีที่ 26 ก็เป็นอันจบลงในพุทธศักราช 2561 เดือนเดียวกับการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ ปรับภูมิทัศน์เป็นสวนสาธารณะตามแผนแม่บทเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์เกือบกึ่งศตวรรษที่แล้ว

บ้านไม้เก่าและใหม่ในชุมชนป้อมมหากาฬถูกรื้ออย่างราบคาบในเดือนเมษายน 2561

ปัจจุบัน พื้นที่ชุมชนราว 4 ไร่กลายเป็นสวนสาธารณะให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์ ปูหญ้า สร้างทางเดิน มีห้องน้ำชั่วคราวไว้ให้บริการ ปักป้ายข้อมูลบ่งบอกประวัติศาสตร์ในจุดต่างๆ อาทิ ตรอกนกเขา, ตรอกถ่าน, ตรอกพระยาเพ็ชรปาณี โรงลิเกแห่งแรกในกรุงเทพ สมัยรัชกาลที่ 5 ฯลฯ รวมถึงบูรณะอาคารและท่าเรือพระยาญาณประกาศ ท่าเรือสมัยรัชกาลที่ 6 โดยจัดนิทรรศการประวัติศาสตร์ชุมชนป้อมมหากาฬอย่างไรก็ตาม จากการลงพื้นที่หลายครั้ง ยังไม่พบการเปิดห้องนิทรรศการให้เข้าชมแต่อย่างใด

ภาครัฐใช้อาคารพระยาญาณประกาศ จัดนิทรรศการประวัติศาสตร์กรุงเทพฯบริเวรป้อมมหากาฬ แต่ทั้งปีแทบไม่เปิดให้ใครดู

นอกจากนี้ ยังถูกตั้งคำถามถึงความเหมาะสมในด้านต่างๆ ตลอดมาจากพลังโซเชียลที่ติดตามประเด็น “พื้นที่สาธารณะ” ทั้งที่นั่ง ซึ่งมีเก้าอี้เพียง 2 ตัว, ห้องน้ำที่ใช้ได้เพียงฝั่งผู้ชายฝั่งเดียว ส่วนผู้ใช้บริการ ยังนับว่าบางตา ส่วนใหญ่ใช้เป็นทางเดินผ่านระหว่างฝั่งคลองหลอดวัดเทพธิดารามและตัวป้อมมหากาฬ หัวมุมถนนมหาไชย บางส่วนเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติที่แวะเข้าเดินชมบรรยากาศ และอ่านป้ายข้อมูล

อย่างไรก็ตาม “ขาประจำ” ก็พอมี ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนวัยทำงานที่อาศัยอยู่ในย่านใกล้เคียง เช่น บริเวณสะพานผ่านฟ้า

ปักป้ายเล่าประวัติศาสตร์พื้นที่และผู้คนโดยมีฉากหลังเป็นสนามหญ้าว่างเปล่า


ทุกวันนี้ชาวบ้านแยกย้ายไปหลายแห่ง บางส่วนอาศัยที่ชุมชนกัลยาณมิตร ย่านบางซื่อ บางส่วนหาเช่าบ้านเอง

ลือศักดื์ มีแย้ม วัย 53 ปี ชาวบ้านที่อยู่อาศัยในชุมชนมาเกือบทั้งชีวิต บอกว่า ไปอยู่บ้านเช่ากับพี่สาวในย่านหนองแขม ในราคาเดือนละ 4,000 บาท ยอมรับว่าต้องให้พี่สาวเป็นคนจ่ายค่าเช่า เพราะรายได้ลดลงมากหลังย้ายออกไป อาชีพก็ยังรับจ้างทั่วไป

“รายได้ลดลงมาก เพราะไม่รู้จักใคร อยู่กันแบบต่างคนต่างอยู่ ไม่เหมือนที่นี่ ที่เป็นพี่น้อง แต่แพแตกไปแล้ว ทุกคนกระสานซ่านเซ็น พูดไม่ออก ความรู้สึกหดหู่มาก มองสวนแล้วเหมือนไม่ใช่บ้านเราอีกต่อไป หลานก็ต้องตื่นตั้งแต่ตีห้า”

ล่าสุด อดีตประธานชุมชน คือ ธวัชชัย วรมหาคุณ และชาวบ้านกลุ่มหนึ่งร่วมกันซื้อที่ดินย่านพุทธมณฑลสาย 2 นั้น โดยคาดว่าจะเริ่มพูดคุยเกี่ยวกับการสร้างบ้าน และชุมชนป้อมมหากาฬขึ้นใหม่อีกครั้ง

แม้ไม่ใช่พื้นที่เดิม แต่จิตวิญญาณยังคงอยู่

คนและสัตว์กระจัดกระจายลาจากป้อมมหากาฬ ชุมชนชานพระนครแห่งสุดท้ายของกรุงเทพฯ


จับคนไร้บ้าน ปัดกวาดกรุงเทพฯให้สวยงาม?

“การใช้วิธีนี้เหมือนเป็นการปัดอะไรสักอย่างให้พ้นจากพื้นที่ที่สวยงามในกรุงเทพฯ”

คือประโยคที่ออกจากปาก สมพร หารพรม เจ้าหน้าที่มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย หลังปรากฏคลิปเหตุการณ์การจับคนไร้บ้านโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจประมาณ 5 นาย ได้ใช้อุปกรณ์แท่งโลหะขนาดยาว มีง่ามและขอเกี่ยวในการตรึงชายคนหนึ่งไว้บริเวณรั้ว นอกจากนี้ ยังใส่กุญแจมือ แล้วพาขึ้นรถกระบะ ซึ่งทราบต่อมาว่า เป็นความพยายามจัดระเบียบคนเร่ร่อนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร อย่างไรก็ตาม จากเหตุการณ์ในคลิป ได้ถูกตั้งคำถามว่า วิธีการเช่นนี้เหมาะสมหรือไม่

เหตุการณ์หลายครั้งที่เกิดขึ้น ส่งผลให้ปี 2561 ดูเหมือนเป็นศักราชแห่งมหกรรมการกวาดจับคนไร้บ้าน นำไปสู่การยื่นหนังสือต่อศูนย์ดำรงธรรม ทำเนียบรัฐบาลโดยเครือข่ายคนไร้บ้าน ซึ่งมีข้อเสนอเดียวคือ ขอให้หยุดตรวจจับคนไร้บ้านในพื้นที่สาธารณะทั้งหมด

 

ภาพจากคลิปการกวาดจับคนไร้บ้านที่เป็นสถานการณ์เข้มข้นมากในปี 2561


ปัจจุบัน แม้ภาครัฐสร้างศูนย์ดูแลคนไร้บ้านหวังแก้ปัญหา ทว่า เมื่อมีการกวาดจับคราวละมากๆ นักวิชาการก็ยืนยันว่าศูนย์ของภาครัฐไม่พร้อมรองรับได้เพียงพอ ในขณะที่ศูนย์เอกชน งบประมาณไม่มาก แต่ก็พยายามยื่นมือเข้าช่วย บางครั้งต้องอาศัยข้าวจากวัด และใช้เต็นท์กางให้นอน

“คนเร่ร่อนเข้าไม่ถึงสวัสดิการรัฐ แม้แต่บัตรคนจน ก็เข้าไม่ถึงเพราะต้องใช้บัตรประชาชน เรียกว่า จนยิ่งกว่าจน เหมือนตายทั้งเป็น โดนรังแกก็ไม่กล้าแจ้งความ ส่วนใหญ่ใช้ชีวิตอยู่ในสวนสาธารณะ บางครั้งหาข้าวกินไม่ได้ตั้งแต่เช้าจนเย็น แต่ก็ดีกว่าอยู่ในศูนย์ เนื่องจากไม่มีอิสระ คนที่หนีออกมา เคยเล่าว่าถูกนำไปอยู่รวมกัน ทั้งคนปกติ และผู้ป่วยจิตเวช การไปอยู่ข้างใน ไม่ได้ยกคุณภาพชีวิต เหมือนพาไปติดคุก ออกมาแล้วเดี๋ยวก็โดนกวาดจับอีก วนสู่ปัญหาเดิม เพราะไม่ได้แก้ที่ต้นเหตุ” ธเนศร์ จรโณทัย ผู้ดูแลศูนย์คนไร้บ้านสุวิทย์วัดหนู กล่าว

อนรรฆ พิทักษ์ธานิน นักวิชาการศูนย์แม่โขงศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า ในกลุ่มคนไร้บ้านยังปรากฏกลุ่ม “คนไทยไร้สิทธิ” ซึ่งยังเป็นปัญหาเกี่ยวพันกับสุขภาพทั้งกายใจ ส่งผลต่อการสืบค้นรากเหง้าที่ครบถ้วน เพื่อใช้ในการยืนยันตัวบุคคล

“เพราะความเจ็บป่วยเป็นเรื่องที่รอไม่ได้ ดังนั้น การที่ประเทศไทยยังคงปล่อยให้มีคนไทยไร้สิทธิที่ยังไม่สามารถเข้าถึงสิทธิสวัสดิการของรัฐ มีสภาพความเป็นอยู่ที่เปราะบาง ย่อมเท่ากับการปล่อยให้เกิดความไม่มั่นคงของมนุษย์ นำไปสู่ความเหลื่อมล้ำและขยายความไม่เป็นธรรมทางสังคมออกไป”

ย้อนแย้งทิศทางการพัฒนาประเทศไทยที่จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

ทางเท้าโล่งเตียนของตรอกข้าวสารหลัง กทม.เข้าจัดระเบียบ

หนุนสตรีทฟู้ด แต่ปราบหาบเร่-แผงลอย

ฮือฮามาก เมื่อสํานักข่าวซีเอ็นเอ็นยกให้กรุงเทพฯเป็นเมืองที่มีอาหารสตรีทฟู้ดดีที่สุดในโลก 3 ปีซ้อน เสริมกระแสเที่ยวแบงคอกครึกครื้น แต่อาจฮือฮายิ่งกว่า เมื่อในชีวิตจริงร้านอาหารสไตล์หาบเร่กลับลดวูบ หายวับไปจากมหานครแห่งนี้มากขึ้นทุกที เมื่อ กทม.จัดระเบียบอย่างเข้มข้นตั้งแต่ปลายปี 2560 ต่อเนื่อง 2561

แม้กระทั่งตัวท็อปอย่าง “ถนนข้าวสาร” ที่เป็นสีสันดึงดูดใจคนทั่วโลก ก็ยังโดนตีขาให้ตั้งแถวจัดระเบียบไปเมื่อสิงหาคมที่ผ่านมา ทำเอาผู้ค้าออกอาการ “เดือด” ก่อน กทม. จะเผยถึงการทุ่มงบเนรมิตถนนสายนี้ให้สวยงามตามนิยามของตัวเอง จำนวน 40 ล้านบาทเมื่อต้นเดือนธันวาคม

ความเห็นในประเด็นหาบเร่แผงลอยในสังคมไทย ยังเป็นที่กังขาตลอดมาว่าการหวงห้ามจัดระบบเช่นนี้ขัดแย้งวิถีชีวิตหรือไม่ แม้แต่ธนาคม จงจิระ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ก็ยังเคยลงนามในหนังสือด่วนที่สุดถึงปลัด กทม. เพื่อขอให้พิจารณาแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของผู้ค้าหาบเร่-แผงลอย โดยหนึ่งในแนวทางการแก้ไขคือ พิจารณาให้กลุ่มผู้ค้าหาบเร่-แผงลอยได้กลับทำการค้าขายในพื้นที่เดิมไปก่อน จนกว่าจะมีมาตรการแก้ไขปัญหาร่วมกัน ทว่า พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ยังคงยืนยันว่า “ไม่ได้” ส่วนการแจ้งผลดำเนินการที่ต้องรายงานกลับไปยังปลัดกระทรวงมหาดไทยนั้น ก็ขอปฏิเสธดำเนินการ เพราะไม่เห็นด้วยกับแนวทางแก้ปัญหาตามที่ว่ามา

เป็นอันปิดจ๊อบสายงานประนีประนอมไปในที่สุด

ผู้ค้าย่านตรอกข้าวสารครั้งบุกศาลาว่าการ กทม.

ด้าน สุจิตต์ วงษ์เทศ คอลัมนิสต์เครือมติชนที่มีความเห็นต่อประเด็นแผงลอยตลอดมา มองว่าการตัดถนนเป็นวัฒนธรรมตะวันตก แต่วิถีหาบเร่ เป็นวัฒนธรรมพื้นเมืองในตะวันออก การมาวิ่งไล่จับ ขับไล่ไสส่งแทนที่จะหารือเพี่อแก้ปัญหา สะท้อนวิธีคิดชนชั้นนำที่ไม่สนใจชนชั้นล่าง

“บ้านเราให้ความสำคัญแต่ถนนที่รับใช้คนขับรถยนต์ ยังไม่ให้ความสำคัญกับระบบขนส่งมวลชน ฟุตปาธก็แคบ ไม่มีร่มไม้ชายคา หาบเร่แผงลอยก็ไม่มีพื้นที่ ขัดแย้งชีวิตจริง ไม่ตอบสนองคนชั้นล่าง หาเช้ากินค่ำ”

ปากคลองตลาด-สะพานพุทธ เรียบร้อยเป๊ะมากเว่อร์

เป็นวิวาทะทางความคิดจนหวิดเกิดม็อบดอกไม้ไปตั้งแต่ปี 2559 สุดท้ายไม่รอดการจัดระเบียบของ กทม.ไปได้ สำหรับปากคลองตลาดที่ในวันนี้ผู้ค้าส่วนหนึ่งย้ายแผงค้าไปยังถนนตรีเพชร ตรงข้าม ร.ร.สวนกุหลาบวิทยาลัย ภายใต้โครงการปรับปรุงภูมิทัศน์ย่านปากคลองตลาด บริเวณถนนจักรเพชร ตั้งแต่สะพานเจริญรัช ถึงลานปฐมบรมราชานุสรณ์ รัชกาลที่ 1 พระพุทธยอดฟ้า เขตพระนคร รวมความยาวตลอดสองฝั่ง 700 เมตร

สำหรับสะพานพุทธ ซึ่งเดิมมีตลาดให้ช้อปสินค้าเวลากลางคืน ย้ายแผงไปยังถนนพญาไม้ ฝั่งคลองสาน ส่งผลให้บรรยากาศโดยรอบเงียบกริบ กลายเป็นพื้นที่สุดวังเวง

พลตำรวจเอก อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม.เดินชมผลงานการดูแลปากคลองตลาดให้สวยงามตามนิยามที่คิดว่าเหมาะ

ล่าสุด ผู้ว่าฯกทม.ชวนให้ไปร่วมกันช้อปย่านปากคลองตลาด หลังทุ่ม 10 ล้าน ปรับภูมิทัศน์ พร้อมซ่อมทางเท้าให้สวยงามเป็นระเบียบเรียบร้อย ด้วยวงเงิน 9.84 ล้านบาท ได้คันหิน ค.ส.ล. ยาว 620 เมตร ทางเท้า 3,044 ตารางเมตร ปรับปรุงผิวจราจรแอสฟัลต์ผสมร้อน 5,792 ตร.ม. ปรับปรุงระบบระบายน้ำ 497 ม. ติดตั้งฝาตะแกรงเหล็ก 123 ฝา และยังใช้คอนกรีตพิมพ์ลายเก๋ไก๋ รวมถึงทางเบรลบล็อกนำเส้นทางผู้พิการทางสายตาและจัดทำทางลาดคนพิการด้วย

อย่างไรก็ตาม เสียงจากผู้ค้ารายหนึ่งซึ่งอาศัยอยู่ย่านปากคลองมากว่า 25 ปี กระซิบออกสื่อยอมรับว่าทางเท้าสวยขึ้นจริง แต่ขาดเสน่ห์ และไม่คึกคักเหมือนแต่ก่อนแล้ว

สำหรับ ปีหน้าฟ้าใหม่สองพันห้าร้อยหกสิบสอง เตรียมตัวรับความเปลี่ยนแปลงของกรุงเทพมหานครแห่งนี้จากโครงการสร้างทางเลียบเจ้าพระยาที่รัฐยืนยันเดินหน้าแม้มีเสียงค้านจากทั่วสารทิศ โดยจะเปลี่ยนโฉมหน้าชุมชนริมแม่น้ำไปอย่างสิ้นเชิง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image