รำฤก 333 ปีสัมพันธ์ไทย-ฝรั่งเศส ตามรอยพระนารายณ์ที่ ‘อินทร์บุรี’

ครบรอบ 333 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ไทย-ฝรั่งเศส ซึ่งเกิดขึ้นตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช แห่งกรุงศรีอยุธยา และพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ของประเทศฝรั่งเศส หากย้อนกลับไปดูประวัติศาสตร์ช่วงศตวรรษที่ 17 ฝรั่งเศสและประเทศสยามได้เริ่มความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการครั้งแรก โดยคณะทูตจากประเทศไทยเดินทางไปเชื่อมสัมพันธไมตรีในปี พ.ศ.2227 และ 2229 ได้รับการต้อนรับจากพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 อย่างมีมิตรจิตมิตรใจ จากนั้นมีคณะตัวแทนจากฝรั่งเศสหลายคณะ ได้เดินทางมายังประเทศไทยเพื่อเข้าเฝ้าสมเด็จพระนารายณ์เช่นกัน

วาระครบรอบ 333 ปีแห่งความสัมพันธ์อันดี ปีนี้ สถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์แห่งหนึ่ง ซึ่งเกี่ยวข้องกับสมเด็จพระนารายณ์และบรรดาชาวฝรั่งเศสทั้งหลายเช่นเดียวกับวังนารายณ์ราชนิเวศน์ จ.ลพบุรี คือ “เมืองอินทร์บุรี” จ.สิงห์บุรี โดยมีปรากฏอยู่ในหลักฐานทางการทหารด้วยนั้น กลับเป็นเรื่องที่น้อยคนจะรับรู้ ด้วยระยะทางจากกรุงเทพฯ ไปเมืองอินทร์บุรีไม่เกิน 200 กิโลเมตร ความรู้สึกของคนทั่วไปมักมองว่าเป็นแค่ “เมืองทางผ่าน” ไม่มีอะไรโดดเด่น ซึ่งความจริงแล้วอินทร์บุรีเป็นเมืองสำคัญในประวัติศาสตร์เลยทีเดียว

ตั้งแต่สมัยทวารวดี ราวพุทธศตวรรษที่ 12-16 มาแล้ว เมือง “อินทร์บุรี” เป็นชุมชนโบราณที่เจริญรุ่งเรือง คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้ขุดค้นแหล่งโบราณสถานบ้านคูเมือง ต.ห้วยชัน อ.อินทร์บุรี พบโบราณวัตถุหลายชนิด จึงสันนิษฐานกันว่าเป็นเมืองเก่าสมัยทวารวดี อายุประมาณ 1,200 ปี

แต่หากจะนับกันอย่างจริงจังแล้ว ไม่อาจทราบแน่ชัดว่าอินทร์บุรีก่อตั้งขึ้นเมื่อไหร่ สมัยใด แต่พอประมวลตามเอกสารหลักฐานได้ ว่าเป็นเมืองที่มีอิทธิพลขึ้นมาในสมัยกรุงศรีอยุธยา คู่กับเมืองสิงห์ และเมืองสรรค เป็นชุมชนใหม่ที่เจริญรุ่งเรืองขึ้นแทนชุมชนโบราณเดิม คือชุมชนเมืองคูเมือง ซึ่งเคยรุ่งเรืองมาก่อนตั้งแต่ยุคเดียวกับอาณาจักรฟูนัน ทวารวดี สุโขทัย สวรรคโลก และกรุงศรีอยุธยา ตามลำดับ

Advertisement

ว่ากันว่าสาเหตุที่อินทร์บุรีเจริญขึ้นมาแทนเมืองเดิม อาจเป็นเพราะมีการคมนาคมสะดวกสบาย โดยมีแม่น้ำใหญ่ คือแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นเส้นทางคมนาคม อีกทั้งถือกันว่าเป็น “เมืองยุทธศาสตร์ทางทหาร” ด้วย โดยมีชื่อปรากฏในกฎมณเฑียรบาลสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 หรือพระเจ้าอู่ทอง ผู้สถาปนากรุงศรีอยุธยา ว่าอินทร์บุรีเป็นเมืองหลานหลวง โดยให้เมืองอินทร์เป็นหัวเมืองชั้นใน และเป็นเมืองด่านรายทางสำหรับขึ้นไปทางเหนือ เจ้าเมืองอินทร์คนแรก คือ “เจ้านครอินทร์” หรือ สมเด็จพระรามาธิบดีศรีนครินทราธิราช หลานของ สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 หรือ ขุนหลวงพะงั่ว ซึ่งต่อมาขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์ลำดับที่ 6 แห่งกรุงศรีอยุธยา เมื่อปี พ.ศ.1952 คนทั่วไปรู้จักเจ้านครอินทร์ในนาม “พระร่วงผู้ไปเมืองจีน”

เมืองอินทร์บุรีมีส่วนเกี่ยวข้องกับสมเด็จพระนารายณ์ แห่งกรุงศรีอยุธยานั้น เห็นจะฟังได้จากโคลงนิราศนครสวรรค์ ที่พระศรีมโหสถแต่งขึ้นครั้งตามเสด็จสมเด็จพระนารายณ์ โดยกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค เพื่อขึ้นไปรับช้างเผือก เมื่อปี พ.ศ.2201 และต่อมาช้างเผือกช้างนี้ได้ขึ้นระวางเป็นเจ้าพระยาบรมคเชนทรฉัททันต์

Advertisement

ในโคลงดังกล่าว มีตอนหนึ่งว่า “สายัณห์ยามย่ำแล้ว ถึงทยาน” สันนิษฐานกันว่า คำว่า “ทยาน” ณ ที่นี้ หากอ่านจากโคลงบทเต็มแล้ว และจากหลักฐานที่ปรากฏทางโบราณคดี มีความเป็นไปได้ว่าคือ “วัดทยาน” ซึ่งต่อมาก็น่าจะเป็นวัดเดียวกันกับ “วัดไทร” ในปัจจุบัน

สอดรับกับคำบอกเล่าชาวบ้านแต่เดิม ว่าวัดไทรแห่งนี้เดิมชื่อ “วัดทะยาน” กร่อนมาจากคำว่า “ท้ายย่าน” เพราะตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ก่อนนี้เป็นวัดร้าง กระทั่งมีพระธุดงค์รูปหนึ่งมาพบเข้า เห็นว่าบริเวณโดยรอบมีต้นไทรขึ้นอยู่หนาแน่นและคลุมไปถึงตัวโบสถ์ ที่ประดิษฐานองค์พระประธานไว้โดยรอบ จึงบอกชาวบ้านให้เปลี่ยนชื่อเป็น “วัดไทร”

สังเกตจากซุ้มประตูทางเข้าโบสถ์ ไม่ว่าแต่อดีตหรือปัจจุบัน จะเห็นว่าเป็นศิลปะซุ้มโค้งแบบเดียวกับสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ดังนั้น จึงเป็นไปได้ว่าโบสถ์แห่งนี้สร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ขณะเดียวกัน “วัดทะยาน” ก็คือ “วัดไทร” นี่เอง ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นก็ต้องเป็นสถานที่ที่สมเด็จพระนารายณ์เคยเสด็จมาและเข้าไปนมัสการพระประธานภายในโบสถ์มาแล้ว

ที่น่าตื่นเต้นก็คือ..สมเด็จพระนารายณ์น่าจะได้เสด็จพระราชดำเนินผ่านประตูซุ้มโค้งนี้เข้าไปในโบสถ์ เพราะเป็นประตูทางเข้า-ออกเพียงทางเดียว ชาวบ้านเรียกว่า โบสถ์มหาอุต “ทยาน” ปัจจุบันต้นไม้ที่ขึ้นคลุมอยู่นั้นเป็นต้นโพธิ์เสียส่วนใหญ่ ต้นไทรแทบไม่มีแล้ว

อีกประเด็นหนึ่งเกี่ยวกับเมืองอินทร์บุรี สันนิษฐานว่าสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ในการส่งทูตไปเจริญสัมพันธไมตรีกับฝรั่งเศสนั้น มีการซักซ้อมตอบคำถามให้กับคณะทูตไทย ซึ่งมีบันทึกไว้อย่างเป็นทางการ ระบุว่าหากถามว่าสยามมีประชาชนหนาแน่นไหม? ให้ตอบว่าประชาชนหนาแน่นมาก และมีชาวต่างชาติมาจากทุกประเทศ คำถามที่น่าจะเกี่ยวข้องกับอินทร์บุรี คือคำถามถึงบ้านเมืองที่อยู่รอบข้างประเทศสยามมีอะไรบ้าง? คำตอบหนึ่งที่เตรียมไว้ “มีแคว้นพิชัย หัวเมือง และมีเมืองรอง 7 เมือง คือ เมืองบางโพ เมืองฝาง เมืองลับแล เมืองพิพัฒน เมือง Ppateboune เมือง Trevantri Soune เมือง Phiboune Patthiimme” และยังมีเมืองเหนืออีก 12 เมือง ที่ไม่ขึ้นกับแคว้นดังกล่าว คือ เมือง Ppithitaoa เมืองนครสวรรค์ เมืองชัยนาท เมืองอุทัยธานี เมืองมโนรมย์ เมืองพรหมบุรี เมืองลพบุรี เมืองอินทร์บุรี ฯลฯ จะเห็นว่ามีชื่อ “อินทร์บุรี” อยู่ด้วย

นอกจากนั้นแล้ว ในเอกสารประวัติศาสตร์ JACQ’HERGOUALC’H, 1993 หน้า 188 ระบุว่า ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ บาทหลวงตาชาร์ด ได้บันทึกว่า.. “…เราออกจากเมืองละโว้เมื่อวันที่ 18 มกราคม พร้อมด้วย ม.เดอ ลา มาร์ วิศวกรของสมเด็จพระคริสต์ธรรมิกราชเจ้า ซึ่งสมเด็จพระเจ้ากรุงสยามทรงส่งไปวางแนวป้อมปืนที่บางแห่ง เราไปกันทางเรือโดยทวนขึ้นไปถึงอินทร์บุรี (Innebourie) ซึ่งเป็นตัวเมืองเล็กๆ อันเป็นชุมทางใหญ่สามสายแยกไปทางราชอาณาจักรพะโค ลาว และกัมพูชา เราไปถึงในวันที่ 19 ตอนหลังเที่ยง ในขณะที่ ม.เดอ ลา มาร์ เลือกที่ทางอันเหมาะสำหรับวางแนวป้อมปืนในชนบท ยาวห้าสิบวาทางด้านนอกอยู่ เราก็เอาใจใส่กับการวัดความผันแปรซึ่งกระทำกันหลายครั้งหลายหน…”

ขณะที่ เดอ ลา มาร์ ได้บันทึกในเอกสารของตนเองว่า “…เมืองนี้เป็นเมืองเล็กในชนบท ตั้งอยู่ประมาณ 25 ลิเออร์ ริมฝั่งน้ำทวนขึ้นไปทางเหนือของละโว้ มีทางน้ำสามสายมาเจอกันที่เมืองนี้ สายหนึ่งมาจากพะโค สายหนึ่งมาจากลาว และอีกสายหนึ่งมาจากกัมพูชา พระเจ้ากรุงสยามมีพระราชโองการให้ข้าพเจ้าขึ้นไปสร้างป้อมขนาดเล็กเพื่อใช้ยับยั้งทางผ่านของข้าศึกที่จะมาทางนั้น…”

แม้ว่าจะมีการบันทึกไว้ชัดเจนดังที่กล่าวข้างต้น แต่ก็ยังเป็นข้อสงสัย ว่าเป็นพื้นที่ใดหรือ ที่จะสร้างเป็นป้อมปราการสำหรับรับมือกับข้าศึก ยิ่งในปัจจุบันสภาพภูมิศาสตร์ที่เปลี่ยนแปลงไป ก็ยากยิ่งจะคาดเดา ขณะเดียวกันหากว่ากันตามบันทึกเรื่องเส้นทางแม่น้ำสามสายมาบรรจบกัน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งร่องรอยโบราณสถานที่วัดไทรนี้ มีศิลปกรรมร่วมสมัยในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ คือ ช่องประตูและหน้าต่างโค้งแหลม จึงมีความเป็นไปได้ว่า ป้อมปราการที่เดอ ลา มาร์ สร้าง อาจจะอยู่บริเวณใกล้วัดไทรนั่นเอง

ดังนั้น “อินทร์บุรี” ซึ่งเป็นทั้งเมืองหลานหลวงและเมืองยุทธศาสตร์การทหาร จึงมีความสำคัญและเกี่ยวข้องกับสมเด็จพระนารายณ์มหาราช อย่างไรก็ดี เราอาจไม่ค่อยพบเห็นโบราณสถานในอินทร์บุรีนัก ถึงแม้ว่าจะเห็นเป็นเมืองชุมชนโบราณก็ตาม ซึ่งมีคำอธิบายจาก พระยาโบราณราชธานินทร์ คราวตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ไปอินทร์บุรี ในปี 2459 ว่า “…ตามกฎมณเฑียรที่ว่าเมืองนี้เป็นเมืองหลานหลวงนั้น ได้ตรวจมาแล้วได้ความอย่างเดียวกับเมืองพรหมบุรี ซึ่งไม่มีเงื่อนไขที่จะจับได้ว่าวังของผู้ปกครองเมืองอยู่ที่ใด

แต่เมื่อคำนึงถึงว่าเป็นเมืองหลานหลวงแล้ว ก็เล็งเห็นว่าวังจะเป็นเครื่องไม้ จะหาเค้าเงื่อนอันใดมิได้ แม้อินทร์บุรีจะไม่มีสิ่งปลูกสร้างคราวโบราณว่าเป็นเมืองเก่าเหลือให้เห็น แต่ชาวอินทร์บุรีก็สืบทอดวิถีแห่งชุมชนมาอย่างต่อเนื่อง เมืองอินทร์บุรีไม่เคยหมดบทบาทความเป็นเมืองหน้าด่าน หรือประตูสู่เมืองเหนือ ชุมชนตลาดอินทร์บุรีก็เจริญรุ่งเรืองขึ้นมาจากความเป็นเมืองชุมชนมาก่อน เพราะมีการแลกเปลี่ยนสินค้ากันอย่างคับคั่ง ทั้งสินค้าจากเมืองเหนือและแดนใต้..” นอกจากอินทร์บุรีมีความหลากหลายในเชิงประวัติศาสตร์แล้ว ยังเป็นเมืองที่มีความสงบร่มเย็น มีธรรมชาติสวยงามตามสองฝั่งลำน้ำเจ้าพระยา อัธยาศัยของผู้คนในชุมชนที่อบอุ่นเป็นมิตร และอาหารการกินพื้นบ้านโดดเด่น ลือเลื่องในเรื่องปลาแม่น้ำ

ความสัมพันธ์ไทย-ฝรั่งเศส เริ่มต้นขึ้น ณ วังนารายณ์ราชนิเวศน์ เป็นความสัมพันธ์ที่ไม่ได้จบหรือสิ้นสุดอยู่แค่ที่วังเท่านั้น หากแต่ได้แผ่ขยายสืบสานถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น ผ่านกาลเวลายาวนานมาจนถึงปัจจุบัน 333 ปี ทุกสิ่งย่อมไม่สูญสลายไปกับสายลม อย่างน้อยๆ สิ่งที่ปรากฏให้เห็นอยู่ในปัจจุบัน แม้จะเป็นเพียงเศษเสี้ยวของประวัติศาสตร์ แต่ก็ได้ทำให้ลูกหลานเผ่าพันธุ์รุ่นหลังมองเห็นรากเหง้าของตนเองในห้วงเวลาที่ผ่านมา

 


ไปที่ไหนใน “อินทร์บุรี”

วัดไทร

เดิมชื่อ “วัดทะยาน” เปลี่ยนชื่อมาเป็น “วัดไทร” เนื่องจากบริเวณโดยรอบมีต้นไทรขึ้นปกคลุมหนาแน่นจนโอบรัดพระอุโบสถ ปัจจุบันต้นไทรหายไป มีแต่ต้นโพธิ์คลุมอยู่รอบวัด เป็นวัดที่มีประตูเข้า-ออกทางเดียว โบสถ์ของวัดมีอายุเก่าแก่มาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนกลาง ปัจจุบันเป็นวัดร้าง มีเพียงพระประธานอยู่ด้านในโบสถ์ ให้ชาวบ้านละแวกนั้นได้กราบไหว้บูชา ซุ้มประตูทางเข้าโบสถ์เป็นวงโค้งยอดแหลม อิทธิพลศิลปะแบบเปอร์เซีย อันเป็นเอกลักษณ์ของรูปแบบศิลปะสมัยสมเด็จพระนารายณ์ สันนิษฐานบริเวณใกล้กับวัดนี้ ทางฝรั่งเศสเคยมาสำรวจเพื่อสร้างป้อมปราการ รับมือกับข้าศึกที่จะมาทางแม่น้ำเจ้าพระยา

วัดม่วง
สันนิษฐานว่าน่าจะสร้างเป็นวัดแรกของ อ.อินทร์บุรี โดยสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ มีพระวิหารเก่าทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า ด้านในมีภาพจิตรกรรมฝาผนังเขียนด้วยสีฝุ่นฝีมือช่างชาวบ้าน เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับพุทธประวัติ และภาพแสดงความเป็นอยู่ของชาวบ้านแทรกไว้ด้วย ส่วนด้านหน้าวิหารมีภาพเขียน “ท่องนรกภูมิ” สีสันสวยงาม ดูแล้วเป็นภาพเขียนร่วมสมัยมาก ไม่ดูน่ากลัวหรือโหดร้าย ที่วัดแห่งนี้ในอดีตมีบุคคลสำคัญมาสักการะพระพุทธรูปปางมารวิชัย พระประธานในวิหารที่มีพุทธลักษณะงดงามมาก ในอดีตมีบุคคลสำคัญมาที่วัดนี้ อาทิ พระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ สมเด็จพระสังฆราช เป็นต้น อาจเป็นเพราะว่าวัดม่วงถือเป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองของอินทร์บุรี ส่วนเจดีย์ที่อยู่ด้านหน้าวิหาร เป็นแบบสี่เหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสอง ลือกันว่าข้างในบรรจุอาวุธ วัตถุมงคลและของมีค่า ซึ่งชาวบ้านเชื่อว่าสร้างขึ้นเพื่อล้างบาป นอกจากนี้ วัดม่วงยังมีชื่อเสียงในเรื่องการปลุกเสกวัตถุมงคล

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอินทร์บุร
ตั้งอยู่ภายในวัดโบสถ์ โดยอดีตเจ้าอาวาสวัดโบสถ์ เมื่อครั้งมีสมณศักดิ์เป็นพระราชเมธาภรณ์ เจ้าคณะจังหวัดสิงห์บุรี ได้ให้ความอนุเคราะห์สนับสนุนกรมศิลปากร ดำเนินงานปรับปรุงการจัดแสดงให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ ภายในจัดแสดงโบราณวัตถุที่ขุดพบจากเมืองโบราณบ้านคูเมือง และแหล่งเตาเผาแม่น้ำน้อย รวมถึงจัดแสดงเครื่องประดับสมณศักดิ์ของพระสงฆ์ พัดยศ เครื่องอัฐบริขาร และพระพุทธรูปสมัยต่างๆ ตลอดจนเครื่องมือเครื่องใช้ของคนที่ราบภาคกลาง

วัดประโชติการาม
วัดเก่าแก่คู่บ้านเข้าสักการะหลวงพ่อทรัพย์หลวงพ่อสิน พระพุทธรูปในกลุ่มพระอัฏฐารส โดยพระพุทธรูปทั้งสององค์นี้ยังมีความเกี่ยวเนื่องกับตำนานท้องถิ่นเรื่อง “สิงหพาหุ” ที่มีความสัมพันธ์กับองค์พระนอนจักรสีห์ด้วย

วัดเก่าแก่คู่เมืองสิงห์บุรี ประดิษฐานพระพุทธรูปปางห้ามญาติ ยืนซ้อนกัน 2 องค์ เป็นพระพุทธรูปศิลปะอู่ทองที่ได้รับอิทธิพลของสุโขทัย คือ หลวงพ่อทรัพย์ สูง 6 วา 7 นิ้ว และหลวงพ่อสิน สูง 3 วา 3 ศอก 5 นิ้ว ทั้งสององค์งดงามมาก และเป็นที่เคารพเลื่อมใสของประชาชนทั่วไป องค์ที่อยู่ด้านหน้าคือ “หลวงพ่อสิน” ส่วนองค์ด้านหลังเป็น “หลวงพ่อทรัพย์” ชาวบ้านเล่าลือถึงความศักดิ์สิทธิ์ของหลวงพ่อสององค์นี้มาก ในอดีตหลวงพ่อสินมีสภาพทรุดโทรม ครั้งหนึ่งมีเณรผ่านมาเห็น ได้ชักชวนชาวบ้านช่วยกันหาไม้ค้ำหลวงพ่อพร้อมอธิษฐาน ว่าหากภายหน้าทำการค้าเจริญรุ่งเรืองจะนำเงินกลับมาบูรณะ ปรากฏว่าเป็นจริงดังคำขอ จึงเป็นตำนานเชื่อกันว่าถ้ามาอาราธนาศีลจากหลวงพ่อสินแล้วไปขอพรจากหลวงพ่อทรัพย์ จะสมหวังตามที่ปรารถนา

หนังใหญ่วัดสว่างอารมณ์
อยู่ภายในวัดสว่างอารมณ์ ตั้งอยู่ที่ ต.ต้นโพธิ์ อ.เมือง จ.สิงห์บุรี ในสมัยก่อนบริเวณวัดมีชาวมอญนำสินค้ามาขายตามแม่น้ำเจ้าพระยา ได้แวะพักเรือบริเวณนี้ จึงเรียกหมู่บ้านนี้ว่า บ้านบางมอญ ทั้งๆ ที่ไม่มีชาวมอญอาศัยอยู่ วัดสร้างประมาณ พ.ศ.2399 แต่สิ่งที่สร้างชื่อเสียงให้คนรู้จักอย่างมาก คือ “หนังใหญ่” โดยมีความเป็นมากว่า 100 ปีแล้ว ตั้งแต่ครั้งพระครูสิงหมุนี หรือหลวงพ่อเรือง เจ้าอาวาสองค์แรก เป็นผู้รวบรวมหนังใหญ่จากฝีมือช่างในสมัยอยุธยาตอนปลายไว้ และให้ช่างพื้นบ้านที่มีความรู้ด้านจิตรกรรมสร้างหนังใหญ่ไว้จำนวนมาก

ตัวหนังใหญ่ส่วนหนึ่งได้จากการบริจาคเงินของมหาเพียร ปิ่นทอง ซื้อจากบ้านดาบโก่งธนู จ.ลพบุรี บางส่วนซื้อจากวัดตึก ซึ่งเป็นวัดอยู่ทางฝั่งตรงข้ามวัดสว่างอารมณ์ และอีกส่วนหนึ่งได้จากครูเปีย หัวหน้าคณะหนังเร่ จ.พระนครศรีอยุธยา สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นผู้สืบเชื้อสายมาจากผู้แสดงมหรสพในวังสมัยกรุงศรีอยุธยา ครูเปียได้นำหนังใหญ่มาถวายหลวงพ่อเรือง และได้ฝึกหัดการเชิด การพากย์หนังใหญ่ให้กับชาวบ้านบางมอญ จนมีชื่อเสียงสืบต่อกันมา จนถึงกำนันนวม ศุภนคร สามารถสร้างพลับพลารับเสด็จกรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ ครั้งที่ท่านเสด็จเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา ในช่วงนั้นน้ำไหลเชี่ยวมาก ไม่มีใครสามารถสร้างได้ ท่านได้รับอาสาสร้างจนสำเร็จ จึงได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นขุนบางมอญกิจประมวญ

 

 โปรแกรมเดินทางฉบับเต็ม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image