‘ครูบาคติใหม่’ การอ้างอิงจากบารมีและศรัทธา ของ ‘ครูบาศรีวิชัย’

ครูบาศรีวิชัย ตนบุญแห่งล้านนา

คติความเชื่อหนึ่งในวัฒนธรรมด้านศาสนาท้องถิ่นล้านนาคือ ภาพของโพธิสัตว์ถูกแทนที่ด้วยลักษณะของพระสงฆ์ที่ปฏิบัติตามฐานคติความเชื่อทางวัฒนธรรมอย่างเคร่งครัดพระสงฆ์ผู้มีบารมีเหล่านั้นจะถูกขนานนามว่า “ตนบุญ”

“ตนบุญแห่งล้านนา” คือ การเรียกขานอย่างยกย่องแก่ครูบาศรีวิชัย (พ.ศ.2421-81) พระสงฆ์ที่มีความสำคัญต่อประวัติศาสตร์ของภาคเหนือทั้งทางการเมืองและการศาสนา

ดังนั้น ใน พ.ศ.2561 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นที่ครบ 80 ปี การมรณภาพของครูบาศรีวิชัย และ 140 ปี ชาตกาลของท่าน จึงเป็นวาระที่สำคัญสำหรับผู้คนในภาคเหนือ หลายหน่วยงานได้จัดกิจกรรมทางศาสนาและกิจกรรมทางวิชาการ เพื่อร่วมรำลึกถึงครูบาศรีวิชัย

ภาพครูบาศรีวิชัยเดินทางกลับจากในการสร้างถนนขึ้นดอยสุเทพ (ภาพจากประวัติย่อและผลงานของครูบาศรีวิชัย : สำนักพิมพ์ช้างเผือก)

ขณะเดียวกันก็พบว่า “พระสงฆ์” จำนวนหนึ่งที่พยายามเชื่อมโยงและอ้างอิงตัวเองกับภาพลักษณ์ครูบาศรีวิชัยเป็นภาพลักษณ์ของตัวเอง ที่รู้จักกันทั่วไปในภาคเหนือว่า “ครูบาอุ๊กแก๊ส” หรือ “ครูบาคติใหม่”

Advertisement

เกี่ยวกับเรื่องนี้ ณัฐพงศ์ ดวงแก้ว ได้ศึกษาค้นคว้าทำเป็นวิทยานิพนธ์ชื่อ “การศึกษากระแส ‘ครูบาคติใหม่’ ในภาคเหนือของไทย พุทธทศวรรษ 2530-2550” เมื่อนำมาปรับเป็นบทความชื่อ “140 ปีชาตกาลครูบาศรีวิชัย : จากครูบาศรีวิชัยสู่กำเนิด ‘ครูบาคติใหม่’ ในปัจจุบัน” เผยแพร่ในนิตยสาร “ศิลปวัฒนธรรม” ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2562 เนื้อหาจึงเข้มข้นและหนักแน่นในหลักฐาน

 

บทบาทสำคัญของครูบาศรีวิชัยที่สร้างศรัทธาแก่พุทธศาสนิกชนล้านนาที่ผ่านมาผู้เขียน (ณัฐพงศ์ ดวงแก้ว) สรุปเป็น 2 ประเด็นสำคัญ คือ

Advertisement

1.บทบาทในทางพุทธศาสนาและความเชื่อท้องถิ่น ครูบาศรีวิชัยท่านมีวัตรปฏิบัติที่เคร่งครัดกว่าพระสงฆ์ทั่วไป เช่น การฉันอาหารมื้อเดียวและเว้นการฉันเนื้อสัตว์ ให้ความสำคัญกับการถือสันโดษและศีลวินัย การก่อสร้างและบูรณะพุทธสถานที่สำคัญๆ ในเขตพื้นที่ภาคเหนือมากมาย (เช่น พระธาตุดอยสุเทพ-เชียงใหม่ พระธาตุดอยตุง-เชียงราย พระธาตุหริภุญชัย-ลำพูน ฯลฯ) ฯลฯ สิ่งเหล่านี้เป็นลักษณะเด่นที่ทำให้เกิดความเลื่อมใสศรัทธาต่อตัวครูบาศรีวิชัย ซึ่งสัมพันธ์กับแนวคิดเรื่องการกำเนิดตนบุญหรือพญาธรรมิกราช ที่เชื่อกันว่าจะลงมาช่วยค้ำจุนพระพุทธศาสนา

2.บทบาทในทางการเมือง แรงศรัทธาของประชาชนที่มีต่อครูบาศรีวิชัยจำนวนมาก เกิดเป็นแรงสั่นสะเทือนของอำนาจรัฐ ที่พยายามผนวกอาณาจักรล้านนาเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสยาม และคณะสงฆ์กลาง ในสมัยรัชกาลที่ 5 จึงมีการออกพระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ.121 โดยกำหนดให้พระสงฆ์ฝ่ายปกครองต้องได้รับการแต่งตั้งจากส่วนกลาง เปลี่ยนโครงสร้างการปกครองสงฆ์ท้องถิ่นใหม่ พระอุปัชฌาย์ที่สามารถบวชให้กับผู้คนได้ต้องแต่งตั้งจากส่วนกลาง นั่นทำให้ครูบาศรีวิชัยเป็นอุปัชฌาย์เถื่อนในทันที

เพราะสยามเองก็ว่าด้วยบารมีของท่านจะทำให้เกิดการซ่องสุมผู้คน ตั้งตนเป็นผีบุญต่อสู้กับอำนาจรัฐเช่นที่เกิดในพื้นที่อีสาน และด้วยลักษณะของการเป็นตนบุญของครูบาศรีวิชัยจึงทำให้ท่านถูกเพ่งเล็งจากรัฐบาลสยาม จนต้องอธิกรณ์ข้อกล่าวหาว่า อ้างตนเป็นผู้วิเศษด้วยมนต์คาถาพยายามตั้งตนเป็นผีบุญ ซ่องสุมผู้คนและไม่ยอมปรองดองกับคณะสงฆ์

ด้วยคุณูปการที่โดดเด่นของครูบาศรีวิชัยในอดีต ทำให้ท่านเป็นตัวแทนพลังทางสังคมของวัฒนธรรมล้านนาในการต่อรองอำนาจรัฐ และกลายเป็นอัตลักษณ์ที่สำคัญทางพุทธศาสนาแบบล้านนาสู่การเป็นตัวอย่างให้พระสงฆ์ในปัจจุบันที่พยายามปฏิบัติตามภาพลักษณ์ของครูบาศรีวิชัย

อนุสาวรีย์ครูบาศรีวิชัยที่ดอยสุเทพ จังหวัดเชียงใหม่
ภาพครูบาศรีวิชัยคณะลูกศิษย์และประชาชนที่เลื่อมใสศรัทธาที่แผ้วถางป่าดง (ภาพจากประวัติย่อและผลงานของครูบาศรีวิชัย : สำนักพิมพ์ช้างเผือก)

การค้นคว้าของ ณัฐพงศ์ ดวงแก้ว พบว่า ตั้งแต่ปี 2530 เป็นต้นมา เริ่มมีการก่อตัวของคติความเชื่อเรื่องครูบาในแบบใหม่เกิดขึ้น จากกระแสการผลิตซ้ำและการสร้างภาพลักษณ์แบบครูบาศรีวิชัย

ความเป็นครูบาศรีวิชัยถูกนำมาลอกเลียนแบบเพื่อเป้าหมายใหม่ ด้วยวิธีการคัดลอกและสร้างภาพลักษณ์ จะมีหลักๆ ด้วยกัน 4 ประการ คือ การให้ภาพลักษณ์ของการเป็นตนบุญผู้วิเศษ การให้ภาพลักษณ์การเป็นพระนักพัฒนา การให้ภาพลักษณ์ของการเป็นพระผู้ธำรงรักษาความเป็นจารีตล้านนา และการให้ภาพลักษณ์ในการแต่งกาย

พระสงฆ์ในปัจจุบันหลายรูปพยายามเชื่อมโยงเหตุการณ์ของตนเองเข้ากับครูบาศรีวิชัย ด้วยการคัดลอกลักษณะคุณสมบัติครูบาศรีวิชัยสู่ครูบาคนใหม่ เช่น การกล่าวถึงมุขปาฐะของครูบาศรีวิชัยที่เคยกล่าวไว้ว่า “หากน้ำปิงไม่ไหลย้อนขึ้นทางเหนือจะไม่ขอกลับไปเหยียบแผ่นดินเชียงใหม่” มีพระสงฆ์บางรูปใช้เชื่อมโยงตนเองกับครูบาศรีวิชัยในลักษณะว่าครูบาศรีวิชัยกลับมาเกิดใหม่ เพราะวันเกิดของพระสงฆ์รูปนั้น (20 กุมภาพันธ์ 2508) ตรงกับวันมรณภาพของครูบาศรีวิชัย (20 กุมภาพันธ์ 2481) โดยนำเอาเรื่องการสร้างเขื่อนภูมิพลที่แล้วเสร็จในปี 2507 ทำให้แม่น้ำปิงไหลท่วมย้อนกลับไปทางเหนือได้ เป็นเหตุผลให้การกลับชาติมาเกิดจึงเป็นปี 2508

นอกจากนี้ยังมีการสร้างภาพทดแทนลักษณะครูบาศรีวิชัย ทั้งทางรูปธรรมและนามธรรมแทน เช่น หนังสือ เพลง อนุสาวรีย์ ภาพถ่าย เครื่องราง เป็นต้น

การผลิตซ้ำของสิ่งเหล่านี้เป็นการตอกย้ำความคงอยู่ ทั้งตัวตน ชื่อเสียง ของครูบาศรีวิชัย

ภาพการลอกเลียนแบบลักษณะการแต่งกายของครูบาศรีวิชัย

วันนี้แม้ครูบาศรีวิชัยมรณภาพกว่า 80 ปี หากความเคารพศรัทธาของผู้คนทั้งในอดีตยังไม่จางหาย ครูบาศรีวิชัยยังมีอิทธิพลและเป็นตัวแทนของการสู้เพื่อธำรงรักษาจารีตสงฆ์ล้านนา เป็นตัวแทนความหมายของการเป็น “ครูบา” ในการรับรู้ของผู้คนในปัจจุบัน นั่นแสดงให้เห็นว่าสังคมล้านนายังคงมีความคิดที่ผูกติดกับจารีตเดิมไว้อย่างเหนียวแน่น

ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นว่าครูบาศรีวิชัยยังคงเป็นผู้กุมความศรัทธาของวัฒนธรรมล้านนา และนี้คือ “ครูบาแบบคติใหม่” ซึ่งเป็นบางส่วนในการให้ความหมายของครูบาคติใหม่ สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ประจำเดือนกุมภาพันธ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image