ใครคุมน้ำ คนนั้นครองอำนาจ ขรรค์ชัย-สุจิตต์ ทอดน่อง ‘สระศักดิ์สิทธิ์’ เมืองสุพรรณ

คูน้ำคันดินเมืองโบราณบึงกระเทียม

เป็นอีกหนึ่งตอนที่สร้างความเพลินใจผ่านหน้าจอให้ผู้รับชมรายการ “ขรรค์ชัย-สุจิตต์ ทอดน่องท่องเที่ยว” เป็นอย่างยิ่ง เมื่อ (อดีต) สองกุมารสยามนำแฟนๆ เดินทางไปยังเมืองสุพรรณบุรีอันเป็นที่ตั้งของ “สระทั้ง 4” ได้แก่ สระแก้ว สระคา สระยมนา และสระเกษ โดยบอกเล่าเรื่องราว “น้ำศักดิ์สิทธิ์ของพญานาคจากสระทั้งสี่เมืองสุพรรณ” ดำเนินรายการโดย เอกภัทร์ เชิดธรรมธร เผยแพร่ผ่านเฟซบุ๊กมติชนออนไลน์ ข่าวสด ศิลปวัฒนธรรม และยูทูบมติชนทีวีเช่นเคย

ตาน้ำโบราณ สู่สระศักดิ์สิทธิ์

เปิดรายการด้วยภาพความร่มรื่นของสระศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นส่วนหนึ่งของสวนสาธารณะในเทศบาลตำบลท่าเสด็จ ได้รับการดูแลเป็นอย่างดี

ขรรค์ชัย บุนปาน หัวเรือใหญ่ค่าย “มติชน” ควงคู่ สุจิตต์ วงษ์เทศ คอลัมนิสต์ในเครือ ลงนั่งเก้าอี้ข้างสระในอิริยาบถสบายๆ ก่อนที่ทั้งคู่จะค่อยๆ เล่าเรื่องราวความหลังในครั้งอดีต แล้วเชื่อมโยงหลักฐานประวัติศาสตร์อย่างลึกซึ้ง

“สมัยผมและขรรค์ชัยยังเป็นนักศึกษาเมื่อ 50 ปีที่แล้ว เป็นที่รู้กันว่า ถ้ามาสุพรรณฯ ก็ต้องมาที่นี่ แต่มายาก ไม่เหมือนตอนนี้ สะดวกสบายมาก ถูกจัดเป็นสวนสาธารณะอย่างดี เมื่อตรวจสอบเอกสารโบราณย้อนกลับไปทั้งหมด โดยเฉพาะพระราชหัตถเลขาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทำให้ฉุกคิดว่าสระเหล่านี้เกี่ยวข้องกับราชวงศ์สุพรรณภูมิซึ่งมีบทบาทสูงต่อเมืองสุพรรณ ต่อมาราชวงศ์นี้ไปยึดกรุงศรีอยุธยา

Advertisement

เพราะฉะนั้นเมื่อมีพิธีบรมราชาภิเษก และถือน้ำพิพัฒน์สัตยาตั้งแต่สมัยอยุธยาเป็นต้นมา ต้องมาตักน้ำที่นี่ ผมเชื่อว่าเกี่ยวข้องกับถิ่นฐานเดิมของบรรพชนกษัตริย์อยุธยาซึ่งมาจากสุพรรณฯ รัชกาลที่ 5 เสด็จฯสระน้ำศักดิ์สิทธิ์ใน พ.ศ.2451 และทรงบันทึกไว้ว่ามีเจ้าพนักงานคอยดูแลสระน้ำประจำ โดยเป็นตำแหน่งที่สืบมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ถึงรัตนโกสินทร์ เพิ่งมายกเลิกไปสมัยรัชกาลที่ 7 นี้เอง” สุจิตต์เปิดประเด็น ก่อนย้อนลึกกลับไปนานนับพันปี

สระเกษ สันนิษฐานว่าเป็นชื่อที่เรียกมาตั้งแต่สมัยอยุธยา เช่นเดียวกับสระศักดิ์สิทธิ์อีก 3 แห่ง
สระแก้ว หนึ่งใน 4 สระศักดิ์สิทธิ์แห่งเมืองสุพรรณบุรี
สระยมนา สะอาด สวยงาม ร่มรื่น ไม่แพ้สระอื่นๆ

“น้ำคือหัวใจในการตั้งชุมชน บ้านเรือน ใครคุมน้ำ คนนั้นมีอำนาจ เชื่อว่าเดิมที่นี่คือตาน้ำซับที่ไม่แห้งเลยตลอดปี กลายเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ต่อมาจึงค่อยขยายและพัฒนาเป็นสระในภายหลัง ส่วนชื่อสระแก้ว สระคา สระยมนา และสระเกษ คงมีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา จึงใช้สืบมาถึงทุกวันนี้ โดยไม่มีใครกล้ากินน้ำในสระ เพราะเชื่อถึงความศักดิ์สิทธิ์ มีเรื่องเล่าว่าครั้งหนึ่งฝนตกหนัก น้ำล้นจากสระลงไปถึงทุ่งนา ปูปลาแหวกว่ายตามกระแสน้ำ ชาวบ้านก็จับไปกิน ปรากฏว่าคนกินเป็นโรคคุดทะราดกันหมด จากนั้นมาชาวเมืองสุพรรณไม่กล้าจับสัตว์น้ำในสระอีกเลย”

สระศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้ ได้รับการขึ้นทะเบียนโบราณสถานตั้งแต่ พ.ศ.2478 กระทั่งต่อมาทาง จ.สุพรรณบุรี ร่วมกับกรมศิลปากร จับมือกันพัฒนาโดยปรับภูมิทัศน์ให้สวยงามอย่างที่เห็นในปัจจุบัน แล้วถ่ายโอนให้ท้องถิ่นดูแลเมื่อ พ.ศ.2549

Advertisement
ทัศนียภาพสระศักดิ์สิทธิ์ในปัจจุบันซึ่งเชื่อว่าเป็น “ตาน้ำ” โบราณมานานนับพันปี ไม่เคยเหือดแห้ง

ขรรค์ชัยและสุจิตต์ยังเชื่อมโยงกลับมายังภูมิปัญญาที่ตกทอดมาถึงผู้คนร่วมสมัยใน “ทุ่งกุลา” ทางภาคอีสานว่า เวลาตั้งหมู่บ้านจะทำการหา “จอมปลวก” เพราะบ่งบอกว่ามี “ตาน้ำ” ใต้ดิน จอมปลวกคือสัญลักษณ์ของอำนาจ ที่ไหนมีจอมปลวกที่นั่นมีตาน้ำ คนคุมน้ำ คือคนคุมอำนาจยุคโบราณ

“ข้อมูลจากคนทุ่งกุลา ทำให้นึกถึงนิทานเรื่องเจ้าชายสายน้ำผึ้ง นิทานกษัตริย์อโยธยา ตำนานบอกว่า เดิมเป็นเด็กเลี้ยงวัวอยู่หมู่บ้านที่มีจอมปลวก ใช้จอมปลวกเป็นบัลลังก์นั่งว่าราชการเล่นกับเพื่อน วันหนึ่งเล่นสั่งประหารเด็กๆ ด้วยกันโดยใช้ไม้ขี้ตอกที่สานกระบุงฟันคอ ปรากฏว่าคอขาดจริง ช่วงนั้นแผ่นดินว่างกษัตริย์พอดี มีการทำพิธีเสี่ยงทายนำเครื่องราชกกุธภัณฑ์ลงเรือสุพรรณหงส์ พอผ่านมาถึงหมู่บ้านนี้ เรือหยุดไม่ยอมแล่นต่อ พราหมณ์จึงเป่าสังข์ แล้วเชิญเด็กเลี้ยงวัวขึ้นเป็นกษัตริย์ ได้ชื่อว่า พระเจ้าสายน้ำผึ้ง เพราะสั่งให้น้ำผึ้งไหลรดหัวเรือได้”

ไม่เพียงเท่านั้น ยังเล่าเรื่องราวน่าฟังของนาคอุษาคเนย์ซึ่งอยู่ใต้บาดาล แตกต่างจากนาคอินเดียซึ่งสถิตอยู่บนฟ้าก่อนทอดน่องต่อไปยังเมืองโบราณไม่ไกลจาก 4 สระศักดิ์สิทธิ์

ศาลเจ้าพ่อเทพา บริเวณสระทั้ง 4

เจ้าพ่อสุนทัน กับเมืองโบราณบึงกระเทียม

เดินทางต่อไปยังเมืองโบราณบึงกระเทียม และศาลเจ้าพ่อสุนทัน ของชาว “ลาวเวียง” ไม่ไกลจากสระศักดิ์สิทธิ์

สุจิตต์ฝ่าเปลวแดด ทอดน่องพร้อมเล่าถึงความสำคัญของเมืองโบราณแห่งนี้ว่าเกิดขึ้นหลังจากที่เมืองอู่ทองลดความสำคัญลงโดยมีการพบเศษภาชนะดินเผาอายุราว พ.ศ.1500-1600 เป็นจำนวนมาก หลักฐานสำคัญคือคูน้ำคันดินขนาดใหญ่

“เมืองนี้อยู่ใกล้พระธาตุสวนแตง กึ่งกลางระหว่างเมืองอู่ทอง กับเมืองสุพรรณ จุดที่ยืนอยู่นี้เป็นถนนที่ชาวบ้านทำใหม่ข้ามคูเมือง ที่ตอนนี้เรียกบึงกระเทียม มีลำน้ำบึงกระเทียมที่เชื่อว่าเป็นบึงสำคัญแยกจากลำน้ำท่าว้า มาถึงเมืองโบราณ ลำน้ำนี้ในอดีตเชื่อมโยงลงไปถึงเมืองอู่ทอง สุพรรณฯ เพราะฉะนั้นเมืองบึงกระเทียมเป็นส่วนหนึ่งของเมืองอู่ทอง แต่คนละสมัยกัน คือเกิดขึ้นหลังเมืองอู่ทองลดความสำคัญลง”

บริเวณใกล้เคียง ยังมี “ศาลเจ้าพ่อสุนทัน” อันเป็นที่สักการะของชาวบ้านในชุมชนบ้านตีนเป็ด ซึ่งเกิดขึ้นใหม่หลังจากเมืองบึงกระเทียมร้างไปในช่วงปลายกรุงศรีอยุธยาหรือรัตนโกสินทร์ ตามประวัติระบุว่าเป็นชุมชนที่ถูกกวาดต้อนมาจากเวียงจันทน์ในสมัยรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

ภิกษุวัดพระธาตุสวนแตง เข้ามากล่าวขอบคุณ ขรรค์ชัย บุนปาน ที่เคยช่วยบูรณะนภศูลพระปรางค์

พระธาตุสวนแตงที่เคยเดินเท้า ‘ลัดทุ่ง

ปิดท้ายที่พระธาตุสวนแตง ตำบลศาลาขาว อำเภอเมือง ซึ่งขรรค์ชัย-สุจิตต์ บอกว่าสะท้อนถึงการมีชุมชนขนาดใหญ่อยู่บริเวณนี้ โดยทั้งคู่เคยเดินทางมาถึงพระปรางค์องค์นี้ตั้งแต่เป็นนักศึกษาคณะโบราณคดี ม.ศิลปากร เมื่อราว 50 ปีก่อน พร้อมศาสตราจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม

ขรรค์ชัย ที่วันนี้นั่งเก้าอี้ครองอาณาจักรมติชน ย้อนเล่าอดีตอย่างสนุกสนานว่า “โอ๊ยยยยย ต้องเดินลัดทุ่งนา พระปรางค์ผุพังมาก ตอนนั้นยังไม่ได้ซ่อม เมืองสุพรรณเป็นเมืองใหญ่และสำคัญมาก นอกเหนือจากแหล่งโบราณสถาน ขอให้หน่วยงานต่างๆ อย่าละเลยการดูแลภูมิทัศน์โดยภาพรวม โดยเฉพาะแหล่งน้ำลำคลอง รวมถึงคูเมืองโบราณต่างๆ ให้มีประโยชน์ต่อผู้คนในปัจจุบันเหมือนคูเมืองอู่ทอง”

มาถึงตรงนี้ สุจิตต์ชี้ชวนให้ชม “นภศูล” เหนือองค์ปรางค์ล้ำค่า เป็นผลงานที่กรมศิลปากรร่วมกับขรรค์ชัยในการสร้างเลียนแบบของเก่า โดยมี บรรหาร ศิลปอาชา เป็นผู้เชิญขึ้นประดิษฐานอย่างสง่างาม เมื่อ พ.ศ.2553

เป็นอันจบทริปเมืองสุพรรณด้วยความอิ่มใจ ก่อนมุ่งหน้าวางแผนทอดน่องโลเกชั่นต่อไปที่แฟนานุแฟนห้ามพลาด!

ยืนชมพระปรางค์วัดพระธาตุสวนแตง ซึ่งขรรค์ชัย บุนปาน ร่วมกับกรมศิลปากรในการบูรณะส่วนยอด คือ “นภศูล”
สุจิตต์ วงษ์เทศ คอลัมนิสต์เครือมติชน, ขรรค์ชัย บุนปาน ประธานกรรมการ บมจ.มติชน และเอกภัทร์ เชิดธรรมธร ผู้ดำเนินรายการ ขณะถ่ายทำรายการ ขรรค์ชัย-สุจิตต์ ทอดน่องท่องเที่ยว ตอน “น้ำศักดิ์สิทธิ์ของพญานาค จากสระทั้งสี่ที่เมืองสุพรรณบุรี”

Live ก่อนจะเป็น #แห่นาควัดสิงห์ : ขรรค์ชัย-สุจิตต์ ทอดน่องท่องเที่ยว ตามรอยพญานาคไปดูสระศักดิ์สิทธิ์เมืองสุพรรณ

โพสต์โดย Matichon Online – มติชนออนไลน์ เมื่อ วันจันทร์ที่ 25 กุมภาพันธ์ 2019

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image