ฐานคะแนนและแฟนบอล การเมืองใน ‘ดงแข้ง’ พลิกโฉมสนามเลือกตั้ง?

เปิดฤดูกาลฟุตบอล “ไทยลีก” ได้ 3-4 สัปดาห์ บรรดาทีมฟุตบอลดังๆ ที่มีเหล่านักการเมืองเป็นเจ้าของ ดูจะทำผลงานได้ไม่ค่อยดีเท่าไหร่ แค่เฉพาะ 3 นัดแรก แชมป์เก่า 6 สมัย อย่างบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ของลุงเน-เนวิน ชิดชอบ ชนะได้แค่ 1 ครั้ง มีเพียง 5 คะแนน เท่ากับ เชียงราย ยูไนเต็ด เท่านั้น อยู่ในช่วงของกลางตาราง นับแต่ออกสตาร์ท โดยมี สุพรรณบุรี เอฟซี เกาะอันดับ 11 จาก 16 ทีม

มีเพียง นครราชสีมา มาสด้า เอฟซี ที่เล่น 3 นัด ยังอยู่ในท็อป 4 ของตาราง

ผลงานอาจจะดูกร่อยไปบ้างในมุมแฟนคลับ สวนทางกับความคึกคักของแวดวงการเมือง เมื่อเหล่าเจ้าของทีม ต่างทุ่มเทเรี่ยวแรง ให้กับการหาเสียงช่วงโค้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้ง ที่จะมาถึงในวันที่ 24 มีนาคมนี้ หลายสโมสรยังเคยเปิดพื้นที่ให้กับพรรคการเมืองต่างๆ เข้ามาใช้เรียกคะแนนนิยม เห็นได้ชัดในกรณีของ “เสี่ยหนู” ที่ยึดพื้นที่บุรีรัมย์แถลงนโยบายเป็นครั้งแรก

นับแต่ปี 2550 ที่สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และการกีฬาแห่งประเทศไทย ได้รวมฟุตบอลทั้ง 2 ลีกของไทย ในชื่อใหม่อย่าง “ไทยแลนด์พรีเมียร์ลีก” ขึ้นมาอย่างเป็นรูปธรรม ก็ทำให้กีฬาฟุตบอลในประเทศเป็นที่นิยมมากขึ้น จากที่แต่ก่อนสโมสรบางแห่งมีเงินไม่มีคนดู หรือบางแห่งที่มีคนดูแต่ไม่มีเงิน ก็ป๊อปปูลาร์ขึ้นมาอย่างเห็นได้ชัด ทำให้หลายคนเห็นปรากฏการณ์ความฟีเวอร์ของทีมฟุตบอล และสตาร์ไทยดังๆ ขึ้นมา

Advertisement
การแถลงข่าวเปิดตัว ฤดูกาลล่าสุด
อนุทิน ชาญวีรกูล เปิดตัวภูมิใจไทย ที่บุรีรัมย์

ประจวบเหมาะกับที่ “นักการเมือง” หลายคนที่ถูกติดโทษแบน อันเป็นผลพวงของรัฐประหารปี 2549 ก็เข้ามาจับแวดวงฟุตบอลพร้อมๆ กันพอดี ทั้งบ้านเลขที่ 111 จากคดียุบพรรคไทยรักไทย ไปจนถึงบ้านเลขที่ 109 ในคดียุบพรรคชาติไทย มัชฌิมาธิปไตย และพลังประชาชน ด้วยต้องการปรากฏตัวอยู่ในพื้นที่สาธารณะต่อไป

ไม่ว่าจะเป็น เนวิน ชิดชอบ กับสโมสรบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด, มิตติ ติยะไพรัช คุม “กว่างโซ้งมหาภัย” สิงห์ เชียงราย ยูไนเต็ด ที่ส่งไม้ต่อให้น้องสาว ปวิษรัช ไปลงเล่นการเมืองกับพรรคไทยรักษาชาติเต็มตัวไม่นาน พรรคก็ต้องถูกยุบลงอีกครั้ง นอกจากนี้ยังมี ชลบุรี เอฟซี โดย วิทยา คุณปลื้ม จากพรรคพลังชล, เทวัญ ลิปตพัลลภ ที่โบกมือลา นครราชสีมา มาสด้า เอฟซี มารับตำแหน่งหัวหน้าพรรคชาติพัฒนา, เสี่ยท็อป-วราวุธ ศิลปอาชา กับสโมสรสุพรรณบุรี เอฟซี และชัยนาท ฮอร์นบิล โดย อนุชา นาคาศัย ที่เพิ่งสละเก้าอี้ ไปลงสมัคร ส.ส.เขต จ.ชัยนาท

ปฏิเสธไม่ได้ว่า สโมสรฟุตบอลเหล่านี้ถูกใช้เป็นตัวเชื่อมสายสัมพันธ์ทางการเมืองอยู่บ่อยครั้ง โดยเฉพาะกับสโมสรใหญ่ๆ อย่างบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ของลุงเน ที่เปิดสนามช้าง อารีนา นำคนกว่า 3 หมื่น มาร่วมต้อนรับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้า คสช. เมื่อกลางปี 2561 ยังไม่รวมการยืมตัวของนักเตะ หรือการเดินสายของทีมบอลในภูมิภาคต่างๆ

Advertisement
เนวิน ชิดชอบ ในวันที่บุรีรัมย์ คว้าแชมป์สมัยที่ 6
สุวัจน์ ประธานที่ปรึกษาสโมสร เปิดตัวทีมนครราชสีมา ปี 2017
เทวัญ ลิปตพัลลภ
บิ๊กตู่ เยือนสนามช้าง อารีน่า

และการรีเทิร์น กลับมาลงสนามของนักการเมืองหลายคน ฉุดให้พรรคดัง ต้องลงพื้นที่มาหาเสียงจำนวนไม่น้อย ทั้งยังมีการเอาโมเดลการพัฒนาสโมสรฟุตบอล สร้างความภูมิใจถึงความสำเร็จ ดังเช่นที่ เนวิน ชิดชอบ ออกมาพูดว่า “ต้องการคนมีแนวคิดแบบคนบุรีรัมย์ กล้าคิดใหม่ เปลี่ยนแปลง ที่ผ่านมาผมทำเรื่องกีฬา ทำให้คนบุรีรัมย์มีรายได้มากขึ้น แต่ก็ยังไม่ปลอดหนี้”

ในเรื่องนี้ “ชาลินี สนพลาย” อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สาขาการเมืองการปกครอง ผู้ศึกษาเรื่องฟุตบอลไทยกับการเมือง เจ้าของวิทยานิพนธ์ บทบาทของสโมสรชลบุรี เอฟซี (Chonburi Footbal Club) ในการรักษาและสร้างฐานเสียงทางการเมืองของกลุ่ม “เรารักชลบุรี” ได้พาไปเจาะลึกถึงสโมสรฟุตบอลต่างๆ ที่เกี่ยวพันแนบแน่นกับการเมืองตั้งแต่จุดเริ่มต้น

อย่างที่หลายคนคิด ชาลินีไม่ปฏิเสธว่า รัฐประหาร 2549 เป็นหมุดหมายสำคัญที่ทำให้นักการเมืองลงมาจับสโมสรฟุตบอล ด้วยยังอยากปรากฏในพื้นที่สาธารณะ แต่มองให้ไกลไปกว่านั้น นักวิชาการสาวชี้ให้เห็นว่าสิ่งสำคัญที่เปิดช่องให้กีฬานี้บูม ก็เพราะรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่เปลี่ยนแปลงโครงสร้างของสังคมการเมืองไทย กระจายอำนาจให้ท้องถิ่น มีภารกิจที่ต้องสนับสนุนกีฬา ทำให้ อบจ.ทั้งหลายจึงต้องลุกขึ้นมาพัฒนาเรื่องกีฬาด้วยการสร้างทีมฟุตบอลสมัครเล่นของ อบจ. และเมื่อนักการเมืองมองหาสิ่งที่จะทำให้อยู่ในที่สายตาของสาธารณะ ลงล็อกกับที่ทีมกีฬาก็ต้องการทรัพยากรในการพัฒนาทีม สิ่งที่มีรากอยู่แล้ว ก็เขยิบขึ้นมาไม่ยาก

แต่หากถามว่า “นักการเมือง” เหล่านี้เข้าไปทำอะไรบ้างนั้น ชาลินีก็บอกว่า แต่ละคนมีโมเดลที่แตกต่างกันไป อย่างเนวิน ชิดชอบ เรียกได้ว่าทำทุกอย่าง เป็นเฮดของเฮดโค้ช จัดผู้เล่น ระดมทรัพยากรสร้างสนามในเวลาไม่นาน รวมไปถึงจัดตั้งแฟนบอลในระยะแรก ซึ่งมีงานวิจัยระบุว่าเขาก็ใช้สายสัมพันธ์ทางการเมืองช่วยทำสโมสร ขณะที่ ชลบุรี ตระกูลคุณปลื้มไม่ได้ลงไปทำอะไรขนาดนั้น เพียงแต่ระดมทรัพยากรมาขับเคลื่อนสโมสร แล้วยกหน้าที่ให้ อรรณพ สิงห์โตทอง ที่มีสายสัมพันธ์กันดูแล ขณะที่วราวุธก็ลงไปคุมทีมในระดับใกล้กับคุณเนวิน พูดได้ว่าระยะห่างของแต่ละสโมสรไม่เท่ากัน

ทั้งนี้ แม้ว่าสโมสรแต่ละแห่งจะมีสปอนเซอร์เข้าเยอะ แต่ผลประกอบการก็ขาดทุนเกือบทุกทีม แต่ละทีมลงทุนหลักร้อยล้านบาทต่อปี นั่นทำให้ผู้บริหารทีมต้องมีปัจจัยสำคัญอื่นๆ ในการลงมาเป็นเจ้าของทีมฟุตบอล

ท็อป วราวุธ เปิดตัวทีมสุพรรณบุรี เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ ขณะยังอยู่ในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง
เชียงราย คว้าแชมป์ เอฟเอคัพ ปี 2018 หลังชนะ บุรีรัมย์
บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด

“เวลาคนพูดถึงนักการเมืองกับฟุตบอล ชอบพูดว่านักการเมืองทำทีมบอลเอาคะแนนเสียง เรื่องนี้ไม่ต้องวิจัยก็พูดได้ เพราะอย่างน้อยมันทำให้เขามีภาพลักษณ์ที่เปลี่ยนไป มีผลงานปรากฏต่อสายตาผู้เลือกตั้ง และรักษาพื้นที่สื่อของตนได้”

“กรณีของบุรีรัมย์ ในระยะแรก ก็ใช้เครือข่ายทางการเมืองเข้ามาช่วยทำทีม แต่พอฟุตบอลมันอยู่ไปได้สักพักหนึ่ง ปรากฏว่าหัวคะแนน นักการเมืองในบุรีรัมย์ วิ่งเข้าหาแกแทน คล้ายๆ กับว่ามีอำนาจต่อรองมากขึ้น ฟุตบอลทำให้ต้นทุนและทรัพยากรแกเปลี่ยนไป เนวินเข้าไปสัมพันธ์กับผู้เลือกตั้งได้โดยตรงแล้ว โดยไม่ต้องผ่านใคร” ชาลินีกล่าว และว่า

“แต่สิ่งที่สโมสรฟุตบอลทำงานอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อนคือเรื่องอัตลักษณ์ของท้องถิ่น ฟุตบอลทำให้ของที่เป็นนามธรรมอย่างอัตลักษณ์/ความเป็นเรา (we-ness) กลายเป็นสิ่งที่จับต้องได้ หมายความว่าแต่ก่อนเราไม่รู้ว่า ความเป็นชลบุรีคืออะไรบ้าง หน้าตาเป็นยังไง แต่ตอนนี้แฟนบอลเขาบอกได้ว่าความเป็นชลบุรีกำลังขับเคี่ยวกับบุรีรัมย์อยู่ในสนามไง คุณไปสนามบอล คุณจะพบเห็นความเป็นชลบุรีถูกสร้างและกระตุ้นเร้าให้ปรากฏเข้มข้นต่อหน้าคุณ เป็นตัวตนที่สัมพันธ์กับฟุตบอลและความเป็นชลบุรี ซึ่งตัวตนพวกนี้ถูกอำนวยการสร้างขึ้นโดยนักการเมือง ทำให้นักการเมืองเหล่านี้ถูกผนวกเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของความเป็นพวกเรา เป็นพวกเดียวกัน ในความเป็นชลบุรีมีตระกูลคุณปลื้ม มีสิงห์โตทองอยู่ในนั้นด้วย หากมีอะไรมากระทบก็พร้อมจะปกป้อง”

เป็นสิ่งที่เหนือกว่าความภาคภูมิใจ

เป็นการต่อกันติด บนความสัมพันธ์ที่เข้าถึงนักการเมืองได้ง่ายกว่าที่ผ่านมา

ชาลินีกล่าวว่า ที่จริงแล้ว การเป็นแฟนบอลใช้เงินเยอะมาก ฟุ่มเฟือยทั้งเวลาและเงิน ไปดูบอลแต่ละครั้ง มีทั้งค่าเสื้อ ค่าเดินทาง ค่าตั๋ว รวมทั้งค่าสังสรรค์รอบสนามฟุตบอล คิดดูว่าหากดูบอลอยู่บ้าน 2 ชั่วโมงก็จบ แต่การไปที่สนาม ต้องไปรอซื้อตั๋ว ต้องไปตั้งแต่บ่าย 3 เพราะมีกิจกรรมต่างๆ หรือเมื่อตารางออก ก็ต้องจองตั๋วไปดูทีมเล่นที่จังหวัดต่างๆ คนดูบอลไม่ใช่คนจน หรือเป็นเกษตรกรที่เวลาไม่แน่นอนแล้ว แต่คนกลุ่มนี้ต้องเป็นคนที่มีศักยภาพจะใช้สอย ซื้อความบันเทิงให้ตัวเอง เหมือนเดินห้าง ดูหนัง สิ่งนี้สอดรับกับงานวิจัยที่ระบุว่าสังคมต่างจังหวัดของไทยไม่ใช่สังคมเกษตร ไม่ใช่พื้นที่แห่งความยากจนแล้ว แต่คือชนชั้นกลางใหม่ ที่มีวิถีชีวิตและวิถีการบริโภคแบบทุนนิยมแล้ว

เมื่อแฟนบอลเขาเข้ามาดูบอล เป็นกลุ่มก้อนเดียวกัน ทุกคนมาสร้างตัวตนอีกรูปแบบนึงและมีความสัมพันธ์แนวราบที่เป็นชุมชนเดียวกัน หากใครทำสิ่งดีๆ ให้ชุมชนนี้ ชุมชนนี้ก็พร้อมจะรักและสนับสนุน แต่หากใครมาทำร้ายชุมชน ทำร้าย “พวกเรา” ทุกคนก็เจ็บไปหมดเหมือนกัน

“กรณีถูกโยงไปสู่การเมืองนั้น เห็นได้ชัดจากกรณี สนามของสโมสรต่างๆ ทั้งเชียงรายและชลบุรี ที่พอมีปัญหากับนักการเมืองท้องถิ่นต่างขั้ว ทำให้เขาไม่สามารถใช้สนามฟุตบอลเดิมแข่งได้ ต้องย้ายที่ และสร้างใหม่ แฟนบอลอธิบายว่าเขาถูกกลั่นแกล้ง ในช่วงการเลือกตั้งนายก อบจ.จึงมีการพูดถึงประเด็นนี้ว่าถ้าเลือกพรรคอื่น/ขั้วอื่น เราอาจจะถูกบังคับย้ายสนามอีกก็ได้”

“มันแสดงออกให้เห็นว่า แฟนบอลกับนักการเมืองไม่ได้สัมพันธ์กันแบบเชิงอุปถัมภ์ ที่ผู้เลือกตั้งรับความอุปถัมภ์เจ้าพ่อ แล้วถูกเจ้าพ่อบงการได้ อีกต่อไปแล้ว แต่ความสัมพันธ์มีลักษณ์เป็นแนวราบ ที่นักการเมืองถูกมองว่าส่วนหนึ่งของพวกเรา หากถูกทำร้าย เราก็โดนไปด้วย”

นอกจากความสัมพันธ์รูปแบบนี้แล้ว บรรยากาศในสนามแข่งที่ นักวิชาการสาวได้ไปสัมผัสขณะทำวิทยานิพนธ์ ยังทำให้มองเห็นถึงรูปแบบความสัมพันธ์ของฐานเสียง และหัวคะแนนแบบดั้งเดิมอยู่บ้าง โดยชาลินีเผยว่า ระยะเริ่มของแต่ละทีม มักจะมีกลุ่มคนที่เกณฑ์คนจากพื้นที่ต่างๆ มานั่งดูบอล สนับสนุนทั้งเสื้อ ค่ารถ แต่หลังๆ พอทีมเดินไปเองได้แล้วก็ไม่จำเป็นต้องมีความสัมพันธ์รูปแบบนั้น

“แม้แฟนบอลจะไม่ชอบคุยเรื่องการเมืองในสนาม เพราะเสี่ยงความขัดแย้ง แต่ก็ยังเห็นบางสิ่ง นั่นคือในสนามจะมีกลุ่มแฟนคลับเล็กๆ ตั้งชื่อกันเป็นโซน กลุ่มพวกนี้มีแกนนำ ที่รู้จักกับคนของสโมสร ผู้บริหาร และเชื่อมแฟนบอลกับสโมสรได้ ทำหน้าที่ระดมความผูกพัน ภักดี ต่อสโมสรให้แน่นแฟ้นขึ้น และอาจจะมีผลประโยชน์บางอย่างจากสโมสร เช่นจองตั๋วได้ก่อน ข่าววงใน หรือเป็นคนคอยประนีประนอมกับแฟนคลับหากไม่พอใจสโมสร คล้ายกันกับหน้าที่ของหัวคะแนน ที่เป็นโซ่ข้อกลาง ระดมความสนับสนุนทางการเมืองจากผู้เลือกตั้ง และรับความอุปถัมภ์จากนักการเมืองสู่ผู้เลือกตั้ง แต่ก็เป็นความสัมพันธ์แบบต่างตอบแทน ไม่ใช่ลักษณะของครอบงำบงการแบบที่คนมักจะมองกัน”

แต่ถ้าถามว่า ความสัมพันธ์เช่นนี้จะนำไปสู่การกาบัตรเลือกตั้งในคูหาได้หรือไม่นั้น ชาลินีบอกว่า “ตอบแน่นอนไม่ได้”

ชาลินี สนพลาย

พร้อมให้เหตุผลว่า เมื่อเดินเข้าคูหา คนเราเดินเข้าไปพร้อมกับอัตลักษณ์หลายอย่าง อยู่ที่ว่าจะจัดลำดับสิ่งไหนเป็นอันดับ 1-2-3 และอะไรทำงานก่อนกัน สำหรับเรื่องฟุตบอล ก็ขึ้นอยู่กับว่าคนให้ความสำคัญอย่างไร อาจหนุนให้ตัดสินใจง่ายขึ้นเมื่อเอาไปรวมกับปัจจัยอื่น แต่ฟันธงไม่ได้ สำหรับนักการเมืองแล้ว นี่อาจเป็นออปชั่นให้นักการเมืองต่อรองว่ามีฐานเสียงได้ มีต้นทุนที่ทำให้สัมพันธ์แน่นแฟ้นกับผู้เลือกตั้งในพื้นที่ ที่แตกต่างกับความสัมพันธ์แบบระบบอุปถัมภ์เดิมที่ถูกพรากไปได้ง่ายเมื่อบริบททางเศรษฐกิจ-สังคมและการเมืองมันเปลี่ยนไป

“แต่กับผู้เลือกตั้งแล้ว เราฟันธงไม่ได้ว่าเขาจัดฟุตบอลไว้เป็นลำดับที่เท่าไหร่”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image