จากดินสอโดม สู่ดิจิทัลโมเดล TU Startup พลังขับเคลื่อนคนรุ่นใหม่

การสร้างแรงบันดาลใจให้นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในการก้าวสู่ศตวรรษที่ 21 อย่างเป็นผู้นำทั้งภาคธุรกิจและจิตสำนึกต่อสังคมที่ยั่งยืน คือการยกระดับทักษะความรู้ ความคิดและความเป็นผู้ประกอบการ

Startup นับเป็นความท้าทาย ‘จุดประกาย’ คน Generation Z ให้ก้าวออกจากพรมแดนการศึกษา สู่มิติทางธุรกิจของตัวเอง ภายใต้การสนับสนุนของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งมีนโยบายพัฒนา ‘ระบบนิเวศนสตาร์ตอัพ’ (Startup Ecosystem@TU) อาทิ โครงการบ่มเพาะธุรกิจ พื้นที่การทำงานร่วมหรือ Co-working Space การจับมือพันธมิตรสำคัญ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับสตาร์ตอัพในต่างประเทศ

ทั้งหมดล้วนนำไปสู่การแต่งแต้มไอเดียที่มีชีวิตชีวาผ่านระบบดิจิทัล แม้จะเป็นจุดเริ่มต้น โปรเจ็กต์เล็กๆ แต่ถ้าใครได้สัมผัสนักศึกษาผู้ผ่านกระบวนการบ่มเพาะ ‘หล่อหลอม’ ทักษะแล้ว จะเห็นว่าความฝันของเด็กกลุ่มนี้ควรค่าแก่โอกาสในโลกที่เปิดกว้าง

‘มะเหมี่ยว’ อนัญชนา พัฒนานันท์ นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับเพื่อนซี้ ‘เต้’ จิรายุ พุฒาพิทักษ์ พัฒนา ‘Horhere’ เพจใหม่เอาใจนักศึกษาที่มองหาหอพักใกล้ๆ กับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ที่ขณะนี้เริ่มสร้างเครือข่ายและระดมทุนเพื่อทำให้ความฝันของเธอเป็นจริง

Advertisement

“ปัจจุบันนักศึกษาธรรมศาสตร์ที่อยู่หอพักมีมากถึง 50% ทำให้เราคิดว่าถ้าพวกเขามีข้อมูลที่มากพอ ทุกคนก็จะมีความเป็นอยู่ที่ดีกว่านี้ได้ จึงพัฒนาเพจ Horhere ขึ้นมาเพื่อเป็นตัวกลางในการติดต่อเรื่องเช่าหอพักอย่างเป็นระบบและน่าเชื่อถือให้แก่นักเรียนนักศึกษาในอนาคต ปัญหาขณะนี้คือนักศึกษาหลายคนต้องเดินทางมาจากต่างจังหวัด เพื่อจองหอพักที่ใกล้กับมหาวิทยาลัย บางหอพักได้รับความนิยมมากต้องมาจองคิวตั้งแต่ตี 5 โดยยังไม่รู้ว่าห้องว่างหรือไม่ บางคนเจอปัญหาการทำสัญญา โอนเงินไปแล้วแต่ผู้เช่าเดิมยังไม่ย้ายออก เพราะใช้บริการจากเว็บไซต์หรือเฟซบุ๊กที่ไม่น่าเชื่อถือ”

การสำรวจของทีมงาน Horhere ซึ่งมีทั้งสิ้น 8 คน พบว่ารอบๆ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต มีหอพักกว่า 38 แห่ง และมีพื้นที่ให้เช่าประมาณ 1 หมื่นห้อง แต่การขาดข้อมูลที่ดีและความไม่สะดวกในการประสานงานต่างๆ ทำให้นักศึกษาผู้หญิงบางคนต้องตัดใจ เช่าหอพักที่ไกลออกไป สุ่มเสี่ยงต่อความไม่ปลอดภัยในชีวิตและการเดินทาง

Advertisement

“เพจ Horhere เป็นโมเดลธุรกิจที่ตอบโจทย์เรื่องการเป็นตัวกลางประสานระหว่างหอพักกับผู้เช่า วางระบบการชำระเงินที่น่าเชื่อถือ โดยจะเริ่มต้นจากหอพักบริเวณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก่อน หากประสบความสำเร็จก็จะประชุมร่วมกับทีมงานเพื่อพัฒนาต่อไป”

ที่ผ่านมาโปรเจ็กต์ Horhere ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ที่ให้ทุนสตาร์ตอัพคนรุ่นใหม่มาพัฒนาธุรกิจตามความฝันของอนัญชนาและเพื่อนๆ โดยปัจจุบันมีผู้ติดตามเพจ Horhere แล้วมากกว่า 500 คน ในอนาคตมีแผนพัฒนาไปสู่แอพพลิเคชั่นและเว็บไซต์ที่สมบูรณ์แบบ

ขณะที่ “เต้” จิรายุ กล่าวว่า กว่าจะมาเป็นเพจ Horhere ในวันนี้ ทีมงานต้องระดมสมองเพื่อ Pitch ไอเดียในเวที “สตาร์ตอัพไทยแลนด์ลีก” จัดโดยกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ต่อมาได้รับความสนใจและได้รับทุนสนับสนุนจากธนาคารออมสิน แต่เป็นแค่จุดเริ่มต้นเท่านั้น อาจจะยังไม่เพียงพอเพื่อทำแอพพลิเคชั่นตามเป้าหมายที่ฝันไว้

“แผนของเราคือเป็นตัวกลางระหว่างนักศึกษากับเจ้าของหอพัก ซึ่งส่วนใหญ่เคยทำธุรกิจแบบออฟไลน์ ด้วยการนำอินเตอร์เน็ตมาช่วยเหมือนแอร์บีแอนด์บี (Airbnb) หลังจากเปิดเพจระยะหนึ่งเราสามารถปิดดีลได้แล้วบางส่วน ขณะนี้กำลังเพิ่มฐานลูกค้าและทำคอนเทนต์ในเพจให้มากขึ้น ถ้าทำสำเร็จเราคิดว่าจะขยายไปสู่หอพักในโซนมหาวิทยาลัยอื่นๆ ในอนาคต”

อีกหนึ่งโครงการสตาร์ตอัพที่เป็นความภูมิใจของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และผ่านกระบวนการบ่มเพาะจนเกิดเป็นรูปเป็นร่าง และอยู่ระหว่างการทำแบบจำลองและเก็บข้อมูล คือการพัฒนาแอพพลิเคชั่นโอท็อปไทยสู่ประเทศจีน… ‘Da Tai’ หรือออกเสียงว่า ‘ต้าไท่’ แปลว่าไทยใหญ่ โดยมี ‘โบ’ กมลพร วีระวุฒิวงศ์ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี และ ‘ซัมบี้’ นัฐชยา เชี่ยวชาญ นักศึกษาชั้นปี 4 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงหลักในการพัฒนาแอพพลิเคชั่น ‘Da Tai’ ครั้งนี้

กมลพรเล่าไอเดียให้ฟังว่า แอพพลิเคชั่น Da Tai เริ่มจากการเห็นโอกาสที่คนจีนเข้ามาท่องเที่ยวเป็นจำนวนมากและสนใจซื้อสินค้าไทยแต่ยังเข้าไม่ถึงแหล่งผลิตจริงๆ หรือขาดข้อมูลในการตัดสินใจ จึงริเริ่มออกแบบแอพพลิเคชั่น Da Tai และลงพื้นที่สำรวจแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ เพื่อเก็บข้อมูลความต้องการของผู้ซื้อสินค้าชาวจีน โดยเฉพาะกลุ่มแบกเป้หรือแบ๊กแพค รวมถึงการสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการโอท็อปในประเทศด้วย

“ในช่วงแรกสินค้าที่จะอยู่ในแอพพลิเคชั่นนี้คือกลุ่มที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวจีนต้องซื้อกลับไป เช่น กระเป๋า กาแฟ มะม่วงอบแห้ง เริ่มจาก 500 รายการหลักๆ เพื่อกระตุ้นยอดขายให้ผู้ประกอบการที่ร่วมกับเรามีรายได้และกำลังใจที่จะพัฒนาต่อไป”

สำหรับการส่งมอบสินค้าจะพยายามให้ถึงมือผู้รับภายใน 1 วัน ในขณะที่นักท่องเที่ยวจีนยังอยู่ในเมืองไทย หรืออย่างน้อยมีบริการส่งให้ที่สนามบินเพื่อความสะดวกในการนำกลับไปเป็นของขวัญแก่คนที่บ้าน

ศ.ดร.อาณัติ ลีมัคเดช

ศาสตราจารย์ ดร.อาณัติ ลีมัคเดช ผู้อำนวยการศูนย์ทรัพย์สินทางปัญญาและบ่มเพาะวิสาหกิจ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ปัจจุบันมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์สร้างนวัตกรรมเพื่อส่งเสริมให้เกิดสตาร์ตอัพในหลากหลายโครงการ อาทิ การพัฒนา Thammasat Creative Space (TCS) บนพื้นที่กว่า 1,500 ตารางเมตร ที่ชั้น 1 หอสมุดป๋วย อึ๊งภากรณ์ เพื่อให้นักศึกษาจากทุกคณะได้มานั่งทำงานแลกเปลี่ยนความรู้กันในบรรยากาศที่สร้างสรรค์เกิดโมเดลธุรกิจใหม่ๆ หรือการร่วมกับพันธมิตรอย่างธนาคารกรุงเทพในการส่งเสริม Startup จากภายนอก สามารถใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อพัฒนาธุรกิจได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะส่งผลดีกับการพัฒนาความรู้ของนักศึกษาและอาจารย์ด้วย

แรงขับเคลื่อนของกลุ่ม TU Startup นับเป็นอีกพลังบริสุทธิ์ในการพัฒนามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เปลี่ยนผ่านสู่อนาคต โดยที่ ดินสอ ‘โดม’ สัญลักษณ์ที่อยู่ในหัวใจมายาวนานกว่า 84 ปี ยังคงโดดเด่นเช่นเดิม…แต่เพิ่มเติมคือพลังของนักศึกษารุ่นใหม่และ Inspiration ทางธุรกิจ ที่กำลังนำพวกเขาก้าวไปข้างหน้าในโลกดิจิทัล

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image