‘สงกรานต์ ขุนเดช สุโขทัย’ (รื้อ) ประวัติศาสตร์สร้างใหม่ในวันที่คนไทยไม่เหมือนเดิม

ภาพมุมสูง 'วัดมหาธาตุ' จากโดรน 'มติชนทีวี' โดยนับเป็นตอนที่มีผู้ชมให้การตอบรับอย่างสูง พร้อมถกเถียงอย่างสดๆ ขณะไลฟ์ โดยเฉพาะประเด็น 'ขอมสบาดโขลญลำพง' ซึ่งสุจิตต์เชื่อว่าเป็นเชื้อสายเจ้านายรัฐละโว้ แต่แฟนรายการคัดค้านว่า โขลญ น่าจะเป็น 'คนเฝ้าประตู' สุจิตต์จึงร่วมถกโดยยกหลักฐานว่าคำดังกล่าวมีความหมายมากมาย ทั้งพ่อค้า และคนทำงานในเทวสถานซึ่งสำคัญมากต่อพิธีกรรรมในราชสำนัก ซึ่งต้อง 'เอาใจ' เป็นพิเศษ

“สุโขทัยไม่ใช่ราชธานีแห่งแรก แต่เป็นรัฐเล็กๆ จากชุมชน 2,000 ปี” คือชื่อตอนล่าสุดของรายการ “ขรรค์ชัย-สุจิตต์ ทอดน่องท่องเที่ยว” ซึ่งออกอากาศท่ามกลางอุณหภูมิร้อน พอๆ กับประเด็นแรงท้าทายความเชื่อเก่าที่ถูกบอกเล่าในตำราเรียน

แน่นอนว่าอดีตสองกุมารสยาม ขรรค์ชัย บุนปาน ประธานกรรมการบริษัทมติชน จำกัด (มหาชน) และ สุจิตต์ วงษ์เทศ คอลัมนิสต์ชื่อดังไม่เพียงมาเล่าความหลังครั้งยังหนุ่มแน่นเมื่อคราวออกสำรวจสุโขทัยในวันที่เป็นป่ารก พร้อมศาสตราจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม สมัยยังเป็นอาจารย์คณะโบราณคดี รั้วศิลปากร แต่ยังลุยเสนอข้อมูลรื้อสร้างประวัติศาสตร์สุโขทัย เป็นที่ถูกใจแฟนานุแฟนทางเฟซบุ๊กไลฟ์ “มติชนออนไลน์” และเพจในเครือเป็นอย่างยิ่ง

เช่นเดียวกับประเด็น “สงกรานต์” ที่สุจิตต์ และสิ่งพิมพ์ในเครือมติชน โดยเฉพาะนิตยสาร “ศิลปวัฒนธรรม” เคยพากเพียรเน้นย้ำว่าไม่ใช่แค่ “ปีใหม่ไทย” หากแต่การสาดและประพรมน้ำเป็นวัฒนธรรมร่วมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออุษาคเนย์ พร้อมชี้เป้าให้เข้าแนวทางสมานฉันท์ อย่าตีรันฟันแทงยื้อแย่งความเป็นเจ้าของเฉกเช่นดราม่าที่เคยเกิดทุกปี กระทั่งค่อยๆ ซาลงไปด้วยความรับรู้และเรียนรู้ของสังคมไทยในวันนี้

เปิดรายการอย่างสวยงามโดยมีฉากหลังเป็น “วัดพระพายหลวง” จุดที่นักโบราณคดีเชื่อว่าเป็นสถาปัตยกรรมที่เก่าสุดในสุโขทัย ด้วยรูปทรงคล้ายพระปรางค์สามยอดของละโว้ที่ลพบุรี

Advertisement

“คนสุโขทัยจะด่าเราไหม?” คือประโยคคำถาม (ออกอากาศ) จากเอกภัทร์ เชิดธรรมธร ผู้ดำเนินรายการ ซึ่งแท้จริงแล้วอาจไม่ได้ต้องการคำตอบ แต่สุจิตต์ตอบด้วยการส่ายหน้า เปล่า! ไม่ใช่ไม่ด่า แต่คนด่าไม่ใช่เฉพาะคนสุโขทัย ทว่าประวัติศาสตร์ชีวิตของตนที่ผ่านมา ถูกด่ามาแล้วจากคนไทยทั่วประเทศ

วัดพระพายหลวง ทรงปรางค์อย่างขอม สุจิตต์เคยนำมาแต่งเป็นเพลง มีท่อนหนึ่งว่า “พระพายหลวงป่า มหาธาตุเป็นธุลี กว่าจะถึงพรุ่งนี้ก็สิ้นศรี
ขรรค์ชัย นำทีมสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่วัดพระพายหลวง

“พูดเรื่องนี้ทีไรถูกด่าสม่ำเสมอ หลายปีก่อนเคยเขียนหนังสือชื่อ สุโขทัยไม่ใช่ราชธานีแห่งแรก ถูกด่าจากทั่วประเทศ เพราะเขาคุ้นชินกับวาทกรรมตามที่ครูสอน ใครมาบอกย่อมโกรธและตกใจเป็นธรรมดา แต่เมื่อตั้งสติได้ เสียงด่าทอค่อยๆ ลดลงเรื่อยๆ ผมอธิบายย้ำตลอดว่า ตามที่ประวัติศาสตร์เขียนบอกไว้ว่าสุโขทัยเพิ่งก่อตั้งเมื่อ พ.ศ.1800 เป็นราชธานีของไทย ความจริงเก่ากว่านั้น เก่าเท่าไหร่ไม่รู้ แต่หลักฐานเก่าสุดประมาณ 2,000 ปี ไม่ได้คิดเอง กรมศิลปากรขุดพบมากมาย” สุจิตต์กล่าว พร้อมโชว์ภาพให้ดูอย่างจุใจ ทั้งจากบ้านด่านลานหอย คีรีมาศ บ้านวังประจบ ซึ่งพบลูกปัด กลองมโหระทึก โครงกระดูก โลงหิน เครื่องมือโลหะ ชี้ชัดถึงร่องรอยชุมชนใหญ่ ไม่ใช่เล็กๆ สะท้อนการมีอยู่ของชุมชนโบราณอายุนับพันปีที่เชิงเขาหลวง โดยเป็นส่วนหนึ่งของ “วัฒนธรรมหินตั้ง” ซึ่งยังหลงเหลือร่องรอยที่ “วัดสะพานหิน” อันเป็นที่ประดิษฐานพระอัฏฐารสบนยอดเขา แล้วยังพบพระพุทธรูปศิลปะทวารวดี แสดงว่าพื้นที่บริเวณวัดเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ก่อนมีสุโขทัยเป็นพันปีแล้วใช้สืบเนื่องกันมา อารมณ์เดียวกับวัดชมชื่น ซึ่งเจอโครงกระดูกใต้ฐานเจดีย์

“ที่บอกกันว่าสุโขทัยเป็นราชธานีแห่งแรก จะสัมพันธ์กับแนวคิดที่ว่าคนไทยหนีลงมาจากทางทิศเหนือ จากน่านเจ้า อยู่ใต้อำนาจมอญ อำนาจขอม ซึ่งไม่จริง ขอประทานโทษ! กุบไลข่านตีน่านเจ้าแตก พ.ศ.1797 ประวัติศาสตร์ไทยเขียนว่าสุโขทัยตั้งเมื่อ พ.ศ.1800 ห่างกัน 3 ปีถามหน่อยใช้บริษัทก่อสร้างไหน (หัวเราะ) แล้วถ้าเชื่อว่าจารึกหลักที่ 1 ของพ่อขุนรามคำแหงเป็นของจริง ทำไมพ่อขุนรามฯ ซึ่งบอกหมด ว่าพ่อแม่ชื่ออะไร แต่ไม่บอกเลยสักคำว่าบรรพบุรุษอยู่น่านเจ้า”

Advertisement
โบราณวัตถุงดงาม พบที่วัดพระพายหลวง

เล่ามาถึงตรงนี้ “ขรรค์ชัย” เพื่อนซี้ นั่งขำไม่หยุด “สุจิตต์” ก็ขอไปต่อ ไม่รอยอดไลค์ เข้าประเด็นเน้นๆ ว่า สุโขทัยไม่ใช่ราชธานีแห่งแรกตามประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้างจากทางการผ่านแบบเรียนวิชาสังคมศึกษา เพราะในช่วงเวลาเดียวกันมีรัฐที่พูดภาษาตระกูลไท กระจายอยู่ทั่วไป ตั้งแต่โยนก ซึ่งปัจจุบันอยู่ในเชียงราย น่าน นครศรีธรรมราช ฯลฯ จากนั้นยังเล่านิทาน “พระร่วง” ให้ฟังเพลินๆ อีก 2-3 เรื่องเบาๆ แล้ววิเคราะห์ตามหลักคติชนวิทยาว่าเรื่องราวเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าสุโขทัยเติบโตจากคนหลากหลายเผ่าพันธุ์ ทั้งมอญ เขมร ไทย (และอื่นๆ)

จากนั้น วกเข้าโหมดวรรณกรรมที่ทำให้คนไทยสุด “อิน” กับการรักษาโบราณวัตถุสถานยิ่งชีพ อย่าง “ขุนเดช” เรื่องสั้นที่ถูกนำไปเล่นใหญ่ กลายเป็นภาพยนตร์และละครดังทางโทรทัศน์หลากหลายเวอร์ชั่น แม้กระทั่งปัจจุบันก็ยังมีคนดัดแปลงเป็นละครเวทีในอีเวนต์ต่างๆ

“ขุนเดช มีตัวจริง ชื่อ อามหา จิระเดช ไวยโกสิทธิ์ เดิมเป็นลูกจ้างกรมศิลป์ เจดีย์ทุกองค์เขาผูกพันมาหมด เป็นคนพาผมกับขรรค์ชัยและอาจารย์ศรีศักรขึ้นสำรวจบนเขา นิสัยส่วนตัวขี้น้อยใจ ผมกับขรรค์ชัยเดินผ่านหมู่บ้าน เจอลูกหมาตัวน้อยๆ 10 กว่าตัว ขรรค์ชัยยุลูกหมาให้ไปกัด ขุนเดชใส่กางเกงขายาว โดนลูกหมารุมกัดขากางเกง โวยวายใหญ่ (หัวเราะ) ส่วนเรื่องขุนเดชผมเอามาจากเรื่องที่เขาเล่า อย่างเรื่องเอางูเห่าใส่ข้องให้กัดคนลักขุดกรุจนตาย เล่าให้ฟังตอนตำน้ำพริกกินกันระหว่างสำรวจศรีสัชนาลัย เพราะไม่มีโรงแรม และไม่มีเงินด้วย ต้องทำกับข้าวกินเอง ผมฟังแล้วก็มันฉิบหาย โอ๊ย อร่อย จำมาเขียน ก่อนหน้านั้นไม่เคยเขียนเรื่องสั้น แต่ขรรค์ชัยกับเรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ หรือ อ.ปั๋ง เขียนมาก่อน เลยเลียนแบบ 2 คนนี้ ออกมาเป็นขุนเดช”

‘ขุนเดช’ ตัวละครในความทรงจำคนไทยด้วยภาพผู้พิทักษ์โบราณสถาน อดีต 2 กุมารสยามผูกพันลึกซึ้ง เป็นผู้นำทางสำรวจป่ารกในสุโขทัยและกำแพงเพชร ปรากฏในภาพของมูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ สุจิตต์ คนที่ 2 จากขวา ซ้ายสุด ศรีศักร วัลลิโภดม นักประวัติศาสตร์ชื่อดัง ขุนเดช คนที่ 2 จากซ้าย

เล่าจบ สบตาขรรค์ชัยผู้ร่วมเหตุการณ์ซึ่งนั่งยิ้มรำลึกความหลังอย่างอารมณ์ดี แล้วชวนกันไปสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในวัดพระพายหลวง ก่อนที่ทั้งคู่จะชวนคุยเรื่อง “ขอมสบาดโขลญลำพง” ซึ่งคนไทยคุ้นหูกันดีจากศิลาจารึกยุคสุโขทัย

“ขอมสบาดโขลญลำพง และปัญหาความขัดแย้งต่างๆ ระหว่างกลุ่มสุโขทัยกับละโว้ อยู่ในจารึกวัดศรีชุม เป็นบันทึกของคนคนหนึ่งชื่อ มหาเถรศรีศรัทธา หลานพ่อขุนผาเมือง เล่าว่าพ่อขุนศรีนาวนำถม ผู้สถาปนาสุโขทัย สิ้นพระชนม์ หรืออะไรทำนองนั้น พูดง่ายๆ ว่ามีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น ขุนนางละโว้คือขอมสบาดโขลญลำพงเลยยกทัพมา พ่อขุนผาเมือง เจ้าเมืองราด เลยร่วมกับพ่อขุนบางกลางหาว มายึดสุโขทัยคืนจากขอมสบาดโขลญลำพง ร่องรอยจากจารึกและหลักฐานอื่นสอดคล้องกันว่า พ่อขุนศรีนาวนำถมเป็นเชื้อสายพราหมณ์รามเทพ คือกลุ่มละโว้-อโยธยาที่ขึ้นมาสถาปนาสุโขทัยเพื่อให้เป็นสถานีการค้ารวบรวมทรัพยากรลงไปให้ละโว้ค้ากับจีน ตอนนั้นละโว้กับถือพราหมณ์ฮินดูและพุทธมหายาน ปรางค์ของพระพายหลวงก็เหมือนปรางค์สามยอด ลายก็แบบเดียวกับที่ละโว้

จากนั้นเปิดวาร์ปไปที่วัดมหาธาตุ ภายในอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย เล่าถึงการเปลี่ยนแปลงของสุโขทัยที่หันเหจากการนับถือพุทธมหายานไปนับถือพุทธเถรวาท แล้วขยี้ประเด็นการก่อเกิดของรัฐซึ่งแหวกแนวทางประวัติศาสตร์แห่งชาติตามสไตล์

“ผังเมืองสุโขทัย เป็นรูป 4 เหลี่ยมผืนผ้า ซึ่งเป็นเทคโนโลยีแบบเขมร สุโขทัยเกิดขึ้นบนเส้นทางคมนาคมการค้า หนุนโดยละโว้ ละโว้ก็คือบรรพชนของอยุธยา ดังนั้น อยุธยาคือผู้สร้างสุโขทัย ที่บอกว่าสุโขทัยเกิดก่อนแล้วค่อยมีอยุธยาจึงขัดแย้งหลักฐานโบราณคดี”

ยังมีประเด็นสำคัญที่ขาดไม่ได้ อย่างเรื่องการบริหารจัดการน้ำ

“สุโขทัยห่างแม่น้ำยม 12 กม. มีเขาหลวงเป็นแหล่งทรัพยากรน้ำ อาหาร แร่ธาตุ ตัวเมืองอยู่บริเวณที่ราบเชิงเขา สุโขทัยเลยต้องกักเก็บน้ำไว้ใช้ เทคโนโลยีที่สำคัญมากคือระบบการจัดการน้ำ มีทำนบ 7 แห่ง เรียก สรีดภงส์ เมื่อน้ำไหลจากเขาหลวง พอใกล้ถึงที่ราบเชิงเขา คนก็สร้างทำนบไว้เพื่อชะลอน้ำไม่ให้แรงเกินไป การที่น้ำหลากมา สามารถพังทลายเมืองได้ทั้งเมือง สิ่งที่นักโบราณคดี ควรเอามาอวด มาโชว์ และรักษาร่องรอยไว้คือ เทคโนโลยีการจัดการน้ำ อะไรพังแล้วก็จำลองขึ้นใหม่ ไม่ได้ยากเย็นอะไร”

สรีดภงส์ หรือทำนบ เทคโนโลยีจัดการน้ำของชาวสุโขทัย ซึ่งขรรค์ชัย-สุจิตต์หนุนโชว์สังคมให้รับรู้กว้างขวาง
ขรรค์ชัย บุนปาน แจกลายเซ็นบนหนังสือเกี่ยวกับสุโขทัยของสำนักพิมพ์มติชนที่เจ้าตัวสนับสนุนการตีพิมพ์เพื่อเผยแพร่ความรู้สู่สังคม

ขรรค์ชัย-สุจิตต์ยังแสดงความเห็นในแนวทางการศึกษาประวัติศาสตร์ว่า จะมองรัฐใดๆ แบบโดดๆ ไม่ได้ เพราะรัฐในไทยสัมพันธ์ทางเครือญาติ ไม่ใช่รัฐใครรัฐมัน พร้อมยกตัวอย่างจนเห็นภาพแจ่มชัดถึงความเชื่อมโยงสัมพันธ์อย่างแยกจากกันไมได้

“น้องสาวพระยาลิไท เป็นชายาขุนหลวงพะงั่ว มเหสีองค์นี้มีโอรสคือเจ้านครอินทร์ กษัตริย์สุพรรณฯ ซึ่งก็คือ พระร่วงที่ไปเมืองจีน ไม่ใช่พ่อขุนรามคำแหงอย่างที่เคยเชื่อกัน ทางอยุธยา-สุพรรณ ถือว่าสุโขทัยเป็นส่วนหนึ่งในอำนาจของตน สุโขทัยก็รู้ตัว เลยคิดว่าตัวเองจะไปเป็นใหญ่ตรงนั้นบ้าง นี่เป็นเรื่องเศรษฐกิจการเมือง เป็นการเฉลี่ยอำนาจทางการเมือง แก่งแย่งเป็นเรื่องปกติเจ้านครอินทร์ มีโอรสคือ เจ้าสามพระยาซึ่งไปครองพิษณุโลก เจ้าอ้าย พอเจ้ายี่ขี่ช้างชนกันตายทั้งคู่ เจ้าสามพระยาเลยไปเป็นกษัตริย์อยุธยา”

ปิดท้ายที่ประเด็นวัดวังอย่าง “เนินปราสาท” ตรงข้ามวัดมหาธาตุ ซึ่งมักมีคำอธิบายว่าเป็นวังพระเจ้าแผ่นดิน

วัดตะพานหิน หรือสะพานหิน สุจิตต์เชื่อว่าเป็นร่องรอยวัฒนธรรมหินตั้ง

“นี่เป็นความเข้าใจคลาดเคลื่อน ควรเปลี่ยนคำอธิบาย เพราะความจริงเนินปราสาท คือศาลาของวัดมหาธาตุ ขรรค์ชัยเคยออกค่าตั๋วเครื่องบินให้ผมและพิเศษ เจียจันทร์พงษ์ ผู้เชี่ยวชาญของกรมศิลป์ไปศึกษาที่ลังกา ได้เห็นมหาสันนิบาตศาลา คือศาลาโถงสำหรับทำบุญ ที่นี่ก็แบบเดียวกันเลย นักโบราณคดีเคยขุดรอบๆ พบเศษภาชนะ เศษข้าวเหนียวเต็มเลย ขอให้กรมศิลป์แก้ไขข้อมูล อย่าให้ประชาชนเข้าใจผิด ไทยเราไม่เคยมีธรรมเนียมการสร้างวังหน้าวัดมหาธาตุ เชื่อว่าวังยุคนั้นคงอยู่หลังศาลตาผาแดง ทางตะวันตกเฉียงเหนือซึ่งเป็นที่ว่างเปล่า มีวังได้สบายๆ และถูกต้องตามทิศทางของเมืองอื่นๆ ด้วย”

“นี่เป็นส่วนหนึ่งของความรู้และความสนุกสนานในวันที่โลกเปลี่ยน เมื่อการเรียนรู้ไม่ได้อยู่แค่ในตำรา หากแต่ไขว่คว้าข้อมูลได้จากทุกหนทุกแห่ง เมื่อคนไทยไม่เหมือนเดิมด้วยการปรับตัวและเปิดใจยอมรับประวัติศาสตร์ที่ไม่ได้มีแค่กระแสหลักอันเชี่ยวกรากอีกต่อไป”

รายการขรรค์ชัย-สุจิตต์ทอดน่องท่องเที่ยว ตอน “สุโขทัยไม่ใช่ราชธานีแห่งแรก แต่เป็นรัฐเล็กๆ จากชุมชน 2,000 ปี” เผยแพร่ผ่านเฟซบุ๊กมติชนออนไลน์, ข่าวสด, ศิลปวัฒนธรรม และยูทูบมติชนทีวี
ขรรค์ชัย-สุจิตต์ นั่งรถรางชิวๆ ชมอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยซึ่งทั้งคู่เคยสำรวจตั้งแต่ครั้งยังเป็นป่ารก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image