เปิดโลก”ปลากัดไทย” นักสู้แห่งสยาม ต้นกำเนิดปลากัดทุกสายพันธุ์

ปลากัดไทยพื้นบ้านภาคกลาง-ภาคใต้-ภาคอีสาน-มหาชัย

และแล้ววันที่ 5 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ “ปลากัดไทย” เป็นสัตว์น้ำประจำชาติ

เพื่อเป็นการร่วมเชิดชูเรื่องราวอันมีคุณค่าของ “ปลากัดไทย” ไอคอนสยาม ร่วมกับ กรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) Optimum Betta ไปรษณีย์ไทย ชมรมอนุรักษ์และพัฒนาปลากัดพื้นบ้าน และฟาร์มเพาะและพัฒนาพันธุ์ปลากัดสวยงาม Goldenbetta จัดงาน “The ICONIC Siamese Fighting Fish at ICONSIAM” แสดงพันธุ์ปลากัดไทยที่เป็นต้นกำเนิดของปลากัดทุกสายพันธุ์

รวมทั้ง “ปลากัดจีน” ที่ชื่อดูเหมือนจะเป็นปลากัดสายพันธุ์จากประเทศจีน แต่ในความเป็นจริงกลับเป็นปลากัดไทย มีพื้นเพมาจากปลากัดป่าดั้งเดิมของไทย นำมาผสมคัดสายพันธุ์ให้มีครีบยาวรุ่มร่ามและสีสันฉูดฉาดเหมือนตัวงิ้ว จึงเรียกว่า ปลาจีน

ด้วยความมหัศจรรย์ของปลากัดป่า ซึ่งเป็นต้นตระกูลของปลากัดสวยงามในทุกวันนี้จากธรรมชาติที่ถูกนำมาเลี้ยงเป็นปลาพื้นบ้าน มีความแตกต่างกันทั้งทางด้านกายภาพและถิ่นที่อยู่อาศัย ความสวยงามด้านสีสันที่ต่างกันนี้ได้ถูกนำมาเจียระไน พัฒนาด้วยภูมิปัญญาของคนไทยตั้งแต่อดีตจนปัจจุบันมีปลากัดที่หลากหลายสีสันและรูปทรงออกมาให้เห็นตามจินตนาการทุกปี โดยปัจจุบันประเทศไทยมีการขึ้นทะเบียนทั้งหมด 5 สายพันธุ์ และยังมีสายพันธุ์ย่อยที่นักวิจัยกำลังให้ความสนใจในการขึ้นทะเบียนเป็นปลากัดสายพันธุ์ใหม่ เช่น ปลากัดอีสานหางลาย เป็นต้น

Advertisement
ปลากัดพื้นบ้านภาคตะวันออก

“ปลากัด” หรือเบ็ตต้า (ชื่อทางวิทยาศาสตร์ Betta splendens) กล่าวกันว่าได้ชื่อมาจากนักรบเอเชียโบราณ “เบ็ตตาช” (Bettah) เพราะการต่อสู้อันดุเดือดของมัน การกัดปลาเป็นกีฬาที่มีชื่อเสียงของไทยนับตั้งแต่อดีต มีการจัดตั้งบ่อนกัดปลาเพื่อใช้เป็นเครื่องมือเก็บภาษี นอกจากนี้ยังพบหลักฐานที่บันทึกถึงการนำปลากัดไทยไปเลี้ยงในยุโรปเมื่อปี พ.ศ.2414 เพาะพันธุ์สำเร็จที่ประเทศฝรั่งเศส เมื่อปี พ.ศ.2436 มีการนำไปในเยอรมันเป็นครั้งแรก ในปี พ.ศ.2439 และเข้าสู่สหรัฐอเมริกาในปี พ.ศ.2453

เหตุนี้ ปลากัดไทยจึงไม่ได้เป็นเพียงแค่ “ปลาสวยงาม” แต่ยังเป็น “ปลาเศรษฐกิจ” ให้กับประเทศอีกด้วย ปัจจุบันมีเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเลี้ยงปลากัดกับกรมประมง จำนวน 1,500 ราย และมีรายย่อยที่ชื่นชอบการเลี้ยงปลากัดไทยอีกมากกว่า 100,000 ราย เนื่องจากปลากัดไทยสามารถสร้างอาชีพที่มั่นคงให้กับชุมชนได้ รวมทั้งมีการเพาะเลี้ยงเพื่อการแข่งขันเป็นกีฬา หรือนิยมเลี้ยงเพื่อความเพลิดเพลิน

ปลากัดสีทอง
ปลากัดลายธงชาติ

สำหรับธุรกิจการเพาะพันธุ์ปลากัดนั้น นอกจากการจำหน่ายในประเทศแล้ว ในแง่ของการส่งออก ปลากัดถือเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่สำคัญ โดยตัวเลขการส่งออกปลากัดระหว่างปี พ.ศ.2556-2560 มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 20.85 ล้านตัวต่อปี มีมูลค่าการส่งออกเฉลี่ยที่ 115.45 ล้านบาทต่อปี มีตลาดส่งออกปลากัดไทย 5 อันดับแรก คือสหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส สิงคโปร์ จีน อิหร่าน และยังส่งไปขายในอีกกว่า 90 ประเทศทั่วโลก

Advertisement

เรื่องราวอันมากมายของปลากัด ความหลากหลายและการพัฒนาสายพันธุ์มาจนถึงทุกวันนี้ รวบรวมมาอยู่ที่งาน “The ICONIC Siamese Fighting Fish at ICONSIAM” เป็นการรวมสายพันธุ์ปลากัดที่พบในภาคต่างๆ ของประเทศไทย และปลากัดสวยงามที่แปลกและหาชมได้ยากจำนวนกว่า 500 ตัว ซึ่งล้วนแล้วเป็นสายพันธุ์ปลากัดที่มีการพัฒนาทางด้านพันธุกรรมมาจากปลากัดไทย Siamese Fighting Fish พร้อมกันนี้ได้จัดงานเสวนาให้ความรู้เกี่ยวกับปลากัดในเชิงการค้าและการต่อยอดธุรกิจ ระหว่างวันที่ 19-23 เมษายน 2562 ณ เจริญนครฮอลล์ ชั้น M ไอคอนสยาม ถนนเจริญนคร

สุพจน์ ชัยวัฒน์ศิริกุล

สุพจน์ ชัยวัฒน์ศิริกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไอคอนสยาม จำกัด กล่าวว่า “ไอคอนสยามมีปณิธานที่จะเชิดชูเรื่องราวอันมีคุณค่า และเป็นความภาคภูมิใจจากทุกมิติของความเป็นเอกลักษณ์ของไทยที่มีการบันทึกในประวัติศาสตร์ของชาติไทยมามากกว่า 100 ปี โดยนำเสนอเรื่องราวความเป็นไทยที่มีคุณค่าให้แก่ประเทศ และช่วยกันเผยแพร่และสืบทอดเรื่องราวดีๆ ให้คนไทยและทั่วโลก จึงได้จัดงาน ‘The ICONIC Siamese Fighting Fish at ICONSIAM’ ขึ้น เพื่อร่วมเชิดชูปลากัดไทยเป็นสัตว์น้ำที่เป็นสัญลักษณ์ (ICONIC) ประจำชาติ

ทั้งนี้ ได้นำเสนอในรูปแบบของนิทรรศการให้ความรู้ ได้แก่ การผลักดันให้ปลากัดไทยเป็นสัตว์น้ำประจำชาติ, ถิ่นที่อยู่ของปลากัด, ความรู้เกี่ยวกับปลากัดและปลากัดสายพันธุ์ต่างๆ และการต่อยอดภาพลักษณ์ของปลากัดในเชิงการค้า ในเชิงธุรกิจ เพื่อเป็นการส่งเสริม อนุรักษ์ และเผยแพร่ความรู้ทางวิชาการเกี่ยวกับปลากัดนานาพันธุ์ ให้ประชาชนที่สนใจและกลุ่มคนรักปลากัด ตลอดจนผู้ประกอบการและเกษตรกรผู้เพาะพันธุ์ปลาได้มาเรียนรู้พร้อมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกัน”

กิจกรรมเวิร์กช็อปจัดตู้ไม้น้ำสำหรับเลี้ยงปลากัด

ทางด้าน ดร.อดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ปลากัดเป็นปลาน้ำจืดประจำถิ่นของประเทศไทยมาแต่โบราณ โดยทางประวัติศาสตร์นั้นมีทั้งหลักฐานและเอกสารที่พบว่าคนไทยเลี้ยงปลากัดมาเนิ่นนาน หลักฐานทางประวัติศาสตร์พบว่ามีการบันทึกไว้ตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรี รัชกาลที่ 1 มีการบันทึกเรื่องราวของปลากัดในกฎหมายตราสามดวง รัชกาลที่ 2 มีบันทึกไว้ในบทละครเรื่องอิเหนา รัชกาลที่ 3 ได้มอบปลากัดให้เป็นของขวัญเป็นตัวแทนระลึกจากไทย

ซึ่งต่อมามีการจำแนกชื่อวิทยาศาสตร์ในปี พ.ศ.2453 ว่า Betta splendens ซึ่งตรงกับรัชกาลที่ 5 จากหลักฐานที่มีการบันทึกไว้ว่า ตัวอย่างปลากัดที่นำมาจำแนกตามหลักอนุกรมวิธานเป็นตัวอย่างที่เก็บมาจากลุ่มน้ำสาขาของแม่น้ำเจ้าพระยา กรุงเทพฯ จึงเป็นการแสดงถึงความเป็นเจ้าของและถือว่าเป็นสัตว์ประจำถิ่นของประเทศไทยนั่นเอง

“เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2562 คณะรัฐมนตรี พิจารณาเห็นชอบให้ปลากัดไทยเป็นสัตว์น้ำประจำชาติ โดยพิจารณาองค์ประกอบสำคัญ 3 มิติ ทั้งด้านวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ เนื่องจากคนไทยรู้จัก คุ้นเคย และมีความผูกพันกับปลากัดมาตั้งแต่โบราณ ด้านความเป็นเจ้าของ และความมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว โดยปลากัดไทยที่เสนอให้เป็นสัตว์น้ำประจำชาติ มีชื่อว่า Betta splendens ชื่อสามัญ ‘Siamese Fighting Fish’ ที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทย เป็นสายพันธุ์ที่มีเอกลักษณ์โดดเด่น และได้รับการยอมรับในระดับสากลมากกว่า 100 ประเทศ และด้านประโยชน์ใช้สอย โดยเฉพาะด้านการส่งเสริมการเพาะเลี้ยง และการสร้างนวัตกรรมด้านการเพาะพันธุ์ ซึ่งนําไปสู่การค้าเชิงพาณิชย์และก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ

ภายในงานพบกับไฮไลต์เป็นประติมากรรมน้ำแข็งแกะสลักรูปปลากัด โดยทีมช่างแกะสลักน้ำแข็งคนไทยที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ ในงาน “International Snow Sculpture ครั้งที่ 46 ปี 2562” ณ เมืองซัปโปโร ประเทศญี่ปุ่น การจัดแสดงพันธุ์ปลากัดไทยที่เป็นต้นกำเนิดของปลากัดทุกสายพันธุ์ ด้วยความสามารถของเกษตรกรไทยในการพัฒนาสายพันธุ์ปลากัดสวยงามที่แปลกและหาชมได้ยาก จำนวนกว่า 500 ตัว อาทิ ปลากัดสีทอง ปลากัดลายธงชาติ, ปลากัดแบล็คไลท์, ปลากัดกาแล็กซีสตาร์, ปลากัดมังกร, ปลากัดอสูร ฯลฯ

การแสดงสายพันธุ์ปลากัดที่พบในภาคต่างๆ ของประเทศไทย ได้แก่ ปลากัดภาคกลาง, ปลากัดภาคอีสาน, ปลากัดภาคใต้, ปลากัดมหาชัย ซึ่งพบได้ในประเทศไทยที่เดียว และปลากัดภาคตะวันออก

ตู้จัดแสดงและความรู้เกี่ยวกับการเลี้ยงปลากัดสายพันธุ์ต่างๆ ภายในงาน

นอกจากนั้นยังมีการจัดแสดงประวัติความเป็นมาของ “ปลากัดไทย” กับการประกาศให้เป็นสัตว์น้ำประจำชาติ และผลิตภัณฑ์ที่นำเอาปลากัดมาสร้างสรรค์และการต่อยอดทางธุรกิจ อาทิ โทรศัพท์มือถือ iPhone 6S ที่นำปลากัดไทยโกอินเตอร์ออกสู่สายตาชาวโลก, Srichand x ASAVA เครื่องสำอางที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากสีสันของปลากัด, Betta Paradiso หนังสือภาพถ่ายปลากัดของ วิศรุต อังคทะวานิช, ผลงานมาสเตอร์พีซปลากัดที่รังสรรค์จากไม้ไผ่โดย กรกต อารมย์ดี นักออกแบบผู้สร้างงานจากเทคนิคการทำว่าว, ชุดราตรีผลงานของไทยดีไซเนอร์ อธิษฐ์ ฐิรกิตติวัฒน์ หรือโจ้ Surface ที่ออกแบบให้กับผู้เข้าประกวด Miss International Queen 2019 และ Papercraft ศิลปะจากงานตัดกระดาษโดย Pitoon Paper Artist

สำหรับมุมความรู้ พลาดไม่ได้กับงานเสวนาและกิจกรรมเวิร์กช็อปให้ความรู้เกี่ยวกับปลากัด อาทิ งานเสวนาหัวข้อ “จากปลากัดพื้นบ้าน สู่การเพาะพัฒนาสายพันธุ์ใหม่”, งานเสวนาเรื่อง “การต่อยอดปลากัดไทยในเชิงธุรกิจ”, งานเสวนา “ปลากัดสมบัติชาติและความผูกพันกับวิถีชีวิตคนไทย”, เวิร์กช็อปจัดตู้ไม้น้ำสำหรับเลี้ยงปลากัด และเวิร์กช็อปเทคนิคการถ่ายภาพปลากัด เป็นต้น

เปิดให้ผู้ที่สนใจร่วมกิจกรรมฟรี ระหว่างวันที่ 19-23 เมษายน 2562 ณ บริเวณเจริญนครฮอลล์ ชั้น M ไอคอนสยาม ถนนเจริญนคร สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร 0-2495-7080 หรือ www.iconsiam.com

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image