ภูมิศาสตร์ อยุธยาเสียเปรียบ มีส่วนทำให้เสียเมือง?!?

สงครามเสียกรุงครั้งที่ 2 เป็นบาดแผลทางประวัติศาสตร์ในการรับรู้ของชนชาติไทย การรับรู้ทางประวัติศาสตร์ในส่วนนี้ เดิมทีถูกมองไปที่ตัวบุคคลหรือตัวผู้นำ ว่าไร้ซึ่งความสามารถ ไม่อาจกรีธาทัพสู้รบปรบมือกับศัตรูได้ ทำให้มหาราชธานีอันรุ่งเรืองต้องถึงแก่กาลล่มสลาย…

ต่อมาประเด็นดังกล่าวได้ถูกนำมาตีความใหม่ โดยมุ่งความสนใจไปที่ระบบการปกครอง การควบคุมไพร่พล ยุทธศาสตร์สงครามของกองทัพกรุงศรีอยุธยา ปัจจัยขับเน้นทางใดที่ทำให้เสียทีแก่พม่าได้ ซึ่งไม่ใช่การศึกษาทางเดียวที่มุ่งแต่เพียงฝ่ายของตนเท่านั้น แต่จำเป็นต้องรู้ถึงสาเหตุข้อได้เปรียบของฝ่ายตรงข้ามเพื่อความเข้าใจที่สมบูรณ์ตามรูปการณ์ที่เกิดขึ้นดังที่ปรากฏมาแล้วนั้น

ผศ.ดร.ดุลยภาค ปรีชารัชช อาจารย์สาขาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศึกษาประวัติศาสตร์การล่มสลายของกรุงศรีอยุธยา โดยมุ่งประเด็นไปที่ปัจจัยทางภูมิศาสตร์ อิทธิพลทางภูมิศาสตร์ซึ่งทรงพลังขับเคลื่อนสงคราม ชุดความคิดนี้ได้ถูกนำมาพัฒนาต่อยอดและเสนอผ่านงานวิชาการในชื่อ “พลังภูมิศาสตร์คองบองกับการล่มสลายของอยุธยา” โดยผลงานดังกล่าวจะเผยแพร่ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนเมษายน 2562 นี้

พระราชานุสาวรีย์พระเจ้าอลองพญา ประเทศพม่า (ภาพจาก https://en.wikipedia.org/wiki/Alaungpaya)

ราชวงศ์คองบองซึ่งมีพระเจ้าอลองพญาเป็นปฐมกษัตริย์ประพฤติเป็นปรปักษ์แก่กรุงศรีอยุธยาซึ่งปกครองโดยราชวงศ์บ้านพลูหลวง สองอาณาจักรมุ่งแสวงหาความเป็นใหญ่ เพื่ออำนาจแห่งความเป็นเจ้าจักรพรรดิ ซึ่งเป็นช่องทางสู่ผลประโยชน์มหาศาล ทั้งเศรษฐกิจการค้า สิทธิในการปกครองเมืองท่าสำคัญ อาณาเขตและไพร่พล นำมาซึ่งความรุ่งโรจน์แก่รัฐ ความต้องการที่จะช่วงชิงอำนาจให้ยังแก่รัฐของตนนี้เป็นเครื่องกีดกันความสัมพันธ์อันดีแก่รัฐทั้งสอง เป็นเหตุให้ต้องรบพุ่งกันเรื่อยมา

Advertisement

ในภาคของการศึกษาประวัติศาสตร์สงครามไทย-พม่า การให้ความสำคัญในประเด็นของภูมิศาสตร์ ที่แล้วมานั้นไม่ถูกยกมากล่าวถึงสักเท่าไรนัก ทั้งที่ปัจจัยภูมิศาสตร์มีผลโดยตรงต่อการก่อตัวและล่มสลายของรัฐ ในส่วนของเศรษฐกิจการค้าล้วนได้รับอิทธิพลจากปัจจัยภูมิศาสตร์ทั้งสิ้น

อาณาจักรอยุธยามีศูนย์กลางซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง มีสภาพทางภูมิศาสตร์ที่ค่อนข้างอุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งเกษตรกรรมที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เหมาะแก่การค้าขายเพราะตั้งอยู่ใกล้ทางออกทะเล ความมั่งคั่งของอาณาจักรอยุธยาล้วนเป็นผลมาจากการมีสภาพภูมิศาสตร์ที่เอื้ออำนวย

ภาพภูมิทัศน์กรุงอังวะพร้อมราชธานีแห่งอื่นๆและเขตกสิกรรมอันอุดมสมบูรณ์สมัยคองบอง (ค.ศ.1824-26)(ภาพจาก The British Library)

แม้อยุธยาจะมีสภาพภูมิศาสตร์ที่อุดมสมบูรณ์เป็นแหล่งเกษตรกรรมมีฐานกำลังผลิตเสบียงในการทำศึกสงคราม แต่ขาดการขยายฐานอำนาจการผลิตไปยังรัฐบริวาร ทำให้การสงครามเสียเปรียบพม่าอยู่ในที ถึงแม้ว่าอยุธยาจะพยายามรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง แต่ก็ไม่สามารถที่จะควบคุมอำนาจเหนือหัวเมืองได้โดยสมบูรณ์ ซ้ำร้ายหัวเมืองบริวารเหล่านั้นยังเป็นกำลังหนุนให้พม่าในการทำสงครามกับกรุงศรีอยุธยาอีกด้วย

Advertisement

ข้อเสียเปรียบอีกทางหนึ่งของอยุธยาคือมีจำนวนรัฐบริวารน้อยกว่าพม่า ทั้งอยุธยายังขาดการบริหารจัดการควบคุมพื้นที่เกษตรกรรมเมืองใต้อาณัติของตน เมืองหลวงไม่ได้ผนวกระบบการบริหารการจัดการน้ำให้เอื้อประโยชน์กับส่วนกลาง เนื่องด้วยไม่ได้ให้ความสำคัญในการวางฐานอำนาจให้แก่รัฐบริวารให้มีความเข้มแข็งเพื่อมาเป็นกองกำลังสำคัญในยามสงคราม

ทำให้ภูมิศาสตร์ของอาณาจักรอยุธยามีลักษณะ “กระจุกตัว” อยู่ในบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง หรือกล่าวให้เฉพาะเจาะจงลงไปคืออยู่ที่ตัวพระนครเป็นหลัก ชนชั้นปกครองให้ความสำคัญทางยุทธศาสตร์ในการทำสงครามแต่ที่ตัวเมืองหลวงเท่านั้น ไม่ได้หมายจะใช้หัวเมืองหรือรัฐบริวารเป็นฐานในการตั้งรับข้าศึก

(ขวา) เครือข่ายชลประทานแม่น้ำมูในเขตชเวโบ ซึ่งเชื่อมต่อกับทะเลสาบโบราณ มีคลองย่อยจำนวนมาก (ภาพจากหนังสือ Irrigation in the Hearland of Burma:Foundations of the Pre-Colonial Burmese State, 1990)

สภาพพลังภูมิศาสตร์ของอาณาจักรอยุธยานั้นต่างกับพลังทางภูมิศาสตร์ของราชวงศ์คองบองชัดเจน รัฐจารีตของพม่าในสมัยราชวงศ์คองบองมีความได้เปรียบเนื่องจากอำนาจในการควบคุมดินแดนและหัวเมืองได้อย่างไพศาล ไมเคิล อ่อง-ทวิน และ ไมตรี อ่อง-ทวิน นักประวัติศาสตร์ชาวพม่า วิเคราะห์ว่าเมื่อใดที่กษัตริย์พม่าสามารถขยายอำนาจควบคุมดินแดนในเขต “ร้อนแล้ง” หรือพม่าตอนบน และในเขต “ปากน้ำ” หรือดินแดนพม่าตอนล่างได้สำเร็จ กษัตริย์พม่ามักจะขยายพระราชอำนาจออกสู่รัฐข้างเคียง

พม่านั้นอุดมสมบูรณ์ด้วยพืชพรรณธัญญาหาร ในพงศาวดารพม่าของกรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ก็ยังได้กล่าวถึงคุณวิเศษข้อนี้ว่า เป็นเมืองอู่ข้าวอู่น้ำ ดินดีน้ำดี ในดินมีแร่ธาตุสมบูรณ์ดีปลูกอะไรก็งาม เป็นดินแดนที่มีความสมบูรณ์มาหลายชั่วอายุคนแล้ว ผู้ปกครองแว่นแคว้นดูแลเอาใจใส่การชลประทานดี ข้อมูลส่วนนี้ก็ได้เป็นประจักษ์พยานชัดเจนแล้วว่าพม่านั้นมีสมรรถภาพความพร้อมในการบำรุงเลี้ยงผู้คนมากเพียงไร

ทำเลที่ตั้งของพม่านั้นอยู่บนยุทธภูมิอันเก่าแก่ซึ่งเคยเป็นแหล่งเกษตรกรรมของอาณาจักรพุกามมาก่อน แม้อาณาจักรโบราณได้ล่มสลายลงแล้วแต่ความสมบูรณ์ในดินแดนแถบนี้ก็ไม่ได้ย่อหย่อนลง ทั้งชนชั้นปกครองของพม่าเองก็ได้บริหารจัดการการกสิกรรมให้เป็นระบบระเบียบมากขึ้น หัวใจสำคัญของเกษตรกรรมคือน้ำ การบริหารจัดการทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดถือเป็นผลสำเร็จ

แม้ในเขตร้อนก็ยังมีน้ำตลอดทั้งปี ถึงแม้จะเป็นเพียงลำน้ำสาขาสายเล็กให้น้ำได้ไม่มากแต่น้ำไม่เคยแห้ง สามารถทำนาได้ถึงปีละ 2-3 ครั้ง ส่วนของเขตปากน้ำ ถึงแม้การเกษตรไม่เฟื่องฟูแต่ก็เป็นเขตเมืองท่าสำคัญ เป็นศูนย์การค้ากับนานาอารยประเทศ ทั้งเป็นแหล่งทำประมง จึงช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้แก่รัฐอีกทางหนึ่ง

แผนที่แสดงหน่วยภูมิศาสตร์เปรียบเทียบระหว่างรัฐพม่ากับรัฐอยุธยา (ภาพดัดแปลงจากแผนที่ในหนังสือ A History of Myanmar Since Ancient Times: Traditions and Transformations, 2012)

จะเห็นได้ว่าพม่านั้นได้เปรียบเพราะความเข้มแข็งของระบบชลประทาน ทั้งแม่น้ำอิรวดีมีขนาดใหญ่กว่าแม่น้ำเจ้าพระยาหลายเท่า ทำให้มีลำน้ำสาขาแตกแยกสายออกมามากมายกินพื้นที่ในวงกว้าง มีหัวเมืองรายล้อมลำน้ำเหล่านั้นเป็นจำนวนมาก เมืองเล็กเมืองน้อยเหล่านี้ต่างเอื้อประโยชน์ให้แก่รัฐทั้งสิ้น ทั้งกำลังไพร่พลและกำลังเสบียงอาหาร พรั่งพร้อมบริบูรณ์ทั้งในส่วนของการคมนาคมทางน้ำ การค้า การเกษตรกรรม ตลอดจนการเมืองการปกครอง

ด้วยพื้นที่เกษตรกรรมที่มีมากกว่าและความเข้มแข็งของกองทัพ ซึ่งสามารถบริหารจัดการระบบชลประทานของรัฐบริวารให้เอื้อประโยชน์แก่ส่วนกลาง ทั้งยังสามารถควบคุมเบ็ดเสร็จได้ทั้งในเขตเมืองท่าการค้า ทำให้กองทัพพม่ามีความพร้อมมากพอที่จะยกมาตีกรุงศรีอยุธยาได้ง่ายดาย ขณะที่ทางฝ่ายอยุธยาเองมีความเสียเปรียบด้วยเหตุปัจจัยข้างต้นที่ได้กล่าวมาแล้ว จึงมักเป็นฝ่ายต้องตั้งรับอยู่เสมอ ประกอบกับการเมืองภายในของอยุธยาเองมีการแย่งชิงราชบัลลังก์บ่อยครั้ง ทำให้ขาดความมั่นคงในการปกครอง ไม่สามารถควบคุมเมืองบริวารให้ตั้งอยู่ในความสวามิภักดิ์ได้ตลอด เสียเสถียรภาพ เป็นเหตุให้ต้องยอมรับในแสนยานุภาพที่เหนือชั้นกว่าของกองทัพพม่า ทำให้อยุธยาต้องล่มสลายไปในที่สุด

ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเมษายน 2562

สาเหตุในการล่มสลายของอาณาจักรอยุธยานั้น เกิดขึ้นเพียงเพราะฝ่ายอยุธยามีกำลังเสบียงที่น้อยกว่าเท่านั้นหรือ จึงเป็นเหตุให้เพลี่ยงพล้ำแก่ศัตรูถึงขั้นเสียเมือง บรรพบุรุษของเราไร้ความสามารถที่จะควบคุมจัดสรรทรัพยากรอย่างนั้นหรือ ฝ่ายข้าศึกมีวิธีบริหารจัดการอย่างไรจึงพรั่งพร้อมโภชนา สามารถบำรุงทัพใหญ่มารุกรานเราได้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า

อยุธยาราชธานีอันเป็นอู่ข้าวอู่น้ำมีจุดบอดทางยุทธศาสตร์อย่างไร ในแง่ของภูมิศาสตร์แล้วเราเสียเปรียบถึงขั้นต้องเสียเอกราชเลยเทียวหรือ ไขข้อกังขาสารพันเหล่านี้ได้ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนเมษายน 2562

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image