แวะ วัง ‘แฮมป์ตัน’ สถาปัตย์ ‘ทิวดอร์-บาโรก’ สัมผัสชีวิต…ยุค ‘เฮนรี่ที่ 8’

คอร์ดน้ำพุที่ใส่ไวน์เอาไว้เลี้ยงแขก

บินจากไทยไปอังกฤษด้วยสายการบินไทย พนักงานต้อนรับบนเครื่องอัธยาศัย คอยให้ความช่วยเหลือตลอดเวลาการเดินทาง

การเดินทางไปครั้งนี้มีเป้าหมายที่สนามกีฬา คิงเพาเวอร์ สเตเดียม เมืองเลสเตอร์ ซิตี้ ประเทศอังกฤษ

ทางหนึ่งคือไปชมการแข่งขันฟุตบอล อีกทางหนึ่งคือไปดูการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่ คิงเพาเวอร์ นำเอาภูมิปัญญาการทอและการย้อมผ้าทางภาคเหนือของไทยไปผสมกับการดีไซน์และผลิตออกมาเป็นเสื้อ หมวก และกระเป๋าของทีมฟุตบอลเลสเตอร์ ซิตี้

การเดินทางไปครั้งนี้มีความสำราญ เพราะทีมเลสเตอร์ ซิตี้ มีชัย

Advertisement

ก่อนคณะเดินทางกลับ มีโอกาสแวะเวียนไปเยี่ยมชมความเป็นอยู่ของชาวอังกฤษทั้งในปัจจุบัน

แล้วยังมีโอกาสไปสัมผัสชีวิตของชาวอังกฤษในอดีต

ย้อนยุคกลับไปยังสมัยของพระเจ้าเฮนรี่ที่ 8

Advertisement
สภาพภายนอก พระราชวังแฮมป์ตัน

สัมผัสชีวิตพวกเขาผ่านพระราชวัง
อาคารสูงตระหง่านสีอิฐที่มองเห็นอยู่เบื้องหน้าคือพระราชวังแฮมป์ตัน คอร์ต (Hampton Court Palace) ของพระเจ้าเฮนรี่ที่ 8

เป็นพระราชวังหลวงที่ตั้งอยู่ในกรุงลอนดอน และตั้งอยู่ที่นี่มาตั้งแต่ศตวรรษที่ 16

ฟังประวัติความเป็นมาของพระราชวังแห่งนี้ทราบว่า เดิมไม่ใช่ของพระเจ้าเฮนรี่ที่ 8 หากแต่เป็นของ พระคาร์ดินัลทอมัส โวลซีย์

สมัยนั้นพระคาร์ดินัลมีความสำคัญ บรรดาข้าราชการ พ่อค้า ประชาชนต่างศรัทธา โดยมีผู้สร้างอาคารใหญ่โตมโหฬารนี้ให้แก่พระคาร์ดินัลทอมัส โวลซีย์

พระคาร์ดินัลทอมัส เป็นคนโปรดของพระเจ้าเฮนรี่ที่ 8 เมื่อ ค.ศ.1514 แต่ต่อมาได้รับมอบหมายให้เดินทางไปขออนุญาตจากวาติกันให้ยกเว้นข้อห้ามเรื่องการอภิเษกสมรสแก่พระเจ้าเฮนรี่ แต่ไม่ประสบความสำเร็จ จึงได้มอบคฤหาสน์นี้แก่พระเจ้าเฮนรี่ที่ 8 หวังจะเอาใจจะได้พ้นความผิด

แต่สุดท้ายพระคาร์ดินัลทอมัสก็ยังไม่สามารถพ้นการลงโทษไปได้

ส่วนคฤหาสน์ที่ถวายพระเจ้าเฮนรี่ที่ 8 ได้กลายเป็นพระราชวังแฮมป์ตัน คอร์ต และได้รับการบูรณะอีกครั้งในสมัยพระเจ้าวิลเลียมที่ 3 ซึ่งต้องการจะทำให้พระราชวังแฮมป์ตัน คอร์ต มีความงดงามทัดเทียมกับพระราชวังแวร์ซายของฝรั่งเศส

กระทั่งพ้นสมัยพระเจ้าวิลเลียมที่ 3 พระราชวังแห่งนี้ก็ไม่มีการก่อสร้างหรือต่อเติมใดๆ

และเป็นสาเหตุให้พระราชวังแห่งนี้มีสถาปัตยกรรมแบบ ทิวดอร์ สมัยพระเจ้าเฮนรี่ที่ 8 และสถาปัตยกรรมบาโรก สมัยพระเจ้าวิลเลียมที่ 3

 

ความสนุกระหว่างเยือนพระราชวังแฮมป์ตัน คอร์ต คือการได้สัมผัสชีวิตของชาววังในสมัยโบราณ จากด้านหน้าที่เป็นลานกว้างห้อมล้อมด้วยอาคาร 4 ด้าน เรียกว่าเป็นคอร์ต

คอร์ตนาฬิกา

คอร์ตแรกเป็นลานกว้าง ด้านบนมีนาฬิกาขนาดใหญ่ เรียกว่า “คอร์ตนาฬิกา”

นาฬิกาโบราณ บอกวัน เดือน ปี ราศี

ทะลุประตูเข้าไปก็พบกับลานกว้างอีกลานหนึ่ง ตรงกลางของลานมีน้ำพุที่ว่ากันว่าเมื่อพระเจ้าเฮนรี่เสด็จมาประทับบรรดาเหล่าทหารและแขกเหรื่อสามารถเดินไปเปิดก๊อกรินไวน์ใส่แก้วได้ตลอดเวลา

กลายเป็นน้ำพุไวน์ ซึ่งด้านข้างมีรูปปั้นอาการคนเมาทั้งยืนและนั่งอยู่

ณ บริเวณนั้นเรียกว่า “คอร์ตน้ำพุ”

ส่วนการเที่ยวชมพระราชวังในวันที่เดินทางไป เริ่มต้นจากที่บริเวณด้านข้างซึ่งเป็นครัวของพระราชวัง

ณ บริเวณนั้น ด้านล่างจะเปิดประตูให้พ่อค้านำเอาพืชผักเนื้อสัตว์และวัสดุสำหรับทำอาหารมาส่ง โดยมีหัวหน้าพ่อครัวนั่งอยู่ในอาคารคอยตรวจเช็กรายการวัตถุดิบทำอาหารว่าครบหรือไม่ครบ

จากพื้นที่รับวัตถุดิบขยับมาสู่พื้นที่เก็บรักษาวัตถุดิบเอาไว้ ซึ่งมีลักษณะพิเศษคือร่มเย็น เข้าใจว่าเอาไว้ถนอมอาหาร

ถัดมาเป็นครัวที่มีพื้นที่มาก เสียดายที่ตอนไปเยือนยังไม่ถึงเวลาสาธิตการย่างเนื้อแบบโบราณ แต่เท่าที่เห็นภาพและวัตถุดิบที่จำลองมาก็พอจะเข้าใจชีวิตคนในครัวสมัยนั้น

ปล่องไฟสถาปัตยกรรมแบบทิวดอร์

เมื่ออยู่นอกอาคาร เงยหน้าขึ้นไปบนหลังคาอาคารจะพบกับปล่องไฟมีลวดลาย ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมแบบ “ทิวดอร์”

ขณะที่ภายในห้องครัวมีทั้งที่ปิ้งย่าง มีทั้งที่ปรุงซุป และอื่นๆ

สภาพภายในครัวพระราชวัง

เมื่ออาหารผ่านการปรุงเสร็จแล้ว พ่อครัวจะนำเอาอาหารมาวางไว้อีกห้องหนึ่งซึ่งจะมีบริกรมาคอยรับเอาอาหารเหล่านั้นไปเสิร์ฟ

ห้องเลี้ยงรับรองชั้น 2

ห้องที่วางอาหารจะอยู่ไม่ไกลกับทางขึ้นไปบริเวณชั้น 2 ซึ่งเป็นห้องจัดเลี้ยง ทำให้อาหารที่ปรุงเสร็จใหม่ๆ ยังคงร้อนกรุ่น ไม่เย็นชืดไม่น่ารับประทาน

ภายในห้องจัดเลี้ยงสังเกตเห็นด้านข้างที่ประดับไปด้วยพรมผืนใหญ่ ถัดทอเรื่องราวทางศาสนาคริสต์

สอบถามได้ความว่า การใช้พรมผืนใหญ่ประดับผนังเช่นนี้เพื่อให้ง่ายต่อการเคลื่อนย้าย เพราะในสมัยโบราณกษัตริย์จะไม่ประทับอยู่ที่ใดที่หนึ่งเป็นเวลานาน

พรมที่ใช้ตกแต่งฝาผนังภายในวัง

พระเจ้าเฮนรี่ที่ 8 เองก็มีพระราชวัง และที่พักนับสิบที่ เพื่อหมุนเวียนกันไปประทับ การเคลื่อนขบวนไปแต่ละครั้งจะขนส่งพรมใหญ่ยักษ์นี้ไปด้วย เพื่อความสะดวก ส่วนพระราชวังที่เพิ่งประทับจะเริ่มทำความสะอาด ถือเป็นวิธีการทางสาธารณสุขอย่างหนึ่งที่น่าสนใจ

ว่ากันด้วยเรื่องสาธารณสุข ที่พระราชวังแฮมป์ตัน คอร์ต แห่งนี้มีห้องส้วมสำหรับแขกที่ได้รับเชิญ โดยของเสียจะถูกลำเลียงผ่านทางท่อไปออกแม่น้ำเทมส์

ย้อนกลับมายังพระราชวังแฮมป์ตัน คอร์ต เมื่อผ่านห้องจัดเลี้ยงไปแล้ว ได้พบกับห้องที่ตระเตรียมไว้สำหรับเข้าเฝ้าพระเจ้าเฮนรี่

ห้องที่พระเจ้าเฮนรี่รับแขกที่มาเข้าเฝ้า

ห้องที่เข้าเฝ้ามีหลายชั้น ชั้นในสุดตระเตรียมไว้ให้ผู้ที่มีความสำคัญที่สุดเข้าเฝ้า ส่วนห้องที่อยู่ด้านนอกก็จัดไว้สำหรับคนที่มีความสำคัญรองๆ ลงไป

ที่ชื่นชอบอีกอย่างคือ พระราชวังแห่งนี้มี “ห้องบรรทมหลอก” กับ “ห้องบรรทมจริง” ด้วย

ห้องบรรทมหลอกนั้นเปิดรับบุคคลสำคัญมากๆ เข้ามา ส่วนห้องบรรทมจริงนั้น พระเจ้าเฮนรี่เอาไว้หลับพักผ่อน

ระหว่างเดินชมพระราชวังมองเห็นสิ่งของที่นำออกแสดงรู้สึกว่า “ของเก่า” เหล่านั้นเหมือนเป็น “ของใหม่” แสดงว่าการดูแลรักษาทำได้ดี

ห้องเสวย

ตามประวัติแล้วเมื่อพระเจ้าเฮนรี่สวรรคต แผ่นดินอังกฤษผลัดเปลี่ยนกษัตริย์ไปอีกหลายพระองค์ กระทั่งมาถึงสมัยของพระเจ้าวิลเลียมที่ 3 และสมเด็จพระราชินีนาถแมรีที่ 2

ทั้งสองครองคู่กัน และทรงครองบัลลังก์ร่วมกัน กระทั่งนักประวัติศาสตร์เรียกยุคดังกล่าวว่า “สมัยวิลเลียมและแมรี”

พระเจ้าวิลเลียม เป็นขุนนางชั้นสูงชาวดัตช์ มีนามเรียกขานว่าพระเจ้าวิลเลียม แห่งออเรนจ์

ภายในพระราชวังแฮมป์ตัน คอร์ต แห่งนี้ก็มีห้องที่ปลูกต้นส้ม ซึ่งเป็นต้นไม้ที่พระองค์ทรงโปรดปราน

เป็นต้นไม้ที่ทำให้คิดถึงเมืองดัตช์ถิ่นกำเนิด

ต้นส้ม

น่าเสียดายที่การเดินเที่ยวชมจำกัดด้วยเวลา ทำให้ไม่สามารถอ้อมไปดูสวนที่จัดแต่งอย่างสวยงาม มองแล้วทำให้ระลึกถึงแวร์ซาย

พระราชวังแฮมป์ตัน คอร์ต ได้คงสภาพแห่งสถาปัตยกรรมแบบ “ทิวดอร์” และ “บาโรก” เช่นนี้ไปจนกระทั่งถึงปี ค.ศ.1838 สมเด็จพระราชินีวิกตอเรีย ทรงอนุญาตให้เปิดพระราชวังแฮมป์ตัน คอร์ต ให้ประชาชนเข้าชม

ภายในพระราชวัง

ระยะเวลาหมุนเวียนผ่าน จากวันนั้นถึงวันนี้

วันที่พวกเราเดินทางไกลจากโพ้นทะเล มีโอกาสได้เข้าชม และสัมผัสชีวิตชาวอังกฤษในยุคของพระเจ้าเฮนรี่ที่ 8 ผ่านพระราชวังที่ชื่อ “แฮมป์ตัน คอร์ต” แห่งนี้ 

สถานที่นี้จะมีสาธิตย่างเนื้อให้ดูทุกวัน

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image