อนุสาวรีย์ ‘บรรหาร ศิลปอาชา’ ชีวิตและผลงาน ตระหง่าน ในความทรงจำ ‘คนสุพรรณฯ’

4 นาฬิกา 42 นาที ของเช้าวันที่ 23 เมษายน 2559

คือห้วงเวลาที่ครอบครัว “ศิลปอาชา” ไม่มีวันลืมเลือนจากความทรงจำ

เช่นเดียวกับคนไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวจังหวัดสุพรรณบุรี เนื่องด้วยการสูญเสีย บรรหาร ศิลปอาชา ผู้สร้างตำนานอันลือลั่น ไม่เพียงด้วยการพลิกโฉมเมืองสุพรรณให้เปลี่ยนไปตลอดกาล หากแต่เป็นแบบอย่างของการต่อสู้ชีวิตที่เริ่มต้นจากศูนย์ กระทั่งได้นั่งเก้าอี้บริหารประเทศในฐานะนายกรัฐมนตรีคนที่ 21 ของไทย

ปัจจุบัน นับเป็นเวลา 3 ปีของการถึงแก่อนิจกรรม ท่ามกลางการระลึกถึงในคุณงามความดีซึ่งบุคคลท่านนี้สร้างไว้อย่างมากมายมหาศาล แต่ละวันที่ผ่านพ้นไป อนุสาวรีย์บรรหาร ศิลปาอาชา ได้ถูกสร้างขึ้นจากดินก้อนแรก สู่โรงหล่อจนเสร็จสมบูรณ์ตามความตั้งใจของ “คนสุพรรณฯ” ที่ร่วมใจกันเนรมิตภาพแทนแห่งความทรงจำอันภาคภูมิ ตั้งตระหง่านอย่างสง่างามบริเวณอุทยานมังกรสวรรค์ ศาลหลักเมืองสุพรรณบุรี โดยจะมีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการในวันอังคารที่ 23 เมษายนนี้

Advertisement
ปรับแก้รูปแบบนาฬิกาให้เหมือนของ ฯพณฯ บรรหารใช้จริง โดยท็อป วราวุธ ลูกชายถ่ายภาพมาเปรียบเทียบอย่างละเอียด

อนุสาวรีย์ของ ‘คนสุพรรณฯ’ แนวปฏิบัติสู่คนรุ่นหลัง

“ระลึกถึงพ่อมาตลอด แต่ไม่มีความเศร้าหมอง จะนำการจากไปของพ่อเป็นสิ่งย้ำเตือนให้หมั่นทำความดี มีสติอยู่ตลอดเวลา สมัยที่พ่อยังอยู่ ทุกเย็นต้องเดินออกกำลังกาย ทุกวันนี้ยังนึกถึงภาพนั้น”

ที่บ้านย่านจรัญสนิทวงศ์ ซึ่งยังอบอวลด้วยความรัก ความอบอุ่น ดังเช่นที่เคยเป็นมา กัญจนา ศิลปอาชา หรือ “หนูนา” ของพ่อบรรหาร เปิดใจถึงความรู้สึกในวันนี้ ก่อนเล่าถึงแนวคิดในการสร้างอนุสาวรีย์ ซึ่งมาจากความตั้งใจของคนสุพรรณฯอย่างแท้จริง โดยรวบรวมเงินบริจาคได้ราว 10 ล้านบาท และทางครอบครัวได้ร่วมสมทบอีกเกือบเท่าตัว

“ความคิดในการสร้างอนุสาวรีย์ไม่ได้มาจากครอบครัว แต่มาจากความคิดของคนสุพรรณฯทั้งจังหวัด ด้วยความระลึกถึงสิ่งที่พ่อทำให้กับ จ.สุพรรณบุรี ซึ่งไม่ได้เป็นแค่ความสุขสบายที่ได้รับในรุ่นเขา แต่ยังส่งต่อไปถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน สิ่งที่พ่อพูดมาตลอดตั้งแต่สร้างโรงเรียนบรรหาร 1 เมื่อถูกถามว่าทำไปทำไม พ่อบอก ทำเพื่อลูกเพื่อหลาน ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ท่านทำตลอดชีวิต

Advertisement

ในฐานะความเป็นครอบครัว ส่วนหนึ่งก็อยากให้อนุสาวรีย์พ่อได้เป็นตัวอย่างของแนวความคิดและแนวปฏิบัติให้กับคนสุพรรณฯ โดยเฉพาะเด็กรุ่นใหม่ๆ ว่าพ่อมาจากศูนย์ คุณปู่คุณย่าไม่ได้มีฐานะอะไรเลย เป็นเด็กชาวบ้านในตลาดแท้ๆ แต่ด้วยความไม่ย่อท้อ ล้มแล้วลุก เจอปัญหาไม่เคยมองว่าเป็นอุปสรรค แต่มองว่าจะต้องแก้ไขให้ได้เพื่อก้าวล่วงไปสู่ขั้นต่อๆ ไป คนธรรมดาที่มาจากศูนย์ก็สามารถมีวันนี้ได้ เมื่อก้าวหน้าในอาชีพ มีความเจริญรุ่งเรือง ก็ไม่ลืมถิ่นฐานบ้านเกิด”

ตั้งตระหง่าน ณ ‘จุดเริ่มต้นและจุดสุดท้าย’

สำหรับเหตุผลที่เลือกพื้นที่บริเวณศาลหลักเมืองสุพรรณบุรีเป็นที่ตั้งอนุสาวรีย์นั้น วราวุธ ศิลปอาชา หรือ “ท็อป” ลูกชายเพียงคนเดียว เล่าว่า นี่คือสถานที่ซึ่งมีความหมายต่อจิตใจของผู้ชายชื่อบรรหารมากที่สุด ตั้งแต่ในวัยหนุ่ม กระทั่งวาระสุดท้ายของชีวิต

วราวุธ ศิลปอาชา ลูกชาย ดูแลทุกขั้นตอนใกล้ชิดกระทั่งเสร็จสมบูรณ์

“สถานที่แห่งนี้เป็นที่ที่พ่อผูกพันที่สุด เพราะท่านทุ่มเทเวลากับพิพิธภัณฑ์มังกร โดยเฉพาะสิ่งปลูกสร้างล่าสุด คือ อุทยานพุทธบัญชา หรือเจดีย์พระยูไล ซึ่งพอสร้างเสร็จก็เสียชีวิตเลย จึงเห็นตรงกันว่าควรสร้างตรงนี้ อีกทั้งติดริมถนนใหญ่คือ ถนนมาลัยแมน คนขับรถผ่านไปผ่านมาก็จะเห็นอนุสาวรีย์เด่นเป็นสง่าอยู่ตลอด

จะว่าไปแล้ว จุดนี้เป็นจุดเริ่มต้นและจุดสุดท้ายของนายบรรหาร เพราะก่อนที่พ่อจะเข้ากรุงเทพฯ ก็มาอธิษฐานที่ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองว่า ถ้าได้ดิบได้ดี จะกลับมาพัฒนาเมืองสุพรรณ จุดเริ่มต้นของตำนานนายบรรหารคือที่นี่ และจุดสุดท้ายของตำนานนายบรรหารที่จะอยู่ต่อไป ก็คือที่นี่เช่นกัน”

กางเกงขาเต่อ เหน็บปากกา ‘ความเป็นธรรมดา’ อันแสนพิเศษ

ถามว่าในฐานะคนในครอบครัว มีข้อแนะนำพิเศษกับช่างที่ดำเนินการก่อสร้างอนุสาวรีย์ว่าอย่างไรบ้าง

หนูนา บอกว่า แนวคิดเบื้องต้น ต้องการอนุสาวรีย์ที่เป็น “นายบรรหาร” มากที่สุด มีความเป็นธรรมดา แสดงตัวตนที่เป็นปกติ โดยเลือกใช้ชุดซาฟารีที่ใส่ประจำ มีปากกาเสียบที่กระเป๋าเสื้อ และกระดาษที่โผล่ขึ้นมาเล็กน้อย

ท็อป เล่าเสริมว่า ได้ช่วยกันดูแลในทุกรายละเอียด แม้กระทั่งรองเท้าและนาฬิกา ก็ต้องเหมือนของที่พ่อใช้จริง

“ผมไปดูตั้งแต่ยังเป็นแบบดินแถวลาดกระบัง กระทั่งไปถึงโรงหล่อที่สัตหีบ ขนาดรองเท้า ตอนปั้นดิน ก็ถ่ายรูปจากที่บ้านส่งให้ช่าง ขากางเกง ตอนแรกเขาทำมาเป็นขากางเกงปกติ ผมบอก ไม่ได้! เอกลักษณ์นายบรรหารต้องเต่อๆ เพราะฉะนั้นต้องตัดขึ้นมาให้มันลอย นาฬิกายังต้องไปดูเลยว่าสายเป็นแบบไหน หน้าปัดเป็นอย่างไร กระเป๋าเสื้อต้องมีปากกากับดินสอและกระดาษโผล่ขึ้นมาหน่อยหนึ่ง ส่วนท่วงท่า คิดกันอยู่นาน จะกอดอกก็ไม่ใช่ จะนั่งก็ไม่ใช่ ทำท่าชี้ก็ไม่ใช่ สุดท้ายเลือกท่ายืนที่ธรรมชาติที่สุดของนายบรรหาร คือยืนทื่อๆ แบบนี้ (หัวเราะ)”

งานปั้นฝีมือเดชา สายสมบูรณ์ ภายใต้แนวคิดความเป็นตัวตน ‘ความเป็นธรรมดา’ เอกลักษณ์ของบรรหาร ศิลปอาชา

อีกหนึ่งสิ่งสำคัญ คือ อนุสาวรีย์นี้ มีการนำโกศบรรจุอัฐิบรรจุไว้ในช่องบริเวณหน้าอกด้านซ้ายด้วย โดยทางครอบครัวมีมติเอกฉันท์ ให้คะแนนเต็ม 100 ในวินาทีแรกที่ได้เห็นเมื่อครั้งเสร็จสิ้นสมบูรณ์ ทั้งรูปร่าง ใบหน้า ท่วงท่าในการยืนและรายละเอียดต่างๆ ให้ความรู้สึก “เหมือนพ่อยังอยู่ตรงนี้”

สานต่อปณิธาน ขอบคุณคนสุพรรณฯไม่ลืมพ่อ

นอกเหนือจากการสร้างอนุสาวรีย์แล้ว สองพี่น้องตระกูลศิลปอาชาบอกตรงกันว่า จะสานต่องานที่พ่อทำไว้ ไม่ทอดทิ้งอย่างแน่นอน

“งานทุกอย่างที่พ่อทำไว้ เรา 2 คนพี่น้องจะไม่ทิ้ง คนของพ่อเราก็จะไม่ทิ้ง จะดูแลให้เต็มที่ และไม่ใช่แค่งานที่พ่อทำในสุพรรณฯ แม้แต่ด้านการเมือง เราก็พยายามสืบสานสิ่งที่พ่อทำไว้ให้ได้ดีที่สุด เท่าที่กำลังเรา 2 คนพี่น้องและมีแม่ช่วย เท่าที่จะทำได้ นี่เป็นปณิธานและจะทำอย่างนี้ต่อไป

ทุกครั้งที่ไปสุพรรณฯ สิ่งที่รู้สึกได้คือคนสุพรรณฯคิดถึงพ่อ เขาเดินมาบอกว่า อย่าทิ้งกันนะ แสดงถึงความผูกพัน ความรู้สึกที่ตราตรึงในใจ เพราะพ่อถวายทั้งชีวิตและจิตใจให้สุพรรณฯจนกระทั่งลมหายใจสุดท้าย ตำนาน 40 กว่าปีของคนชื่อบรรหาร มันยิ่งใหญ่มาก ยิ่งกว่าซุปเปอร์แมน อีก 100 ปีก็หาคนอย่างนี้ไม่ได้ ไม่ได้อยากจะชมพ่อ

ตัวเอง แต่พอลงมาทำงานเองจริงๆ ถึงรู้ว่าต้องอาศัยศักยภาพมหาศาล ตอนลงพื้นที่ในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา ไม่ใช่แค่ใน จ.สุพรรณบุรี เวลาไปจังหวัดอื่น คนยังพูดถึงพ่อ มีลุงคนหนึ่งที่เพชรบูรณ์บอกว่า ขอให้ทำเพชรบูรณ์ให้เหมือนสุพรรณฯ”

เปิดใจ ‘คุณหญิงแจ่มใส’ ฉันไม่ได้อยู่คงกระพัน

“อยู่ในใจ มุมไหนของบ้านก็มีพ่อทั้งนั้น กลิ่นอายพ่อยังอยู่ ใช้คำนี้แล้วกัน”

คือถ้อยคำจากความรู้สึกของ คุณหญิงแจ่มใส คู่ชีวิตลูกผู้ชายชื่อบรรหารที่ลูกๆ บอกว่า “รักสุพรรณฯยิ่งกว่าบ้านตัวเอง”

คุณหญิงแจ่มใส-กัญจนา-วราวุธ ศิลปอาชา

“ต้นไม้ใหญ่ในบ้านตาย พ่อยังไม่รู้ แต่ต้นไม้ที่เกาะกลางถนนสุพรรณฯ ตายต้นหนึ่ง ยอมไม่ได้ ต้นเข็มด้วยนะ (หัวเราะ)” คุณหญิงเล่าด้วยแววตาเปี่ยมความคึดถึง ก่อนเปิดใจถึงประเด็นที่ว่าทำไมสร้างอะไรก็ต้องใส่ชื่อ “บรรหาร-แจ่มใส”

“ทุกอย่างที่สร้างแล้วมีคำว่า บรรหาร-แจ่มใส ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียน สถานที่ซึ่งเป็นถาวรวัตถุ มีคนมาบอกว่า ใส่ชื่อแบบนี้ คล้ายๆ เป็นการโชว์ตัว แต่จริงๆ แล้วเป็นเพราะฉันไม่ได้อยู่คงกระพัน วันหนึ่งต้องตาย ลูกก็ต้องทำต่อในสิ่งที่พ่อแม่ทำไว้ ถ้าไม่ทำ คนเขาจะว่าให้ ตอนนี้ลูก 2 คนก็รับเต็มบ่าเลย”

คืออุบายลึกซึ้งให้ทายาทรับช่วงดูแลต่อ ไม่ทอดทิ้ง เพราะทุกสิ่งล้วนเป็นประโยชน์ต่อสังคม ดังเช่นเหตุการณ์ครั้งหนึ่งซึ่งคุณหญิงจดจำได้ดี เมื่อมีผู้หญิงมายกมือไหว้ บอกว่าเป็นศิษย์เก่าโรงเรียนบรรหาร 1 ถ้าไม่มีโรงเรียนนั้น ก็ไม่มีวันนี้ เพราะสมัยก่อนการเดินทางจากดอนเจดีย์มายังตัวจังหวัด ไกลมาก มีแต่ฝุ่น ถึงขนาดมีคำกล่าวที่ว่า “แค่มดเดินฝุ่นยังฟุ้ง”

ภาพมุมสูงภูมิทัศน์ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองและพื้นที่โดยรอบซึ่งเป็นสถานที่ซึ่ง ฯพณฯ บรรหารผูกพันตั้งแต่วัยหนุ่มจวบจนวาระสุดท้าย

ครอบครัวศิลปอาชายังบอกว่า ทุกวันนี้ยังเก็บสิ่งต่างๆ เหมือนครั้งที่เสาหลักของบ้านยังมีชีวิตอยู่

“ทุกอย่างที่อยู่บนโต๊ะพ่อยังเก็บไว้เหมือนเดิม พ่อหมดสติคืน

วันที่ 20 เมษาฯ ยังมีใบสั่งงานวันที่ 21 ที่เขียนบอกคนติดตาม เรายังเก็บไว้อย่างนั้น”

พิธีเปิดอนุสาวรีย์ ฯพณฯ บรรหาร ศิลปอาชา อย่างเป็นทางการจะมีขึ้นในวันอังคารที่ 23 เมษายนนี้ ด้วยความรำลึกถึงในคุณูปการของบุคคลสำคัญที่คนสุพรรณฯไม่เคยลืม และกลับยิ่งจดจำในความดีอันเป็นสิ่งถาวรยิ่งกว่าอนุสาวรีย์ใดๆ


อนุสาวรีย์ ‘บรรหาร ศิลปอาชา’ สูง 3.2 เมตร หนัก 850 กิโลกรัม เนื้อบรอนซ์ สร้างด้วยงบประมาณราว 20 ล้านบาทจากการบริจาคของชาวสุพรรณร่วมด้วยครอบครัวศิลปอาชา

พิธีเปิดอนุสาวรีย์และวางพวงดอกไม้รำลึกเกียรติคุณ
ฯพณฯ บรรหาร ศิลปอาชา
23 เมษายน 2562 ณ อุทยานมังกรสวรรค์
ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสุพรรณบุรี

“ในงานจะมีการทำบุญ และอ่านบทกวีรำลึก พร้อมกับวีดิทัศน์สั้นๆ เพื่อเล่าว่าพ่อทำอะไรมาบ้าง และตอนนี้ก็กำลังทำสารคดีสั้นอีกชุดหนึ่งยาว 20 นาที เพื่อให้คนสุพรรณฯโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ได้ทราบว่าสุพรรณบุรีเป็นอย่างทุกวันนี้เพราะอะไร และเพราะใคร จากนั้นคุณแม่จะกดปุ่มเปิดแพรคลุมป้าย และมีการวางพวงดอกไม้หลากสีสันจากโรงเรียนต่างๆ ที่คุณพ่อคุณแม่สร้างไว้คือโรงเรียนบรรหาร 1-7 บวกกับโรงเรียนอื่นๆ ในจังหวัดที่คุณพ่อมีคุณูปการ รวมถึงส่วนราชการ เอกชน ห้างร้าน ซึ่งคาดว่าจะมาวางกันเต็มหน้าอนุสาวรีย์ นอกจากนี้ ยังอยากริเริ่มว่าทุกวันที่ 23 เมษายนของทุกปี จะเป็นวันที่คนสุพรรณฯมารำลึกถึงพ่อบรรหารปีละครั้งหน้าอนุสาวรีย์” ครอบครัวศิลปอาชากล่าว

กำหนดการ

08.30 น. พิธีสงฆ์

09.30 น. อ่านบทกวีรำลึก พร้อมฉายวีดิทัศน์

10.19 น. คุณหญิงแจ่มใส ศิลปอาชา กดปุ่มเปิดแพรคลุมป้าย

โรงเรียนบรรหาร-แจ่มใส 1-7 วางพวงดอกไม้ ร่วมด้วยหน่วยราชการและภาคเอกชน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image