ดึงวัฒนธรรม สร้างระบบดูแล ‘เด็กปฐมวัย’ โดยพลังชุมชน ด้วยคนท้องถิ่น

ในช่วงเวลาที่ความเจริญของเมืองและวัตถุก้าวหน้าอย่างรวดเร็วสวนทางกับสถานการณ์ที่กำลังจะเปลี่ยนผ่านก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์

นาทีนี้จึงอาจกล่าวได้ว่า เด็กไม่ใช่แค่เพียงอนาคตของชาติ แต่ยังเป็นหัวใจสำคัญที่จะพัฒนาประเทศไทย

โดยเฉพาะ เด็กปฐมวัย วัยอยากรู้อยากเห็น รักอิสระ และกำลังพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ครบ 4 ด้าน ทั้งร่างกาย อารมณ์ สังคม และสติปัญญา เพื่อเติบโตเป็นพลเมืองคุณภาพ ที่สามารถดำรงชีวิตท่ามกลางเปลี่ยนแปลงของโลกยุคใหม่ ได้อย่างรู้เท่าทัน

จึงเป็นภารกิจสำคัญยิ่ง ที่ผู้ใหญ่จะต้องให้การเลี้ยงดูเด็กวัยนี้อย่างถูกต้องเหมาะสม โดยเฉพาะชุมชนในพื้นที่ชนบท ที่เข้าถึงสิทธิได้ยากลำบาก

Advertisement

แล้วจะมีวิธีใดที่สามารถขับเคลื่อนเยาวชนและสังคมให้มีประสิทธิภาพได้ด้วยพลังของชุมชนเอง?

การค้นหากลไกเพื่อสร้างอนาคตของชาติจึงนับว่าเป็นเรื่องสำคัญไม่น้อย หากลองมองให้ดี องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ถือเป็นอีกพลังมดที่มากศักยภาพ เพราะมีความใกล้ชิดกับชุมชน จึงมีความเข้าใจสภาพถิ่นของตนและสามารถแทรกซึมเข้าไปในทุกอนูของพื้นที่ได้

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน จึงจับมือหน่วยงานต่างๆ ร่วมแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ในการดูแลเด็กปฐมวัยอีกทั้งประถมศึกษาโดยชุมชนท้องถิ่น อาทิ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) กระทรวงมหาดไทย มูลนิธิสนามเด็กเล่นสร้างปัญญา ศูนย์วิจัยและพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน (ศวช.) คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เครือข่ายคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏ และศูนย์สนับสนุนวิชาการเพื่อการจัดการเครือข่ายภาค (ศวภ.)

Advertisement

กลางเวที “สานพลัง สร้างปัญญา พัฒนาเด็กปฐมวัยและประถมศึกษา” ที่อิมแพคอารีน่า เมืองทองธานี ซึ่งผ่านไปเมื่อไม่นานมานี้ เสียงสนทนาบนเวทีเริ่มดังขึ้น

“เราเก็บข้อมูลไปวิเคราะห์ พบเรื่องเล็กที่มองข้ามคือ เด็กไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ แต่อยู่กับปู่ย่าตายายเป็นส่วนใหญ่ จึงขาดความอบอุ่น ส่งผลให้มีปัญหาก้าวร้าวทางอารมณ์” อุเทน ศรีนอก นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเสมาใหญ่ อ.บัวใหญ่ จ.นครราชสีมา กล่าวถึงปัญหาที่พบเจอ ก่อนจะอธิบายถึง “ระบบสร้างการดูแลเด็กโดยชุมชนท้องถิ่น” ที่ใช้ในชุมชมของตน

“เราร่วมงานกับภาคีเครือข่าย ในการคิดนำเรื่องวัฒนธรรมโบราณเข้ามาเป็นสิ่งกระตุ้น คือ ‘การรับขวัญเด็ก’ ‘ร่อนกระด้ง’ โดยเครือญาติ ผู้นำชุมชน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล และองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) จะไปผูกแขนให้พร รับขวัญเด็กแรกเกิด เพื่อสร้างความรักความอบอุ่นให้เกิดขึ้นกับคนในชุมชน เสมือนว่าลูกฉันคือลูกเธอ” นายกอุเทนกล่าว พร้อมยังเปิดเผยอีกว่า ที่ ต.เสมาใหญ่ เริ่มต้นดูแลเด็กประถมวัยด้วยระบบ โดยใช้ข้อมูลของ สสส.ในการดำเนินการ เนื่องจากมีพื้นฐานของความเป็นจริงสูง

เวทีเสวนา “ระบบ…สร้างการดูแลเด็กโดยชุมชนท้องถิ่น”

ด้าน พิมพ์พร ภิระคำ นักจัดการงานทั่วไปชำนาญการ เทศบาลตำบลบ้านหลวง อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ เล่าว่า ที่ ต.บ้านหลวง มีความเป็นชาติพันธุ์ เพราะมีชนพื้นเมืองและชนเผ่าในพื้นที่ ทั้งเผ่าม้ง ปกากะญอ รวมแล้ว 19 หมู่บ้าน บนพื้นที่ 364 ตารางกิโลเมตร เรื่องการทำงานจึงค่อนข้างลำบากและท้าทาย เนื่องจากสภาพพื้นที่เป็นภูเขาและเป็นพื้นที่ห่างไกล

พิมพ์พร อธิบายว่า ในเรื่องระบบการดูแลเด็กประถมวัย ใช้การเชื่อมโยงการทำงานผ่าน 4 เสาหลัก คือ 1.“ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก” จำนวน 10 ศูนย์ เพื่อให้เด็กได้รับการพัฒนาครอบคลุมทุกด้าน ทั้งร่างกาย สังคม อารมณ์ สติปัญญา โดยพัฒนาทั้งตัวเด็ก คุณครู และผู้ปกครองไปพร้อมๆ กัน เสาที่ 2 คือ “ศูนย์พัฒนาครอบครัว” เพื่อให้เด็กที่อยู่นอกศูนย์ และเด็กที่มีความเปราะบาง เช่น ครอบครัวแตกแยก สามารถอยู่ร่วมสังคมอย่างมีความสุขและอบอุ่น เสาที่ 3 เรามี “โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.)” ถึง 4 แห่ง เพื่อให้เด็กอายุ 0-5 ขวบ ได้รับบริการด้านสาธารณสุขอย่างทั่วถึง เสาสุดท้าย คือ “องค์กรอื่นๆ และภาคประชาชน”

“เรามีชมรมนมแม่ ซึ่งเป็นหนึ่งในชมรมที่เป็นต้นแบบของ อ.จอมทอง มี อสม.ที่เชี่ยวชาญด้านแม่และเด็ก ร่วมส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ให้ครบ 6 เดือน และให้เด็กได้รับการดูแล 1,000 วัน มหัศจรรย์..

ในการทำงานร่วมกัน ระหว่างองค์กรทางสังคม และ อสม.ที่เชี่ยวชาญเฉพาะชนเผ่า เราใช้ผู้นำชุมชน เข้าไปเชื่อมการทำงานทั้งหมดเข้าด้วยกัน”

ถือเป็นอีกตัวอย่างของการทำงานในพื้นที่ที่มีโจทย์คือความหลากหลายทางวัฒนธรรม ตามที่พิมพ์พรบอกไว้ว่าต้องหาตัวเชื่อมให้เจอ

ใช้วัฒนธรรมท้องถิ่นเป็นตัวเชื่อมคนทั้งสองวัย
ของเล่นจากภูมิปัญญาท้องถิ่น

สอดคล้องกับแนวคิดของ ดร.กิตติพงศ์ สีเหลือง นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเสม็ดใต้ อ.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา ที่ก็วิธีการดูแลเด็กโดยใช้ชุมชนเป็นตัวเชื่อม

ที่ ต.เสม็ดใต้ เป็นพื้นที่คาบเกี่ยวระหว่างความเจริญกับความทุรกันดาร สภาพสังคมมีลักษณะต่างคนต่างอยู่ ถือเป็นโจทย์ยากพอสมควร

“เราใช้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นตัวเชื่อมประสาน ทำงานลักษณะสร้างภาคีให้เข้มแข็ง ในการดูแลเด็กอายุ 0-5 ขวบ จะใช้ระบบข้อมูลของ สสส.ในการสืบค้นและทำงานร่วมกับเครือข่ายที่สำคัญคือ รพ.สต. นอกจากนี้ยังมี อสม. ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อน เริ่มตั้งแต่การสำรวจ เยี่ยมเยียน ดูแล และแนะนำคุณแม่ตั้งครรภ์ โดยเฉพาะช่วง 6 เดือนแรก เพื่อให้นมแม่เป็นหลัก

ถือเป็นมาตรฐานที่ดี เพราะเราสามารถทำให้เด็กดื่มนมแม่เพิ่มขึ้นได้มากถึง 80 เปอร์เซ็นต์ จากเดิม 35 เปอร์เซ็นต์ หลังจากนั้นเมื่อครบ 2 ขวบ เข้าสู่ช่วงพัฒนาเด็กเล็ก ก็ให้เด็กมีพัฒนาการด้านต่างๆ โดยเชื่อมโยงกับชมรมผู้สูงอายุ และองค์กรอื่นๆ จนอายุ 3-5 ขวบ ก็สร้างให้เด็กมีคุณภาพ โดยใช้ ‘กิจกรรม’ เช่น การดึงเอากลุ่มรักษาสิ่งแวดล้อม เข้าไปมีส่วนร่วมกับศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก (ศพด.)”

“สิ่งสำคัญสำหรับพื้นที่กึ่งเมือง กึ่งชนบท คือ องค์กรท้องถิ่นต้องเข้ามามีบทบาทในการเป็นตัวกลาง เพื่อประสานให้เกิดความเข้มแข็งในชุมชน” ดร.กิตติพงศ์กล่าว

ขยับมาดูอีกหนึ่งพื้นที่ เพ็ญศรี สมมาตร ครูวิทยฐานะชำนาญการ องค์การบริหารส่วนตำบลยางขี้นก อ.เขื่องใน จ.อุบลราชธานี ชี้ว่า ปัญหาในพื้นที่ของตนคือ การที่เด็กส่วนใหญ่ได้รับการอบรมเลี้ยงดูโดยผู้สูงอายุ เนื่องด้วยพ่อแม่มีความจำเป็นต้องเข้าเมืองเพื่อหาเลี้ยงชีพ การอยู่ด้วยกันบนช่องว่างของสองวัย ทำให้เกิดความไม่เข้าใจกัน ถึงขั้นส่งผลสะท้อนไปถึงเรื่อง การสร้างองค์ความรู้ และความเข้าใจ ที่มักมีปัญหา

“การใช้โทรศัพท์ในเด็กประถมวัยและอนุบาลเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงอย่างมาก เนื่องจากผู้สูงอายุที่ดูแลเด็กไม่สามารถให้คำแนะนำการใช้สื่อเหล่านี้ในทิศทางที่ถูกได้ เราจึงแก้ปัญหาด้วยการใช้กิจกรรมทางด้านวัฒนธรรม ประเพณี และภูมิปัญหาท้องถิ่น ตามหลักสูตร ‘ภูมิปัญญาท้องถิ่น? เด็กประถมวัยและโรงเรียนผู้สูงอายุ เพื่อเป็นแกนกลางให้คนทั้ง 2 รุ่น ได้ทำกิจกรรมร่วมกัน ในลักษณะการเอาผู้สูงอายุมาเรียนร่วมกับเด็ก ที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก 1 วันต่อสัปดาห์ กิจกรรมเริ่มตั้งแต่เคารพธงชาติด้วยกัน ทำของเล่นพื้นบ้าน ร้องหมดลำกลอน ร้องสรภัญญะ พูดผญาอีสาน เป่าแคน ทำพานบายศรี และยังมีในส่วนของ โรงเรียนผู้สูงอายุ ที่ได้เพิ่มหลักสูตรการเรียนรู้ด้านไอทีและหลักการใช้สื่อ เพื่อให้ผู้สูงอายุสามารถแนะนำบุตรหลานในการใช้สื่ออย่างถูกวิธี”

เพื่อเรียนรู้และอุดช่องว่างความสัมพันธ์ระหว่างสองวัยให้ไปด้วยกันได้

กิจกรรมในงาน “สานพลัง สร้างปัญญา พัฒนาเด็กประถมวัยและประถมศึกษา”

เพ็ญศรี ยังย้ำอีกด้วยว่า วัฒนธรรม หรือรากฐานประเพณี เป็นกิจกรรมแกนกลางระหว่าง 2 วัย ที่จะทำให้เด็กได้เรียนรู้จากสิ่งใกล้ตัวออกไปหาไกลตัว

“รากเหง้าความเป็นท้องถิ่น คือวัฒนธรรมที่จะแฝงอยู่ในตัวเด็ก การที่เด็กได้เรียนรู้จากสิ่งใกล้ตัวจะติดตัวเขาไปจนโต ในวันหนึ่งเขาจะนึกได้ว่าความเป็นมนุษย์ที่เป็นรากฐานของเขาคืออะไร ซึ่งจะนำไปสู่การสะท้อนกลับมาเป็นผู้พัฒนาชุมชนของตนในอนาคต”

เป็นยุทธวิธีน่าสนใจที่อาจเป็นคำตอบของคำถามสำคัญในยุคสมัยแห่งการเปลี่ยนผ่าน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image