(เด็ก) ‘ไร้สัญชาติ’ เรื่องเก่าเล่าใหม่ ปัญหาซ้ำซากที่รัฐไทยไม่จริงจัง?

เป็นประเด็นฮอตเมื่ออาทิตย์ก่อน สำหรับ น.ส.ยลฤดี ปิยะทัต หรือ น้องพลอย นักเรียนสาวชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายใน จ.ระนอง ที่ออกมาโพสต์เฟซบุ๊กร้องขอโอกาสจากผู้ใหญ่ในประเทศเข้าร่วมการแข่งขันโครงงานวิทยาศาสตร์ “Genius Olympiad” ที่สหรัฐอเมริกา ทว่าเธอมีปัญหาเรื่องการรับรองสัญชาติ เดินทางออกนอกประเทศไม่ได้

วินาทีแห่งการได้รับโอกาสผ่านไปอย่างเชื่องช้า กระทั่งเพจดัง Drama-addict แชร์เรื่องราวของน้องพลอยสู่โลกโซเชียล ไม่นาน ดร.รักไทย บูรพ์ภาค ประธานหลักสูตรวิศวกรรมนานาชาติ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ อาจารย์หนุ่มใจดีปรากฏตัวขึ้นท่ามกลางความหวัง

“สวัสดีครับจ่า ฝากถึงน้องพลอยด้วยนะครับ ผมชื่ออาจารย์รักไทยนะครับ ผมเป็นอาจารย์ประจำอยู่ที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ซึ่งผมมีวิธีที่จะทำให้นักเรียนได้ไปแข่งขันตามประสงค์ เนื่องจากอาจารย์เองก็เคยประสบปัญหาแบบเดียวกัน อีกทั้งยังยินดีรับรองและสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการเดินทางครั้งนี้สำหรับนักเรียน รบกวนนักเรียน inbox มาหาอาจารย์ด้วยนะครับผม สู้ๆ ครับ”

ก่อนที่ ดร.รักไทยจะเปิดเผยในเวลาต่อมาว่า ได้ติดต่อกับ น.ส.ยลฤดีแล้ว เบื้องต้นได้แจ้งให้ทราบเรื่องค่าใช้จ่ายตลอดการเดินทางที่พร้อมสนับสนุน และยินดีรับรองให้กับสถานทูตสหรัฐ เนื่องจากตนเองถือ 2 สัญชาติ ไทย-อเมริกา พร้อมกันนี้ยังจะช่วยประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเรื่องการแข่งขันที่สหรัฐ เพื่อให้ออกหนังสือรับรองเป็นการด่วน

Advertisement

ผายมือไปทางน้องพลอยที่หลังจากทราบเรื่องแล้ว ได้ขอปรึกษากับอาจารย์และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ก่อน และจะแจ้งให้อาจารย์หนุ่มทราบอีกครั้ง

ต่อสายตรงถึง ดร.รักไทย ก่อนจะได้รับฟังเรื่องราวสุดประทับใจ

“ด้วยความเป็นอาจารย์ อยากให้เขาได้รับโอกาสไปแสดงความสามารถในเวทีนานาชาติ ในไทยเองมีเด็กไร้สัญชาติอยู่จำนวนมาก แต่ถ้าเขามีความสามารถ โตในไทย มีใจรักประเทศไทย และพร้อมจะทำชื่อเสียงให้ประเทศ ผมว่าเป็นเรื่องน่าสนับสนุนและควรผลักดัน

Advertisement

“ผมเคยได้โอกาสเข้าทำงานที่ธนาคารโลกในสหรัฐอเมริกา แต่บ้านเราในขณะนั้นอยู่ในช่วงเปลี่ยนถ่ายรัฐบาล และผมต้องได้รับการสนับสนุนจากรัฐ เพื่อเป็นตัวแทนคนไทยเข้าทำงานในองค์กรนานาชาติ ทว่าไม่มีรัฐบาลรับรองให้ ที่สุดแล้วได้รับความช่วยเหลือจากสหประชาชาติในการรับรองฐานะ”

ด้วยหัวใจของคนเป็นครู และผ่านช่วงเวลายากลำบากมาก่อน ไม่แปลกที่จะเห็น ดร.รักไทย ยินดีให้ความช่วยเหลือน้องพลอยอย่างรวดเร็ว

รักไทย บูรพ์ภาค

ไล่เลี่ยกันนี้ยังมีเรื่องราวของ น.ส.น้ำผึ้ง ปัญญา หรือ น้องน้ำผึ้ง ชาวไทยลื้อ อายุ 18 ปี เยาวชนที่ได้รับการคัดเลือกให้เข้าแข่งขันโครงงานวิทยาศาสตร์ในงาน Intel ISEF 2019 เมืองฟินิกซ์ มลรัฐแอริโซนา ประเทศสหรัฐอเมริกา แต่ทางการสหรัฐไม่อนุมัติวีซ่า เนื่องจากน้องน้ำผึ้งเป็นเด็กไร้สัญชาติเช่นกัน

เหมือนภาพอดีตกลับมาฉายซ้ำ เพราะมองมุมไหนก็ไม่ต่างกันกับกรณี หม่อง ทองดี อดีตแชมป์เครื่องบินกระดาษที่ติดขัดเรื่องสัญชาติ จนเวลาล่วงเลยกว่า 9 ปี ชายหนุ่มรายนี้ถึงจะได้รับ “สัญชาติไทย” ตามคำสัญญา

วันนี้หม่องทนไม่ไหว ขอเรียกร้องสิทธิและโอกาสให้น้องพลอย รวมทั้งเด็กไร้สัญชาติคนอื่นๆ พร้อมทิ้งคำถามใหญ่ เมื่อไหร่ปัญหานี้จะหมดไป?

แม้ในเวลาต่อมา ทั้งน้องพลอยและน้องน้ำผึ้งจะได้รับการอนุมัติสัญชาติ มีบัตรประจำตัวประชาชนไทยเรียบร้อย แต่อาจมาพร้อมกับความคาดหวังและความกดดันไม่น้อย?

‘หม่อง ทองดี’ โชว์บัตรประชาชน หลังจากรอคอยกระบวนการอนุมัติสัญชาติไทยกว่า 9 ปี

เคลียร์ปัญหาคาใจ ทำไมถึงอนุมัติเป็นกรณีพิเศษ?

สุรพงษ์ กองจันทึก อดีตประธานอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติ และผู้พลัดถิ่น สภาทนายความ และผู้เชี่ยว ชาญเรื่องกฎหมายสัญชาติ อธิบายให้เข้าใจอย่างง่ายว่า หลักการได้สัญชาติไทยมีอยู่ 2 ข้อสั้นๆ คือ ได้โดยการเกิดและภายหลังการเกิด โดยเฉพาะในประเด็น “โดยการเกิด” แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ หลักสายโลหิตและหลักดินแดน

ทั้งนี้ ภายหลังสงครามเวียดนาม ทำให้มีความกังวลเรื่องการให้สัญชาติที่อาจเกิดปัญหาความมั่นคงตามมา ฉะนั้น ในกฎหมายจึง ไม่ให้ สัญชาติไทยตามหลักดินแดนกับคน 3 กลุ่ม

กลุ่มแรก บิดาหรือมารดาของผู้นั้นเป็นผู้ได้รับการผ่อนผันให้พักอาศัยอยู่ในราชอาณาจักรไทยเป็นกรณีพิเศษเฉพาะราย

กลุ่มที่สอง บิดาหรือมารดาของผู้นั้นเป็นผู้ได้รับอนุญาตให้เข้าอยู่ในราชอาณาจักรไทยเพียงชั่วคราว

กลุ่มที่สาม บิดาหรือมารดาของผู้นั้นเป็นผู้เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทย โดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง

และน้องพลอยกับน้องน้ำผึ้งจัดอยู่ในกลุ่มที่สาม

“น้องพลอยเป็นลูกของแรงงานต่างด้าว เกิดในไทย อยู่ในไทยตลอดมา แต่น้องน้ำผึ้งมีพ่อแม่เป็นไทยลื้อ อยู่ในประเทศไทยนานแล้ว จัดเป็นชนกลุ่มน้อย ทั้ง 2 กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ได้รับการผ่อนผันให้อยู่ในไทยได้ชั่วคราวเป็นกรณีพิเศษเฉพาะราย โดยกฎหมายเขียนเพิ่มไว้ว่า เมื่อคนเหล่านี้เกิดในประเทศไทย ไม่ได้รับสัญชาติไทย อาจได้รับสัญชาติไทยต่อเมื่อคณะรัฐมนตรีมีมติให้การรับรอง ซึ่งมติ ครม.วันที่ 7 ธันวาคม 2559 ที่ผ่านมา ได้ให้สัญชาติไทยกับคนบางกลุ่ม

“เมื่อดูประวัติและผลงานที่ผ่านมาของน้องพลอยและน้ำผึ้งแล้ว ถือเป็นผู้มีความสามารถสูงมาก เก่งในทุกด้าน และมีความจำเป็นต้องเดินทาง ด้วยเชื่อว่าจะสามารถสร้างชื่อเสียงให้ประเทศไทยได้ ภาครัฐจึงให้สัญชาติไทยเป็นกรณีพิเศษ”

ที่สุดแล้ว เด็กสาวทั้งคู่ก็ได้ร้องเฮ เพราะกรมการปกครองเห็นชอบให้ใช้วิธีการเร่งด่วนในการให้สัญชาติไทยตาม พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.2508 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับ 4) พ.ศ.2551 มาตรา 7 ทวิ วรรค 2 และทำบัตรประชาชนให้อย่างรวดเร็ว

กรมการปกครองส่งหนังสือการอนุมัติให้สัญชาติไทยแก่น้องพลอย

‘สัญญาจะนำชื่อเสียงกลับประเทศ ไทยให้ได้’

ด้าน “น้องพลอย” หลังทราบข่าว ยอมรับว่า “ยังไม่ปักใจเชื่อ” เพราะคิดว่าเป็นข่าวลวง จน “มลรัตน์ อัมมรดารา” ครูโรงเรียนสตรีซึ่งเป็นแม่บุญธรรม นำเอกสารมาให้ ถึงจะเชื่อและดีใจมาก

“ไม่คิดว่าจะได้กลับมารวดเร็วและมากขนาดนี้ เพราะต้องการเพียงเอกสารที่จะเดินทางไปแข่งขันเท่านั้น โดยคิดว่าจะทำผลงานให้ดีที่สุด หลังจากนั้นจึงจะกลับมาดำเนินเรื่องขอสัญชาติ แต่เมื่อมีผลลัพธ์ออกมาอย่างนี้ก็ดีใจ”

หลังรับบัตรประจำตัวประชาชนคนไทย น้องพลอยยังบอกอีกว่า ดีใจและปลื้มใจมากที่ได้รับสัญชาติไทยและบัตรประจำตัวประชาชนคนไทยในวันนี้ และขอขอบคุณผู้ใหญ่ใจดีทุกท่านและทุกหน่วยงาน หลังจากนี้จะได้ไปดำเนินการในขั้นตอนการขอวีซ่าจากสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย และตนจะตั้งใจฝึกซ้อมในการไปร่วมแข่งขันโครงการวิทยาศาสตร์ จะมุ่งมั่นตั้งใจอย่างเต็มกำลังความสามารถ และจะนำชื่อเสียงกลับมาประเทศไทยให้ได้ รวมถึงจะเป็นพลเมืองที่ดี ทำประโยชน์ให้กับประเทศชาติ

ไม่ต่างจาก “น้องน้ำผึ้ง” ที่กล่าวขอบคุณทุกฝ่าย ทุกหน่วยงานที่ช่วยเหลือตนจนได้รับสัญชาติไทย พร้อมยืนยันว่าจะนำความหวังดีของทุกคนไปใช้ในการแข่งขัน เพื่อให้คนต่างประเทศได้รู้ว่า เมื่อตนได้เป็นคนไทยแล้วก็มีความสามารถเช่นกัน

ประจญ ปรัชญ์สกุล ผวจ.เชียงราย ร่วมยินดีกับน้องน้ำผึ้งพร้อมมอบบัตรประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้าน รวมทั้งทุนค่าเดินทางไปสหรัฐ

‘ไร้สัญชาติ’ เรื่องใหญ่ รัฐไทยต้องจริงจัง

ไม่วายชาวเน็ตได้ผุดวาทกรรมจำพวก เพราะเด็กหน้าตาดี มีกระแสข่าว ถึงได้รับสัญชาติเร็วกว่าคนอื่น?

สุรพงษ์ยอมรับว่า “มีส่วนจริง” แต่ต้องไม่ลืมว่า ทั้งน้องพลอยและน้องน้ำผึ้งได้ยื่นเรื่องขอสัญชาติไทยไปก่อนหน้านี้แล้ว เพียงแต่กระแสข่าว ประกอบกับปัจจัยอื่นๆ ช่วยให้ภาครัฐเร่งรัดการพิจารณา ทำให้ทุกขั้นตอนดำเนินการอย่างรวดเร็ว

นอกจากนี้ สุรพงษ์ได้ยกตัวอย่าง อ.เวียงแหน จ.เชียงใหม่ และ อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย ที่ประชาชนยื่นขอสัญชาติไทยเป็นจำนวนมาก แต่ยังอยู่ในกระบวนการตรวจสอบต่างๆ พร้อมกับมีความหวังว่ารัฐบาลไทยจะมีนโบายและแก้ปัญหาเรื่องนี้อย่างจริงจัง

สุรพงษ์ กองจันทึก

“บางกรณี ถ้าไปยื่นเรื่องเดือนพฤษภาคม 2562 อาจได้รับการพิจารณาในปี 2563-2564 ก็เป็นได้ เพราะมีเรื่องตกค้างเยอะมาก และจำนวนเจ้าหน้าที่มีจำกัด งานล้นมือ สมมุติว่าเคลียร์วันละ 10 เคส สัปดาห์หนึ่งอาจทำได้ 50 เคส แต่คนมายื่นเรื่อง 5,000 คน เหล่านั้นก็ต้องรอต่อไป ขณะที่คนใหม่ก็รับคิวต่อๆ ไป ดังนั้น จะดีกว่าไหมหากภาครัฐส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปเสริมชั่วคราวหรือถาวรแล้วแต่ความเหมาะสม เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนอย่างเสมอภาคกัน

“อย่าลืมว่าคนหนึ่งคนต้องมีรัฐอย่างน้อยหนึ่งรัฐมาคุ้มครองดูแล การคุ้มครองดูแลโดยรัฐคือ ‘สัญชาติ’ นี่คือหลักการทั่วโลก ดังนั้น การดูแลโดยสัญชาติอย่างน้อยหนึ่งรัฐ หมายความว่า คนหนึ่งคนจะมี 2 สัญชาติ หรือหลายสัญชาติก็ได้ แต่รัฐต้องดูแลเขา และคนหนึ่งคนที่ไม่มีรัฐมาดูแลเลยต้องไม่มี ความหมายคือ ต้องไม่มีคนไร้สัญชาติในประเทศไทย”

แต่ความจริงแล้ว ยังมีคนไร้สัญชาติอยู่ในประเทศไทยนับล้านคน ไม่ว่าจะไร้สัญชาติไทยแบบการเกิด หรืออยู่ในไทย ซึ่งควรได้สัญชาติไทย ทว่ารัฐไทยก็ยังไม่รับรอง เนื่องจากอาจขาดพยานหรือรัฐต้นทางให้การยืนยัน

“ตราบใดที่เรายังไม่สามารถเคลียร์ของเก่าได้ คนเหล่านี้เมื่อมีลูกหลานออกมาก็จะเกิดปัญหาต่อไปเรื่อยๆ ดังนั้นเราต้องเคลียร์ให้หมด ตอนนี้รัฐบาลยังไม่มีนโยบายที่ชัดเจนมากนัก แม้จะมีการพูดคุยอยู่บ้างว่าอีกประมาณ 5 ปี เราจะขจัดความไร้สัญชาติให้หมด แต่เมื่อดูในแนวปฏิบัติแล้วคงเป็นไปได้ยาก หากยังดำเนินการให้สัญชาติหรือพิสูจน์สัญชาติอย่างในปัจจุบันที่ยังตกหล่นอยู่ ไม่ว่าในพื้นที่บนดอย วัด โรงเรียน ชุมชน หรือสนามหลวงก็ยังมีคนไร้สัญชาติอยู่จำนวนมาก ดังนั้น รัฐต้องมีนโยบายและแก้ปัญหาคนไร้สัญชาติอย่างจริงจัง”

ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องถามว่า เราพร้อมช่วยเหลือคนเหล่านี้แล้วหรือยัง?

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image