วิวาทะบูรณะ ‘เพนียด’ ถึง ‘คนเลี้ยงช้าง’ หยุด! ก่อนลุกลามระดับชาติ

วิวาทะอีช่อและ ส.ส.ตลาดล่างในแวดวงการเมืองยังไม่ทันสร่างซา หันมาดูวงการศิลปวัฒนธรรมก็ไม่ยอมน้อยหน้า เมื่อความขัดแย้งในประเด็นบูรณะเพนียดคล้องช้าง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ทำท่าจะไม่จบแบบแฮปปี้เอ็นดิ้ง ซ้ำส่อแววลุกลาม นับแต่กลุ่มชาวบ้านออกมาชูป้ายคัดค้านกรมศิลปากรอย่างรุนแรง จากกรณีปรับเปลี่ยนรูปแบบหัวเสาตะลุงจากแบบหัวเม็ด หรือหัวมนคล้ายดอกบัวตูมอย่างที่เคยคุ้นตา ให้เป็นหัวเสาแบบเรียบๆ ไม่มีการตกแต่ง

มวลชนพร้อมแผ่นไวนิลมีข้อความเผ็ดร้อนจึงรวมตัวเรียกร้องแก้ไขโดยด่วน เนื่องด้วยกระทบจิตใจชาวบ้าน หวั่นเกิดอาถรรพ์ เล็งส่งเรื่องไปยังนายกฯ “ลุงตู่” ร้อนถึง ผอ.อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา และเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องต้องออกมาชี้แจงอย่างละเอียด โดยหอบเอกสารและภาพถ่ายเก่ายืนยันว่า บูรณะตามหลักวิชาการให้ย้อนกลับไปเป็นแบบดั้งเดิม กระทั่งอธิบดีกรมศิลปากรต้องลงพื้นที่ด้วยตัวเองเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา

มองอย่างเผินๆ ก็ดูเหมือนว่าเรื่องราวจะจบลงด้วยดี เพราะมีการทำความเข้าใจกับกลุ่มผู้ค้าน ซ้ำมีหลักฐานยืนยันแน่นหนัก ทว่า เรื่องราวกลับส่อเค้าสร้างปมร้าวลึก ทั้งยังเสี่ยงบานปลายด้วยท่าทีและทัศนคติบางประการของหน่วยงานภาครัฐผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์ก ซึ่งไม่อาจปฏิเสธได้ว่าเป็นช่องทางสร้างสงครามวิวาทะในโลกแห่งความจริงมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน ที่น่าห่วงคือสุ้มเสียงสำเนียงแปร่งๆ ของเพจ “อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา” ซึ่งคอยแชร์ข้อมูลและความเห็นของผู้ที่คัดค้านชาวบ้าน โดยเชื่อว่าออกมาก่อม็อบเพราะเสียผลประโยชน์ แม้กระทั่งการเขียนเนื้อหาต่อต้านการเลี้ยงช้างโดยนำคลิปสารคดีต่างชาติมานำเสนอ ส่งผลให้เกิดการตั้งคำถามตามมาอย่างมากมาย ถึงบทบาทหน้าที่ของกรมศิลปากรต่อกรณีนี้

ถูกข้อเท็จจริง แต่ไม่ถูกใจ ความผิดใครในสมรภูมินี้?

“การบูรณะจะมาอ้างภาพถ่ายเก่า ชาวบ้านไม่รู้หรอกเพราะเกิดไม่ทัน ทำไมไม่มาทำความเข้าใจกันก่อน เวลาที่จะทำบุญที่เพนียดคล้องช้างต้องทำหนังสือขออนุญาตไปที่กรมศิลป์ แต่พอกรมศิลป์เข้ามาบูรณะเพนียด ซึ่งถือเป็นสมบัติของชาติ ของคนไทย ไม่มาสอบถาม ทำประชาพิจารณ์ ตอนก่อสร้าง ปิดล้อมรั้ว ไม่เห็นว่าทำอะไรบ้าง พอเอารั้วออกเพิ่งเห็นว่าเสาตะลุงที่เห็นมาตั้งแต่จำความได้ถูกตัดเหมือนตอไม้ ไม่สวยอย่างเดิม”

Advertisement

คือความเห็นของ นพพร ขันธนิกร ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 3 ต.สวนพริก อ.พระนครศรีอยุธยา หลังได้รับฟังข้อชี้แจงพร้อมชมหลักฐานภาพถ่ายเก่าที่นำเสนอโดยกรมศิลปากร นำโดย สุกัญญา เบาเนิด ผอ.อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ซึ่งระบุว่าเป็นการบูรณะตามหลักฐานที่สืบค้นพบ กล่าวคือ ในสมัยกรุงศรีอยุธยา เพนียดคล้องช้างเดิมอยู่ใกล้กับพระราชวังจันทรเกษม ต่อมาในรัชกาลที่ 3 มีการรื้อฟื้นการประกอบพิธีคล้องช้าง ย้ายมาที่บริเวณ ต.สวนพริก ต่อเนื่องมาในช่วงรัชกาลที่ 4 มีหลักฐานปรากฏเป็นภาพถ่ายของชาวต่างชาติ พบว่าเสาที่ล้อมรอบนอกเป็นเสาไม่มีหัว ส่วนเสาภายในเชิงเทิน ซึ่งเป็นสถานที่ประกอบพิธีการคล้องช้างของพระมหากษัตริย์ จึงจะเป็นเสาหัวมน

สำหรับประวัติการบูรณะมีขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งเสด็จมาทอดพระเนตรการบูรณะด้วยพระองค์เอง ต่อมาช่วง พ.ศ.2500 มีการบูรณะอีกครั้งเพื่อประกอบพิธีคล้องช้าง พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงเชิญกษัตริย์เดนมาร์ก และพระราชินีมาทอดพระเนตรพิธีดังกล่าว มีการบูรณะเพนียดคล้องช้างอีก 2 ครั้งใน พ.ศ.2530 และ พ.ศ.2550 จนมาถึง พ.ศ.2561 จึงมีการบูรณะอีกครั้ง กรมศิลปากรจึงได้ค้นคว้าโดยยึดถือหลักฐานทางประวัติศาสตร์ในการดำเนินงาน

Advertisement

ความเห็นของผู้ใหญ่บ้าน และการชี้แจงของกรมศิลป์ สะท้อนอะไรในข้อขัดแย้งนี้?

จากหลักฐานข้อมูลเด่นชัดของนักโบราณคดี อาจหักล้างการตั้งคำถามในความผิดพลาดของการบูรณะ ทว่า สิ่งที่คาใจชาวบ้านคือการไม่สื่อสาร บอกกล่าวให้ทราบข้อมูลล่วงหน้า หรือระหว่างดำเนินการ ส่งภาพให้ “ภาพจำ” ของเสาหัวมนที่คุ้นตาติดตามมาย้ำชัดว่าเสาหัวตัดคือสิ่งที่ปู่ย่าตายายไม่เคยเห็น แม้สุดท้ายจะทราบข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์จากปากกรมศิลปากรพร้อมภาพถ่ายเก่ายืนยัน แต่การยอมรับใน “ความรู้สึก” ย่อมเกิดขึ้นได้ยาก

ความจริงแล้วนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่กรมศิลปากรต้องเผชิญต่อการตั้งคำถามของประชาชน แต่ในประวัติศาสตร์นับแต่การก่อตั้งหน่วยงานแห่งนี้ ก็มีดราม่าให้ประสบพบเจออยู่เป็นระยะๆ ดังเช่นครั้งล่าสุดที่กลายเป็นวาระแห่งชาติ ก็คือการปฏิสังขรณ์พระปรางค์วัดอรุณราชวราราม กรุงเทพฯ ทำเอาต้องเปิดแถลงชี้แจงกันขนานใหญ่ ตบท้ายด้วยเสวนาและนิทรรศการที่ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ย่านตลิ่งชัน ยืนยันว่าก่อนบูรณะมีการศึกษาอย่างดี แต่สิ่งที่พลาดตามการวิเคราะห์ของนักวิชาการหลายรายซึ่งเห็นตรงกัน ก็คือการไม่ได้มีส่วนร่วมของประชาชน นิทรรศการย้อนหลังจึงคล้ายมีความหมายแค่จดหมายชี้แจง ซึ่งเป็นเรื่องน่าเสียดายยิ่ง

และแม้จะถอดบทเรียนแล้ว ถอดบทเรียนเล่า เหตุการณ์ลักษณะเดียวกันนี้ก็ไม่วายเกิดซ้ำราวกับไม่ได้จดจารไว้ในความทรงจำของความผิดพลาดในอดีต ยังไม่นับประเด็นคำถามถึง “ความเป็นเจ้าของ” มรดกทางวัฒนธรรม ซึ่งมีความซับซ้อนลงลึกไปอีกระดับ

คาใจ’ม็อบจัดตั้ง’ฉากหลังคือผลประโยชน์?

นอกจากประเด็นข้างต้น ยังมีมุมที่ไม่ปรากฏตามข่าวในสื่อทั่วไป นั่นคือข้อสงสัยเกี่ยวกับเบื้องหลังของการออกมาประท้วงว่า ส่วนหนึ่งอาจได้รับการสนับสนุนจากภาคธุรกิจที่หวั่นเสียผลประโยชน์หรือไม่ ส่งผลให้กรมศิลป์ตกเป็นจำเลยในสถานการณ์นี้ เพราะที่จริงแล้วมีผู้บุกรุกเขตพื้นที่โบราณสถานโดยรอบเพนียดคล้องช้าง ดังเช่นที่มีชาวเน็ตผู้เป็นกึ่งวงในออกมาเปิดฉากกระทู้

ประเด็นดังกล่าว แม้ไม่ถูกขยายผล และกรมศิลปากรก็ไม่ได้เอื้อนเอ่ยพาดพิงใดๆ ไปถึงเรื่องดังกล่าว แต่ต่อมาเพจ “อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา” ได้เผยแพร่ ประกาศกรมศิลปากร เรื่อง กำหนดเขตที่ดินโบราณสถาน ลงวันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ.2552 ในยุค เกรียงไกร สัมปัชชลิต นั่งเก้าอี้อธิบดี เผยแพร่ในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 14 ตุลาคม ปีเดียวกัน พร้อมโชว์แผนผังแสดงเขตและภาพถ่ายทางอากาศครบถ้วนกระบวนความ

หลังข้อมูลดังกล่าวถูกเผยแพร่ มีผู้แสดงความเห็นอย่างหลากหลาย ทั้งฝ่ายที่สันนิษฐานว่า การที่ชาวบ้านออกมาประท้วงเรื่องหัวเสา อาจเป็นการต่อต้านกรมศิลป์เนื่องด้วยประเด็นแอบแฝงจากการรุกที่โบราณสถาน ทั้งยังเชื่อมโยงไปถึงปางช้างซึ่งเป็นภาคธุรกิจ

อย่างไรก็ตาม ไม่มีข้อมูลชัดแจ้งจากภาคส่วนใดที่นำพาไปสู่คำตอบอย่างชัดเจน เป็นเพียงการคาดเดาที่ส่วนหนึ่งมองว่า ไม่ว่าฉากหลังดังกล่าวจะเป็นความจริงหรือไม่ ควรฉวยวิกฤตให้เป็นโอกาสในการตรวจสอบและดำเนินคดีตามกฎหมายหากมั่นใจว่ามีการบุกรุกจริง ทว่า การทำเช่นนั้นจะยิ่งโหมไฟให้ลุกลามหรือไม่ และนั่นเป็นหนทางแก้ไขปัญหาหรือก่อสงครามเพิ่ม ยังเป็นเรื่องที่ต้องคิดให้หนักหน่วงในช่วงเวลาแห่งความเปราะบางนี้

หยุดเปิดแนวรบ เพื่อจบแบบ’ไม่เจ็บ’

ท่ามกลางสมรภูมิขัดแย้งทางความคิดที่ดูเหมือนจะจบลงโดยดี อย่างน้อยก็ในช่วงเวลานี้ กลับมีประเด็นใหม่จากเรื่องที่น่าแปลกใจยิ่ง เมื่อเพจ “อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา” ที่เคยให้ความรู้แก่ประชาชนเสมอมาในแง่ข้อมูลโบราณวัตถุสถานสำคัญกลับเผยแพร่ข้อมูลที่เสี่ยงเปิดแนวรบเพิ่มเติมโดยสืบเนื่องจากกรณีบูรณะเพนียดคล้องช้างอย่างไม่ต้องสงสัย นั่นคือการโพสต์เนื้อหา “วาระแห่งช้าง” เป็นตอนๆ พร้อมคลิปสารคดีต่างชาติจากเว็บไซต์ “ยูทูบ” และข้อมูลการเลี้ยงช้างอย่างทุกข์ทรมานเพื่อการทัวร์ แต่ส่งเสริมท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ปลดปล่อยช้างให้อยู่กับธรรมชาติ

งานนี้เรียกแขกแบบเต็มๆ โดยถูกตั้งคำถามว่า นี่ใช่ภาระหน้าที่ของกรมศิลปากรหรือไม่ อีกทั้งการเลี้ยงช้างในสังคมไทยกลายเป็นส่วนหนึ่งในวัฒนธรรม ส่วนความขัดแย้งระหว่างกรมศิลป์และธุรกิจภาคเอกชน หากมี ก็ควรไปคุยกันเอง ไม่ใช่เอาพื้นที่เพจมาเผยแพร่ข้อเขียนคัดค้านการเลี้ยงช้าง ดังเช่นความเห็นของ วิโรจน สุภโชคสหกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านความหลากหลายทางพันธุกรรมของประชากรช้างเลี้ยงในภาคเหนือ ที่ปรึกษาฝ่ายวิชาการมูลนิธิเพื่อนช้าง และหนึ่งในคณะกรรมการรวบรวมปัญหาและหาแนวทางแก้ไขเรื่องช้างและอนุกรรมการจัดทำแผนช้างแห่งชาติ ซึ่งเข้าไป “คอมเมนต์” ที่เพจอุทยานฯ ด้วยตัวเอง เปิดเผยถึงความไม่สบายใจในตอนหนึ่งว่า

“หน่วยงานของท่านเป็นส่วนราชการการเขียนบทความใดๆ จะต้องไม่กระทบต่อจิตใจของประชาชน ข้อมูลควรที่จะมีการรวบรวมวิเคราะห์ สังเคราะห์แล้วอย่างดีจึงควรนำเสนอ เป็นข้อเท็จจริงที่เชื่อถือได้นะครับ กรมศิลปากรมีผู้เชี่ยวชาญด้านช้างไทยอยู่หลายท่าน ท่านจะลงบทความเรื่องช้าง ท่านได้ปรึกษาท่านผู้รู้หรือยัง…..ช้างกับชาติไทยผูกพันกันมายาวนาน บทความของท่านเท่ากับทำลายจิตใจของคนเลี้ยงช้าง คนรักช้างและไม่เคารพต่อบรรพบุรุษช้างที่ได้สละชีพช่วยกอบกู้บ้านเมืองมา” ผู้เชี่ยวชาญระบุพร้อมปิดท้ายขอความกรุณาลบสเตตัสดังกล่าวก่อนเกิดความเสียหายมากไปกว่านี้

นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายความเห็นที่ห่วงจะกลายเป็นประเด็นลุกลามระดับชาติ จากความขัดแย้งที่เพนียดคล้องช้างอยุธยา ไปสู่กลุ่มคนเลี้ยงช้างทั่วประเทศ อาทิ ชาวจังหวัดสุรินทร์ ที่มาคอมเมนต์

ด้วยการบอกชื่อ-นามสกุลจริง แล้วเล่าถึงวัฒนธรรมการเลี้ยงช้าง อีกทั้งความรู้สึกของตนอย่างตรงไปตรงมา ก่อนปิดท้ายด้วยการตั้งคำถามว่า กรมศิลป์อยากมีศัตรูเป็นคนเลี้ยงช้างทั่วประเทศหรืออย่างไร ทั้งที่เป็นอะไรที่ไม่เกี่ยวกับหน่วยงานตัวเองเลย

ประเด็นวิพากษ์ในแวดวงศิลปวัฒนธรรม ไม่จ่อไมค์ไปยัง “แฟนพันธุ์แท้” กรมศิลปากร ผู้ติดตามการทำงานของหน่วยงานดังกล่าวมาตลอดชีวิตอย่าง สุจิตต์ วงษ์เทศ คงไม่ได้

“สยามได้รับการยกย่องในแง่ของการเลี้ยงช้าง ฝึกช้าง ค้าช้างที่ฝึกแล้ว โดยส่งไปขายที่อินเดียกับลังกา เรียกได้ว่าเป็นดินแดนที่มีชื่อเสียงในด้านนี้ พงศาวดารก็บันทึกไว้ว่า รัชกาลที่ 2 โปรดให้พระสงฆ์เดินทางไปลังกาพร้อมกับเรือค้าช้าง โดยลงเรือที่เมืองตรัง กรมศิลป์ควรสนับสนุนการเลี้ยงช้างที่ถูกต้อง และอธิบายประวัติศาสตร์ โบราณคดี เรื่องการค้าช้าง แทนที่จะออกมาต้านการเลี้ยงช้าง การทำแบบนี้แสดงว่ากรมศิลป์ไม่เข้าใจวัฒนธรรมเสียเอง ไม่รู้เรื่อง เลอะเทอะ

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ ยังไม่นับเหตุการณ์ก่อนหน้า ซึ่งเพจดังกล่าวแชร์เนื้อหาจากผู้ใช้เฟซบุ๊กที่เห็นต่างกับชาวบ้าน ซึ่งแม้มีข้อมูลทางประวัติศาสตร์และข้อคิดเห็นอันเป็นประโยชน์ แต่ก็ชวนตั้งคำถามว่า การที่เพจของหน่วยงานราชการ หรือเพจที่ทำโดยบุคลากรของภาครัฐดำเนินการเช่นนี้ มีความเหมาะสมหรือไม่?

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ดูเหมือนกรมศิลปากรมีการปรับตัวอย่างต่อเนื่อง ทั้งการปรับปรุงนิทรรศการในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จัดกิจกรรมที่เชื่อมโยงระหว่างศิลปะร่วมสมัยกับประณีตศิลป์ในอดีต ทำอีบุ๊กเผยแพร่เอกสารโบราณ หนังสือ และภาพถ่ายซึ่งได้รับความชื่นชมยิ่ง แต่ไม่ว่าอย่างไร ถ้าไม่ปรับทัศนคติที่ชวนให้ชาวบ้านคิดได้ว่ามองประชาชนที่เห็นต่างเป็นขั้วตรงข้าม ขาดการสื่อสารกับสาธารณะในการดำเนินงานอันเกี่ยวเนื่องกับชุมชน อคติกับสื่อมวลชนที่วิจารณ์อย่างสุจริต ความขัดแย้งก็ย่อมดำรงอยู่ไม่จบสิ้น

ไม่มีประโยชน์ทั้งต่อประเทศชาติและประวัติศาสตร์ของกรมศิลปากรเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image