MORE THAN EYES CAN SEE 80 ปี ‘มูลนิธิช่วยคนตาบอด’ โครงการดีๆ มากกว่าที่ตาเห็น

ผ่านไปอย่างสวยงาม สัมผัสได้ด้วยใจ และความรู้สึก สำหรับโครงการ ’80 ปีมากกว่าที่ตาเห็น’ ของมูลนิธิช่วยคนตาบอด แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ซึ่งมีขึ้นในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม ถึงต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ณ ศูนย์การเรียนรู้ ธนาคารแห่งประเทศไทย เนื่องในโอกาสครบรอบ 80 ปีของหน่วยงานดังกล่าวที่ดูแลผู้บกพร่องทางการมองเห็นเป็นอย่างดี ทั้งยังมีพัฒนาการก้าวหน้าตามยุคสมัยไม่เคยหยุดนิ่ง

งานดังกล่าว ไม่เพียงเปิดเผยให้เห็นถึงผลงานที่ผ่านมาตลอด 8 ทศวรรษของมูลนิธิซึ่งหลายคนอาจไม่เคยเห็น ยังมีนิทรรศการ ‘More than EYES can see : 80 ปี มากกว่าที่เห็น’ จัดแสดงภาพถ่ายและภาพวาดฝีมือคนตาบอดที่ทำให้รับรู้ถึงอีกมุมมองของคนกลุ่มนี้ซึ่งมีศักยภาพไม่ด้อยกว่าใคร เพียงแค่มีโอกาสซึ่งสังคมและคนรอบข้างต้องเปิดใจ โดยผู้เข้าชมยังมีโอกาสรับประสบการณ์การเป็นนายแบบนางแบบให้ผู้พิการทางสายตาถ่ายรูปไว้เป็นที่ระลึกอีกด้วย

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องราวน่าสนใจเกี่ยวกับขั้นตอน กระบวนการ และเทคโนโลยีการผลิต หนังสืออักษรเบรล และการผลิตสื่อภาพนูนต่างๆ สำหรับเป็นสื่อการเรียนการสอนให้กับนักเรียนพิการทางสายตา จึงได้ทราบว่ากว่าจะออกมาเป็นหนังสืออักษรเบรลได้เรียนกันต้องผ่านขั้นตอนอะไรกันมาบ้าง ทั้งยังไขปมปริศนาที่ว่าหนังสือทั่วไปที่เราๆ อ่านกันอยู่นั้น 1 เล่ม ต้องทำออกมาเป็นอักษรเบรลกี่เล่มกัน? ไม่เพียงเท่านั้นยังได้ทดลองเขียนอักษรเบรลด้วยอุปกรณ์จริงด้วย

Advertisement

อีกหนึ่งมุมที่สำคัญยิ่ง คือ เทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวัน ซึ่งในงานนี้ได้พาผู้ชมไปพบกับชีวิตแต่ละวันของผู้พิการทางสายตาผ่านแอพพลิเคชั่นต่างๆ บนมือถือ ให้คำตอบที่คนทั่วไปพากันสงสัยว่าผู้พิการทางสายตาเล่นไลน์ เฟซบุ๊ก Line เรียกรถ สั่งอาหาร อ่านข่าว โอนเงิน หรือแม้แต่เล่นเกมกันบนสมาร์ทโฟนได้อย่างไร

ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีเรื่องราวของแอพพลิเคชั่นที่เปิดโอกาสให้ใครๆ ได้มีส่วนในการช่วยเหลือคนตาบอดได้ เช่น แอพพ์อ่านหนังสือเสียง

มิสเจนีวีฟ คอลฟิลด์

ปิดท้ายด้วยการได้ชื่นชมผลงานสวยๆ และมีประโยชน์จากฝีมือผู้พิการทางสายตา ซึ่งทั้งดูดีและใช้งานได้ไม่ต่างจากผลิตภัณฑ์ของคนปกติ

Advertisement

กว่าจะดำเนินงานอย่างมั่นคงมาจนถึงวันนี้ ย้อนกลับไปในอดีตเมื่อแรกตั้งมูลนิธิแห่งนี้ซึ่งเกิดขึ้นจากแนวความคิดของ มิสเจนีวีฟ คอลฟิลด์ สตรีตาบอดชาวอเมริกัน ที่มีความมุ่งมั่นและต้องการช่วยเหลือผู้บกพร่องทางการเห็น และเห็นว่าประเทศไทยในขณะนั้นยังไม่มีองค์กรใดให้ความสนใจช่วยเหลือผู้บกพร่องทางการเห็น จึงเดินทางเข้ามาในประเทศไทยและเริ่มก่อตั้งโรงเรียนสอนคนตาบอดขึ้นเป็นแห่งแรกในประเทศไทย ณ บ้านเช่าหลังเล็ก ถนนคอชเช่ ศาลาแดง

มิสเจนีวีฟได้ร่วมกับนักศึกษาไทยประดิษฐ์อักษรเบรลภาษาไทยขึ้น ต่อมามีผู้จิตกุศลช่วยเหลือและสนับสนุนร่วมกันจัดตั้งมูลนิธิ ซึ่งในยุคนั้นใช้ชื่อว่า “มูลนิธิช่วยให้การศึกษาแก่คนตาบอดในประเทศไทย” เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2482 มีวัตถุประสงค์ในการให้การศึกษาแก่ผู้บกพร่องทางการเห็นตามสมควรแก่อัตภาพ เพื่อให้สามารถช่วยเหลือตัวเองและอยู่ในสังคมได้อย่างคนปกติทั่วไป โดยมิต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ

กระทั่งหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มิสเจนีวีฟจำเป็นต้องเดินทางไปยังประเทศญี่ปุ่น จึงได้ติดต่อขอนักบวชคณะซาเลเซียนมาช่วยบริหารงานแทน คณะซิสเตอร์ได้เข้ามาดูแลนักเรียนด้วยความเอาใจใส่ให้กำลังใจ ทำให้เด็กๆ มีกำลังใจต่อสู้อุปสรรคต่างๆ พิสูจน์ให้สังคมทั่วไปเห็นว่าคนตาบอดมีความสามารถในการเรียนรู้ และทำสิ่งต่างๆ ได้ เป็นเด็กมีระเบียบวินัย ซื่อสัตย์ และมีความกตัญญูต่อผู้มีพระคุณ มีผู้ศรัทธาบริจาคเงินให้การสนับสนุนมากขึ้น ทำให้การศึกษาของเด็กนักเรียนผู้บกพร่องทางการเห็นเจริญก้าวหน้าและมั่นคงยิ่งขึ้น คณะซิสเตอร์ได้มอบงานคืนให้มูลนิธิฯในปี พ.ศ. 2535

ต่อมาใน พ.ศ.2502 ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงรับไว้ในพระบรมราชินูปถัมภ์ และเปลี่ยนชื่อเป็น “มูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์” โดยมีคณะกรรมการมูลนิธิฯ เป็นผู้บริหารงานในประวัติศาสตร์ 80 ปีที่ผ่านมา มูล   นิธิฯได้ให้การสงเคราะห์ผู้บกพร่องทางการเห็น โดยตั้งอยู่ในหลักการที่ว่า การช่วยเหลือผู้บกพร่องทางการเห็นนั้น มิใช่ช่วยเพียงการเริ่มต้นที่โรงเรียนเพื่อให้ได้รับการศึกษาเท่านั้น หากแต่ต้องช่วยพัฒนาศักยภาพและสร้างโอกาสทางวิชาชีพเพื่อหารายได้เลี้ยงตนเอง โดยไม่เป็นภาระแก่ครอบครัว สังคม และประเทศชาติ จึงจะถือได้ว่าการดำเนินงานของมูลนิธิฯ สัมฤทธิผลโดยสมบูรณ์

มูลนิธิฯได้ดำเนินงานตามวัตถุประสงค์ข้างต้นอย่างเคร่งครัดและโปร่งใสมาโดยตลอด จนได้รับคัดเลือกเป็นหน่วยงานดีเด่นของชาติประจำปี พ.ศ.2542 จากคณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ สำนักงานเลขาธิการนายกรัฐมนตรี

นับเป็น 80 ปีที่มีคุณค่าอย่างเหลือล้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image