ไม่ใช่แค่เมืองกาสิโน ‘มาเก๊า’ในความหลากหลาย เทคโนโลยี เสรีการค้า วัฒนธรรม

สะพานข้ามทะเลยาวที่สุดในโลก ถึง 55 กิโลเมตร เชื่อมฮ่องกง มาเก๊า และจีนแผ่นดินใหญ่ เปิดอย่างเป็นทางการเมื่อ 23 ตุลาคม 2561 โดยประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ใช้งบหลายพันล้านดอลลาร์

ปฏิเสธไม่ได้ว่าภาพลักษณ์ของมาเก๊าที่กลายเป็นส่วนหนึ่งในความทรงจำของคนไทยคือเมืองที่มากมายด้วย “กาสิโน” ตระการตาด้วยแสงไฟระยับยามค่ำคืน ธุรกิจดังกล่าวนำพาซึ่งเม็ดเงินมหาศาลมาสู่ดินแดนแห่งนี้

ทว่า นั่นไม่ใช่แค่ความน่าสนใจของที่นี่ พื้นที่เล็กๆ ซึ่งมีประชากรไม่ถึงล้านคน แต่มากมายด้วยโอกาสและความพยายามในการพัฒนาไปสู่ความก้าวหน้าด้านอื่นๆ นอกเหนือจากกาสิโน ภายใต้คำว่า “เขตปกครองพิเศษ” ของสาธารณรัฐประชาชนจีน และเช่นเดียวกับฮ่องกง โดยในวันนี้มาเก๊าเป็นเมืองเสรีทางการค้าและการเงิน ประชากรมีรายได้ต่อหัวสูง

“หนึ่งประเทศ สองระบบ” คือ หลักการบริหารงานของมาเก๊า ซึ่งมีทั้งคนมาเก๊า ปกครองมาเก๊า และรัฐบาลจีนให้สวัสดิการและสนับสนุนในด้านต่างๆ ส่งผลถึงการเติบโตด้านเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง

เมื่อเร็วๆ นี้ จีนเพิ่งแถลงเปิดตัวโครงการวางแผนการพัฒนาเขตอ่าวกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า โดยคาดหวังให้เป็นเขตที่มีศักยภาพการแข่งขัน มุ่งหน้าสร้างศูนย์นวัตกรรม วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี

ก่อนหน้า รัฐบาลจีนเปิดเผยถึงแผนการจัดตั้ง เขตกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า เกรทเทอร์ เบย์ แอเรีย ซึ่งจะเป็นศูนย์กลางพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในด้านนวัตกรรมเทคโนโลยีแห่งใหม่ อันประกอบด้วย กวางตุ้ง ฮ่องกง มาเก๊า กว่างโจว เซินเจิ้น จูไห่ ฟอชาน ฮุยโจว ตงกวน ซองชาน เจียงเหมิน และเจ้าฉิง คาดหวังผลักดันความรุ่งเรื่อง ทันสมัย ภายใน พ.ศ.2565

Advertisement
ชีวิตปกติของคนท้องถิ่นซึ่งมีประชากรทั้งสิ้นไม่ถึงล้านคน สินค้าส่วนใหญ่นำเข้าจากฮ่องกง คนมาเก๊ารู้จัก “ข้าวหอมมะลิ” และผลไม้เมืองร้อนของไทยเป็นอย่างดี

หันมามองความร่วมมือกับบ้านเรา ชุย ไซ ออน (Mr.Chui Sai On) ผู้บริหารสูงสุดของมาเก๊า เข้าเยี่ยมคารวะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อกลางปีที่ผ่านมา เพื่อกระชับสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ การค้าเป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปี ในวันเดียวกัน ยังมีการเซ็นเอ็มโอยู 2 ฉบับ ได้แก่ 1.บันทึกความเข้าใจเพื่อการสถาปนาความสัมพันธ์ฉันมิตรระหว่างจังหวัดภูเก็ตกับมาเก๊า 2.บันทึกความเข้าใจระหว่างกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กับสถาบันส่งเสริมการลงทุนและการค้าของมาเก๊า

สำหรับภาคประชาชน คนมาเก๊ารู้จักประเทศไทยและสินค้าไทยเป็นอย่างดี โดยเฉพาะ “ข้าวหอมมะลิ” และผลไม้เขตร้อน ส่วนคนไทยก็แวะเวียนถือพาสปอร์ตไปประทับตราในฐานะนักท่องเที่ยวส่วนหนึ่งในกว่า 10 ล้านคนจากทั่วทุกมุมโลก โดยสามารถข้ามจาก “ฮ่องกง” เมืองยอดฮิตสำหรับนักกินนักช้อปชาวไทยแลนด์ไปยังมาเก๊าด้วย “สะพานฮ่องกง-จูไห่-มาเก๊า” สะพานข้ามทะเลที่มีระยะทางยาวไกลที่สุดที่โลกนี้เคยมี ด้วยสถิติ 55 กิโลเมตร เชื่อมเกาะฮ่องกง มาเก๊า และจูไห่ บนแผ่นดินใหญ่ของจีนบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำเพิร์ล ช่วยย่นเวลาการเดินทางลง เพิ่มทางเลือกและความสะดวกสบายที่มีทิวทัศน์งดงามข้างหน้าต่างเป็นกำไรให้เก็บเกี่ยว

ความล้ำสมัยและสีสันของมาเก๊าในวันนี้ ชวนให้ย้อนจินตนาการถึงอดีตอันไกลโพ้นของมาเก๊า ที่กว่าจะเดินทางผ่านกาลเวลาและเรื่องราวมากมายมาจนถึงวันนี้ มีจุดเริ่มต้นจากการเป็นชุมชนชาวประมงที่มีผู้คนจากมณฑลฝูเจี้ยนและชาวนาจากมณฑลกวางตุ้งเข้ามาตั้งรกรากอยู่อาศัยและทำมาหากินเลี้ยงชีพ เดิมถูกเรียกว่า “โอหมูน” แปลว่า “ประตูแห่งการค้าขาย” ด้วยโลเกชั่นที่ตั้งอยู่บนปากแม่น้ำจูเจียง ซึ่งหมายถึงไข่มุก ทางตอนใต้ของมณฑลกวางเจา ในอดีตเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางสายไหมซึ่งที่นี่เคยมีเรือบรรทุกไหมส่งไปยังดินแดนแสนไกลอย่างกรุงโรม

Advertisement

เมื่อเวลาผ่านไป แม้กระทั่งในยุคที่จีนไม่ได้เป็นศูนย์กลางการค้าของโลกอีกต่อไป แต่กวางเจายังคงร่ำรวยจากการค้าทางทะเลกับประเทศในแถบอุษาคเนย์ หรือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผู้คนท้องถิ่นจึงยังเปิดประตูต้อนรับพ่อค้าและนักสำรวจชาวโปรตุเกสซึ่งเดินทางตามรอยทางของ จอร์จ อัลวาเรส ซึ่งขึ้นฝั่งทางตอนใต้ของจีนใน ค.ศ.1513 หรือ พ.ศ.2056 หากเทียบกับห้วงเวลาของประวัติศาสตร์ไทย ตรงกับสมัยกรุงศรีอยุธยา

อีกราว 4 ทศวรรษต่อมา ชาวโปรตุเกสเดินทางมาโอหมูน ซึ่งคนท้องถิ่นเรียกว่า “อาม่าเก๊า” แปลว่า “สถานที่ของอาม่า” เพื่อเป็นเกียรติกับเทพธิดาแห่งชาวเรือซึ่งมีวัดตั้งอยู่บริเวณทางเข้าท่าเรือ เมื่อชาวโปรตุเกสเรียกชื่อนี้ตามชาวบ้าน ก็ค่อยเปลี่ยนเป็น “มาเก๊า” พัฒนาเป็นคลังสินค้าสำหรับธุรกิจระหว่างจีน ญี่ปุ่น อินเดีย และยุโรปในอดีต

เมื่อยุคทองของโปรตุเกสในทวีปเอเชียค่อยๆ เจือจางลงไป ในขณะที่คู่แข่งเช่นชาวดัตช์และชาวอังกฤษเข้ามายึดการค้าขายของชาวโปรตุเกส อย่างไรก็ตาม ชาวจีนยังคงเลือกที่จะทำธุรกิจผ่านชาวโปรตุเกสในมาเก๊า บริษัท British East India และอื่นๆ เข้ามาก่อตั้งร้านรวงเป็นระยะเวลานานกว่าศตวรรษ ในขณะที่การค้าของยุโรปกับจีนเติบโต พ่อค้าชาวยุโรปใช้ชีวิตอยู่ในกวางเจา ซื้อใบชาและของฟุ่มเฟือยของชาวจีนที่งานแฟร์ซึ่งจัดขึ้นปีละ 2 ครั้ง โดยใช้มาเก๊าเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ

เขตชุมชนเก่าและมรดกโลกซึ่งผู้คนอยู่ร่วมกับมรดกทางวัฒนธรรมอย่างสอดคล้องและลงตัว โดยมีผู้เดินทางมาเยี่ยมเยือนเพื่อการท่องเที่ยวโดยเฉพาะอย่างน้อยกว่า 10 ล้านคนต่อปี

ในยุคหลังสงครามฝิ่นใน ค.ศ.1841 อังกฤษเข้าปกครองฮ่องกง พ่อค้าต่างชาติส่วนใหญ่ย้ายออกไปจากมาเก๊า ผู้คนยังคงใช้ชีวิต ประวัติศาสตร์ยังคงดำเนินต่อไปกระทั่งเข้าสู่ยุคที่มีการพัฒนาอุตสาหกรรม อย่างสิ่งทอ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และของเล่น กระทั่งเป็นเมืองท่องเที่ยวซึ่งเป็นที่รู้จักในระดับโลกในฐานะเมืองแห่งความบันเทิงเริงใจ มากมายด้วยโรงแรมหรู รีสอร์ตชั้นเยี่ยม บ่อนกาสิโนระดับต่างๆ ให้เลือกสรรตามชอบใจ ตึกรามบ้านช่อง อาคาร สิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่ผุดขึ้นอย่างมากมาย บนพื้นที่ที่ได้จากการถมทะเลเพิ่มเติม

โบสถ์เซนต์ปอล เหลือเพียงซากประตูจากไฟไหม้รุนแรง ปัจจุบันกลายเป็นหนึ่งในภาพจำของนักท่องเที่ยวที่มีต่อมาเก๊า นอกเหนือจากกาสิโนมากด้วยสีสัน

มาเก๊ากลายเป็นชุมทางที่บรรจบระหว่างสองวัฒนธรรมสองซีกโลก ในประวัติศาสตร์ยาวนานของการถูกปกครองโดยโปรตุเกส ความเป็นตะวันตกและตะวันออกได้หลอมรวมผสมผสานกลายเป็นความรุ่มรวยทางวัฒนธรรม ยากจะเลียนแบบ ทิ้งร่องรอยหลักฐานไว้แทบทุกอณูของพื้นที่ อาทิ โบสถ์เซนต์ปอล ซึ่งวันนี้เหลือเพียงซากประตู แต่นั่นยิ่งกลับกลายเป็นเสน่ห์ที่ดึงดูดให้ผู้คนมาเช็กอินมากมายในวันนี้ ยังมีป้อมปราการในรูปแบบสถาปัตยกรรมที่เป็นเอกลักษณ์ ย่านเมืองเก่าของชาวจีนที่เคยเป็นฉากในภาพยนตร์ดังระดับฮอลลีวู้ด รวมถึงหนังเท่ๆ เหงาๆ และเดียวดายอย่างไม่โรแมนติกของผู้กำกับคนดังแห่งเอเชีย “หว่อง กาไว” ผู้หลงใหลในความพิเศษของมาเก๊า

แม้ล่าสุดในปีนี้มีข่าวว่ามาเก๊าได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจที่ซบเซา ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวที่หอบเงินเข้าไปใช้จ่ายจะลดลงถึงขั้นรายได้ต่ำสุดในรอบ 3 ปี แต่การเดินหน้าแผนงานเศรษฐกิจระยะยาวในโครงการใหญ่ๆ ยังดำเนินต่อไป โดยนักวิเคราะห์เชื่อว่าสถานการณ์จะดีขึ้น การพัฒนานับจากนี้ไปสู่อนาคตภายใต้การปกครองด้วยคนมาเก๊าเองและการดูแลผลักดันของรัฐบาลจีน ยังเป็นเรื่องชวนติดตาม



อ้างอิงข้อมูลส่วนหนึ่งจาก

-กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ

-กรมเอเชียตะวันออก กระทรวงการต่างประเทศ

-สำนักงานการท่องเที่ยวของรัฐบาลมาเก๊า

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image