69 วัน ศึกกัญชา ส่อง ‘แคนาดา’ มองไทย จากการแพทย์ถึงความสุนทรีย์

เข้มข้นขึ้นทุกขณะสำหรับสงครามทางความคิดที่กลายเป็นศึกใหญ่ในสมรภูมิการต่อสู้เพื่อผลักดันพืชที่เคยถูกแปะป้ายว่าผิดกฎหมายอย่าง “กัญชา” ให้สามารถใช้ในทางการแพทย์ได้อย่างภาคภูมิ

นับแต่ พรชัย ชูเลิศ หรืออาจารย์ซ้ง เจ้าหน้าที่มูลนิธิข้าวขวัญถูกจับกุม เมื่อ 3 เมษายน กระทั่งได้รับการประกันตัว ตามมาด้วยเหตุการณ์ที่มวลชนกู่ก้องตะโกนชื่อผู้แจกจ่ายน้ำมันกัญชาให้ผู้ป่วยนาม “เดชา ศิริภัทร” ลั่นสนามบินดอนเมือง จนถึงวันนี้ 11 มิถุนายน เป็นเวลา 69 วัน แห่งการเรียกร้อง เวทีวิชาการถกเถียงเกิดขึ้นนับครั้งแทบไม่ถ้วน แถลงการณ์ฉบับแล้วฉบับเล่าของมูลนิธิชีววิถี หรือไบโอไทย อีกทั้งองค์กรต่างๆ ในทิศทางเดียวกันถูกเผยแพร่อย่างต่อเนื่อง รวมถึงการเดินขบวนที่ล่าสุด แอ๊ด คาราวบาว เข้าร่วมเจตนารมณ์ปลดล็อกกัญชา คำแถลงอิสรภาพกัญชารักษาโรคถูกอ่านอย่างฮึกเหิม พร้อมเปิดเผยยอดผู้ร่วมลงชื่อหนุนกว่า 3 หมื่นราย

สถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในเมืองไทยนี้ อยู่ในสายตาของ ณัฏฐา ชื่นวัฒนา นักศึกษาปริญญาเอกด้าน archaeobotany หรือโบราณพฤกษคดี มหาวิทยาลัยโตรอนโต ประเทศแคนาดา ซึ่งสนใจในกัญชาในฐานะพืชท้องถิ่นของไทยที่ถูกกฎหมายบังคับให้สูญพันธุ์ ในขณะที่รัฐบาลแคนาดา นำโดย จัสติน ทรูโด ไฟเขียวเปิดเสรีกัญชาอย่างเป็นทางการไปหมาดๆ เมื่อเดือนตุลาคม 2561 ถูกจารึกชื่อเป็นลำดับที่ 2 ของโลกต่อจากอุรุกวัย โดยกฎหมายอนุญาตให้บุคคลอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี ครอบครองกัญชาแห้งได้ไม่เกิน 30 กรัม ปลูกไว้ในเคหสถานได้ 4 ต้น บางเมืองเปิดร้านจำหน่ายครึกครื้น ในขณะที่บางเมืองซื้อได้ผ่านเว็บไซต์ของรัฐ

เมื่อเปรียบเทียบกับบ้านเราในห้วงเวลานี้ มีประเด็นน่าสนใจหลายประการที่ ณัฏฐา ผู้ใช้ชีวิตอยู่ในแคนาดามองเห็นความเป็นไปโดยเชื่อมโยงเศรษฐกิจ การเมือง และเรื่องหยูกยาอย่างครบถ้วน

Advertisement

ช่องว่างระหว่าง ‘รุ่น’

ไขแนวคิด ‘อิมพอร์ต’ ลดเม็ดเงินลงทุน

“สังคมไทยเป็นสังคมที่อนุรักษนิยมมาก ในขณะเดียวกันกฎหมายกับการบังคับใช้กฎหมายหลายๆ อย่างมันทำให้กัญชาเป็นพืชผิดกฎหมายมานาน กัญชาเป็นพืชท้องถิ่นในเขตร้อนชื้นของประเทศไทยอยู่ดีๆ ก็ถูกบังคับให้สูญพันธุ์ด้วยการแปะป้ายว่าเป็นยาเสพติด มันก็ส่งผลให้เกิดการกำจัดต้นกัญชา ผลิตภัณฑ์จากกัญชาอย่างกว้างขวาง และยังควบคุมพฤติกรรมของคนที่เคยใช้กัญชา เมื่อพฤติกรรมของคนเกิดการถูกควบคุม ความรู้ ภูมิปัญญาพื้นบ้านของเราที่เคยมีเกี่ยวกับสรรพคุณและผลเสียของกัญชาก็ลดลงหรือหายไปในที่สุด จะเกิดเหมือนกรณีการทำลายฝิ่นคือตัดทิ้ง เผาทำลาย ความหลากหลายของสายพันธุ์กัญชาพื้นบ้านมันก็หายไปพร้อมๆ กันด้วย กัญชาท้องถิ่นต่างๆ อาจจะเคยมีมากมายหลายสายพันธุ์ในแต่ละภาค มีความทนทานต่อสภาพอากาศ โรคพืชต่างๆ ที่แตกต่างกันไปในแต่ละท้องที่ มันก็หายไป ไม่รู้ว่าอยู่ไหน หรือยังมีอยู่หรือเปล่า” เปิดประเด็นด้วยสถานะของกัญชาที่ผู้เชี่ยวชาญด้านพืชเชื่อว่าส่วนหนึ่งสาบสูญไป โดยมองว่าสิ่งที่รัฐบาลใหม่ควรทำอย่างแรกคือรวบรวมข้อมูลเหล่านี้ อย่างไรก็ตาม การปลูกหรือสร้างกัญชาพันธุ์พื้นเมืองขึ้นมาจากสิ่งที่เคยถูกพยายามทำให้หายไปเป็นสิ่งที่ยากมาก

“ในอดีตกัญชาเป็นส่วนหนึ่งของตำรายาไทย เป็นส่วนประกอบในตำรับยาต่างๆ แต่พอจะย้อนกลับไปในจุดนั้น สิ่งที่ขาดไปคือความรู้และภูมิปัญญาท้องถิ่นต่างๆ ซึ่งขาดช่วงไปแล้ว เราไม่รู้ว่าจะต้องใช้กัญชาอย่างไรถึงจะปลอดภัย ต้องปลูกอย่างไร ต้องดูแลอย่างไร ความรู้ก่อนหน้ายุคสมัยใหม่ ซึ่งยังเป็นภูมิปัญญาพื้นบ้านหายไปพร้อมๆ กับการบังคับใช้กฎหมาย คนที่รู้ก็อาจจะไม่อยู่แล้ว มันเป็นความรู้ที่ตกหล่นไประหว่างช่องว่างระหว่างคนรุ่นหนึ่งกับอีกรุ่นหนึ่ง มันอาจจะตกหล่นอยู่ที่ไหนก็ได้ จึงเป็นเรื่องของรัฐบาลที่จะสร้างความมั่นใจต่อผู้รู้ที่ยังกบดานอยู่ จะสร้างความมั่นใจกับคนเหล่านี้ได้ไหม แล้วจะดึงความรู้ในส่วนที่ถูกเก็บรักษาเอาไว้ หรือที่สำคัญที่สุดคือ สายพันธุ์กัญชาที่ถูกแอบเก็บรักษาเอาไว้ เป็นกัญชาพันธุ์พื้นบ้านที่เข้ากับสภาพภูมิอากาศของประเทศไทยและความรู้ในส่วนที่ไม่เป็นทางการ คือ ทำอย่างไรให้ความรู้ส่วนนี้เป็นทางการ เป็นระบบขึ้นมา นี่คือมรดก เป็นทุนที่เรามีมาก่อน สามารถนำมาใช้เป็นจุดขายให้เกิดความแตกต่างทางการตลาด รวมทั้งการปรับปรุงสายพันธุ์กัญชาไทยในอนาคตได้ คือเราไม่สามารถทิ้งคนตัวเล็กตัวน้อยพวกนี้ได้เลย”

“ตอนนี้รู้สึกว่าที่ไทยกำลังตั้งไข่ ไม่แน่ใจว่าจะไปตรงไหนคุณอนุทิน ชาญวีรกูล ก็ดูเหมือนยังไม่ชัวร์ว่าจะได้ดูแลนโยบายในกระทรวงเกษตรฯ ไหม ซึ่งในตอนนี้คนที่ชัดเจนเรื่องกัญชาก็มีแต่พรรคภูมิใจไทย พรรคอื่นดูเหมือนยังไม่ชัดเจนเท่าไหร่ เมื่อการจัดการเก้าอี้ในคณะรัฐมนตรียังไม่เรียบร้อย ก็คิดได้เหมือนกันว่าจะเอาอย่างไรกับกัญชา แล้วเราก็ไม่รู้ว่าจริงๆ กระทรวงสาธารณสุข หรือกระทรวงเกษตรฯ จะเป็นเจ้าภาพใหญ่ในการจัดการเรื่องกัญชา เพราะโดยธรรมชาติของทั้งสองกระทรวงจะมีมุมมองเรื่องกัญชาที่แตกต่างกันมากๆ อยู่แล้ว”

Advertisement

ส่วนแนวคิดเรื่องการ “อิมพอร์ต” กัญชาจากเมืองนอก ณัฏฐาอธิบายว่า เพราะกัญชาในต่างประเทศผ่านการศึกษามาอย่างดี โดยมีการ “ลงทุน” ในด้านต่างๆ อย่างมากมาย ต่างจากกัญชาของไทยในขณะนี้

“ต้องเข้าใจก่อนว่าการปลูกกัญชาในที่หนาวเย็นต้องใช้การลงทุนมาก พื้นที่ที่อากาศหนาวจะต้องทำอย่างไรให้ร้อน ทำอย่างไรให้ชื้น ให้กัญชาโตได้แข็งแรงโดยไม่มีโรครบกวน ให้สารเคมีทางยาที่ได้มาตรฐาน มันก็ต้องใช้เงิน ใช้ไฟฟ้า ใช้ทรัพยากรต่างๆ มากมาย เขาพยายามเพาะพันธุ์กัญชาให้ได้ผลมากที่สุดในพื้นที่น้อยที่สุด ผ่านการคิดค้นมาอย่างดี คำนวณแล้วทุกตารางเมตรเพื่อให้คุ้มค่าไฟ เพราะแพง ไหนจะค่าแรงอีก ดังนั้น ทุกอย่างต้องคุ้ม แล้วเขาจะปลูกกัญชาแบบไหนที่ทำให้คนซื้อ ลูกค้าเมืองนอกเขาเลือกกัญชาที่ปลูกเป็นกัญชาพุ่มเตี้ย ออกดอกได้ไวโดยไม่เปลืองพื้นที่ปลูก ไม่เหมือนกัญชาพื้นเมืองในเมืองไทยที่ชูขึ้นไปสูง 2 เมตร กว่าจะออกดอกเล็กนิดเดียว นี่คือความแตกต่างระหว่างสายพันธุ์ที่มีในตอนนี้”

มาตรฐานกัญชาไทย ยังห่างไกลจากดวงดาว

จากประเด็นข้างต้น แน่นอนว่าเชื่อมโยงมาถึง “มาตรฐาน” ของกัญชา ซึ่งณัฏฐามองว่า กัญชาไทยไม่น่าจะผ่านมาตรฐานโดยง่าย เนื่องจากมีข้อมูลว่ากัญชาไทยอัดแท่งที่ขายๆ กันมีการสับส่วนต้น ใบ ดอก รวมกันแล้วอัดเป็นแท่ง อีกทั้งมีสารปนเปื้อน ในขณะที่กัญชาตามมาตรฐานจะขายเฉพาะดอก ซึ่งเป็นส่วนที่มีน้ำมันเยอะที่สุด และเป็นดอกที่ตัดแต่งเรียบร้อยแล้ว ส่วนก้านจะถูกตัดทิ้งหมด

“จะเห็นได้ว่ามาตรฐานที่เรามีต่างจากเขา ความเข้าใจว่าทำไม อาจเป็นไปได้ว่ากัญชาไทยปลูกยากกว่าจะให้ดอกใช้เวลานาน แถมกินพื้นที่เยอะด้วย แล้วตอนนี้จะปลูกเป็นพื้นที่มากๆ ก็ไม่ได้ เพราะจะถูกจับ คนหัวใสก็คิดว่าจะทำอย่างไรให้คุ้มทุน ผู้ผลิตก็ตัดส่วนอื่นผสมของกัญชาผสมไปด้วยเลย มันก็เลยเหมือนก้อนจับฉ่ายกัญชา ปัญหาคือ ถึงเราจะรู้มาตรฐานตลาดโลก แต่จะผลิตอย่างไร ทั้งในแง่ของวัตถุดิบและการส่งเสริมให้คนปลูก จะแก้กฎหมายอย่างไร ใครจะเป็นคนที่มีศักยภาพในการทำตามกฎหมายอย่างถูกต้อง

ที่ “โรเบิร์ตสายควัน” ออกมาพูดว่า ก้านไอ ใบเสลด เม็ดขี้ตา แม้จะเป็นคำกล่าวเล่นๆ ออกทีวี แต่บ่งบอกว่าคนที่เคยสูบกัญชาเขารู้ว่าสูบอะไรเข้าไปจะเกิดผลต่อร่างกายอย่างไร จะเห็นว่าเขาไม่พูดถึงดอกเลย เพราะดอกคือส่วนที่คุณภาพดีที่สุด มีความเข้มข้นของน้ำมันกัญชามากที่สุด”

ณัฏฐายังอธิบายในรายละเอียดว่า มาตรฐานกัญชาเมืองนอกมีเลเบิลที่ระบุว่า กัญชาสายพันธุ์นั้นๆ มีปริมาณ CBD หรือ Cannabidiol oil คือ “น้ำมันดี” เท่าไหร่ ถ้าต้องการใช้กัญชาไปรักษาอาการชัก โดยไม่ต้องการเมาจาก THC หรือ Tetrahydrocannabinol ซึ่งเป็นสารที่ทำให้เมา คนที่ต้องการรักษาอาการเจ็บป่วยก็จะเลือกซื้อน้ำมันกัญชาที่มีแค่สารแคนนาบิโดลออยล์ในปริมาณสูง

“กัญชาส่วนใหญ่ในเมืองนอกที่เขาปลูกกัน ที่เขาคัดเลือกสายพันธุ์กัน เขามีการทำดัชนีสารเคมีสองตัว คือ CBD และ THC หมดแล้ว เขามีความเข้าใจในสายพันธุ์ นี่คงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดแนวคิดการอิมพอร์ตระบบและพันธุ์เข้ามาในไทย เพราะไม่ต้องลงทุนทำอะไรเยอะแยะ เราก็รู้ว่าเราจะได้ผลผลิตแบบไหน ไม่อย่างนั้นกว่าจะพัฒนาสายพันธุ์ กว่าจะทำดัชนีสายพันธุ์ น้ำมันดี น้ำมันไม่ดี จากสายพันธุ์พื้นบ้าน ใช้เวลานาน และไม่แน่ใจว่าสายพันธุ์พื้นบ้านที่เรามี จะเป็นสายพันธุ์ที่ตลาดต้องการหรือไม่ ถ้าลงทุนมหาศาล ทำอย่างนั้นคงไม่คุ้มทุน และช้าเกินไป”

‘ฉลาก’ กัญชา แคนาดาสุดเข้ม

อีกหนึ่งประเด็นน่าสนใจคือ แง่มุมกฎหมายที่มีผู้แสดงความเห็นด้วยความห่วงใยว่าประเทศไทยเคยเซ็นสัญญากับองค์การสหประชาชาติเรื่องสารเสพติด ดังนั้น เราอาจผิดกฎหมายถ้าเปิดกัญชาเสรี มาถึงตรงนี้ ณัฏฐาตั้งข้อสังเกตว่า

“แคนาดาก็เซ็นเหมือนกัน ในเว็บไซต์ของรัฐบาลแคนาดาสามารถดาวน์โหลดคู่มือมาดูได้ เป็นคู่มือที่รัฐบาลได้ศึกษามาแล้วในการเปิดเสรีกัญชา จะมีส่วนหนึ่งในรายงานที่อุทิศให้กับการบังคับใช้กฎหมายและวิธีคิด ซึ่งละเอียดมาก จุดสำคัญคือไม่มีการกล่าวถึงอนุสัญญาเกี่ยวกับยาเสพติดของสหประชาชาติเลย ได้ข่าวว่ามีนักกฎหมายท่านหนึ่งกล่าวประเด็นนี้ขึ้นมาว่าเป็นสิ่งที่ไทยต้องคิดก่อน โดยห่วงว่าอาจทำให้เรามีปัญหาเหมือนตอนประมงหรือไม่ แต่แคนาดาไม่มีการพูดถึง ไม่แน่ใจว่าไทยเซ็นในข้อย่อยอื่นที่ต่างจากแคนาดาหรือไม่”

เรียกได้ว่า แม้ในอนาคตรัฐบาลจะไฟเขียวทุกสิ่งอย่าง แต่ขวากหนามข้างหน้าและประเด็นที่ต้องพิจารณาก็ยังมีอีกมาก

“บ้านเรายังอยู่ในช่วงแรกเริ่ม แม้แต่แคนาดาที่เป็นสังคมที่เป็นเสรีนิยมก้าวหน้ามากๆ ตอนนี้เขาก็ยังต้องเรียนรู้ เพราะมีปัญหามากมาย ในการเปิดเสรีกัญชาที่แคนาดาต้องถามประชาชนด้วย ผู้ว่าฯของเมืองมีสิทธิตัดสินใจว่าต้องการให้มีร้านขายกัญชาในพื้นที่ของคุณไหม? ถ้าบอกไม่ให้มี จบเลย จะไม่มีร้านขายในเมืองนั้น แต่ในจังหวัดออนตาริโอ สามารถซื้อออนไลน์ได้ แต่มีการใช้กระบวนการพิสูจน์บุคคลว่าคุณไม่ใช่เยาวชน ไม่ได้ใช้ให้คนนั้นคนนี้มาซื้อแทน แล้วพอซื้อมาที่บ้าน ในคู่มือมีบอกไว้หมดเลยว่ากัญชาต้องมีฉลากแบบไหนจึงจะถูกกฎหมาย ทำคล้ายฉลากยาเลย เวลาส่งมาที่บ้านก็จะเป็นกล่องธรรมดา ดูข้างนอกก็จะไม่รู้ว่าเป็นกัญชา เขาพยายามอย่างยิ่งที่จะเอาเงินเหล่านี้จากตลาดมืดมาเข้ากระเป๋ารัฐ และเขาทรีตกัญชาเหมือนเป็นยาชนิดหนึ่ง มีคำเตือน มีเลเบิล เมืองไทยเมื่อเทียบกับแคนาดายังเป็นการต่อสู้ทางความคิดอยู่ ความคิดที่เราถูกปลูกฝังให้เชื่อว่ากัญชาเป็นพืชอันตราย ยังเป็นจุดเริ่มต้นมากๆ ยังอีกไกลที่สุดเลย”

บวก ลบ ดี ร้าย ข้อมูล 2 ด้านที่ต้องนำเสนอ

ปฏิเสธไม่ได้ว่าหนึ่งในประเด็นน่าห่วงคือการใช้น้ำมันกัญชาอย่างขาดความรู้ความเข้าใจซึ่งทำให้เกิดข่าวการน็อกเข้าโรงพยาบาลหลายราย สำหรับในแคนาดา ณัฏฐาบอกว่า ที่นั่นประเด็นเสรีกัญชาก็เป็นเรื่องฮอต มีสื่อนำเสนอข้อมูลมากมาย ผู้คนค้นคว้าด้วยตัวเองก็เยอะ โดยเฉพาะผู้ปกครองชาวแคนาดาซึ่งกระตือรือร้นมาก ว่าทำอย่างไรไม่ให้ลูกเข้าถึงกัญชาได้ มีการประชาสัมพันธ์โดยภาครัฐและตำรวจ

“มีการออกข่าวแจ้งเตือนคน พอเห็นบ่อยๆ เข้าก็เริ่มชิน และเริ่มอินด้วยว่าตกลงกัญชาดีหรือไม่ดี เพราะเป็นการเสนอข่าวและข้อมูลทั้ง 2 ทาง ไม่ได้โปรไปทั้งหมด แต่ให้ดูข้อเสียด้วย การหยดน้ำมันกัญชาเกินขนาดทำให้หลอนได้ ถามว่าที่แคนาดาแพร่หลายขนาดไหน ก็ไม่ได้เข้มข้น หรือหาซื้อง่ายเหมือนเข้าร้านสะดวกซื้อ รัฐบาลย้ำให้ใช้ด้วยความระมัดระวัง การหยดน้ำมันกัญชาอาจดูเหมือนง่ายๆ แต่จริงๆ แล้วหยดเล็ก หยดใหญ่ คนที่เคยสูบกัญชากับไม่เคยสูบก็จะมีความต้านทานต่างกัน คนที่เคยปวดมานานๆ แล้วใช้กัญชาเพื่อระงับอาการปวดเรื้อรัง อาจจะมีช่วงที่ต้องใช้มากขึ้น คนไม่เคย อาจจะน็อกแค่ครึ่งหยดก็ได้ เพราะร่างกายมันไม่เคยเสพมาก่อน มีความอ่อนไหวต่อกัญชา เพราะปฏิกิริยาของแต่ละคนที่มีต่อกัญชาไม่เหมือนกัน”

ปราบรายย่อย ดันรายยักษ์

กับดักที่เสี่ยงก้าวพลาด?

ปิดท้ายที่ประเด็นที่หลายฝ่ายห่วงว่าการเปิดเสรีกัญชาอาจมีส่วนเอื้อให้นายทุนมากกว่าผู้ปลูกรายย่อยหรือไม่?

ณัฏฐาเล่าถึงการประชาพิจารณ์ในแคนาดา ก่อนเข้าสู่ประเด็นดังกล่าว

“แคนาดาเลือกนายกฯที่มีนโยบายกัญชาชัดเจน ก็เหมือนๆ กับว่ามีประชาพิจารณ์แล้วผ่าน คนสนับสนุนนโยบายของรัฐ แต่ในขณะเดียวกัน การได้อำนาจจากประชาชนในส่วนนั้นมาก็ไม่ได้หมายความว่าจะสามารถตัดสินใจแทนผู้ว่าราชการทุกจังหวัดได้ แต่ละจังหวัดมีอำนาจมาก ต่อรองกับนายกฯ เพราะต้องมีการแบ่งเงิน โดยท้องถิ่นจะเป็นคนจัดการ นี่คือระบบส่วนท้ายๆ แล้วหลังเปิดเสรีถูกกฎหมาย ต้องทำอย่างไรให้คนเข้าถึงจริงๆ กฎหมายแต่ละพื้นที่ คนที่ไม่ชอบจะทำอย่างไร ถ้าเป็นเด็กทำอย่างไร การบังคับใช้กฎหมายของตำรวจในแต่ละท้องที่ก็เหมือนกัน ตอนนี้ก็มีปัญหามากในการตรวจจับ ตำรวจจะเขียนรายงานตอนฟ้องศาลอย่างไร จะแสดงให้ศาลทราบได้อย่างไรว่าคนนี้มันไฮมาก ปัญหาคือจะให้คนเป่าเครื่องเหมือนตรวจระดับแอลกอฮอล์ในลมหายใจก็ไม่ได้ เพราะมันตรวจจับสารเคมีในกัญชาตัวนี้ไม่ได้ แล้วจะตรวจระดับของความไฮในตัวคนอย่างไรให้เป็นมาตรฐาน? จะเจาะเลือดข้างถนนมันก็ยุ่งยากไม่สะอาด แล้วเราจะตรวจยังไง จะตรวจเหงื่อ ตรวจเลือด ตรวจน้ำลาย? เราจะทำอย่างไรให้คนที่ไฮไม่ออกมาขับขี่บนท้องถนน ทำอย่างไรที่จะทำให้ท้องถนนปลอดภัย ทำอย่างไรที่จะตรวจจับและป้องปรามคนเหล่านี้ได้

แม้ถูกกฎหมายจริง แต่ต้องใช้ความพยายามในการไปหามา และความพยายามที่จะแสดงตัวว่าคุณสามารถซื้อได้ หรือแม้แต่เป็นผู้ซื้อผู้ขายเองก็ต้องผ่านมาตรฐานที่รัฐวางไว้อย่างเข้มงวด ตอนนี้ก็มีข้อครหาว่าเหมือนกับว่ารัฐบาลแคนาดาจู่โจมรายย่อย ในขณะที่โปรพวกที่มีเงินทุนรายใหญ่มากๆ อย่างบริษัทร้านขายยารายใหญ่ที่ต้องการมีเคาน์เตอร์ขายกัญชาของตัวเองในร้านค้าทั่วประเทศ ในขณะที่รายย่อยซึ่งเขาขายกัญชาทางการแพทย์มาก่อนหน้านี้โดนจับ ที่นี่ก็มีข่าวฉาวขึ้นมาเหมือนกัน ไม่ได้เป็นแค่เมืองไทยที่มีคนสงสัยว่าจะหนุนแค่ทุนใหญ่หรือไม่”

ยังเป็นเส้นทางยาวไกลที่ต้องก้าวเดินอย่างระมัดระวัง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image