กลับมาให้หายคิดถึง! ‘ล้อธรรม’ นิทรรศการศิลปะการ์ตูน 72 ปี อรุณ วัชระสวัสดิ์

หลายเดือนแล้วที่ “การ์ตูนอรุณ” โดย อรุณ วัชระสวัสดิ์ หายไปจากหน้า 3 หนังสือพิมพ์มติชน นิตยสารรายสัปดาห์ “มติชนสุดสัปดาห์” รวมทั้งสื่ออื่นๆ

ไม่ต้องถึงกับเป็นบุคคลใกล้ชิดหรืออยู่แวดวงเดียวกันก็พอเดาได้ว่า การ์ตูนนิสต์วัยเจ็ดสิบกว่า ผู้สร้างสรรค์ผลงานศิลปะต่อเนื่องหลายสิบปีรายนี้จะเกิดเจ็บไข้ได้ป่วย

นอกจากจะเปิดบ้านย่านกรุงเทพกรีฑาอัพเดตสุขภาพที่วันนี้ “ดีขึ้นมาก” แล้ว อรุณยังเล่าถึง “ล้อธรรม” นิทรรศการศิลปะการ์ตูน 72 ปี อรุณ วัชระสวัสดิ์ ซึ่งจะมีพิธีเปิดในวันที่ 24 มิถุนายน 2562 หรือวันเดียวกับการอภิวัฒน์สยาม 2475 เป๊ะๆ

“เพราะพระไพศาล (ไพศาล วิสาโล เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต จ.ชัยภูมิ) ว่าง ไม่ได้เกี่ยวกับอะไรเลย ท่านเป็นบุคคลสำคัญในงานมีคิววันที่ 24 มิ.ย.พอดี ผมเลยต้องตามใจท่าน” นักวาดการ์ตูนการเมืองวัยเก๋ากล่าวด้วยใบหน้ายิ้มแย้ม

Advertisement

อรุณเล่าว่า ช่วงที่ห่างหายจากหน้าหนังสือ พิมพ์เป็นเพราะไม่สบาย ด้วยอายุมาก ประกอบกับทำงานต่อเนื่องโดยไม่หยุดพักกว่า 50 ปี ทำให้เขาต้องเริ่มใช้ชีวิตใหม่ ถือโอกาสหยุดพักผ่อน อยู่บ้านผลิตผลงานภาพพิมพ์ หรืออาจวางแผนไปชมงานศิลปะที่ต่างประเทศบ้าง ทว่า ความจริงไม่เป็นเช่นนั้น

อรุณยิ้มรับสารภาพ “ผมเข้าใจตัวเองผิด เข้าใจว่าเป็นคนชอบเที่ยว จริงๆ ไม่ใช่ ชอบอยู่บ้านเฉยๆ มากกว่า ดังนั้น ตลอดหลายเดือนที่ผ่านมาไม่ได้ไปไหนเลย แต่คิดว่าอยากจะไป เลยยังไม่อยากกลับมาเขียนการ์ตูน ขอไปเที่ยวก่อน”

แต่ใช่ว่าเขาจะพักผ่อนอย่างเดียว เพราะเมื่อถามถึงการติดตามสถานการณ์การเมือง บางช่วงบางตอนของบทสนทนา อรุณถึงกับเปล่งเสียงหัวเราะ

Advertisement

“ใกล้ชิดเลยครับ ใกล้เวทีเลย โดยเฉพาะคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ด้วย คิดว่ามันยิ่งเหมือนเดิม เป็นเหมือนเดิมเข้าไปใหญ่ คือไม่ไปไหนเลย ซึ่งง่ายมากถ้าจะผมเขียนการ์ตูน แค่รื้อๆ ดูของเก่าแล้วมาดัดแปลงนิดหน่อยก็ได้ เพราะบ้านเมืองยังไม่ไปไหน คงรอผมอยู่ที่จะเขียนก็ได้ (หัวเราะ)”

ตลอดการพูดคุยกับการ์ตูนนิสต์ล้อการเมืองวัย 72 นานนับชั่วโมง ที่ตอนนี้ขอหยุดผลิตงานชั่วคราว หันมาอยู่ขอบสนามเกาะติดทุกการเคลื่อนไหว วันวานที่ผ่านไปของอรุณไม่เคยธรรมดา และวันนี้ก็ยากจะตัดสินใจก้าวเดินเมื่อต้องเผชิญกับทางสองแพร่ง

‘เมตตาในลายเส้น’

จุดยืนทางการเมืองของการ์ตูนนิสต์

ชีวิตของ อรุณ วัชระสวัสดิ์ น่าสนใจเกินกว่าจะกลับมาพูดถึงประวัติส่วนตัว เช่น เกิดเมื่อไหร่ บ้านอยู่ที่ไหน เรียนจบอะไรมา

เอาเป็นว่า อรุณเข้าสู่วงการการ์ตูนนิสต์ตั้งแต่ใช้ชีวิตอยู่ในรั้วมหาวิทยาลัย ยาวนานมาถึงปัจจุบันนี้ ซึ่งยากจะปฏิเสธว่า นักวาดการ์ตูนการเมืองต้องมีจุดยืนทางการเมือง อันจะนำไปสู่ “ผลกระทบ” ต่อการดำเนินชีวิตหรือไม่?

“แปลกนะครับ ผมเคยโดนเรียกตัวครั้งเดียว คือมีปัญหากับผลงานในมติชนสุดสัปดาห์เมื่อราว 1-2 ปีที่แล้ว เกิดจากการเข้าใจผิด เลยมีการเรียกตัวไปเพื่อจะฟ้องร้อง ส่วนเรื่องอื่นไม่มีเลย เพราะการ์ตูนผมดูแล้วไม่รุนแรงถึงขนาดที่น่าโกรธแค้น ซึ่งคนที่บอกให้จัดการผมไม่ได้เป็นคนสอบสวนผม ดังนั้น คนที่สอบสวนผมคงมาคิดทีหลังว่าผมคงไม่มีความผิดเลย เพราะเป็นการ์ตูนเก่ามาก และไม่ได้พูดถึงเหตุการณ์ที่เขาเข้าใจ เราพูดจากันด้วยดี ไม่มีอะไร เพียงแต่ตกใจนิดหน่อย เพราะไม่เคย”

อาจเป็นเพราะลายเส้นเด่นชัด วิพากษ์วิจารณ์สังคมอย่างแสบสันต์ กระนั้น ผลงานของอรุณกลับแฝงไปด้วยความเมตตาซึ่งมีขรรค์ชัย บุนปาน ประธานกรรมการ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ให้คำแนะนำ

“พี่ช้าง ขรรค์ชัย สอนผมไว้ว่าในการ์ตูนต้องมีความเมตตาอยู่ สังเกตการ์ตูนผมคือ หากผมเขียนถึงคุณ คุณสามารถนำไปใส่กรอบแขวนที่บ้านได้โดยที่คุณจะไม่อาย เพราะผมจะไม่เขียนน่าเกลียด ผมคิดว่าถ้าหนังสือพิมพ์ตั้งอยู่บนโต๊ะห้องรับแขกคนที่เขียนถึง หากใครไปเห็นปุ๊บ ถ้าเราเขียนหยาบคาย ไม่มีความกรุณา ผมว่าลูก เมีย หรือเขาไปเปิดดูปุ๊บ เขาจะเสียมากกว่าเนื้อหาตรงนั้นอีก ดังนั้น ผมจะไม่ด่าหยาบๆ คายๆ หรือเขียนน่าเกลียดมาก มีความเมตตาเป็นหลัก ทำให้การ์ตูนดูอ่อนไปหน่อย

“แต่สิ่งที่ได้ดีมาก็คือ บางครั้งผมด่าแล้ว เขายังโทรศัพท์มาขอต้นฉบับไป เขาไม่ได้โกรธเลย บอกว่าตลกดี ผมว่าตรงนี้สำคัญ เราไม่ควรทำร้ายกันมากจนเกินไป ถึงเราจะไม่ชอบ ไม่เห็นด้วยกับเขา ถึงเขาจะหน้าตาน่าเกลียด ไม่น่ารัก ก็ไม่ควรไปซ้ำเติมเขา ผมถือมากในการเขียนการ์ตูน ซึ่งพี่ช้างเป็นคนสอนผมว่า นักเขียนการ์ตูนควรเป็นคนแบบนี้ มีจิตใจแบบนี้ แล้วจะเป็นที่น่ารักของประชาชน”

น้ำจิ้มตรา’อรุณ วัชระสวัสดิ์’

ออกหวานและเป็นสากล

อยู่ในแวดวงน้ำหมึกมานาน ผ่านเหตุการณ์มาหลายยุคหลายสมัย อดถามอรุณไม่ได้ว่า มองความขัดแย้งในวงการนี้อย่างไร?

“ไม่ทราบ” เขาตอบสั้นๆ

สมมุติว่าคุณดูมวยชกมา 60 ปี อยู่ข้างเวทีตลอดเวลา ถึงจะต่อยดุเดือดอย่างไรก็ชินแล้วมีอาการเบื่อๆ ด้วยซ้ำ รู้ว่านี่ต่อยกันจริงหรือไม่ ล้มมวยรึเปล่า และนานๆ ทีถึงจะมีคู่สนุกๆ สักครั้ง เพราะว่ามัน 60 ปี

“50 ปีเป็นช่วงเวลาที่นานมากที่ผมติดตามการเมืองอยู่ตลอด เพราะต้องทำมาหากิน เป็นช่วงเวลาที่คุณเห็นอะไรต่อมิอะไรมาก แล้วก็เห็นไม่ลึกซึ้ง เพราะผมเรียนด้านศิลปะ จบจากศิลปากร แต่เหตุการณ์บ้านเมืองเป็นทั้งเรื่องเศรษฐกิจ ต่างประเทศ เศรษฐศาสตร์ สังคม เกษตร การส่งออก เยอะแยะ ซึ่งเป็นวิชาที่ต้องให้ผู้ที่มีความรู้จริงๆ ถึงจะวิเคราะห์ออก ดังนั้น ถ้าคุณใช้การ์ตูนเขียนถึงสิ่งเหล่านี้ ที่คุณไม่ถนัด ไม่ได้เรียนมันเลย คุณก็ได้แต่พื้นๆ หรือบทสรุปของมัน ไม่สามารถเจาะลึกลงไปได้ ดังนั้น ศาสตร์การเขียนการ์ตูนจึงไม่ได้ลึกซึ้งที่จะเป็นวิชาการหรืออะไร ทำให้ดูเป็นเครื่องประดับเท่านั้นเอง

“เดี๋ยวก็จะถามว่าทำไมในหนังสือพิมพ์ต้องมีการ์ตูน? ผมมองว่าเสมือนโต๊ะจีน 1 โต๊ะ มีอาหารมากมาย ทั้งหมูหัน เป็ด ไก่ และมี “น้ำจิ้ม” วางอยู่ ซึ่งน้ำจิ้มก็คือการ์ตูน คุณมีโต๊ะจีน แต่ไม่มีน้ำจิ้มก็กินได้ แต่ไม่อร่อยเท่า หรือคุณมีโต๊ะจีน มีแต่น้ำจิ้ม ก็กินได้เหมือนกัน แต่ไม่อร่อย ดังนั้น การ์ตูนในหนังสือพิมพ์จึงเป็นสิ่งที่ประดับให้เกิดรสชาติมากกว่าที่จะเป็นบทบาทสำคัญ”

แล้วรสชาติ น้ำจิ้มอรุณ วัชระสวัสดิ์ เป็นแบบไหน เขายิ้ม แล้วบอกว่า ออกหวานและเป็นสากลนิดหน่อย

“ผมชอบศึกษาการ์ตูนต่างประเทศว่าเขาเขียนถึงไหน เป็นยังไง ชอบเลียนแบบ จนป่านนี้ก็ชอบเลียนแบบสไตล์ จะเห็นว่าการ์ตูนที่ผมเลือกนำไปจัดแสดงมีสไตล์ไม่ซ้ำกัน ถ้าชอบคนไหนก็ลองเลียนแบบคนนั้นดู ไม่เบื่อ ถ้าเขียนสไตล์เดียวตลอดชีวิต ผมคงรับไม่ไหว คงเบื่อแย่แล้ว เลยใช้วิธีศึกษาด้วย เขียนการ์ตูนด้วย”

งานหรือใจ ที่ทำให้ ‘ใคร’ เปลี่ยนอุดมการณ์

“ผมเห็นใจเขานะ เพราะอาชีพบางอาชีพ ถ้าไม่ดังจริง อยู่ยาก ถึงจะดังจริงๆ ก็ยังอยู่ยาก เพราะหนังสือพิมพ์เป็นสื่อที่รับผลงานน้อย ค่าจ้างก็ออกจะต่ำ”

คือคำตอบต่อคำถามว่า คิดเห็นอย่างไรที่บางคนตั้งคำถามว่า นักเขียนออกมาให้การสนับสนุนการสืบทอดอำนาจ เพราะต้องหารายได้ประทังครอบครัว?

อรุณบอกว่า จุดอันตรายที่สุดของนักเขียนการ์ตูนคือ การเห็นใจคนทำให้ทำงานไม่ได้ ดังนั้น ทุกคนมีเหตุผลในการทำหมด ไม่ว่าทำดีหรือชั่ว หากเราไปเข้าใจเขาจะเขียนการ์ตูนไม่ได้ ต้องพยายามไม่เข้าใจบ้าง

“สมมุติว่าเขาจำเป็นต้องเป็น ส.ว. ผมเข้าใจว่าทำไมเขาต้องเป็น เขาอาจเดือดร้อนเรื่องฐานะหรือชื่อเสียง พอเราคิดและเข้าใจขึ้นมาก็เขียนไม่ได้แล้ว ดังนั้น บางครั้งต้องแบ่งเรื่องความเข้าใจไว้ครึ่งหนึ่ง ถึงจะเขียนได้ ส่วนอุดมการณ์จะเปลี่ยนหรือไม่ ไม่ได้อยู่ที่งาน อยู่ที่ใจเขา แต่เราไม่รู้ว่าใจเขาคิด หรือที่เขาทำอยู่เป็นความคิดจริงๆ ของเขาหรือเปล่า ถ้าเป็นความคิดจริงๆ ก็น่ากลัว แต่ถ้าเป็นความคิดหลอกเพื่อที่จะให้ได้มีเงินใช้ มีชีวิตสบาย ก็น่าเห็นใจ

“มีแต่คนพูดว่าคนนั้น คนนี้เปลี่ยนอุดมการณ์ ผมไม่รู้ว่าทำไมเขาถึงเปลี่ยน ดังนั้น ปัญหาคือเราไม่รู้ ผมรู้สึกว่ามันคงไม่แฟร์ถ้าเราจะไปตีความว่าคนนี้เขาเปลี่ยนอุดมการณ์ เห็นใจเขา คนพวกนี้ส่วนมากจะไม่ค่อยพูด ยกเว้นพวกที่พูดว่าเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา ซึ่งชัดเจน แต่ประเภทที่เปลี่ยนไปเฉยๆ แล้วไม่พูด อันนี้น่าสงสัยว่าเขาคิดยังไง เขาทนได้ยังไงกับเสียงคนที่ว่าเขา เขาได้ยินหรือเปล่า หรือเขาไม่ได้ยิน ถ้าเขาได้ยิน หรือเห็น ผมก็ไม่เข้าใจว่าทำไมเขาทนได้”

ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่อรุณจะ “เข้าใจ” และมองว่าการที่บรรณาธิการสำนักพิมพ์สามัญชนไม่ประสงค์พิจารณาต้นฉบับจากนักเขียนและนักแปลที่เห็นดีเห็นงามกับการรัฐประหารปี 2557 เพราะเป็น “สิทธิ” ของเขา

“ผมเข้าใจ เพราะหนังสือหรือสำนักพิมพ์ต้องการเอกลักษณ์ เขามีลูกค้า จึงต้องการหนังสือหรือผลงานที่เป็นเอกลักษณ์ของเขา สมมุติว่าเขาพิมพ์หนังสือประเภท A ตลอดเวลา เขาคงจะไม่สามารถพิมพ์ประเภท B ออกไปขายได้ เหมือนการ์ตูนแหละครับ ตอนจะเขียนก็ต้องดูว่าในหนังสือพิมพ์นั้น เราจะอยู่ร่วมกับเขาได้ไหม เพราะนี่ไม่ได้เป็นทางเลือกของสำนักพิมพ์อย่างเดียว แต่เป็นทางเลือกของผู้เขียนด้วย อย่างผมคือเลือกมาก หนังสือพิมพ์ไหนที่มีบุคลิกหรือแนวความคิดที่ผมไม่ชอบ หรือขัดกับความคิดของผม ผมก็ไม่เขียน ก็เหมือนกัน ถ้ามีความคิดอีกอย่างหนึ่งเขาก็ไม่จ้างผม ดังนั้น ที่สามัญชนทำก็ไม่แปลกอะไร เพียงแต่เขาประกาศออกมาเท่านั้นเอง แต่สำนักพิมพ์อื่นไม่ประกาศ”

‘ล้อธรรม’

นิทรรศการศิลปะการ์ตูน

ในวัย 72 ปี อรุณบอกว่า เขากำลังอยู่ในทางสองแพร่ง

หนึ่งคือ เลิกวาดการ์ตูนการเมือง “การ์ตูนอรุณ” จะหายไปตลอดกาล ทว่า อรุณยังเกิดอาการ “เสี้ยน” เหมือนคนเลิกบุหรี่ใหม่ๆ เขาบอกว่าบางครั้งก็ยังอยากวาดอยู่

สองคือ กลับไปเขียนในเร็วๆ นี้ แต่ก็ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่

“ผมอายุมากแล้ว ยังมีสิ่งที่อยากจะทำอีกเยอะแยะ แต่ก็ไม่ได้ทำ ถามว่าจะวาดการ์ตูนอย่างนี้ตลอดไปไหม? ที่สำคัญคือผมรู้สึกว่าเขียนสู้สมัยก่อนไม่ได้ พอมารื้อดูการ์ตูนเก่าที่จะจัดแสดง แทบจะไหว้ตัวเองได้ เมื่อก่อนผมเก่งมาก (หัวเราะ) เมื่อสู้ของเก่าไม่ได้จะมีความรู้สึกเครียด กดดัน อีกส่วนคือชีวิตการเขียนการ์ตูนของผมไม่เคยรู้สึกว่ามีคนด่าผมมาก หรือมีคนไม่ชอบ หรือมีคนบอกว่าผมเป็นฝ่ายไหนน้อยมาก ผมภูมิใจตรงนี้”

แต่ไม่ว่าอย่างไร ผู้ชมจะได้พบกับผลงานการ์ตูนอรุณมากมายไปจนถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2562 ในงาน “ล้อธรรม” นิทรรศการศิลปะการ์ตูน 72 ปี อรุณ วัชระสวัสดิ์ จนหายคิดถึงแน่นอน

จัดขึ้นที่โถงนิทรรศการ ชั้น 2 หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ (สวนโมกข์กรุงเทพ) รายได้มอบให้พระไพศาล วิสาโล เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต จ.ชัยภูมิ

24 มิ.ย.นี้ พบกิจกรรมสนทนา “โลกธรรมการ์ตูนไทย” โดยนักวาดการ์ตูนการเมืองรุ่นใหญ่ระดับประเทศ พร้อมฟังมุมมอง

“สุทธิชัย หยุ่น” ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ The Nation ผู้ผ่านการอ่านการ์ตูนมาแล้วจากทั่วทุกมุมโลก ในหัวข้อ “การ์ตูนโลก ทำหน้าที่ของมันอย่างไร”

“งานนี้เป็นเรื่องของคนคนหนึ่งที่มีอายุ 72 ปี ที่มีความตั้งใจจะเขียนการ์ตูน และมีผลงานให้เห็นว่าเขาได้ทำอะไรไปบ้าง” การ์ตูนนิสต์วัยเก๋ากล่าวส่งท้าย

ไม่ว่าอรุณจะเลือกเดินเส้นทางไหนบนทางสองแพร่ง คงต้องรอติดตาม และส่งกำลังใจให้กันยาวๆ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image