เมื่อมีช้าง ก็ต้องมีคน เราจะไม่เลือกเอาอย่างใดอย่างหนึ่ง (เพราะเราเลือกทั้งคู่)

แม้เราจะยกย่องให้ ช้าง เป็นสัตว์ประจำชาติ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า บ่อยครั้งคนกับช้างก็มีปัญหากระทบกระทั่งกัน ตั้งแต่เรื่องเล็กๆ น้อยๆ จนกระทั่งฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเพลี่ยงพล้ำ ถึงกับล้มหายตายจากไป

โดยเราจะได้ยินข่าวบ่อยๆ โดยเฉพาะในช่วงฤดูแล้ง เรื่องช้างออกมาจากป่า บุกเข้าไปในเรือกสวนไร่นา หาอาหารกิน หรือทำแม้กระทั่งคุ้ยยุ้งฉางที่เก็บพืชผล ทำลายบ้านเรือนที่อยู่อาศัย

ความสัมพันธ์ระหว่างคนกับช้างป่าในบางพื้นที่จึงไม่สู้จะดีนัก

เห็นได้ชัดคือ ที่ อุทยานแห่งชาติกุยบุรี โดยตั้งแต่ปี 2538-2546 ช้างป่าในพื้นที่ดังกล่าวถูกฆ่าตายนับ 10 ตัว ถือเป็นความขัดแย้งที่รุนแรงอย่างยิ่ง โดยปี 2538-2542 นั้น ช้างถูกฆ่า 4 ตัว เป็นข่าวใหญ่มากในสังคมไทย ขณะเดียวกันกระแสการอนุรักษ์สัตว์ป่าก็ได้รับการพูดถึงมากขึ้น

Advertisement

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ได้มีพระราชดำรัสพระราชทานเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2542 ความว่า

“…ช้างควรอยู่ในป่า เพียงแต่ต้องทำให้ป่านั้นมีอาหารช้างเพียงพอ การปฏิบัติคือ ให้ไปสร้างอาหารช้างในป่าแปลงเล็กๆ และกระจาย กรณีช้างออกมาที่ชายป่าต้องให้ความปลอดภัยกับช้างป่า”

ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ให้ทุกหน่วยงานหันหน้าเข้ามาเพื่อจัดการความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่าในพื้นที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรีอย่างเป็นรูปธรรม

Advertisement

ราว 5 โมงเย็น อากาศกำลังดี แดดร่มลมตก รถกระบะสำหรับนำนักท่องเที่ยวดูช้างป่า ในอุทยานแห่งชาติกุยบุรีเข้ามาประจำกันเตรียมพร้อม ตรงจุดปล่อยรถ ใกล้กับที่ทำการอุทยานฯ ซึ่งวันนั้นมีแขกพิเศษ ชื่อ จงคล้าย วรพงศธร รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ร่วมทริปชมช้างด้วย

รถวิ่งไปตามถนนเส้นเล็กๆ ที่ไม่ถูกตกแต่งอะไรมากนัก 2 ข้างทางเป็นป่าโปร่งสลับกับป่าทุ่งหญ้า ความขรุขระของถนนทำให้ทั้งคนนั่งและยืนในรถ ต้องตื่นตัวอยู่ตลอด

ใช้เวลาไม่นานนักก็ถึงเนินจุดชมช้างป่าและกระทิง เป็นเนินเตี้ยๆ แต่สามารถมองไปรอบๆ ได้ 360 องศา ที่โชคดีมากในวันนั้นคือ ทั้งช้างโขลงย่อมๆ ราว 10 กว่าตัว และกระทิงฝูงใหญ่เกือบ 30 ตัว ออกมาเล็มหญ้าเหมือนต้องการจะโชว์ถึงความอลังการแห่งพวกพ้องตัวเอง

นักท่องเที่ยวกลุ่มเล็กๆ ต่างตื่นตะลึงกับความงดงามที่อยู่ตรงหน้า

ทุกคนยืนมองกันเงียบๆ เหมือนจะซึมซับเอาความงดงามอลังการเอาไว้ให้มากที่สุด

นายจงคล้ายกล่าวว่า ดีใจที่เห็นทั้งโขลงช้างป่าและเหล่าฝูงกระทิง ซึ่งก็ใช่ว่ามาแบบนี้แล้วจะได้เห็นทุกวัน ถือว่าโชคดีมาก แต่ที่ดีใจไปกว่านั้นก็คือ สามารถทำให้ชาวบ้านจากที่เคยทั้งเกลียด ทั้งกลัวช้าง จากที่พวกมันเคยออกจากป่าไปบุกทำลาย บ้านเรือน และพืชผลในไร่ หาสารพัดวิธีป้องกัน แม้กระทั่งบางครั้งทนไม่ได้ถึงกับต้องแอบฆ่า ซึ่งแน่นอนว่าเป็นเรื่องผิดกฎหมาย เพราะช้างเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง

“กรมอุทยานแห่งชาติได้น้อมนำเอาแนวพระราชดำรัสของในหลวงรัชกาลที่ 9 เรื่อง การสร้างแหล่งน้ำและแหล่งอาหารให้ช้างป่าในป่า เราได้เข้าไปขุดบ่อสำหรับเป็นแหล่งน้ำให้ช้างสำหรับช่วงฤดูแล้ง ปลูกพืชอาหารสำหรับช้างในป่าบริเวณที่ช้างอาศัยอยู่ ซึ่งก็ถือว่าได้ผลพอสมควร ทุกวันนี้ ถือว่าพื้นที่รอบๆ อุทยานแห่งชาติกุยบุรีนั้น มีช้างออกจากป่ามาทำลายพืชผล และบ้านเรือนชาวบ้านน้อยมาก” นายจงคล้ายกล่าว

วิธีการแก้ปัญหา การกระทบกระทั่งระหว่างคนกับช้างป่าไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เพราะไม่ว่าคนและช้างก็ถือเป็นชีวิตที่มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน และเราก็ไม่สามารถจะเลือกได้ว่า จะเอาและไม่เอาอะไร

เพราะเราต้องการเลือกทั้งสองอย่างไปพร้อมๆ กันนั่นเอง

วิธีการบริหารจัดการแม้จะยาก แต่ไม่ใช่ว่าจะทำไม่ได้

จงคล้าย วรพงศธร

เมื่อทำให้ช้างไม่ออกมารบกวน รังควานชาวบ้านได้ในระดับหนึ่งแล้ว ไอเดียการเปิดพื้นที่อุทยานบางส่วนที่สามารถเปิดได้ เพื่อให้ประชาชนเข้าไปชมการใช้ชีวิตบางส่วนของฝูงสัตว์ในป่าธรรมชาติ แบบกึ่งซาฟารี อย่างที่หลายๆ ประเทศทำกัน โดยให้ภาคเอกชน ซึ่งในที่นี้หมายถึงชาวบ้านในพื้นที่ ซึ่งส่วนหนึ่งเคยได้รับผลกระทบกับการที่ช้างป่าออกไปทำลายพืชผลในท้องไร่ของตัวเอง พวกเขารวมตัวกันเป็นกลุ่ม เข้ารับการอบรม วิธีการปฏิบัติการนำนักท่องเที่ยวเข้าไปชมฝูงสัตว์ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี ในจุดที่เหมาะสม ซึ่งอุทยานฯกำหนดไว้

กิจกรรมดังกล่าวนี้เริ่มต้นตั้งแต่ตอนเช้า จนถึงหกโมงเย็น

ชาวบ้านจะนำรถเปิดประทุน (รถกระบะ) มาเข้าคิวรับนักท่องเที่ยว คิดค่าบริการ คันละ 850 บาท ต่อเที่ยว โดยรถแต่ละคันรับนักท่องเที่ยวได้ 8-10 คน เวลานี้ มีรถบริการนักท่องเที่ยวทั้งหมด 50 ด้วยกัน

“ถึงอย่างนั้นการแก้ปัญหา เพื่อไม่ให้ช้างออกจากป่ามาทำลายพืชผลชาวบ้านก็ยังคงมีอยู่บ้าง ภารกิจในการแก้ปัญหาเรื่องนี้ก็ยังไม่สิ้นสุด” รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ กล่าว

ศูนย์เฝ้าระวังช้างป่า ด้วยระบบเตือนภัยล่วงหน้า

เมื่อปี 2561 กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ร่วมกับบริษัท ทรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชัน จำกัด ได้ทำบันทึกข้อตกลง (เอ็มโอยู) ร่วมกัน เพื่อร่วมมือทำโครงการเฝ้าระวังช้างป่าด้วยระบบเตือนภัยล่วงหน้าในพื้นที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่า และเพื่อรวบรวมสถิติ จัดทำข้อมูลของประชากรช้างป่าและสัตว์อื่นๆ ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรีที่ออกหากินในพื้นที่เกษตรกรรม รวมทั้งเพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมระหว่างภาคส่วนต่างๆ ในการจัดการทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่า ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี

ภายใต้เอ็มโอยูดังกล่าวนี้ ได้มีการตั้งศูนย์ปฏิบัติการเฝ้าระวังช้างป่าด้วยระบบเตือนภัยล่วงหน้าในอุทยานแห่งชาติกุยบุรี เพื่อสนับสนุนปฏิบัติการเฝ้าระวังช้างป่าแบบตอบสนองทันท่วงที

โดยมีการติดตั้งกล้องถ่ายภาพอัตโนมัติจำนวน 25 ชุด รวมถึงการเสริมสร้างศักยภาพของเจ้าหน้าที่ในการเฝ้าระวังช้างป่า เช่น การหาอุปกรณ์สนาม และเครื่องแบบ การอบรมใช้งานระบบเฝ้าระวัง และแอพพลิเคชั่น รวมทั้งเทคนิคการผลักดันช้างป่าให้กับเจ้าหน้าที่และเกษตรกรเป้าหมาย การส่งเสริมและประชาสัมพันธ์เรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ เช่น การทำป้ายประชาสัมพันธ์ระบบเตือนภัย เพื่อเฝ้าระวังช้างป่า

นอกจากนี้ ก็จะมีการสร้างแหล่งน้ำ แหล่งอาหารรวมไปถึงแหล่งดินโป่งให้ช้างป่าในพื้นที่ป่าที่ช้างอยู่จริงๆ กลางป่า ไม่ใช่แค่ทำเอาไว้ขอบป่าใกล้กับชุมชน หรือทำตามความสะดวกของผู้ที่อยากจะทำเหมือนเช่นก่อนๆ

ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2561 ถึงราวเดือนพฤษภาคม 2562 ระยะเวลาประมาณ 7 เดือนนี้ อุทยานแห่งชาติกุยบุรีสามารถติดตั้งกล้องดักถ่ายภาพสัตว์ป่าได้แล้ว 19 ตัว สามารถถ่ายภาพช้างป่าได้ 312 ครั้ง เป็นภาพช้างป่าที่เดินผ่านกล้อง ทั้งหมด 689 ภาพ จำแนกเป็นช้างป่าได้ ทั้งหมด 52 ตัว

“จากจำนวนภาพถ่าย 312 ครั้งนั้น อุทยานแห่งชาติกุยบุรีได้ส่งเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการผลักดันช้างป่า เข้าไปผลักดันช้างให้กลับเข้าป่าจำนวน 258 ครั้ง ส่วนอีก 54 ครั้ง ช้างเดินผ่านด่านอื่นๆ และเดินวกกลับมาผ่านกล้อง จึงไม่ต้องส่งชุดปฏิบัติการเข้าไปดำเนินการผลักดัน ซึ่งจากการส่งชุดปฏิบัติการเข้าไปดำเนินการทั้ง 258 ครั้งนั้น สามารถป้องกันความเสียหายพืชผลทางการเกษตรให้กับเกษตรกรได้สำเร็จ จำนวน 256 ครั้ง ส่วนอีก 2 ครั้ง ทำไม่สำเร็จ นั่นคือ ช้างเดินไปถึงพื้นที่เกษตรกรรมชาวบ้านได้ก่อน และทำลายมะม่วง 3 ต้น กับสับปะรดอีก 30 ต้นด้วยกัน” รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯกล่าว

เมื่อมีการเปรียบเทียบความเสียหายของพืชผลของเกษตรกร ก่อนติดตั้งกล้องดักถ่ายภาพสัตว์ป่า กับหลังติดตั้งกล้อง พบว่า ก่อนติดตั้งกล้องนั้น พบช้างป่า 394 ครั้ง พบความเสียหายของเกษตรกรทั้งสิ้น 168 ครั้ง โดยพืชผลที่ได้รับความเสียหายได้แก่ สับปะรด 9,630 ต้น ยางพารา 138 ต้น มะม่วง 24 ต้น กล้วย 39 ต้น ขนุน 22 ต้น ปาล์ม 8 ต้น มะพร้าว 10 ต้น และ มะละกอ 11 ต้น

หลังจากที่เจ้าหน้าที่ติดตั้งกล้องทั้ง 19 ตัวเสร็จ พบช้างป่า 507 ครั้ง ช้างป่าผ่านกล้อง 312 ครั้ง ไม่ผ่านกล้อง 195 ครั้ง ซึ่งจากการผ่านกล้องทั้ง 312 ครั้งนั้น เกิดความเสียหายต่อพืชผลเกษตรกรเพียง 2 ครั้ง และที่ไม่ผ่านกล้อง 195 ครั้งนั้น เกิดความเสียหาย ต่อพืชผลทางการเกษตร 30 ครั้ง

รวม 7 เดือน พบช้างที่ผ่านและไม่ผ่านกล้องทั้งหมด 507 ครั้ง ไม่พบความเสียหาย 475 ครั้ง พบความเสียหาย 32 ครั้ง พืชผลที่ได้รับความเสียหายก็คือ สับปะรด 620 ต้น ยางพารา 27 ต้น มะม่วง 3 ต้น กล้วย 4 ต้น ปาล์ม 10 ต้น และ มะละกอ 1 ต้น

หลักการทำงานของกล้องถ่ายภาพอัตโนมัติ

เป็นเรื่องของการเอาเทคโนโลยีมารวมกับการมีส่วนร่วมของประชาชนในการช่วยกันดูแลพื้นที่ และเฝ้าระวังในทรัพย์สินของตัวเองอันเกิดจากช้างป่า นั่นคือ นอกเหนือจากการเอากล้องไปติดยังจุดต่างๆ แล้ว จะมีเสาโทรศัพท์ เชื่อมและส่งสัญญาณภาพไปยังโทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟน ผ่านแอพพลิเคชั่นที่สร้างเอาไว้

“เราจัดการอบรมการมีส่วนร่วมในการดูแลเฝ้าระวังช้างป่าในพื้นที่ให้ชาวบ้าน ซึ่งโดยพื้นฐาน ชาวบ้านในพื้นที่ส่วนหนึ่งใช้สมาร์ทโฟนอยู่แล้ว ทุกคนก็จะโหลดแอพพลิเคชั่นไว้ในโทรศัพท์ของตัวเอง เมื่อมีช้างเดินผ่านกล้อง ซึ่งอาจจะคาดคะเนได้ว่ากำลังจะออกจากป่าเข้าสู่พื้นที่เกษตรกรรมของชาวบ้าน กล้องจะบันทึกภาพเอาไว้ส่งสัญญาณไปยังศูนย์ปฏิบัติการเฝ้าระวังช้างป่า ซึ่งศูนย์ก็จะประสานงานไปยังเจ้าหน้าที่หน่วยปฏิบัติการผลักดันช้างออกจากพื้นที่อีกต่อหนึ่ง สำหรับในส่วนของประชาชนที่พบเจอช้างป่ากำลังจะออกจากป่าก็สามารถถ่ายรูปผ่านทางแอพพลิเคชั่น ซึ่งจะบอกพิกัดชัดเจนส่งไปให้เจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการผลักดันช้างป่าอีกต่อหนึ่ง” นายจงคล้ายกล่าว

ระหว่างคนกับช้าง เราจะไม่เลือกว่า จะเอา หรือไม่เอาอะไร

เพราะเราเลือกที่จะเอาทั้ง 2 อย่าง

และเรามีวิธีการจัดการที่จะเลือกทั้งคู่ได้…

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image