มองเบื้องหน้า เปิดเบื้องหลังวงการ ‘นิติบัญญัติไทย’ เมื่อนักกฎหมายไม่ใช่ผู้วิเศษ

“เวลาทำงานในสภา คนคาดหมายว่านักกฎหมายเป็นผู้วิเศษ ถามอะไรต้องรู้ทุกเรื่อง แต่จริงๆ แล้วเรารู้เฉพาะกฎหมายที่สนใจหรือเชี่ยวชาญ”

คือคำกล่าวอย่างตรงไปตรงมาของ ศาสตราจารย์พิเศษกาญจนารัตน์ ลีวิโรจน์ อดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และที่ปรึกษาสำนักงานศาลปกครองสูงสุด เบื้องหน้าผู้เข้าร่วมฟังปาฐกถา ประยูร กาญจนดุล ครั้งที่ 11 ในหัวข้อ “เบื้องหน้า-เบื้องหลัง : 40 ปีในวงการนิติบัญญัติไทย” ในช่วงบ่ายของวันที่ 18 มิถุนายนที่ผ่านมา ณ ห้องประชุมสุรเกียรติ์ เสถียรไทย อาคารเทพทวารวดี คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เนื่องในโอกาสวันสถาปนาคณะวิชาดังกล่าวซึ่งนักกฎหมายท่านนี้คว้าปริญญาเกียรตินิยม ก่อนเข้าสู่เส้นทางสายยุติธรรมและยืนหยัดในวงการตลอดมา โดยเป็นผู้มีบทบาทในการบุกเบิก “ศาลปกครอง” ที่เรารู้จักกันในทุกวันนี้

ในฐานะศิษย์เก่า และอาจารย์ผู้ประสิทธิ์ประสาทความรู้แก่นิสิตจากรุ่นสู่รุ่น ศาสตราจารย์พิเศษกาญจนารัตน์ กล่าวปาฐกถาโดยออกตัวไม่เน้น “วิชาการ” หากแต่เล่า “ประสบการณ์” เหมือน “รุ่นพี่” ที่มาชี้แนะแนวทาง “รุ่นน้อง” และผู้สนใจในวงการนิติบัญญัติ

เริ่มต้นด้วยการย้อนอดีตเชื่อมโยงบรรยากาศยุคก่อตั้งคณะนิติศาสตร์ยุคแรกเริ่ม กระทั่งเป็นที่ยอมรับด้วยความเข้มแข็งทั้งทางวิชาการ และการนำความรู้มาประยุกต์ในสังคม

Advertisement

“นักกฎหมายที่จบจากจุฬาฯ ในอดีต กับในวันนี้ต่างกันลิบลับ เนื่องจากคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ ตั้งขึ้นในช่วงที่สถาบันอื่นเข้มแข็งในวงการมานานแล้ว การที่จะทำให้คนในวงการนิติศาสตร์ยอมรับนักกฎหมายจากจุฬาฯ ไม่ใช้เรื่องง่าย นอกจากจะต้องเข้มแข็งในเนื้อหาวิชาการ ยังต้องแสดงศักยภาพให้คนทั่วไปเห็นว่าเราไม่ได้มีความรู้เฉพาะในหนังสือ แต่สามารถนำความรู้มาประยุกต์ใช้กับสังคมและชีวิตจริงให้ได้ ต้องก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคม ประเทศชาติ แล้วชื่อเสียงก็จะกลับมาที่สถาบันที่สร้างให้เรามีตัวตนขึ้นมา

“ดิฉันเองเป็นเพียงตัวอย่างเล็กๆ ที่คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ทุ่มเท บ่มเพาะ ให้ทั้งความรู้ ประสบการณ์ ความอบอุ่น และความช่วยเหลือ ตั้งแต่ยังเป็นนิสิตหรือแม้กระทั่งเรียนจบแล้ว ดังนั้น ไม่ว่าจะไปอยู่ที่ไหนก็ต้องกลับมาที่คณะ ซึ่งเป็นสิ่งเดียวที่จะทดแทนคุณ โดยนำประสบการณ์ทั้งที่ดีและไม่ดีมาแปลกเปลี่ยนให้รับฟัง เพื่อการแก้ปัญหาในอนาคตต่อไป”

ก้าวแรกถนนสายกฎหมาย

เส้นทางชีวิตของมนุษย์ ไม่ว่าใครล้วนเริ่มต้นจากก้าวแรก

Advertisement

สำหรับศาสตราจารย์พิเศษกาญจนารัตน์ ครั้งเป็นบัณฑิตจบใหม่ ได้เข้าทำงานที่ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา มีหน้าที่หลักคือการยกร่างกฎหมายและให้ความเห็นทางกฎหมาย จากนั้นจึงตัดสินใจศึกษาต่อปริญญาโท โดยใช้เวลาเขียนวิทยานิพนธ์ 1 ปี เรียนจบใน 3 ปี ทำงานอีกพักใหญ่ก็ใช้ความสามารถสอบชิงทุนรัฐบาลอังกฤษบินลัดฟ้าไปเรียนกฎหมายจนสำเร็จ กลับมาทำงานรับใช้ชาติด้วยการเขียนรัฐธรรมนูญ 2540 จากการทาบทามของ ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ซึ่งเป็น “รุ่นพี่”

“ตลอดชีวิตการทำงาน ไม่ว่าจะตำแหน่งใด งานส่วนหนึ่งที่ต้องรับผิดชอบมาตลอด ไม่รู้ว่าเพราะความบังเอิญ โชคชะตา หรือมีที่ปรึกษาแนะนำให้ดี ทั้งหมดเกี่ยวข้องกับงานนิติบัญญัติทั้งสิ้น เมื่อเรียนจบ ได้ไปทำงานที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา หน้าที่หลักคือช่วยรัฐบาลยกร่างกฎหมายและให้ความเห็นทางกฎหมาย จากนั้นได้เรียนต่อปริญญาโทเพิ่มเติม ต้องเขียนวิทยานิพนธ์ไปด้วยทำงานไปด้วย โดยมีหัวข้อเกี่ยวกับการร่างกฎหมาย แต่ขณะนั้นเขียนได้แค่หัวข้อ ไม่รู้จะเขียนเนื้อหาอย่างไร ต้องอาศัยจากการทำงานจริง โดยในช่วง 4-5 ปีแรก คนคิดว่าต้องเก่งในการร่างกฎหมาย แต่จริงๆ แล้วสิ่งที่ทำคือการเขียนกฎหมาย 2 อย่างเท่านั้นคือ 1.กฎหมายแบบ 2.แบบกฎหมาย” เล่าอย่างอารมณ์ดี มีเสียงหัวเราะในบางช่วงบางตอน ทั้งจากผู้เล่าและผู้ฟัง

40 ปีจากโรเนียวถึงยุคดิจิทัล

แม้ “ภาพจำ” ของคนทั่วไป นักกฎหมาย ต้อง “เป๊ะ” ในทุกถ้อยคำ ทว่า ศาสตราจารย์พิเศษกาญจนารัตน์ ได้เล่าเรื่องราวที่เปิดเผยให้เห็นถึงการใช้ทั้งศาสตร์และ “ศิลป์” นั่นคือ การใช้ถ้อยคำซึ่งให้ “น้ำหนัก” ที่แตกต่างกัน โดยซึมซาบจากการเป็นนักอ่าน “ราชกิจจานุเบกษา” ซึ่งเจ้าตัวเปิดอ่านตั้งแต่เล่มปฐมฤกษ์ ไม่ต้องถามว่าเอาเวลาที่ไหนไปอ่าน เพราะนักกฎหมายท่านนี้เฉลยตั้งแต่บนเวทีว่า ไปทำงานตั้งแต่ก่อนยามมาเปิดประตูเสียอีก

“เป็นคนไปทำงานเช้า ถึงที่ทำงานตั้งแต่ 06.00 น. ก็นำราชกิจจานุเบกษาซึ่งตีพิมพ์เป็นเล่มมาอ่านตั้งแต่เล่มแรกจนถึงเล่มล่าสุดในตอนนั้น ถ้ามองเผินๆ เหมือนใช้เวลาโดยเปล่าประโยชน์ แต่ผ่านไป 10 ปี จึงรู้ว่าเป็นแหล่งความรู้ที่ดีมาก ทำให้ทราบว่ากฎหมาย ระเบียบ ประกาศต่างๆ มีอะไรบ้าง ทิศทางและเนื้อหาเป็นอย่างไร นอกจากนี้ ยังทำให้มองเห็นวิธีการเขียน การใช้ถ้อยคำที่ไพเราะ น่าอ่าน และน้ำหนักของคำที่แตกต่างกัน”

จากนั้น เล่าถึงบรรยากาศการทำงานในอดีตซึ่งเริ่มทำงานที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายสำคัญหลายเรื่อง โดยในช่วงเวลานั้นยังใช้เครื่อง “โรเนียว” ในการจัดทำเอกสาร ด้วยความเป็นศิษย์เก่าจุฬาฯ ได้กลับมาปรึกษากับคณะวิทยาศาสตร์เรื่องการนำคอมพิวเตอร์มาใช้ในวงการกฎหมาย

“สมัยก่อนเครื่องถ่ายเอกสารแพงมาก ก็ต้องโรเนียว พิมพ์ผิด ใช้น้ำยาลบ แต่พอทำงานไปสักพัก รู้สึกว่าน่าจะมีวิธีลดการทำงานด้านนี้ ไปเพิ่มการทำงานด้านสมอง โชคดีที่ไม่เคยทิ้งสถาบัน เวลามีปัญหาจะซมซานกลับมาที่นี่ จึงพบว่าคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ มีวิทยานิพนธ์ดีเด่น เรื่องการสร้างเครื่องคอมพิวเตอร์ เลยไปปรึกษาว่าจะเอามาใช้ประโยชน์กับกฎหมายได้ไหม ยุคนั้นแผ่นดิสก์ขนาดเท่าจานข้าว เคยถูกประณามว่าเป็นตัวประหลาด เพราะใช้คอมพ์ ทำไมไม่เขียนให้ส่งพนักงาน โรเนียวออกมา ดิฉันเลยใช้คนเดียว คนอื่นๆ ไม่ยอมใช้ บอกล้าสมัย ต้องใช้พิมพ์ดีด ถึงจะทันสมัย ก็พยายามหว่านล้อมให้คนเห็นประโยชน์ ของการใช้คอมพ์ ต่อมาจึงค่อยเป็นที่ยอมรับ”

จากความพยายามในการผลักดันให้ใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ในวงการ จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่ศาสตราจารย์พิเศษกาญจนารัตน์ กล้าหาญในการไม่เดินตาม “ธรรมเนียมเดิม” ของการเรียกมาตราต่างๆ ทว่ามีความพยายามในการประยุกต์เพื่อให้ง่ายต่อความเข้าใจ

“กฎหมายสมัยก่อนๆ เวลาจะเพิ่มเติมเข้ามา เช่น 10 ทวิ 10 ตรี 10 จัตวา เกิน 10 ดิฉันก็ยอมแพ้แล้ว เวลาจะร่างกฎหมาย เร็วๆ วิธีนี้ไม่เวิร์กแล้ว ดังนั้น แทนที่จะเป็น 10 ทวิ เอาเป็น 10/1 10/2 10/3 ได้ไหม ที่ประชุมบอกจะดีหรือ เพราะผิดธรรมเนียมที่ทำมา มันประหลาดนะ แต่ดิฉันมองว่าธรรมเนียมบางอย่างสามารถประยุกต์ให้เข้าใจง่ายมาก จนได้รับการยอมรับมาถึงปัจจุบัน”

นักกฎหมายไม่ใช่ผู้วิเศษ

ศาสตราจารย์พิเศษกาญจนารัตน์ยังเปิดใจถึงความรู้สึกจากประสบการณ์ทำงานจริงว่าหลายครั้งที่ต้องใช้ความอดทนและวางเฉย โดยมีหลักคิดที่ว่า “งานได้ผล คนมีความสุข ไม่มีใครเสียหน้า”

“เมื่อได้เข้าไปทำงานจริงในสภา มีอะไรมากมายเกินกว่าจะเข้าใจ ต้องใช้ขันติ หิริโอตตัปปะ อุเบกขา คิดอย่างเดียวว่า งานได้ผล คนแฮปปี้ ไม่มีใครเสียหน้า อยากฝากประสบการณ์ว่า การทำให้งานไปสู่ความสำเร็จ ไม่ต้องมีการเผชิญหน้ากัน ไม่ต้องฉีกหน้า ให้คุยอย่างมีเหตุผล ผลสำเร็จเกิดขึ้นได้หลากหลายวิธี

“เวลาทำงานในสภา คนคาดหมายว่านักกฎหมายเป็นผู้วิเศษ ถามอะไรต้องรู้ทุกเรื่อง แต่จริงๆ แล้วเรารู้เฉพาะกฎหมายที่สนใจหรือเชี่ยวชาญ พอมาทำงานในสภานิติบัญญัติ มีการผ่านกฎหมาย 444 ฉบับ ร่างกฎหมายทุกฉบับที่เสนอเข้าสภาในระยะแรกๆ ดิฉันอ่านทุกฉบับตั้งแต่มาตรา 1 จนถึงมาตราสุดท้าย แต่ตอนหลังยอมแพ้ เพราะกฎหมายเข้าสภาเยอะ”

‘พักประชุม’ นานสุดในความทรงจำ

นอกจากประวัติศาสตร์วงการนิติบัญญัติและวิธีคิดในการทำงาน ศาสตราจารย์กาญจนารัตน์ยังยกตัวอย่างเหตุการณ์ที่มีสีสันอย่างยิ่ง โดยเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับกฎหมายฉบับหนึ่งซึ่งประกาศแล้ว แต่ยังไม่มีผลใช้บังคับ มีเนื้อหาสาระเกี่ยวกับการกระทำความผิดทางการจราจรของบุคคลที่ไม่ได้มีสัญชาติไทย ซึ่งเป็นกฎหมายที่ “พักการประชุม” นานที่สุด ในรอบวงการนิติบัญญัติที่เคยทำมา โดยมีการพักการประชุมนานถึง 3 ชั่วโมง เพื่อถกเถียงกันว่าจะเขียนอย่างไร เริ่มจากประเด็นใบสั่งซึ่งไม่ว่าจะเป็นใบสั่งที่ตำรวจเขียนให้ ใบสั่งที่ส่งไปบ้าน หรือส่งไปตามเจ้าของของทะเบียนรถ หากอยู่ในประเทศไทย สามารถใช้ระบบไม่ให้ต่อทะเบียน แล้วหากเป็นบุคคลที่ไม่ใช่สัญชาติไทย มาทำผิดกฎจราจร จะทำอย่างไร เหตุใดประเทศไทยไม่สามารถดำเนินการตามกฎหมายเหมือนกับต่างประเทศได้

“กรรมาธิการฝ่ายข้างน้อยคนหนึ่งถามว่า เดี๋ยวนี้โลกกว้างใหญ่แล้วนะ เราเป็นอาเซียนแล้ว สามารถขับรถจากลาว กัมพูชา เวียดนาม โดยขับรถของประเทศเขาเอง หรือบินมาเช่ารถในประเทศไทย โดยใช้ใบขับขี่สากล ถ้าเกิดอุบัติเหตุ หรือทำผิดกฎจราจรแล้วหนีไป จะทำอย่างไร ทำไมต่างประเทศเขาทำได้ เวลาไปเช่ารถต่างประเทศ ต้องถ่ายสำเนาพาสปอร์ตไว้ ต้องให้ที่อยู่ไว้ รูดบัตรเป็นประกันล่วงหน้า

ศาสตราจารย์พิเศษกาญจนารัตน์ ลีวิโรจน์

ถ้าไปทำผิดกฎจราจรไม่ต้องเสียเวลาส่งใบสั่งให้เมื่อย บัตรเครดิตถูกตัดค่าปรับไปเรียบร้อย ทำไมประเทศไทยทำอย่างนั้นไมได้ จึงขอแปรญัตติว่า ถ้าคนขับไม่ใช่คนที่มีสัญชาติไทย ขับรถตัวเองเข้ามาหรือขับรถเช่าในไทย ให้บังคับบริษัทเช่ารถหักเงินเผื่อไว้ เช่น สมมุติมีการหักค่าประกันไว้ 100 ดอลลาร์สหรัฐ ให้เพิ่มเป็น 150 เผื่อสำหรับเป็นค่าปรับในกรณีทำผิด ถ้าไม่ทำผิดก็คืนไป

กรรมาธิการฝ่ายข้างมาก ได้มอบให้กรรมาธิการฝ่ายข้างน้อยท่านเดียวกันนี้เป็นคนอภิปรายให้เหตุผล ท่านก็บอกว่า รัฐบาลเขียนไว้ดีแล้ว เขากลับประเทศจะไปไล่ตามเขามาได้อย่างไร แต่ถามว่าเราจะไม่มีกลไกอะไรเลยหรือ คนไทยไปต่างประเทศ ยังถูกหักค่าปรับฐานทำผิดกฎจราจรได้ เถียงกันจนกระทั่งต้องพักการประชุม ซึ่งเป็นกฎหมายที่พักการประชุมนานที่สุด ในรอบวงการนิติบัญญัติที่เคยทำมาคือ 3 ชั่วโมง เพื่อถกเถียงกันว่าจะเขียนอย่างไร จะยอมหรือไม่ ถ้ายอมแล้ว จะยอมได้แค่ไหน” ศาสตราจารย์พิเศษกาญจนารัตน์เล่าด้วยลีลาที่ผู้ฟังไม่อาจละสายตา

ปิดท้ายด้วยคำกล่าวของ ผศ.ดร.ปารีณา ศรีวนิชย์ คณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ ที่ระบุว่า เมื่อครั้งเป็นนิสิตก็เคยได้เรียนวิชาร่างกฎหมายกับศาสตราจารย์พิเศษกาญจนารัตน์ ย้อนหลังไปเกือบ 30 ปี งานวิชาการของท่านไม่ว่าจะเป็นสารานุกรมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย รวมถึงประเด็นข้อกฎหมาย ข้อสังเกตต่างๆ ถือเป็นผลงานที่มีคุณค่ามาก เพราะทำให้มองเห็นภาพรวมของกระบวนการนิติบัญญัติ

ปาฐกถาในวันนี้สิ่งที่ได้รับไม่ใช่เรื่องทางวิชาการเท่านั้น แต่ได้รับฟังประสบการณ์ที่ไม่ได้เห็นในตำรา อันเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการดำรงตนในฐานะนักกฎหมายและมนุษย์คนหนึ่งในสังคม


 

คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สร้างบัณฑิตทางกฎหมายสู่สังคมแล้วกว่า 10,000 คน รับใช้สังคมด้วยบทบาทหน้าที่หลากหลายทั้งในภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และนานาชาติ (ภาพจากสมาคมสมาคมนิสิตเก่านิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)

คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดตั้งขึ้นตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 164 ลงวันที่ 15 มิถุนายน 2515 มีรากฐานมาจากโรงเรียนกฎหมาย กระทรวงยุติธรรม ซึ่งโอนมาเป็นคณะนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อ พ.ศ.2476 แล้วแยกไปเป็นมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองในปีเดียวกัน ก่อนจะเริ่มสอนนิติศาสตร์ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอีกครั้งตั้งแต่ พ.ศ.2494 ในฐานะแผนกหนึ่งของคณะรัฐศาสตร์ จากนั้นแยกจากแผนกวิชารัฐศาสตร์มาเปิดสอนโดยเอกเทศ เมื่อ พ.ศ.2501 แล้วยกฐานะขึ้นเป็นคณะนิติศาสตร์ เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ.2515

ปัจจุบัน จัดการเรียนการสอนวิชานิติศาสตร์ที่ทันสมัยต่อความเป็นไปของสากล เท่าทันพลวัตโลก เพื่อพัฒนาความชำนาญเฉพาะสาขาทั้งเชิงปรัชญาและเชิงปฏิบัติเปิดสอนระดับปริญญาบัณฑิตและระดับบัณฑิตศึกษา ในสาขาวิชาต่างๆ อาทิ กฎหมายแพ่งและอาญา กฎหมายธุรกิจ กฎหมายระหว่างประเทศ และกฎหมายมหาชน รวมทั้งเปิดสอนหลักสูตรภาคบัณฑิต (นอกเวลาราชการ) และหลักสูตรนานาชาติ Business Law ในระดับปริญญาโท

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image