‘อรุณ วัชระสวัสดิ์’ การ์ตูนิสต์การเมืองยุคสุดท้าย ?

“อยากเขียน แต่อยากไปลูฟวร์ (พิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ ฝรั่งเศส) ก่อน”

อรุณ วัชระสวัสดิ์ การ์ตูนิสต์ล้อการเมืองวัย 72 สารภาพความในใจถึงเหตุผลที่ “เว้นวรรค” การสร้างสรรค์ผลงานอยู่นาน

“ผมไม่เคยหยุดเขียนการ์ตูนเลยเกือบ 50 ปี เพราะถ้ารับปากกับที่ไหนไว้แล้วจะเจ็บป่วยไม่ได้ หรือถ้าไปต่างประเทศ ไปต่างจังหวัดก็ต้องเขียนล่วงหน้า เลยคิดว่าจะหยุดสักพัก อยากไปเที่ยวต่างประเทศ คนอย่างผมก็น่าจะไปลูฟวร์ แต่นี่หยุดมา 5 เดือนแล้ว ยังไม่ไปไหนเลย แสดงว่าจริงๆ แล้วผมติดการ์ตูน

“อาจเหมือนคนสูบบุหรี่ที่เพิ่งอดสูบใหม่ๆ แล้วทำปากซู้ดๆ อยู่เรื่อย” อรุณกล่าวพลางหัวเราะ

Advertisement

นี่คือส่วนหนึ่งในเรื่องราวมากมายที่ได้รับการบอกเล่าอยู่ในวันเปิดงาน ‘ล้อธรรม’ นิทรรศการศิลปะการ์ตูน 72 ปี อรุณ วัชระสวัสดิ์ จัดขึ้นภายในหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ หรือสวนโมกข์กรุงเทพ สถานที่ร่มรื่นและวันที่ฟ้าฝนเป็นใจ

อรุณ : การ์ตูนิสต์การเมืองยุคสุดท้าย

งานวันนั้นมีแขกรับเชิญมากมาย คนสำคัญที่ไม่พูดถึงไม่ได้คือ สุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโสและผู้ร่วมก่อตั้งเนชั่น ซึ่งอรุณยกให้เป็นผู้มีพระคุณ แถมยังเป็น “คนเปิดโลกทัศน์ทางการ์ตูน” ให้เขา

Advertisement

สำหรับสุทธิชัยแล้ว อรุณถือเป็น “การ์ตูนิสต์การเมืองยุคสุดท้าย” ด้วยผลงานที่ชัดเจนและแยบยล ซึ่งไม่ค่อยพบในยุคหลัง อีกทั้งยังสร้างสรรค์ผลงานจากมุมมองของสาธารณชน ไม่ใช่ความเห็นส่วนตัว

สุทธิชัยมองว่า งานที่เห็นทุกวันนี้เสมือนการโยนสีแล้วสาดเข้าไปทันที ไม่เห็นถึงศิลปะของการเสียดสี เหน็บแนม (Satirize) ที่ต้องฝึกฝน อาศัยจากการอ่านหนังสือ และฟังความรอบด้าน

“คุณอรุณโตมาในบรรยากาศห้องข่าว ได้ยินนักข่าวเล่าเบื้องหลัง เข้าประชุมโต๊ะข่าว ถกแถลงกันเรื่องข่าว ที่สำคัญคือถกแถลงกันในวงเหล้าต่อ (ยิ้ม) ซึ่งความจริงไอเดียที่ดีที่สุดมาจากวงเหล้านี่แหละ เพราะเป็นช่วงจังหวะที่เราผ่อนคลาย คนรุ่นใหม่ก็จะมองการ์ตูนการเมืองอีกแบบหนึ่ง ซึ่งเป็นการแสดงความชอบหรือไม่ชอบของฉัน มิใช่การสะท้อนความรู้สึกของประชาชนต่อการเมืองในช่วงนั้น

“การ์ตูนิสต์อย่างคุณอรุณ เชื่อว่าทุกครั้งที่เขียนมาจากความรู้สึกที่ว่าสาธารณชนมองนักการเมืองคนนี้ มองการตัดสินใจทางการเมืองของคนนี้อย่างไร มิใช่เพียงแต่ที่คุณอรุณคิดเท่านั้น”

ในประเด็นนี้ อรุณรีบกล่าวให้เห็นถึงความแตกต่างของ “เมื่อก่อน” กับ “ตอนนี้” ว่า การ์ตูนสมัยก่อนคือการ์ตูนบรรณาธิการ (Editorial Cartoon) ซึ่งเป็นความคิดเห็นของหนังสือพิมพ์ทั้งฉบับ ไม่ใช่การ์ตูนการเมือง (Political Cartoon) ที่เป็นความเห็นของการ์ตูนิสต์เพียงคนเดียวอย่างทุกวันนี้ ก่อนที่สุทธิชัยจะช่วยปิดท้าย

การแสดงนิทรรศการภาพเขียนการ์ตูนมีค่ามาก น้อยครั้งที่เราจะเห็นการแสดงการ์ตูน ส่วนใหญ่มักเป็นภาพถ่าย ภาพวาด หรืองานศิลป์ แต่เขาถือว่าการ์ตูนการเมืองเป็นศิลปะที่สำคัญ สะท้อนถึงความเป็นไปของแต่ละช่วง แต่ละยุค ฉะนั้น ภาพที่เราเห็นในงานนี้จะกินเวลาไม่ต่ำกว่า 30-40 ปี

เมื่อการเมืองวนซ้ำ ความสร้างสรรค์จึงไม่เกิดขึ้น?

การทำงานกว่า 5 ทศวรรษของอรุณได้สร้างสรรค์ผลงานจากทั้งดินสอ ปากกา พู่กัน คอมพิวเตอร์ ปฏิเสธไม่ได้ว่าการเข้ามาของเทคโนโลยีและออนไลน์ช่วยให้งานผ่านไปได้อย่างราบรื่น รวดเร็ว

แต่เดิมพื้นที่ของการ์ตูนการเมืองอาจจำกัดอยู่ในวงแคบอย่างหนังสือพิมพ์ ทว่า ทุกวันนี้เพียงมีโซเชียลมีเดีย ใครๆ ก็สามารถเป็นการ์ตูนิสต์ได้

“ก่อนจะมีออนไลน์ จะเขียนได้ก็ลงได้แค่หนังสือพิมพ์เท่านั้น แต่วันนี้สามารถเขียนหรือลงเมื่อไหร่ก็ได้ มีเพียงมือ ความคิด มีแก๊กอยู่ในสมอง มีวิญญาณของนักเขียนการ์ตูนอยู่ เขียนไม่ค่อยเหมือนคนก็ประสบความสำเร็จได้ นี่เป็นสิ่งที่ออนไลน์ช่วยได้มาก ทำให้คนเหล่านี้ประสบความสำเร็จ เพราะหากเขียนลงหนังสือพิมพ์ต้องมีฝีมือ 50 เปอร์เซ็นต์ ความคิด 50 เปอร์เซ็นต์ แต่ถ้าเขียนในออนไลน์คุณมีความคิด 80 ฝีมือ 20 ก็ได้แล้ว ทั้งนี้ เมื่อไหร่ที่เชื่อว่าคนอ่านเข้าใจ 100 เปอร์เซ็นต์ ผมว่านั่นไม่ใช่การ์ตูนจริงๆ คุณต้องใส่ความคิดของคุณที่ทำให้คนอ่านงงไปสักพักหนึ่ง เขาต้องคิดว่าคืออะไร หมายความว่าไง ดังนั้น สิ่งที่ผมไม่ชอบที่สุดคือการถามว่าภาพนี้หมายความว่าอะไร เพราะบางภาพผมก็ไม่ทราบเหมือนกัน

ภาพชุด”นายกรัฐมนตรี”โดยเทคนิคแอร์บรัช

“คงไม่ใช่เรื่องง่ายนักที่จะเขียนการ์ตูนให้เข้าใจไปตลอด ครั้งหนึ่งผมเคยถาม คุณขรรค์ชัย บุนปาน ประธานกรรมการ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) ถึงความสำคัญของการ์ตูนการเมืองในหนังสือพิมพ์ เขาบอกว่าเสมือนน้ำจิ้มบนโต๊ะจีน ไม่มีไม่ได้ หัวหมูจะไม่อร่อยถ้าไม่มีน้ำจิ้ม ดังนั้น การ์ตูนการเมืองเป็นเพียงน้ำจิ้มสำหรับหนังสือพิมพ์ แต่ก็สำคัญสำหรับโต๊ะจีนเช่นกัน การวัดอุณหภูมิการเมืองก็เหมือนกับการวัดของในโต๊ะจีน เมื่อไหร่ที่น้ำจิ้มแซ่บ แสดงว่าเหตุการณ์บนโต๊ะจีนดุเดือด แต่เมื่อไหร่ที่น้ำจิ้มจืดชืด แสดงว่าไม่ค่อยมีอะไรน่าเขียนเท่าไหร่ บ้านเมืองสงบ หรือไม่ก็ไม่รู้เรื่องกันไปเลย” พูดจบประโยค อรุณก็เผลอหัวเราะ

ย่อนอ่าน : กลับมาให้หายคิดถึง! ‘ล้อธรรม’ นิทรรศการศิลปะการ์ตูน 72 ปี อรุณ วัชระสวัสดิ์

วันนี้ อรุณผันตัวเองออกมาอยู่ขอบสนามการเมือง เป็นผู้สังเกตการณ์อยู่ห่างๆ อย่างใส่ใจ โดยสามเหตุผลหลักที่เขายังไม่กลับมาวาดการ์ตูนในเร็วๆ นี้คือ ต้องการหยุดพักผ่อน การเมืองวนซ้ำ และเขากลัวตัวเอง

“ผมไปค้นการ์ตูนเก่าที่เขียนไว้เพื่อมาแสดงที่นี่ ปรากฏว่าแทบไหว้ตัวเองได้เลย เพราะเก่งมาก ทำให้ผมไม่กล้าเขียน นี่คือเหตุผลหนึ่งที่ผมกลัวอยู่ทุกวันนี้ ผมไม่มีไฟ มันหมดไปแล้วที่จะเก่งได้ขนาดนั้น… การเมืองวันนี้มันซ้ำมากจนผมอายว่าถ้าเขียนไปผมจะเขียนรูปเดิม แค่เปลี่ยนหัวก็ได้เลย นี่แสดงว่ามันไม่พัฒนาอะไรเลย ผมว่าจะไปรื้อของเก่ามาดู เผื่อจะได้ไม่ต้องเขียน เหมือนดูมวยปล้ำที่เขาเขียนบทไว้ก่อน ซึ่งไม่มีอะไรน่าตื่นเต้นเลย”

อย่างไรก็ดี ตลอดชีวิตการ์ตูนิสต์ล้อการเมือง อรุณเคยเจอ “พิษภัย” เพียงครั้งเดียว แถมยังเกิดจากความเข้าใจผิดเสียด้วย ต้นเหตุมาจากการ “รีโพสต์” ภาพเก่าจนอีกฝ่ายเข้าใจผิด คิดว่าหมายถึงเหตุการณ์ปัจจุบัน ไม่ช้า อรุณงัดเอกสารยืนยัน ก่อนทุกอย่างจะจบลงด้วยดี

“นี่คือความวนเวียนของการเมือง มันวนจนเขางงเหมือนกัน” อรุณบอกอย่างนั้น

นานาทรรศนะ ‘การ์ตูนอรุณ’

“อาตมารู้จักอรุณตั้งแต่สมัยเป็นนักเรียน ม.ศ.3 ชอบลายเส้นอรุณที่เบา แม้จะเป็นเนื้อหาสังคมการเมือง แต่ให้ความรู้สึกฟีลกู๊ด พอบวชแล้วไม่ค่อยได้ดูข่าวเท่าไหร่ แต่สำหรับอาตมาแล้ว ฝีมืออรุณไม่ใช่สิ่งที่แปลกแยก มีความชื่นชมมาตลอด ทั้งแง่ลายเส้น เนื้อหา อารมณ์ ซึ่งผลงานเหล่านี้เป็นการเติมอารมณ์ขัน เพิ่มรอยยิ้มให้ผู้คนและการเมืองไทย ไม่ทำให้คนเครียดกับการเมืองมากมาย แม้จะมีความดุร้าย แข่งขัน หรือก้าวร้าวอย่างไร แต่ก็มีแง่มุมบางอย่างให้เราหัวเราะ ขบขันได้

“ยินดีที่คุณอรุณได้สร้างสรรค์ผลงาน ได้เห็นพัฒนาการของคุณอรุณในแง่การเปลี่ยนแปลงแนวทาง ภายหลังมาทำผลงานภาพพิมพ์แกะไม้ (Woodcut) ซึ่งเป็นเรื่องธรรมะ ให้แง่คิดที่ดี อยากเชิญชวนทุกท่านมาชื่นชมผลงานคุณอรุณ”

พระไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต จังหวัดชัยภูมิ กล่าวชื่นชมอรุณ ขณะเดียวกันยังให้เกียรติเป็นประธานเปิดงาน พร้อมอำนวยอวยพรให้อรุณมีอายุยืนยาว มีสุขภาพที่ดี และมีพลังในการสร้างสรรค์ผลงานอย่างต่อเนื่อง

พระไพศาลร่วมถ่ายภาพกับอรุณและครอบครัว หลังกล่าวเปิดงาน ‘ล้อธรรม’

ขณะที่ 3 การ์ตูนิสต์ล้อการเมืองรุ่นน้องอย่าง เซีย ไทยรัฐ, ขวด เดลินิวส์ และ หมอ ทิววัฒน์ บางกอกโพสต์, กรุงเทพธุรกิจ ก็เอ่ยชื่นชม “พี่อรุณ” ในมุมมองที่ไม่ต่างกัน

เซีย ไทยรัฐ หรือ ศักดา แซ่เอียว พกประสบการณ์วาดการ์ตูนกว่า 40 ปีตุงอยู่ในกระเป๋า เขาบอกว่ามีอรุณเป็น “ไอดอล”

“ผมเริ่มต้นเขียนการ์ตูนการเมืองอยู่แล้ว แต่หาสไตล์ไม่เจอ ไปเจองานพี่อรุณ ชอบมาก ลอกเลย โดยเอาสไตล์ของพี่อรุณมา ผมเฝ้าดูว่าเขาทำงานยังไงบ้าง มีมุมมองการ์ตูนยังไง ลายเส้น เทคนิคเป็นอย่างไร เพราะสิ่งเหล่านี้ทำให้เราสามารถพัฒนาตัวเองได้… ทุกครั้งเวลาเจอพี่อรุณมักจะได้รับความเมตตาและความช่วยเหลืออยู่ตลอด ผมพยายามมองตามสิ่งที่พี่อรุณประสบความสำเร็จ และเฝ้าเดินตามมาตลอดทาง ซึ่งผมเองเป็นประเภทครูพักลักจำ แต่ไม่ใช่เฉพาะเรื่องงานอย่างเดียว รวมถึงวิธีคิด พูด และการปฏิบัติตัวของพี่เขาด้วย”

ส่วน ทิววัฒน์ ภัทรกุลวณิชย์ หรือ หมอ บางกอกโพสต์, กรุงเทพธุรกิจ บอกว่า อรุณคือสุดยอดแห่งการจับคาแร็กเตอร์คนมาเป็นการ์ตูน สำหรับเขาแล้ว การวาดภาพเหมือนยังดูง่ายกว่า นอกจากนี้ การ์ตูนอรุณยังมากมายด้วย “สัญลักษณ์” หากคนอ่านอ่านออกก็จะทราบทันทีว่าอรุณต้องการสื่ออะไร

“รู้สึกว่างานของพี่อรุณคลาสสิกระดับโลก ตามงานแกมาโดยตลอด ผมใช้คำว่า Study วิธีคิดของพี่อรุณ วิธีการคลี่คลายหน้าตาของแต่ละคน การจับคาแร็กเตอร์ของแต่ละคน ในที่สุดก็นำมาใช้กับงานตัวเอง”

แต่สำหรับ ณรงค์ จรุงธรรมโชติ หรือ ขวด เดลินิวส์ บอกว่า ทั้งอรุณ เซีย และหมอ ล้วนเป็น “อาจารย์” สำหรับเขา เพราะแม้ตัวเองจะเข้าวงการวาดการ์ตูนมากว่า 30 ปี ทว่าเพิ่งริเริ่มเขียนการ์ตูนการเมืองมาราว 20 ปี ด้วยความจำเป็นบางอย่างเท่านั้น

“แม้จะมีประสบการณ์เขียนการ์ตูนขายหัวเราะก็ตาม แต่จู่ๆ จะมาเขียนการ์ตูนการเมืองนั้น ไม่ง่ายเลย เพราะการเขียนการ์ตูนการเมืองต้องรู้ข่าวสารบ้าน้มือง และไม่ได้รู้แบบที่คนธรรมดาอ่านข่าว ฟังวิทยุ เราจำเป็นต้องรู้ลึกกว่านั้น โชคดีที่มีทั้งอาจารย์อรุณ พี่เซีย พี่หมอเป็นแรงบันดาลใจให้ผมได้ดูงานเป็นตัวอย่าง จนสามารถแยกจุดเด่นของแต่ละคนได้ โดยงานของอาจารย์อรุณเป็นลายเส้นเก๋ๆ ตัวหนังสือไม่ต้องเยอะ แต่คมคายและลึกซึ้งมาก ภาพหนึ่งภาพบอกเล่าเรื่องราวมากมายให้คนได้ไปคิดต่อ”

แต่ก่อนที่ทุกคนจะแยกย้าย ผู้ร่วมงานรายหนึ่งมีคำถามถึงอรุณว่า หากเหตุบ้านการเมืองไทยดีมาก สงบสุข สามารถชื่นชมได้ทุกคน ความน่าเบื่อไม่มีแล้ว วันนั้น อรุณจะเขียนการ์ตูนได้อย่างไร?

“ผมว่าวันนั้นคงไม่มีหนังสือพิมพ์หรอกครับ เพราะมันไม่มีข่าวอะไรแล้ว” เขาตอบไปยิ้มไป

ผู้สนใจสามารถเข้าชม “ล้อธรรม” นิทรรศการศิลปะการ์ตูน 72 ปี อรุณ วัชระสวัสดิ์ ได้ที่โถงนิทรรศการ ชั้น 2 หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ (สวนโมกข์กรุงเทพ) รายได้มอบให้พระไพศาล วิสาโล เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต จ.ชัยภูมิ จัดแสดงจนถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2562

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image