ปลุกพลัง ‘อนุรักษ์’ ชาวเมืองคอน พา ‘วัดพระธาตุฯ’ ขึ้นมรดกโลก

วัดพระมหาธาตุ

“วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร จ.นครศรีธรรมราช” นับเป็นแหล่งมรดกวัฒนธรรมของชาวนครศรีธรรมราช รวมถึงภาคใต้ และประชาชนทั่วประเทศ ถือเป็นปูชนียสถานอันเป็นหลักฐานการแลกเปลี่ยนคุณค่าทางจิตใจของมนุษย์มานาน นับตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 14-16 และเจริญสูงสุดในพุทธศตวรรษที่ 18 ในฐานะเป็นจิตวิญญาณของอาณาจักรตามพรลิงค์

กรมศิลปากร และ จ.นครศรีธรรมราช ร่วมกันเสนอชื่อต่อองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก เพื่อขอบรรจุไว้ในบัญชีเบื้องต้น เมื่อ พ.ศ.2555 ก่อนที่ยูเนสโกจะบรรจุไว้ในบัญชีแล้วเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2556 ที่ผ่านมา

นักวิจัยสรุปแผนการทำงาน

ไม่นานมานี้ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ สกสว. ร่วมกับคณะกรรมการมรดกโลก จ.นครศรีธรรมราช จัดกิจกรรม “การอนุรักษ์วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร สู่มรดกโลก” เพื่อสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของประวัติศาสตร์และโบราณสถาน พร้อมจัดทำแผนอนุรักษ์วัดพระมหาธาตุอย่างยั่งยืนตามหลักวิศวกรรม เพื่อร่วมกันเป็นส่วนหนึ่งในการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก โดยมี ภาคภูมิ อินทรสุวรรณ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นประธานในเวทีนำเสนอกระบวนการทำงาน และพิธีเปิดตัว “คิกออฟพระบรมธาตุสู่มรดกโลก” โดยมีผู้สนใจร่วมงานกว่า 2,000 คน ณ วัดพระมหาธาตุ

ผศ.ฉัตรชัย ศุกระกาญจน์ ประธานกรรมการฝ่ายวิชาการ กล่าวว่า คณะกรรมการมรดกโลกได้จัดทำแผนด้านคุณค่าโดดเด่น รวมถึงแผนการสร้างความเข้าใจกับประชาชนและวิธีการดูแลรักษาไว้แล้ว ภายใต้คำขวัญ “วัดพระมหาธาตุฯ มรดกไทย มรดกโลก” แต่ยังขาดข้อมูลด้านแผนอนุรักษ์คุ้มครองโบราณสถาน จึงประสานขอความร่วมมือจากคณะวิจัยชุดโครงการ “อนุรักษ์โครงสร้างโบราณสถานตามหลักวิศวกรรม” ที่มี รศ.ดร.นคร ภู่วโรดม เป็นหัวหน้าชุด เพื่อวางแผนสำรวจประเมินความมั่นคงขององค์พระบรมธาตุเจดีย์สำหรับรองรับการเสนอขึ้นบัญชีเป็นมรดกโลก โดยใช้เทคนิควิธีและเทคโนโลยีทางวิศวกรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นองค์ความรู้ภายใต้การสนับสนุนทุนวิจัยจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) หรือ สกสว.ในปัจจุบัน

Advertisement

คณะวิจัยจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) นำโดย ผศ.ดร.กฤษฎา ไชยสาร และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) โดย รศ.ดร.สุทัศน์ ลีลาทวีวัฒน์ และ ผศ.ดร.ชัยณรงค์ อธิสกุล ร่วมกันศึกษาเชิงวิศวกรรม เพื่อระบุและประเมินสภาพปัจจุบันของโครงสร้างบริเวณวัดพระมหาธาตุ โดยใช้เครื่องเลเซอร์เก็บข้อมูลภาคพื้นดินแบบกลุ่มจุดข้อมูลจาก 130 สถานี ได้กลุ่มจุดข้อมูลทั้งหมดประมาณ 1 พันล้านจุด ก่อนจะไปเก็บในระบบเครือข่ายดิจิทัลที่สามารถเข้าถึงได้โดยประชาชนทั่วไป อีกทั้งสามารถใช้ตรวจเฝ้าระวังสำหรับแผนการอนุรักษ์

ขณะที่การเก็บข้อมูลโครงสร้างโดยวิธีการสร้างแบบจำลอง 3 มิติจากภาพถ่ายทางอากาศด้วยโดรน เจดีย์มีค่าความเอียงไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ 1.45 องศา โดยแบบจำลองนี้สามารถใช้ในการประเมินสภาพความเสียหายของโครงสร้างจากพื้นผิวภายนอกและใช้ในการวิเคราะห์ด้วยแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ได้

ผศ.ดร.นเรศ ลิมสัมพันธ์เจริญ มธ. เอ่ยถึงการวิเคราะห์โครงสร้างว่า ยังมั่นคงปลอดภัยภายใต้น้ำหนักของตัวองค์เจดีย์เอง ทั้งส่วนขององค์เจดีย์และการรับน้ำหนักของดินฐานราก โดยผลการวิเคราะห์พบว่า หากพระบรมธาตุเจดีย์เอียงถึงระดับ 7 องศา จึงจะมีผลกระทบต่อความมั่นคงแข็งแรงในส่วนกลางขององค์พระบรมธาตุได้ ส่วนการใช้เทคโนโลยีตรวจสอบการสั่นสะเทือนจากการจราจรพบว่า มีผลกระทบต่อความมั่นคงของโครงสร้างโบราณสถานน้อยมาก เนื่องจากพื้นดินบริเวณวัดพระมหาธาตุเป็นดินแข็งมาก รวมทั้งห้ามรถบรรทุกหนักวิ่งบนถนนที่ผ่านด้านหน้าและด้านหลังพระบรมธาตุเจดีย์ จึงไม่ส่งผลกระทบต่อแรงสั่นสะเทือน นอกจากนี้ในการบูรณะ ทางคณะวิจัยพยายามหาทางใช้วัสดุทดแทนที่มีคุณสมบัติใกล้เคียงของเดิมมากที่สุด และเหมาะสมกับสภาวการณ์ในปัจจุบัน

Advertisement
สำรวจธรณีฟิสิกส์ด้วยจีพีอาร์

ขณะเดียวกัน ผศ.ดร.ภาสกร ปนานนท์ ม.เกษตรศาสตร์ ก็กำลังวางแผนสำรวจธรณีฟิสิกส์เพิ่มเติมด้วยการใช้เครื่องหยั่งความลึกด้วยสัญญาณเรดาร์ (จีพีอาร์) ซึ่งใช้หลักการส่งคลื่นวิทยุลงไปในพื้นดินได้ที่ความลึกเฉลี่ย 2-5 เมตร โดยจุดที่สนใจ ได้แก่ ระเบียงวิหารและภายในวิหารที่อาจมีโครงสร้างเก่า รวมถึงภายในวัดที่คาดว่าจะมีเจดีย์มุมองค์เดิมอยู่ โดยจะทำงานร่วมกับคณะทำงานมรดกโลก วัดพระมหาธาตุ และสำนักศิลปากรที่ 12 นครศรีธรรมราช เพื่อเป็นข้อมูลเพิ่มเติมประกอบการศึกษาด้านโบราณคดี อีกทั้งสำรวจองค์พระธาตุด้วยเครื่องมืออื่น

รศ.ดร.ชนาธิป ผาริโน ผอ.ฝ่ายสวัสดิภาพสาธารณะ สกสว. บอกว่า สิ่งเดียวที่จะทำให้เกิดการอนุรักษ์และพัฒนาที่ยั่งยืนคือ “ต้องสร้างคน” ใช้ทรัพยากรที่ชุมชนมีอยู่ในการเป็นเจ้าของ กำหนดเทศบัญญัติชุมชน และสร้างกิจกรรมต่างๆ ให้ประชาชนมีส่วนร่วมกันดูแลทรัพยากรสาธารณะและสืบทอดมรดกทางวัฒนธรรม โดยเฉพาะ “คนรุ่นใหม่” ที่มีความคิดสร้างสรรค์ เพื่อส่งต่อสิ่งที่มีคุณค่าไปสู่อนาคต รวมถึงเป้าหมายเดียวกันในการยกระดับสู่มรดกโลก

“สกสว.สนับสนุนทุนวิจัยเพิ่มเติมในการนำองค์ความรู้มาต่อยอดการอนุรักษ์วัดพระธาตุ นับเป็นโอกาสที่ดีมากที่เราจะได้มีส่วนร่วมสร้างวิธีการและความพร้อมของนักวิจัยและเครื่องมือ งานวิจัยจะเป็นส่วนสำคัญในการทำงานร่วมกับภาคส่วนต่างๆ สร้างความเข้มแข็งและสืบทอดการดูแลโบราณสถานให้ยั่งยืนต่อเนื่อง มากกว่าการเป็นมรดกของคนไทยคือการเป็นมรดกของประชากรโลก”

ปิดท้ายที่ตัวแทนชุมชนในเขตเทศบาล โดย ศักดิ์พงษ์ นิลไพรัช ซึ่งฝากข้อคิดไว้ว่า การดูแลโบราณสถานเป็นหน้าที่สำคัญของคนในชุมชน การพัฒนาวัดไม่ควรคิดแต่ความอลังการสมัยใหม่ แต่ต้องให้ชาวบ้านเห็นประโยชน์ เป้าหมายของการเป็นมรดกโลกไม่สำคัญเท่ากับการทำให้ “พระธาตุสะอาด สว่าง สงบ” ดังนั้น การยอมรับของคนในชุมชนจะต้องสร้างด้วยศรัทธา เพื่อให้ชาวบ้านร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมภูมิใจ และร่วมกันได้รับประโยชน์ จึงจะเกิดเป็นพลังที่ยั่งยืน

“ต้องระเบิดจากภายใน” ศักดิ์พงษ์กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image