เมื่อพม่าจับมือไทย เปิดตัวยิ่งใหญ่ ‘โรงไฟฟ้ามินบู’ แหล่งพลังงานแสงอาทิตย์แห่งแรกในเมียนมา

โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์มินบู รัฐมาเกวย เมียนมา

09.00 น. 27 มิถุนาฯ บิ๊กเซอร์ไพรส์เกิดขึ้น หลังสิ้นเสียงใบพัดเฮลิคอปเตอร์ ออง ซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐเมียนมา ให้เกียรติเดินทางมายังรัฐมาเกวย ตอนบนของประเทศพม่า เพื่อร่วมเป็นประธานในพิธีเปิด โรงไฟฟ้ามินบู อย่างเป็นทางการ

แขกเหรื่อคับคั่ง มีตั้งแต่รัฐมนตรีกระทรวงบิ๊ก ไปจนถึงหัวหน้าคณะรัฐมนตรีแห่งรัฐมาเกวย นักลงทุน สื่อมวลชน และประชาชนชาวพม่า

ซูจี ขึ้นกล่าวบนเวทีตอนหนึ่งใจความว่า ภูมิใจและยินดีอย่างยิ่งที่นักลงทุนไทยได้เข้ามาลงทุนและสร้างโรงไฟฟ้าให้เกิดขึ้น ถือเป็นโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนและโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แห่งแรกที่ใหญ่ที่สุดในประเทศพม่า

นางออง ซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐเมียนมา ร่วมเปิดโรงไฟฟ้ามินบูอย่างเป็นทางการ

กว่า 1 ปีที่ “มินบู” ก่อรูปจนเป็นร่าง โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ แห่งนี้ดำเนินการผ่านบริษัทร่วมทุน พลังงานเพื่อโลกสีเขียว (ประเทศไทย) หรือ GEPT โดยมีผู้ลงทุนหลักคือ บมจ.อีสต์โคสท์เฟอร์นิเทค (ECF) ถือหุ้น 20%, บมจ.เมตะ คอร์ปอเรชั่น (META) ถือหุ้น 12%, บมจ.สแกน อินเตอร์ (SCN) ถือหุ้น 40%, และ Noble Planet หรือ NP สัญชาติสิงคโปร์ ถือหุ้น 28%

Advertisement

กว่า 2,115 ไร่ ของโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์มินบู ได้รับการออกแบบและดำเนินการก่อสร้างอย่างมีประสิทธิภาพได้มาตรฐานระดับสากล

โดยเฟสแรกที่แล้วเร็จมีกำลังการผลิต 50 เมกะวัตต์ จากทั้งโครงการ 220 เมกะวัตต์ โดยจะขายไฟให้กับหน่วยงานจัดหาพลังงานภายใต้กระทรวงไฟฟ้าและพลังงาน ซึ่งจะสนองความต้องการใช้ไฟได้ถึง 350,000,000 kWh ต่อปี หรือกว่า 2 แสนครัวเรือน

ไม่ง่ายสำหรับโครงการขนาดใหญ่ แม้ว่าก่อนหน้านี้มีหลายบริษัทเข้ามาลงทุน แต่ก็ยังไม่สำเร็จ เพราะแต่ละชิ้นส่วนต้องเดินทางข้ามน้ำข้ามทวีป จากจีน ยุโรป มุ่งหน้าสู่ย่างกุ้ง กว่าจะเดินทางมาถึงมาเกวย ต้องซ่อมถนน เสริมสะพาน ทุกอย่างไม่ใช่เรื่องง่าย อีกทั้งยังต้องคุมคนงานอีกกว่า 700 คน และบางจุดมากถึง 1,000 คน

Advertisement

ถือเป็นความสำเร็จอันยิ่งใหญ่และน่าภาคภูมิใจของทั้งชาวเมียนมาและทีมผู้ลงทุนไทย ที่นำร่องก่อสร้างโรงไฟฟ้าได้สำเร็จ

ถือเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ต้นแบบที่มีบทบาทสำคัญในการช่วยพัฒนาความเป็นอยู่ การศึกษา สร้างอาชีพ และสุขอนามัยที่ดีแก่ชาวเมียนมา

ออง ทีฮา ประธานกรรมการ บริษัท พลังงานเพื่อโลกสีเขียว (ประเทศไทย) จำกัด หรือ GEP เผยความรู้สึก “วันนี้คือวันพิเศษของประเทศพม่า”

“เรามีความภูมิใจและยินดีอย่างยิ่งที่ได้เป็นผู้สร้างความสำเร็จและได้เป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาประเทศเมียนมาให้ก้าวหน้าทันประเทศอื่นๆ ต้องยอมรับว่าประชาชนชาวเมียนมาส่วนมากยังใช้ชีวิตอยู่โดยขาดแคลนไฟฟ้า โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แห่งนี้จะทำให้ชาวเมียนมามีชีวิตที่ดีขึ้นโดยได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลอย่างเต็มที่ และความสำเร็จของ GEP จะการันตีก้าวต่อไปในการพัฒนาโครงการอื่นๆ ในอนาคต

ในฐานะคนเมียนมาและหนึ่งในผู้บุกเบิกพลังงานสะอาดในเมียนมา รู้สึกซาบซึ้งในการสนับสนุนจากนักลงทุน สถาบันการเงิน และพันธมิตร ทั้งจากไทยและประเทศอื่นๆ ที่ได้มีส่วนช่วยให้คนเมียนมาเข้าถึงไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น อันสะท้อนวิสัยทัศน์ที่ทันสมัยของเมียนมาผ่านความสำเร็จของโครงการเรา”

ทางเอ็นจิเนียริงดอกเตอร์ ด้านพลังงานหมุนเวียน ดร.ฤทธี กิจพิพิธ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สแกน อินเตอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCN บอกว่า ตั้งแต่เรียนจบมาจากอเมริกาก็ได้เข้าไปเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้า 4 แห่งในประเทศไทย ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าขนาดเล็กไม่ถึง 10 เมกะวัตต์ แต่วันนี้ ดร.ฤทธีถึงกับลั่นว่า “ความฝันของผมเป็นจริงแล้ว”

“ผมเคยมีความฝันตั้งแต่ตอนที่เรียนแล้วว่า สักวันจะมีโรงไฟฟ้าที่ทำมาจากพลังงานสะอาด เป็นโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ช่วยเหลือประเทศเพื่อนบ้าน ไม่เพียงโลกสวย ไม่ใช่แค่ลดมลพิษอย่างเดียว แต่เป็นการผลิตที่ใช้งานได้จริง อยู่ในพื้นที่ห่างไกลที่ไฟฟ้าไม่สามารถเข้าถึงได้

(จากซ้าย) อารักษ์ สุขสวัสดิ์, ออง ทีฮา, ดร.ฤทธี กิจพิพิธ, ศุภศิษฎ์ โภคินจารุรัศมิ์

“วันนี้ถือเป็นความภาคภูมิใจ ในอนาคตอันใกล้เราจะเริ่มเฟส 2, 3 และ 4 เพราะ 220 เมกะวัตต์ ไม่พอกับไฟฟ้าในแถบนี้ เราจะเป็นกำลังสำคัญให้กับประเทศนี้ในการขยายและพัฒนาพลังงานสะอาดต่อไป”

ด้าน อารักษ์ สุขสวัสดิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อีสต์โคสท์เฟอร์นิเทค จำกัด (มหาชน) หรือ ECF ย้ำ สิ่งนี้เป็นความภูมิใจของคนไทยอีกโครงการในประเทศพม่า ก่อนจะเล่าย้อนให้เห็นภาพว่า ช่วงแรกที่มาทำ Groud Breaking มีแผงอยู่ประมาณ 30 แผงเท่านั้น

“พอกลับไปเมืองไทยทุกคนบอกโอ้โหจะเสร็จไหมเนี่ย ผมโดนคำถามนี้อยู่เป็นปี ว่าจะเกิดขึ้นจริงไหม ผมบอกว่า จะต้องทำให้เกิดขึ้นให้ได้ เพราะเป็นสิ่งที่พวกเรามุ่งมั่นและตั้งใจที่จะทำให้เกิด

“เราไม่ได้มองแค่บริษัทของเรา แต่อยากให้ทุกคนมองว่าเราเป็นตัวแทนของประเทศไทยและคนไทยที่มาทำสำเร็จเป็นโครงการแรกในพม่า และเชื่อว่าจะมีกลุ่มอื่นเข้ามาลงทุนที่ประเทศพม่าเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีสำหรับนักลงทุนไทยและประเทศพม่าเอง”

ถือเป็นกลุ่มใหม่ที่เข้ามาทำเรื่องพลังงาน อารักษ์เล่าว่า โดนท้าทายตั้งแต่ครั้งแรกที่ไปลงทุนใน จ.นราธิวาส

“จะทำได้หรือ? อยู่ท่ามกลาง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จะเกิดไหมโรงงานชีวมวล? หรือล่าสุด ไปทำโรงงานไบโอก๊าซที่ จ.แพร่ ซึ่งยากมาก แต่วันนี้เราทำสำเร็จและ COD เรียบร้อยแล้ว โครงการที่พม่าก็เป็นอีกโครงการที่ท้าทาย? อารักษ์บอกและยังกระซิบย้ำนักลงทุนด้วยว่า “ไม่ได้ยากอย่างที่คิด ถ้ามุ่งมั่นที่จะทำให้สำเร็จ”

อีกหนึ่งกำลังสำคัญ หากขาดโครงการ โรงไฟฟ้าก็ยากที่จะเกิด

ศุภศิษย์ โภคินจารุรัศมิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เมตะ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ Meta ในฐานะผู้พัฒนาและรับเหมาก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้ามินบู เผยว่า นี่คือความภูมิใจของเด็กคนไทยคนหนึ่ง ที่สามารถมาทำธุรกิจในประเทศนี้ได้สำเร็จ

“ทุกท่านที่นี่สำคัญมากๆ ทุกคนทำให้โครงการนี้เกิด หวังว่าความฝันของคนเมียนมาจะเป็นจริง เพราะปัจจุบันประเทศเมียนมาเข้าถึงไฟแค่ 1 ใน 3

“แต่เรากำลังพูดถึงอีก 2 ใน 3 ที่จะต้องเป็นไปตามแผนให้ได้ เราเชื่อว่าเราเป็นคนกลุ่มแรกที่ทำพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) สำเร็จโครงการแรกในประเทศเมียนมา วันนี้ท่านออง ซาน ซูจี ก็มีโอกาสได้พูดว่า ท่านนั่งเฮลิคอปเตอร์และมองลงมา เป็นภาพที่สวยงามมาก เขาชอบนวัตกรรม และเทคโนโลยีใหม่ๆ เพราะประเทศจะได้เดินหน้าต่อไปอย่างทันสมัย จากการที่ประเทศไทยในฐานะเมนหลักที่ลงทุนได้เอาเทคโนโลยีและประสบการณ์ที่สั่งสมมาเร่งพัฒนาประเทศเพื่อนบ้าน

“สำคัญที่สุดคือเราสามารถช่วยให้คนที่อยู่ในพื้นที่มีงานทำมากขึ้น เพราะหลังจากที่โรงไฟฟ้าสร้างเสร็จจะมีเงินก้อนหนึ่งเพื่อพัฒนาชุมชนรอบข้างให้ทุกคนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เป็นอีกหนึ่งความฝันของเราในการพัฒนาคน”

กว่าจะเดินทางมาถึงวันนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นเรื่องยากที่เอกชนจะเข้ามาลงทุนในด่างแดน น่าสนใจว่านักลงทุนกลุ่มนี้ประเมินความเสี่ยงอย่างไร ทั้งเรื่องของอัตราแลกเปลี่ยนและความเสี่ยงเรื่องผู้ก่อการร้าย ต้องเข้ามารูปแบบไหน มีวิธีการอย่างไรถึงประสบความสำเร็จ

ศุภศิษย์ เปิดเผยว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดในการทำธุรกิจต่างประเทศคือ “โลคอลพาร์ตเนอร์” หรือผู้ร่วมทุนในท้องถิ่น

“เรามีโลคอลพาร์ตเนอร์ที่ไว้เนื้อเชื่อใจ การเป็นพันธมิตรที่เสมือนทำงานในประเทศเดียวกันจะเป็นตัวลดความเสี่ยงที่ดีที่สุด ถึงมีทนายที่เก่งที่สุด หรือซื้อประกันที่ดีที่สุด แต่ถ้าไม่สามารถดีลกับโลคอลได้ ไม่เข้าใจวัฒนธรรมการลงทุนในแต่ละประเทศ ก็เป็นความเสี่ยง”

ด้าน อารักษ์ บอกว่า วันนี้อยากให้มุมมองความคิดเปลี่ยน เพราะอยู่ประเทศไทยก็มีความเสี่ยงเช่นกัน

“ชีวมวลในประเทศไทย วิ่งขายกันเต็มไปหมด บอกว่าคนนั้นคนนี้จะเซ็นให้ สุดท้ายคือความเสี่ยงทั้งหมด บางโรงลงทุนสร้างไปแล้ว 40 เปอร์เซ็นต์ แต่เปิดไม่ได้ ความเสี่ยงจึงไม่ได้อยู่ที่ต่างประเทศหรือในประเทศไทย แต่เกิดขึ้นได้ทั่วโลก”

เพราะมองว่าเป็นเวทีของนักลงทุนไทย ที่จะต้องกล้าออกมานอกประเทศ

“ถ้าบอกว่าอย่าออกไปเสี่ยงเลย ก็คิดว่าป็นการปิดประตูตัวเองมากไปหน่อย แต่การเสี่ยงก็ถูกป้องกันได้โดยสำนักกฎหมายใหญ่ๆ ซึ่งมีสำนักงานอยู่ที่พม่าและทั่วโลก เมื่อมา 3 บริษัท ร่วมบริหาร ความเสี่ยงจึงลดลงแบบคูณ 3 และด้วยความที่มีพาร์ตเนอร์ที่ดีอย่างคุณออง ทีฮา ก็ยิ่งมั่นใจไปอีกว่าการบริหารจัดการตรงนี้ความเสี่ยงจะน้อยลง

“ความเสี่ยงคือสิ่งที่ปิดได้ ถ้าเรามองว่าปิดไม่ได้ก็จะเดินทางไปทำธุรกิจที่ไหนไม่ได้เลย เราควรจะก้าวออกมาได้แล้ว โดยเฉพาะธุรกิจด้านพลังงาน” อารักษ์ระบุ

นับเป็นโครงการสำคัญที่ทำน่าจับตามอง แม้เป็นกลุ่มใหม่ แต่เชื่อว่าอนาคตจะเป็นผู้นำด้านธุรกิจพลังงานต่อไปในภูมิภาค

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image