ทำไม? สมัยรัชกาลที่ 6 จึงจัดพระราชพิธีบรมราชาภิเษก 2 ครั้ง

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเครื่องบรมขัตติยราชภูษิตาภรณ์ ฉลองพระองค์ครุยกรองทอง ทรงพระชฎามหากฐินน้อย ประทับพระที่นั่งพุดตานกาญจนสิงหาสน์ แวดล้อมด้วยมหาดเล็กเชิญเครื่องสิริราชกกุธภัณฑ์ เครื่องราชูปโภค และพระแสงอัษฎาวุธ ทรงฉาย ณ พระที่นั่งบรมพิมาน วันที่ 17 ธันวาคม 2454

งานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในหลวงรัชกาลที่ 10 เมื่อวันที่ 4-6 พฤษภาคม 2562 ที่เพิ่งผ่านไป เชื่อว่าหลายท่านยังคงประทับใจในความยิ่งใหญ่ตระการตา

เมื่อย้อนกลับไปสำหรับราชวงศ์จักรีที่ปัจจุบันมีพระมหากษัตริย์ 10 รัชกาล มีพระราชพิธีบรมราชาภิเษกที่ผ่านมาถึง 12 ครั้งด้วยกัน ที่เป็นเช่นนี้เพราะบางรัชกาลโปรดเกล้าฯ ให้ประกอบพิธี 2 ครั้ง และบางรัชกาลก็ไม่มีพระราชพิธีบรมราชาภิเษก โดยสรุปได้ดังนี้

รัชกาลที่ประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก 1 ครั้ง มี 5 รัชกาล ได้แก่ รัชกาลที่ 2, รัชกาลที่ 3, รัชกาลที่ 4, รัชกาลที่ 7, รัชกาลที่ 9 และ รัชกาลที่ 10

รัชกาลที่ประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก 2 ครั้ง มี 3 รัชกาล ได้แก่ รัชกาลที่ 1, รัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 6

Advertisement
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินด้วยกระบวนพยุหยาตราโดยทางสถลมารคเลียบพระนครในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมโภช วันที่ 3 ธันวาคม 2454

รัชกาลที่มิได้ประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก มี 1 รัชกาล ได้แก่ รัชกาลที่ 8 เนื่องจากเสด็จสวรรคตก่อนการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

ขอกลับมาที่ว่าอะไรเป็นเหตุผลให้มีการประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก 2 ครั้ง ในบางรัชกาล หนังสือประมวลความรู้พระราชพิธีบรมราชาภิเษก (กระทรวงวัฒนธรรมจัดพิมพ์ เนื่องในมหามงคลการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พ.ศ.2562) กล่าวถึงเรื่องนี้ไว้ว่า

รัชกาลที่ 1 มีพระราชพิธี 2 ครั้ง ครั้งแรก พ.ศ.2325 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชได้ประดิษฐานพระบรมราชจักรีวงศ์ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกอบพระราชพิธีปราบดาภิเษกโดยสังเขป ครั้งที่ 2 พ.ศ.2328 เมื่อพระราชมณเฑียรสถานที่สร้างขึ้นใหม่แล้วเสร็จ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกอีกครั้งหนึ่งให้สมบูรณ์ตามราชประเพณีที่เคยมีมา

Advertisement

รัชกาลที่ 5 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว 2 ครั้ง ครั้งแรก วันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ.2411 เมื่อทรงครองราชสมบัติสืบต่อจากสมเด็จพระบรมชนกนาถ ขณะมีพระชนมพรรษา 15 พรรษา การบริหารงานขณะนั้นจึงมีสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน ครั้งที่ 2 วันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ.2416 เมื่อทรงเจริญพระชนมายุครบ 20 พรรษา ทรงบรรลุนิติภาวะ

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเครื่องบรมขัตติยราชภูษิตาภรณ์ ฉลองพระองค์ครุยกรองทอง ทรงพระชฎามหากฐินน้อย ประทับพระที่นั่งพุดตานกาญจนสิงหาสน์ ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเฉลิมพระราชมณเฑียร เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2453

รัชกาลที่ 6 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว 2 ครั้ง ครั้งแรก วันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ.2453 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกอบการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเฉลิมพระราชมณเฑียร เนื่องจากยังอยู่ในช่วงไว้ทุกข์งานพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดให้งดการเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครและการรื่นเริง, ครั้งที่ 2 วันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ.2454 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกอบการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมโภชเพื่อเป็นการเฉลิมฉลอง และให้นานาประเทศที่มีสัมพันธ์ทางพระราชไมตรีมาร่วมงานในพระราชพิธี

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวขณะทรงรับน้ำอภิเษก ณ พระที่นั่งอัฐทิศ ปลูกที่รักแร้พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมโภช วันที่ 2 ธันวาคม 2454

วันนี้มีข้อเสนอใหม่จาก ผศ.ดร.ชัชพล ไชยพร รองคณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ และรองเลขาธิการมูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในพระบรมราชูปถัมภ์ มาอธิบายเรื่องนี้ใน นิตยสาร “ศิลปวัฒนธรรม” ประจำเดือนกรกฎาคม 2562 กับบทความที่ชื่อ “พระบรมราชกุศโลบายของสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า ในการจัดพระราชพิธีบรมราชาภิเษก 2 ครั้ง”

ประมาณ 1 ปีให้หลังพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งที่ 1 (พระราชพิธีบรมราชาภิเษกเฉลิมพระราชมณเฑียร) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งที่ 2 เรียกว่า “พระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมโภช”

เหตุที่ต้องเว้นระยะห่างถึง 1 ปี ผู้เขียน (ผศ.ดร.ชัชพล ไชยพร) อธิบายว่า “การคมนาคมติดต่อไปมาในครั้งนั้นยังไม่สะดวกสบายเหมือนเช่นทุกวันนี้ และต้องทรงกำกับการตระเตรียมงานอย่างละเอียดลออโดยใกล้ชิด เพื่อมิให้เป็นที่ครหาในหมู่อารยประเทศได้ งานพระบรมราชาภิเษกสมโภชจึงต้องรอเวลาห่างออกไป พอที่จะเชื้อเชิญผู้แทนจากนานาชาติมาร่วมงานได้”

ผู้แทนประมุขนานาชาติที่เสด็จมาร่วมในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมโภช ฉาย ณ พระที่นั่งบรมพิมาน

มีการเตรียมงานโดยละเอียดจำแนกเป็นส่วนๆ อย่างเรียบร้อย เช่น การรับแขกเมือง, การบรมราชาภิเษก, การเลียบพระนคร, การพระราชทานเลี้ยงลุกขุน และการเลี้ยงฉลองสมโภช

เจ้านายที่รับหน้าที่ในเรื่องนี้ คือ สมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ โดยทรงเป็นผู้แทนพิเศษที่เสด็จไปยังพระราชสำนักต่างๆ เพื่อทูลเชิญเสด็จเจ้านายจากชาตินั้นๆ มาร่วมพระราชพิธีด้วยพระองค์เองจาก 14 ประเทศ เช่น อังกฤษ, เดนมาร์ก, รัสเซีย, สวีเดน, ญี่ปุ่น ฯลฯ

นับเป็นครั้งแรกที่พระราชพิธีบรมราชาภิเษกมีการเชิญผู้แทนประมุขนานาชาติและราชทูตพิเศษมาร่วมพระราชพิธี

นอกจากนี้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังทรงขอให้สมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอหลายพระองค์มาทรงเป็นผู้อำนวยการและจัดการรับเสด็จบรรดาพระราชวงศ์ฝ่ายในและสตรีผู้มีเ

กียรติจากนานาประเทศ ทั้งนี้เพื่อเผยแพร่เกียรติของสยามให้ปรากฏแก่สายตาชาวโลก

ที่ยกมานี้เป็นเพียงบางส่วนของเนื้อหาทั้งหมดที่ อาจารย์ชัชพล ไชยพร เขียนไว้ ขอท่านได้โปรดติดตามเพิ่มเติมใน “ศิลปวัฒนธรรม” ฉบับเดือนกรกฎาคมนี้ว่า

พระบรมราชกุศโลบายสำคัญที่อยู่ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งที่ 2 ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวคืออะไร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image