ท้าทาย สุข โศก (มนุษย์) ในโลกดิจิทัล

ไม่ว่าจะใช้แนวคิดทฤษฎีใดก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าในห้วงเวลานี้ ผู้คนบนดาวเคราะห์สีน้ำเงินใบนี้ล้วนเป็นส่วนหนึ่งของโลกยุคดิจิทัลซึ่งไม่ใช้คำศัพท์ใหม่ไม่คุ้นหู ทว่า ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ได้หยิบยกประเด็นดังกล่าวมาอภิปรายอย่างจริงจังในหลากมิติในการประชุมวิชาการทางมานุษยวิทยา ครั้งที่ 13 เป็นเวลาถึง 2 วันเต็ม จบลงอย่างสวยงาม ทั้งยังมีนิทรรศการดักรอตั้งแต่หน้าประตูในหัวข้อ #คนไซเบอร์ดิจิทัล บอกเล่าความสัมพันธ์และกิจกรรมทางสังคมของมนุษย์ผ่านโซเชียลมีเดีย อันมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมของคนในปัจจุบันทุกวินาที

“10 คำ แห่งยุค” ถูกคัดเลือกมาเป็นตัวอย่างสะท้อนวัฒนธรรมโซเชียลมีเดีย ได้แก่ Selfie, Snap chat, IG’s Story, Camera eats first, Group Line, สวัสดีวันจันทร์, Meme, Hashtag, แม่ฉันจะต้องได้กินกุ้ง, Online-Offline และ Facebook Reaction

ในส่วนงานเสวนาเข้มข้นมาก โดยมีนักวิชาการด้านสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาชั้นแนวหน้าของไทย พร้อมด้วยคลื่นลูกใหม่ในวงการเดินเท้าขึ้นเวทีอย่างคึกคัก

และต่อไปนี้คือส่วนหนึ่งของเนื้อหาเสวนาที่น่าสนใจยิ่ง

Advertisement

อีสาน 300 ล้านวิว เมื่อ ‘ลูกทุ่ง’ สร้างตัวตนบน ‘เอ็มวี’

แม้ภาพเคลื่อนไหวประกอบเพลง หรือมิวสิกวิดีโอ จะมีมานานตั้งแต่ยังไม่มีระบบอินเตอร์เน็ต ทว่า เมื่อเทคโนโลยีดังกล่าวเกิดขึ้นบนโลก ปรากฏการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ ก็ถูกบันทึกไว้เป็นข้อมูลที่สะท้อนมุมมอง วิธีคิดในด้านต่างๆ ดังเช่นที่ พันธกานต์ ทานนท์ อาจารย์คณะนิเทศศาสตร์ ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ นำเสนอในหัวข้อ “การต่อรองอัตลักษณ์อีสานในมิวสิกวิดีโอเพลงลูกทุ่ง” โดยเริ่มจากการชวนผู้ฟังตั้งข้อสังเกตร่วมกันว่า นับแต่ปี 2558 จนถึงปัจจุบัน มีปรากฏการณ์เกี่ยวกับ “เพลงลูกทุ่ง” เกิดขึ้นในสังคม นั่นคือการได้รับความนิยมอย่างถล่มทลาย หากพิจารณาข้อมูลจากยูทูบ พบว่า 5 อันดับเพลงที่คนคลิกเข้าชมมากที่สุดในเว็บไซต์ยูทูบ มีเพลงลูกทุ่งอีสานปรากฏอยู่ด้วย โดยมี “ยอดวิว” ไม่ใช่แค่หลักล้าน แต่พุ่งทะยานถึงหลัก “ร้อยล้าน”

“สังเกตไหมว่าเพลงลูกทุ่งอีสานที่ใช้ภาษาอีสานแบบเต็มเพลงได้รับความนิยมมาก สร้างชื่อเสียงให้นักร้องหลายคน อย่างก้อง ห้วยไร่, แซ็ค ชุมแพ, ลำไย ไหทองคำ คนเหล่านี้สร้างตัวตนโดดเด่นด้วยภาษาอีสานผ่านเพลง มีผลสำรวจมากมาย อาทิ นิด้าโพล ระบุว่าพฤติกรรมการฟังเพลงของคนไทย ในปี 60 อันดับ 1 คือเพลงลูกทุ่ง โดยเฉพาะลูกทุ่งอีสาน หมอลำ เกิดปรากฏการณ์ 100 ล้านวิวในยูทูบ ซึ่งจำนวนมากเป็นเพลงลูกทุ่งอีสาน เช่น คู่คอง เพลงประกอบละครนาคี รวมถึงผู้สาวขาเลาะซึ่งมี 300 กว่าล้านวิว เว็บไซต์พันทิปก็มีคนตั้งกระทู้ว่า ทำไมช่วงนี้เพลงภาษาถิ่นกลับมาฮิตมากในบ้านเรา”

Advertisement

จากข้อมูลข้างต้น พันธกานต์ตั้งข้อสังเกตว่า ในวันที่ผู้คนสามารถสร้างคอนเทนต์ หรือเนื้อหาที่หลากหลาย สื่อดิจิทัล เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ซึ่งสามารถแสดง “ตัวตน” หรือ “วัฒนธรรมย่อย” ของสังคมได้ เพราะเพลงไม่ใช่แค่สื่อบันเทิงอย่างเดียว แต่อาจเป็นพื้นที่ในการนิยามความหมายอีกด้วย อย่างไรก็ตาม พบว่าในมิวสิกวิดีโอ หรือเอ็มวีเหล่านั้น ยังมีการปะทะสังสรรค์ระหว่างวัฒนธรรมสากลและวัฒนธรรมอีสานอีกด้วย

“ถ้าดูแค่เอ็มวีแล้วปิดเสียง บางเพลงไม่รู้เลยว่าคือเพลงอีสาน เพราะแต่งตัวแบบแฟชั่นในปัจจุบัน ตัวอย่างใน 10 เอ็มวี นักร้องมีภูมิลำเนาจากอีสานทั้งสิ้น รวมถึงเป็นวัยรุ่น มีการแต่งตัวโมเดิร์นมากขึ้น แต่ไม่ทิ้งตัวตนความเป็นคนอีสาน อย่าง ก้อง ห้วยไร่ ใส่แจ๊กเก็ตหนังร้องเพลงกลางทุ่งนา และมีแคน มีการผสมผสานวัฒนธรรมความเป็นเมืองกับท้องถิ่น เช่น เพลงซางว่า ของกิ๊ก รุ่งนภา เปิดเอ็มวีมาด้วยกางเกงยีนส์ขาดๆ ยืนกลางพื้นที่โคลนที่น้ำขัง แล้วตัดภาพมาเป็นผ้าพื้นเมืองอีสาน”

ไม่ใช่แค่เรื่องเครื่องแต่งกาย ยังมีประเด็นของฉากและสถานที่ ซึ่งเมื่อ “เสิร์ช” คำว่าอีสาน จะพบภาพพื้นที่แห้งแล้ง แตกระแหง แต่มิวสิกวิดีโอพยายามสื่อสารว่า “อีสานไม่เหมือนเดิม” แต่ยังคงมีสัญลักษณ์สื่อความเป็นชนบท โดยเฉพาะ “เถียงนา”

“เกือบทุกเอ็มวีต้องมีเถียงนา เพื่อสื่อความเป็นชนบท แต่ก็พยายามสื่อสารว่าอีสานไม่เหมือนเดิมแล้ว อีสานอุดมสมบูรณ์ ทุ่งนาไม่แห้ง ชาวบ้านมีความสุขในการทำเกษตรกรรม นอกจากนั้นยังมีสถานที่หลากหลายมากขึ้น เช่น โรงเรียน สวนสาธารณะ ชุมชนวัยรุ่น เช่น รถนม ร้านนม สอดคล้องความเป็นจริงที่หัวเมืองทางอีสานขยายตัวสู่ความเป็นเมือง

สรุปว่าองค์ประกอบในเอ็มวี มีเครื่องบ่งชี้ไม่ว่าจะเป็นภาษา เครื่องดนตรี เครื่องแต่งกายของนักเรียน สถานที่และอาหาร เหล่านี้เป็นสิ่งที่เผยแพร่เพื่อเสนอความหมาย อัตลักษณ์ เราเห็นสิ่งที่มีปฏิสัมพันธ์ร่วมกันคือการรับวัฒนธรรมอื่น เช่น เพลงก้อง ห้วยไร่ ที่เอาเพลงแร็พเข้ามา จะสังเกตว่า มีเพลงแร็พในเพลงลูกทุ่งเยอะมาก อย่าง ปู่จ๋านก็แร็พด้วยภาษาเหนือ

“เพลงลูกทุ่งไม่ใช่แค่สื่อบันเทิง แต่เป็นพื้นที่ในการแสดงความหมาย อัตลักษณ์อีสานใหม่หรือไม่ อีสานวันนี้อาจไม่ใช่อีสานวันเก่าที่ถูกมองว่าเชย ชนบท หรือล้าสมัย แต่มีความเปลี่ยนแปลง มีความเป็นเมืองเข้ามาโดยไม่ทิ้งรากเหง้าตัวเอง นอกจากนี้ยังทำให้คนในวัฒนธรรมเดียวกันรับรู้ว่า นี่ไง! ตัวตนของฉันเป็นแบบนี้ สร้างจิตสำนึกร่วมกันผ่านสื่อ และสื่อสารให้คนในสังคมรับรู้ว่าคนอีสานวันนี้เป็นอย่างไร เพราะเพลงอีสานวันนี้ไม่ได้สื่อสารแค่กับคนอีสานอย่างเดียว แต่ยังสื่อสารไปยังคนกลุ่มอื่นในสังคมด้วย” พันธกานต์สรุป

‘เกมศึกษา’ จากการละเล่น ถึง ‘ปฏิวัติอุตสาหกรรม’

อีกหนึ่งประเด็นที่สังคมยุคใหม่ให้ความสนใจและมากมายด้วยข้อถกเถียง ก็คือ “เกม” ซึ่ง ผศ.ดร.วสันต์ ปัญญาแก้ว อาจารย์คณะสังคมศาสตร์ ม.เชียงใหม่ วิเคราะห์ไว้ในหัวข้อ “การศึกษาเกมในเชิงมานุษยวิทยาและวัฒนธรรมศึกษา” ว่าจริงๆ แล้ว เกมไม่ใช่เรื่องใหม่อะไรเลย หากมองว่าเกมหมายถึงการละเล่น การแข่งขัน ในแง่นี้นักมานุษยวิทยาย่อมจะพูดถึงเกมในลักษณะที่เป็นวัฒนธรรมของมนุษย์ เป็นอารยธรรมของมนุษยชาติ

“เกมในยุคดิจิทัล เกี่ยวกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ กับการปฏิวัติเทคโนโลยี ที่ผ่านมา มานุษยวิทยา สังคมวิทยาศึกษาเรื่องนี้ซึ่งเป็นการละเล่น การแข่งขันอยู่แล้ว ปัจจุบันยังมีสาขาวิชาใหม่คือ เกมศึกษา ซึ่งหยิบยืมวิธีการทางสังคมวิทยา มานุษยวิทยาไปใช้ เกมเป็นอีกส่วนหนึ่งที่สามารถนำมุมมองของวัฒนธรรมศึกษามามองได้ ไม่ว่าจะเป็นการมองในฐานะที่เป็นอุตสาหกรรม และป๊อปคัลเจอร์ เวลาพูดถึงเกมศึกษา มี 3 ส่วนที่แยกกันไม่ได้คือ 1.เกมที่สนใจศึกษา 2.คนเล่น 3.พื้นที่บริบทสังคมวัฒนธรรม    

เกมอาจเป็นสิ่งเดียวกับที่เราเรียกว่า ดิจิทัลมีเดีย พัฒนาการของเกมในยุคต่างๆ ก็แทบจะมีพัฒนาการไปพร้อมๆ กับเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ เกมคัลเจอร์ที่ว่ากันว่าเป็นต้นแบบของอีสปอร์ตจริงๆ แล้วก็เกิดขึ้นในคณะวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ ของ ม.แสตมฟอร์ด ในอเมริกาเมื่อนักศึกษาแข่งเกมกัน”

ผศ.ดร.วสันต์ยังมองว่า เราอาจมองเกมในฐานะ “ป๊อปคัลเจอร์” ก็ได้ สุดท้ายเกมจะไปเกี่ยวกับตัวบทและคน ทำให้เห็นมิติเกม มีไอดอล

คนตามเป็นล้านๆ รายได้หลั่งไหล มีนักพากย์เกม ยังไม่ต้องพูดถึงกีฬาสมัยใหม่ที่มีซุปเปอร์สตาร์ มีตัวละครโดดเด่น สิ่งที่รัฐบาลและหน่วยงานต่างๆ ค่อนข้างสนใจมาก คือการที่เกมเป็นอุตสาหกรรม ซึ่งในญี่ปุ่น ให้เด็กชั้นประถม 4 เริ่มเรียนโค้ดคอมพิวเตอร์แล้ว ส่วนสิงคโปร์ก็ให้ครูไปหมายตาเด็กที่มีไหวพริบในการแยกประสาทหลายส่วนเพื่อพัฒนาไปสู่การเป็นโปรแกรมเมอร์และนักบิน แต่การศึกษาไทย ป.4 ทำอะไรอยู่

“มันเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิวัติอุตสาหกรรม และการปฏิวัฒนธรรมครั้งใหญ่ มนุษย์จะพัฒนาอะไรก็แล้วแต่ ล้วนมาจากการลองผิดลองถูก คนเล่นเกม เหมือนนักวิทยาศาสตร์ มีการสังเกต การทดลอง เก็บข้อมูล พัฒนาทักษะ เกมเมอร์กับนักวิทยาศาสตร์ไม่ต่างกันหากมองในมุมนักมานุษยวิทยา

เกมพัฒนาผ่านการเปลี่ยนแปลงควบคู่กับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี เกมยุคแรกของมนุษย์คงเป็นการวิ่ง ในตัวมันเองก็ทำให้เราเห็นการเปลี่ยนแปลง ความเคลื่อนไหวของสังคม” ผศ.ดร.วสันต์กล่าว

ชาวดิจิทัล ‘โดยกำเนิด’ เกิดและโตในยุคโซเชียล

“สังคมก้มหน้า” คือวลีที่สื่อถึงผู้คนบนโลกออนไลน์ที่ต่างสนใจพื้นที่ในสมาร์ทโฟนจนแทบไม่ผงกศีรษะขึ้นมาอยู่ในโลกความจริง

ดร.นักรบ นาคสุวรรณ์ อาจารย์ประจำภาควิชามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ คณะอุตสาหกรรมบริการ วิทยาลัยดุสิตธานี มาบอกเล่าถึงประสบการณ์จากการสอนนักศึกษาในยุคนี้ด้วยหัวข้อ “ความล้มเหลวในการเข้าสังคมของมนุษย์ยุคดิจิทัล”

“ทุกวันนี้คนจะนอนยังออนไลน์ ไม่ปิดโทรศัพท์ การพูดคุย จ่ายค่าสินค้า หาร้านกินข้าว ตอนสอนนักศึกษาก็พบว่าติดสมาร์ทโฟนแบบไม่เงยหน้า มีนักวิชาการต่างชาติบอกว่าการที่โซเชียลมีเดียทั่วโลกเจริญเติบโต ทำให้เกิดคนรุ่นใหม่ที่เรียกว่า ชาวดิจิทัลโดยกำเนิด ซึ่งหมายถึงคนที่เกิดและเติบโตในโลกยุคดิจิทัล เมื่อโซเชียลมีเดียเหมือนจะกลายเป็นรากฐานความสัมพันธ์ที่มีความหลากหลายในชีวิตประจำวัน ซึ่งเราไม่สามารถเถียงได้เลยว่ามันเกิดเป็นความจริงขึ้นมาแล้ว ตื่นมาต้องคว้าโทรศัพท์ดูว่ามีใครส่งอะไรมาไหม”

ดร.นักรบยังตั้งข้อสังเกตว่า ปัญหาแรกที่ประมวลได้ในความล้มเหลวคือ ทุกคนเจอสังคมก้มหน้า เวลาจะกินข้าวก็ต้องถ่ายรูปอวดเพื่อนก่อน กินทีหลัง บางครั้งเพื่อนสี่ห้าคนนั่งด้วยกัน แต่ไม่มีใครคุยกันเลย เอาแต่ดูโทรศัพท์ มีโลกส่วนตัว คุยกันใช้ส่งไลน์ แต่พอมาเจอกันปรากฏว่าคุยไม่รู้เรื่อง

“มีข้อมูลว่าไทยเสพติดอินเตอร์เน็ต อันดับ 1 ของโลก และกรุงเทพฯเป็นเมืองที่มีผู้ใช้เฟซบุ๊กมากที่สุดในโลก เด็กบางคนส่งไลน์หาอาจารย์ แต่พอมาพบจริงๆ ทำหน้าไม่ถูก แต่ส่งไลน์ได้ บางคนติดจนไม่สามารถมีปฏิสัมพันธ์กับครอบครัวและเพื่อนได้ ส่วนทักษะการใช้ภาษาไทย ใครพิมพ์แชตถูกน้อยมาก เคยมีเด็กทักไลน์มาว่าจะลงทะเบียน แต่ขอถามแฟนก่อน ก็งงว่าทำไมต้องถามแฟน เด็กบอกพิมพ์ผิด จะพิมพ์ว่าขอถามแผนก่อน นอกจากนี้ยังใช้เป็นเวทีในการปะทะกันโดยไม่รู้สึกผิด แต่กลับรู้สึกสะใจ”

เปลี่ยนแบบ ‘ไทยๆ’ ดิจิทัลไลซ์ ‘ระบบราชการ’

ปิดท้ายด้วยบทสรุปชวน “คิดต่อ” โดย ดร.สายพิณ ศุพุทธมงคล อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ม.ธรรมศาสตร์ ซึ่งบอกว่างานนี้สรุปยากมาก เพราะมีห้องบรรยายมากมายเหลือเกิน สุดท้ายเลือกกล่าวถึงห้องที่ “น่าสงสาร” เพราะไม่ค่อยมีคนเข้าฟังอย่างหัวข้อ “การปรับตัวของข้าราชการไทยในสังคมดิจิทัล” โดย ชรินทร์ ธีรฐิตยางกูร ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน)

ดร.สายพิณ บอกว่า เมื่อรัฐบาลประกาศว่าประเทศนี้ต้อง “4.0” เสียที ฟังแล้วตนรู้สึกว่า “น่าหัวเราะ” คนพูดทำให้คำนี้ฟังดูโง่ แต่เมื่อได้มาฟังวิทยากรในหัวข้อดังกล่าว รู้สึกน่าสนใจว่ามีความพยายามที่จะ “ดิจิทัลไลซ์” ระบบราชการ

“ที่น่าสนใจกว่านั้นคือคนที่ไปทำงานกับเขา อาจจะคล้ายศูนย์มานุษฯ คือเป็นเทคนิเชียนในบางระดับ และความรู้ความเชี่ยวชาญนั้นอาจมาพร้อมจุดยืนในสาขาวิชาที่ตัวเองเชี่ยวชาญ ก็ไปปะทะ ไปเจอแรงหน่วง แรงหนืดของระบบราชการ ไปไหนไม่ได้ อึดอัด นี่คือเรื่องน่าสนใจมาก เมื่อถามวิทยากรว่ามันจะไปไหนได้ไกลไหม เขาบอกว่า คนพูดก็ท้อแท้ คนหนึ่งทำเรื่องพัฒนาบุคคล คนหนึ่งทำเรื่องพัฒนาองค์กร ด้วยสาขาวิชา ด้วยความเชี่ยวชาญทำให้ดูมีภารกิจ แต่พอต้องปฏิบัติงานจริง เราจะไปเจอสิ่งที่เป็นโคลนดูด จะเดินไปข้างหน้าก็ถูกดูดไว้ พอจะเอาอะไรไปถมก็คายออกมาหมดเลย เขาบอกว่า ยังไงระบบต้องเปลี่ยน ถามว่าเปลี่ยนไปอย่างไร เขาบอกเปลี่ยนแน่ แต่จะเปลี่ยนแบบไทยๆ แต่หน้าตาเป็นอย่างไร ตอบไม่ได้” ดร.สายพิณเล่า

ดร.สายพิณยังอ้างคำกล่าวของวิทยากรในหัวข้อข้างต้นซึ่งระบุว่า ที่เราคิดว่ากลุ่ม “ไดโนสาร์” ซึ่งจะไม่ทันการเปลี่ยนแปลงนั้น เป็นกลุ่มที่ตื่นตัวด้านนี้มา ก็คือ “กองทัพ”

“นวัตกรรมจะเกิดได้ต้องลองผิดลองถูก แต่พอมาเจอระบบราชการ จะถูกบอกว่า อะไรก็ตาม ถ้าไม่แน่ใจว่าถูก ก็อย่าทำสิ ให้ทำสิ่งที่ถูก สุดท้ายเลยไม่ไปไหน ถามเขาว่า ตัวแบบที่คิดว่าประสบความสำเร็จมากที่สุดคืออะไร เขาบอกว่าจีนกับเอสโตเนีย เอสโตเนีย คนไม่ต้องตัวเล็ก แม้ประเทศจะหนาวทั้งปี เพราะดิจิทัลทำให้ทำงานอยู่บ้านได้ ไม่ต้องออกมาหนาว ส่วนของจีน เขาบอกว่าสำเร็จมาก เพราะได้รับการตอบรับดีมาก”

ด้าน ดร.ปริตตา เฉลิมเผ่า กออนันตกูล อดีต ผอ.ศูนย์มานุษยวิทยาฯ ซึ่งนั่งฟังด้านล่างของเวที ร่วมแสดงความเห็นตอนหนึ่งว่า อยากร่วมฝันถึงโลกอนาคตที่เครื่องจักรจะเป็นดิจิทัล โรบอต แอนดรอยด์ ฯลฯ โดยไปถึงจุดที่เครื่องจักรสามารถรวบรวมข้อมูล หาความรู้ เรียนเอง และวิเคราะห์ ตัดสินใจเอง แม้ดับไฟ ก็หาแหล่งพลังงานได้โดยเป็นอิสระจากมนุษย์โดยสิ้นเชิง และโดยสมบูรณ์ แต่เรายังไม่ถึงจุดนั้น

“ถ้าถึงจุดนั้นคงเป็นแบบโลกพระศรีอาริย์ ใครๆ ก็อยากอยู่ จะมีครอบแก้วข้างใน แสนผาสุก ดิฉันก็อยากไปอยู่ แต่ว่าเราจะทำอย่างไร ตอนนี้เรามีประชากร 8 พันล้านบนโลกใบนี้ จะให้ฆ่าทิ้งทั้งหมดแล้วให้เครื่องจักรสร้างมนุษย์พันธุ์ใหม่ที่จะมีจิตใจงดงามกว่าเราหรือไม่ ก็ไม่ทราบ เราต้องอยู่กับโลกที่เราอยู่อย่างนี้ เพราะฉะนั้น นักมานุษยวิยา นักสังคมศาสตร์ นักอะไรก็ตาม จะศึกษาโลกดิจิทัลอย่างไร” ดร.ปริตตากล่าว พร้อมตบท้ายโดยอ้างอิงคำกล่าวของ นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ที่ว่า

หากเราเชื่อว่ามนุษย์เป็นสิ่งที่ยังสร้างไม่เสร็จสมบูรณ์ ก็คงยังมีความหวังเล็กๆ น้อยๆ ว่าเราอาจจะดีกว่านี้ได้บ้างเล็กน้อย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image