สุวรรณภูมิในอาเซียน : คางคก ยกรบ ขอฝน คนไหนคุมแหล่งน้ำ คนนั้นคุมอำนาจ

"น้ำแล้งไข้ ขอดหาย" เป็นผลจากธรรมชาติ และการกระทำบางอย่างของมนุษย์ที่อยู่เหนือน้ำแล้วกักน้ำไว้ ทำให้แม่น้ำโขงแห้งบางช่วง โขงแห้ง - แม่น้ำโขงที่ไหลผ่านจังหวัดหนองคายมีระดับต่ำสุดในรอบ 50 ปี ทำให้โขดหินโผล่ขึ้นกลางลำน้ำยาวกว่า 6 กิโลเมตร ที่ จ. หนองคาย เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม (ภาพและคำบรรยายจาก มติชน ฉบับวันอาทิตย์ที่ 21 กรกฎาคม 2562 หน้า 1)

๏ ทินกรจรแจ้งแจ่ม หาวหน

ธารนทีชลหาย หาดแห้ง

[ดวงทินกร (ดวงอาทิตย์) ส่องแสงกลางท้องฟ้า ส่งความร้อนเผาผลาญ ท้องน้ำทั้งหลายแห้งเห็นเป็นหาดแตกระแหง]

๏ ธรณีธรณิศแล้ง เลอหาว แห้งแล

Advertisement

ใบบัดพฤกษาดวง เหี่ยวแห้ง

[แล้งแผ่นดินกว้างใหญ่ และแห้งท้องฟ้ากว้างขวาง หมู่ไม้ใบกรอบเฉาเพราะความแล้ง]

ทั้งหมดเป็นข้อความยกมาจากทวาทศมาส (โคลงดั้น) พรรณนากรุงศรีอยุธยา เดือนห้า หน้าแล้ง (ทางจันทรคติ ตรงกับสุริยคติราวเมษายน) เมื่อเรือน พ.ศ.2000

Advertisement

น้ำแล้ง น้ำล้น

น้ำแล้ง กับ น้ำล้น เป็นวิกฤตประจำปีจากธรรมชาติของบ้านเมืองในอุษาคเนย์ ทำให้มีพิธีกรรมเนื่องในศาสนาผีเพื่อลดความตึงเครียด

น้ำแล้งมี พิธีขอฝน น้ำล้นมี พิธีไล่น้ำ ได้แก่ แข่งเรือ, เห่เรือวิงวอนร้องขอให้น้ำลดไม่ท่วมข้าวกำลังออกรวงในนา

พระเจ้าแผ่นดินในรัฐจารีตต้องทำพิธีขอฝนและไล่น้ำ พบในกฎมณเฑียรบาลสมัยอยุธยา

ขอฝนกับไล่น้ำ พิธีกรรมในศาสนาผี เป็นวัฒนธรรมร่วมของบ้านเมืองในภูมิภาคอุษาคเนย์ เพราะอยู่ในเขตมรสุมเดียวกัน ต้องเผชิญวิกฤตร่วมกันทุกปีที่รู้ทั่วกันว่าฝนแล้งและน้ำท่วม

พิธีขอฝนและไล่น้ำ นักวิชาการทางมานุษยวิทยาและโบราณคดีสรุปว่าเป็นพิธีกรรมเกี่ยวกับความอุดมสมบูรณ์ เพื่อความเจริญในพืชพันธุ์ว่านยาข้าวปลาอาหาร

ไทยเป็นส่วนหนึ่งของอุษาคเนย์ มีบรรพชนร่วมและมีวัฒนธรรมร่วมในพิธีกรรมของฝนและไล่น้ำ แล้วยังทำต่อเนื่องและสืบทอดถึงทุกวันนี้ ย่อมเป็นพยานอย่างดีว่าคนไทยไม่ได้มาจากไหน? คนไทยอยู่ที่นี่ ที่อุษาคเนย์

ตาน้ำซับ เป็นตาน้ำธรรมชาติที่จะกลายเป็นหนอง บึง เช่น บึงพลาญชัย แล้วเป็นศูนย์กลางชุมชนเมืองขนาดใหญ่ เรียกสมัยหลังว่าร้อยเอ็ด ภาพโดย คชษิณ สุวิชา

แหล่งน้ำคืออำนาจ

แหล่งน้ำคืออำนาจ ใครคุมพื้นที่มีแหล่งน้ำ คนนั้นมีอำนาจ

หน้าแล้งไม่มีฝน แต่มีแหล่งน้ำธรรมชาติจากตาน้ำ ซึ่งมีน้ำผุดพุ่งจากใต้ดิน (ชาวบ้านเรียกบาดาล ปัจจุบันทางการเรียกน้ำบาดาล)

ชาวบ้านโบราณรู้ว่าตาน้ำอยู่ใต้จอมปลวก ถึงหน้าแล้งพากันหาจอมปลวก เมื่อขุดลงไปใต้จอมปลวกจะพบตาน้ำมีน้ำพุ่งขึ้นมาจากใต้ดิน

[คำบอกเล่าโดยพิสดารมีในข้อเขียนเรื่องการหาตาน้ำ ในหนังสือ ฅนทุ่งกุลา โดย เดช ภูสองชั้น (กำนัน ต.ทุ่งหลวง อ.สุวรรณภูมิ จ.ร้อยเอ็ด) พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2545 มติชน พิมพ์ครั้งที่สอง พ.ศ.2546 หน้า 184-189]

บ่อน้ำซับในสระชัยมงคล วัดบึงพระลานชัย อยู่ติดบึงพลาญชัย ปัจจุบันทางวัดสร้างหอไตรครอบบ่อน้ำซับ อยู่ในห้องคูหาใต้น้ำ มีทางบันไดขึ้นลงไปดูได้

น้ำผุดจากตาน้ำเหล่านี้ ก่อให้เกิดดินดำน้ำชุ่มอุดมสมบูรณ์ คนแต่ก่อนเรียก ซัม (ซำ) เป็นรากเหง้าของคำว่า “สยาม” มีคำอธิบายอีกมากของ จิตร ภูมิศักดิ์ อยู่ในหนังสือความเป็นมาของคำสยามฯ (พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2519)

จอมปลวกคลุมตาน้ำ

จอมปลวก คือ รังขนาดใหญ่ของปลวกที่เป็นกองดินสูงขึ้นไป โดยกองดินคลุมตาน้ำทำให้ตรงนั้นเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ

พระเจ้าสายน้ำผึ้ง เมื่อเป็นเด็กเลี้ยงวัวในทุ่งนากับเพื่อนวัยเดียวกันหลายคน ชอบเล่นสมมุติเป็นกษัตริย์ขึ้นว่าราชการบนจอมปลวก มีเด็กคนอื่นเป็นขุนนางหมอบกราบ ต่อมาเด็กเลี้ยงวัวที่เล่นขึ้นว่าราชการได้รับเชิญเป็นพระเจ้าแผ่นดิน นามว่าพระเจ้าสายน้ำผึ้ง (มีในพงศาวดารเหนือ)

พระเจ้าปราสาททอง ทรงมีพระสุบินว่าเมื่อเป็นเด็กเคยเล่นบนจอมปลวก ใต้จอมปลวกมีปราสาท ต่อมาให้ขุดจอมปลวกนั้นก็พบปราสาททองเป็นจัตุรมุข ตั้งแต่นั้นพระองค์จึงเฉลิมพระนามว่าพระเจ้าปราสาททอง (มีในคำให้การขุนหลวงหาวัดและคำให้การชาวกรุงเก่า)

จอมปลวกเป็นที่นับถือว่าเฮี้ยน ที่ อ.แสวงหา จ.อ่างทอง (ภาพจาก มติชนออนไลน์)

พิธีขอฝน

พิธีขอน้ำบนฟ้าให้ตกลงดิน จะได้มีน้ำทำนาทำไร่ (เฮ็ดไฮ่ เฮ็ดนา)

ชาวบ้านเมื่อหลายพันปีมาแล้ว เมื่อถึงหน้าแล้งก็ร่วมกันทำพิธีขอฝน มีแห่นางแมว (กรอบสี่เหลี่ยมมุมมนด้านซ้าย) ตีฆ้องกลองกบ (กรอบวงกลมด้านขวา) หญิงชายร่วมเพศ ซึ่งเรียกสมัยหลังว่าปั้นเมฆ (ด้านล่าง) [ลายเส้นคัดลอกของกรมศิลปากรจากภาพเขียนอายุราว 2,500 ปีมาแล้ว ในถ้ำตาด้วง บ้างวังกุลา ต.ช่องสะเดา อ.เมืองฯ จ.กาญจนบุรี]

บวดควายขอฝน

บวดควายขอฝนราว 2,500 ปีมาแล้ว (ลายเส้นคัดลอกของกรมศิลปากรจากภาพเขียนสี่ที่ภูปลาร้า จ.อุทัยธานี)

พิธีบวดควายขอฝนเป็นการละเล่นคุมควายเปลี่ยวดุร้ายให้เป็นปกติ

โดยคนแต่งเป็นควาย ทาตัวดำ ขอบตาแดง สวมเขาควายบนหัว สวมเครื่องต่างๆ ที่สำคัญ ได้แก่ ผูกเอวด้วยอวัยวะเพศชายขนาดใหญ่ทำด้วยไม้ทาสีแดงตรงหัวถอก เป็นต้น

แล้วมีคนจูงเชือกล่ามควายเพื่อบังคับต่างๆ

บวดควายขอฝน เมื่อ พ.ศ.2558 บ้านหวายหลึม กับบ้านแมด อ.เชียงขวัญ จ.ร้อยเอ็ด

บวดควาย หมายถึง ควบคุมความดุร้ายของควายให้อยู่ในอาการปกติ ไม่เฮี้ยว [บวด เป็นคำเก่าที่เหลือตกค้างอยู่ในภาคใต้ ว่าวัวบวด หรือบวดวัว (หมายถึงควบคุมวัวให้เคลื่อนไหวตามต้องการของคน) แต่ถูกลืมจากคนท้องถิ่นอื่นเลยเขียนเป็น “บวชควาย”]

ต่อมาราชสำนักอยุธยายกย่องบวดควายเป็นการละเล่นของหลวง เรียก กระอั้วแทงควาย

กระอั้วแทงควาย สมัยรัตนโกสินทร์ (ลายเส้นคัดลอกจากจิตรกรรมฝาผนังโบสถ์วัดพระแก้ววังหน้า) โดย ธัชชัย ยอดพิชัย

หลังจากนั้นชาวบ้านเลียนแบบดัดแปลงเล่นทั่วไป เรียก กระตั้วแทงเสือ

กระอั้วแทงควาย การละเล่นมหรสพหลวง [ภาพจากหนังสือ วัฒนธรรม ของ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ฉบับตุลาคม-ธันวาคม 2557 หน้า 26]
กระตั้วแทงเสือในขบวนแห่นาคเวียนรอบโบสถ์วัดแก้วไพฑูรย์ ริมคลองบางประทุน ราว พ.ศ.2520 (ภาพจาก คุณไสว เสือแย้ม ชาวคลองบางประทุน)

สระแก้ว ขอฝน

สระแก้วใช้ทำพิธีขอฝนอยู่นอกคูเมืองด้านทิศใต้ของเมืองมโหสถ (อ.ศรีมโหสถ จ.ปราจีนบุรี) ผนังขอบสระแก้ว สลักลวดลายเป็นรูปสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ชนิดต่างๆ เพื่อขอความอุดมสมบูรณ์ให้บ้านเมืองและราษฎร เช่น ช้าง, เหรา (มกร), นาค, ฯลฯ

แผนผังสระแก้วและภาพสลักรูปสัตว์ศักดิ์สิทธิ์เกี่ยวกับน้ำที่ขอบสระ เมืองมโหสถ อ.ศรีมโหสถ จ.ปราจีนบุรี

สระด้านทิศตะวันตก เป็นซอกยื่นออกไป และมีทางขั้นบันไดสลักบนพื้นศิลาแลงธรรมชาติเป็นทางขึ้นลงสระ แต่เดิมอาจมีอาคารสร้างด้วยไม้ที่ใช้เป็นปะรําพิธี

สระแก้วขุดลงไปบนพื้นศิลาแลง
ภาพจำลองสระแก้ว เมื่อครั้งยังใช้งานในอดีต (โดย ปติสร เพ็ญสุต)

ด้านทิศเหนือมีร่องรอยหลุมเสาปะรําพิธี สลักอยู่ตรงกลางลานหินที่ยื่นล้ำเข้าไปในสระ แสดงว่าเคยมีท่าน้ำเป็นเครื่องไม้ยื่นลงไปในสระ เพื่อพระราชาประกอบพิธีกรรม เช่น พิธีขอฝน (พิรุณศาสตร์)


คางคกยกรบขอฝน

คางคก เป็นคำไทยภาคกลาง ตรงกับ คันคาก เป็นคำลาวลุ่มน้ำโขง เป็นสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ กลุ่มเดียวกับกบ, เขียด

กบบนหน้ากลองทองมโหระทึก อายราว 2,500 ปีมาแล้ว พบที่ ต.ท่าเรือ อ.เมืองฯ จ.นครศรีธรรมราช

คางคกยกรบขอฝน เพราะฝนแล้งแห้งมาก เป็นนิทานยิ่งใหญ่ของคนในอุษาคเนย์ ราว 3,000 ปีมาแล้ว แต่เรียกเป็นคำลาวว่าพญาคันคาก หรือตำนานจุดบั้งไฟ เพื่อบงการให้ฝนตก

พญาคันคาก เป็นคำบอกเล่าเรื่องของคันคากที่มีผิวหนังตะปุ่มตะป่ำน่าเกลียดน่ากลัว ระดมปลวกขนดินทำทางจากดินขึ้นถึงฟ้า แล้วพาพรรคพวกสารพัดสัตว์เดินขึ้นตามทางไปรบกับแถนบนฟ้าที่ควบคุมน้ำ ให้ปล่อยน้ำเป็นฝนตกลงดินตามฤดูกาล เพื่อชาวนาชาวไร่มีข้าวปลาอาหารเลี้ยงชีวิต

กบ เป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ของคน เมื่อหลายพันปีมาแล้ว เชื่อว่ากบบันดาลน้ำฝนได้ ทำให้ข้าวปลาอาหารมั่งคั่งอุดมสมบูรณ์ เลี้ยงชีวิตคนทั้งชุมชน คนจึงมีจินตนาการ สร้างคำบอกเล่าต่างๆ มากมายหลายเรื่องสืบต่อกันมา แต่ที่แพร่หลายกว้างขวางมากสุด คือ พญาคันคาก หรือตำนานการจุดบั้งไฟ

กบ มีรูปร่างเหมือนอวัยวะเพศหญิง ให้กำเนิดคนทั้งหลาย สมัยก่อนคนจึงเรียกอวัยวะเพศหญิงว่ากบ ส่วนของเด็กหญิงเรียกเขียด

ภาพเปรียบเทียบคนทำ ท่ากบ บนลายผ้าของชาวลาว-ไทย ชาวอิบาน (ในซาราวัก มาเลเซีย) ชาวอิฟูเกา (ทางเหนือของเกาะลูซอน ฟิลิปปินส์) กับรูปคนทำท่ากบของชาวจ้วงที่ผาลาย มณฑลกวางสี ในจีน

ท่ากบ กางแขน กางขา เป็นท่าตั้งเหลี่ยมของโขนกับละคร ที่ได้จากท่ากบ (ไม่มาจากอินเดียตามที่เคยครอบงำมานาน)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image