เพราะลมหายใจคือกวี 80 ปี ‘นิภา’ บางยี่ขัน ‘ในคืนวันที่ผันผ่าน’

กระดาษใบหนึ่งเขียนด้วยลายมือ ระบุวันเวลา สถานที่

“อาทิตย์ที่ 21 กรกฎาคม บ่ายสอง ห้องออดิทอเรียม สมาคมธรรมศาสตร์ฯ” คือจุดเริ่มต้นของการถูกห้อมล้อมด้วยหญิงชายรุ่นใหญ่ ที่ออกจากบ้านมาตั้งวงนั่งจิบน้ำชา สนทนาดั่งวันพบมิตร

ไม่ใช่ใครอื่นไกล เรียกได้ว่านี่คือวันรวมญาติแวดวงวรรณศิลป์และมิตรรักนักกลอน เพราะมีตั้งแต่ “ชัชวาลย์ อินทรภาษิต” มิตรนิภา, ยอดกวี อดีตประธานศาลรัฐธรรมนูญ “วสันต์ สร้อยพิสุทธิ์” หรือ รุ่นใหญ่อย่าง “ศ.นรนิติ เศรษฐบุตร” นายกสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ไปจนถึงศิลปินแห่งชาติและ ส.ว. อย่าง “เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์” ฯลฯ มาร่วมสนทนาย้อนวันเวลาด้วยกาพย์กลอน

ในวาระ 80 ปี ของนิภา บางยี่ขัน

Advertisement

ในโอกาสเปิดตัวบทกวีรวมเล่ม “คืนวันที่ผันผ่าน” ผลงานสำนักพิมพ์เพลงวรรณ อันเกิดจากการชักชวนของ “พยงค์ คชาลัย (มเหยงค์)”

60 บท 88 หน้า ไล่เรียงตามเดือนปีที่แต่งไว้ ตั้งแต่ พ.ศ.2502-2562 คือผลงานรวมเล่มบทกวีของนิภาใน 6 ทศวรรษที่ผ่าน พัดกลิ่นวันวานยุควรรณศิลป์เฟื่องให้หวนคืน

นิภา ในทรรศนะ

“ร่ำลือกันว่า
นิภา บางยี่ขัน
นิภา บางยี่ขัน ทองถาวร
สลวยโสตรยิ่งกว่านั้นคือ
“นิภากวี มิมีอะไรต่างไปกว่า บุษบา ท่าพระจันทร์ ในสมัยรัชกาลที่ 9”

Advertisement

งานกวีของพี่นิภา ถ้าอ่านด้วยตาเนื้อ

ความไพเราะ คล้องจอง บรรเจิดเลิศตระการย่อมผ่านจากตาเนื้อกระทบโสตร

แต่ถ้าอ่านด้วยตาใน จะได้ยินความพริ้งไพเราะของดนตรีที่เล่นถูกทำนอง ถนอมเนื้อเหมือนบุพเพสันนิวาสผลัดผ่านฉากมาเบาๆ…

คือส่วนหนึ่งที่ “ขรรค์ชัย บุนปาน” หัวเรือใหญ่มติชนเขียนถึง “พี่นิภา”

“นิภา ทองถาวร (บางยี่ขัน)” เป็นชาวพระนคร กำเนิดและพำนักริมแม่น้ำเจ้าพระยา”บางยี่ขัน” เกิดวันที่ 19 เมษายน 2482 จบปริญญาตรีสงเคราะห์ศาสตร์ ธรรมศาสตร์ แต่ด้วยความชอบกาพย์กลอน มีพรสวรรค์ในแง่โวหารและปฏิภาณกวี โต้กลอนสดจนเป็นที่ยอมรับของนักกลอนด้วยกัน

จึงเป็นที่มาของ “1 ในตำนาน 4 มือทองวรรณศิลป์ธรรมศาสตร์” “เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์” “ทวีสุข ทองถาวร” “ดวงใจ รวิปรีชา” และ “นิภา บางยี่ขัน”

“นิภา บางยี่ขัน ในทรรศนะของผม อาจไม่ได้ดังเรื่องกลอนประชดสังคมด้วยถ้อยคำที่รุนแรง แต่ “คำ” แต่ละคำอ่านแล้ว “จับใจ” บทกวีต้องอยู่ตรงนี้ ไม่ใช่สื่อความหมายไปอย่างเดียว นิภาสามารถให้ทั้งความหมายและเสียงเสนาะอยู่ในหูจากกลอนที่เขาเขียน และความหมายก็หักมุม” นี่คือคำกล่าวของ “ศ.นรนิติ” ที่หยิบยกส่วนหนึ่งของบทกลอน “ครู” ขึ้นมาเล่า

จำภาพหนึ่งซึ้งคำว่า “ชีวิต”
ตื้นใจศิษย์แสนจนจิตหม่นไหม้
มือจับช้อนระริกสั่นตันฤทัย
ตักลงในข้าวครึ่งห่อต่อจากครู

กุมภาพันธ์ ๒๕๐๒

“กลอนครูชิ้นนี้ นิภาเขียนตอนเข้าธรรมศาสตร์ อ่านทีแรกตีความว่าน่าจะพูดถึงความดีของครู แต่เปล่า เพราะวรรคสุดท้ายที่บอกว่า “ข้าวครึ่งห่อ กินต่อจากครู” มันอธิบายเกิน 4 บทแรก ว่าครูคนนี้ไม่ได้สอนหนังสือเพียงอย่างเดียว แต่ใจครูคนนี้มหาศาลนัก หักมุมชนิดที่คาดไม่ถึง”

“กลอนไม่จำเป็นต้องเขียนแบบ ‘ลิลิตตะเลงพ่าย’ ‘กล้าต่อกล้าชิงบั่น กลั่นต่อกลั่นชิงรอน ศรต่อศรยิงยืน ปืนต่อปืนยิงยัน กุทัณฑ์ต่างตอบโต้ โล่ต่อโล่ต่อตั้ง’ ดุเดือดรักชาติ ไม่มีใครเทียบ

ดูอย่างวรรณกรรมเลื่องชื่อของไทยสมัยก่อน “ลิลิตพระลอ” ฝีมือขนาดไหน การจะเขียนได้ขนาดนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย นั่นก็เพราะ นี่ก็เด็ด นั่นก็ยอด มันคนละไสตล์” “ศ.นรนิติ เศรษฐบุตร” ระบุ และบอกอีกว่า คนเป็นนักเขียน การทำงานต่อเนื่องเป็นสิ่งสำคัญ นิภาไม่เคยหยุดเขียน “ลมหายใจเป็นกวีตลอดเวลา”

“เขามีอยู่ 4 มือทอง ไม่เก็บไว้ให้ผมสักมือ แต่ผมภูมิใจ ที่มีเพื่อนเป็นสี่มือทองในวันนั้น

“ทั้ง 4 คนผมรู้จัก เขาเด็ดขาด เขายอดเยี่ยมอย่างไร ผมรู้ดี” ศ.นรนิติว่าอย่างนั้น

4 มือทองธรรมศาสตร์

นิภาจำได้ไหม?

“นิภาจำได้ไหม? เราเรียกหนูนิดเพราะนิภาตัวเล็ก

นิภาจำได้ไหม? ที่ช่วยถือหนังสือวรรณศิลป์เล่มละบาท ไปขายประตูท่าพระจันทร์ วรรณศิลป์ระดับมหาวิทยาลัยเกิดขึ้นเพราะพวกเราเริ่ม” เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ รำลึกถึงความหลัง ก่อนจะเริ่มขยายความ

“ผมกับนิภารู้จักก่อนเข้ามหาวิทยาลัย ตอนอยู่ ม.8 รร.ทวีทาภิเษก เป็นเด็กบ้านนอกที่ชอบกาพย์กลอน เห็นว่าสาวคนนี้เขียนกลอนเก่งก็เลยเขียนกลอนท้า แอบไปวางที่โต๊ะ นิภาจำได้หรือเปล่า?

พยายามจะเข้าคณะอักษรศาสตร์ แต่อนิจจาเข้าจุฬาลงกรณ์ไม่ได้ เพื่อนเลยพามาสมัคร นิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ เป็นปีสุดท้ายที่ไม่ต้องสอบเข้า”

“นิภาเป็นคนแรกที่ชักชวนให้รู้จักรุ่นพี่นักกลอน และอีกหลายคนที่ชุมนุมหน้าวัดอินทาราม

มีวันหนึ่งตอนเรียนธรรมศาสตร์ เดินๆ อยู่ มีเด็กหัวโต นุ่งกางเกงสีดำขาสั้น ใส่เสื้อนักเรียน ไปนั่งอยูใกล้ๆ พอเลิกชุมนุมนักกลอนบางขุนพรหม จะกลับบ้านก็เดินตามมาอีก ถึงท่ารถย่องเข้ามาถามผม “พี่ๆ ผมอยากเรียนเป่าขลุ่ย” อ่าว! นึกว่าชอบเรียนกลอน ถามว่าชื่ออะไร ‘สุจิตต์ วงษ์เทศ’ นิภาทำให้รู้จักพวกประหลาดๆ โดยเฉพาะนักกลอนรุ่นพี่”

เนาวรัตน์เล่าต่อว่า พอมาเข้าธรรมศาสตร์ มีรายการ “ลับแล กลอนสด” รายการดัง ช่อง 4 บางขุนพรหม ของ “จำนง รังสิกุล” ซึ่งตอนหลังอยากให้นักศึกษามาแสดงความสามารถ เวลานั้นวรรณศิลป์ จุฬาฯ ตั้งแล้ว ธรรมศาสตร์ตั้งบ้าง ทำให้มีโอกาสได้มาจัดรายการ “ลับแล กลอนสด” เขียนโคลงฉันท์กาพย์กลอน เป็นการแรกเริ่มของวรรณศิลป์มหาวิทยาลัย เป็นที่มาของการตั้งชมรมวรรณศิลป์ในมหาวิทยาลัยอื่นๆ ทั้ง ม.เกษตรศาสตร์ ม.หอการค้า มศว.ประสานมิตร มีการแข่งกลอนและจัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง

“วรรณศิลป์เฟื่องตอนนั้น พอช่วงหลัง ‘ชัชวาลย์ อินทรภาษิต’ เข้ามา เราฝึกเพื่อแข่งกลอน ตั้งหัวข้อม้วนใส่กระดาษ หยิบขึ้นมา แต่งให้เสร็จภายใน 5 นาที แล้วคัดขึ้นมาเป็นนักกลอน ชัชวาลย์ผ่านตรงนั้น นี่คือกิจกรรมวรรณศิลป์ที่เราเคี่ยวกรำ”

“ในที่สุดก็มี 4 มือทองธรรมศาสตร์ คนที่ออกกลอนไวสุดคือ ‘ทวีสุข’ และ ‘ดวงใจ’ ตามมาด้วย ‘นิภา’ ผม (เนาวรัตน์) ช้าสุด เราจัดลำดับกันอย่างนั้น พอกรรมการบอกหัวข้อ ดวงใจก็จับไมค์ว่าได้เลย ทวีสุขต่อได้ทันที ส่วนนิภานึกวรรคแรกได้แล้วเพียงแต่บอกทวีสุขให้ลงลงอย่างนี้นะ ผมถามนิภาว่าลงอย่างไร พยายามนึกวรรคสุดท้าย แต่ละคนรับผิดชอบคนละสองวรรค ถ้าใช้ศิลปะแบบนี้จะไว เราฝึกกันมาอย่างนี้จึงชนะทีมอื่นๆ” เนาวรัตน์เผย

นิภา บางยี่ขัน และเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์

แม้กิจกรรมเหล่านี้จะเลือนหายกลายเป็นตำนาน แต่ “เนาวรัตน์” บอกว่า “นิภา บางยี่ขัน” คือเชื้อเพลิงสำคัญที่จุดประกายเรื่องกิจกรรมวรรณศิลป์และชักนำเข้าสู่แวดวงกาพย์กลอน

“นิภาเป็นคนที่ทำให้ผมชอบอ่านกลอน กลอนของนิภาสะเทือนใจโดยเฉพาะบทสุดท้าย

เช่น บท “เขา” พูดว่าเคยหนุนตักพ่อ แต่สุดท้ายลงว่า

นกเขาเอยเคยขันกระชั้นแจ้ว
เราโตแล้วหาตักอุ่นหนุนไม่ได้
ครั้นพบคนพอจะคุ้นอบอุ่นใจ
“เขา” ก็ไม่ไยดีเท่าที่ควร

จบอย่างบีบหัวใจ หากลอนอย่างนี้อ่านไม่ได้แล้วในปัจจุบัน นิภาอย่าหยุดเขียน เขียนอย่างนี้แหละ มันเจียระไนหัวใจออกมาเป็นถ้อยคำได้

“ขอบคุณนิภาที่ทำให้ผมเข้าใจหัวใจของกาพย์กลอน เข้าใจการเจียระไนความรู้สึกนึกคิดให้ออกมาเป็นเพชรพลอยของถ้อยคำ เพราะความรู้สึกจากกลอนของนิภานี้เอง”

เบื้องหลังวรรณศิลป์ มิตรภาพยังไม่เลือน

ถึงที “ชัชวาลย์ อินทรภาษิต” จับไมค์เล่าย้อนเส้นทาง ตั้งแต่รู้จักรุ่นพี่นักกลอน จนได้ตระเวนไปเล่นและแข่งขันสารพัดกลอน ทั้ง กลอนสด กลอนสักวา กลอนกระดาน กลอนกระทู้

“ผมรู้จักกับนิภาที่ธรรมศาสตร์ ใกล้ๆ กับเนาวรัตน์ ทวีสุข และดุสิต พนาพันธุ์ (เชษฐ์ พนาพันธุ์) เป็นคนเหลวไหลพอสมควร อาศัยไปกินเหล้ากับเขา นิภาไปในกลุ่มกินเหล้า แต่นิภาก็ไม่เคยกินเหล้า คนกินแทนนิภาคือดวงใจและทวีสุข

เมื่อก่อนเขียนกลอนไม่ได้ซาบซึ้งเท่าไหร่ เขียนไปตามความรู้สึก ส่วนใหญ่ที่ไปกับกลุ่มนี้

คือไปเขียนกลอนสด ตั้งแต่สมัยที่ท่านจำลองคุมช่อง 4 บางขุนพรหม ก็เขียนไปตามอารมณ์จนถือว่าค่อนข้างเก่ง เขียนเสร็จก็มาสุมหัวกินเหล้าหัวมุมวัดอินทร์ จนเป็นที่รู้จักมักดีของใครต่อใครอีกหลายคน มีครั้งหนึ่งชนะกลอนสด

แต่การเขียนกลอนสดไม่ง่าย ความตื่นเต้นตอนอยู่หน้ากระดานทำให้ปัญญาตัน เขียนไม่ออก ยิ่งมาตอนหลังมีกระทู้สด เรียกว่า ‘กลอนจอหงวน’ ก็ยิ่งเขียนยากขึ้น” ชัชวาลย์เผย ก่อนจะบอกว่า

“คนเราบางที่เขียนกลอนรัก เขียนกลอนแห้งได้ดี แต่เขียนกลอนสดเป็นอีกเรื่องหนึ่ง อย่าง ขรรค์ชัย บุนปาน ไปเขียนกลอนสด จอด เลิกเขียนไปเลย (หัวเราะ)

“ผมตามนิภาไปนู่นมานี่ เนื่องจากไม่ค่อยมีสตางค์ และเรามีภารกิจที่ต้องทำกันหลายอย่าง จนกระทั่งถูกหลอกไปปักษ์ใต้ เนาวรัตน์ นิภา ก็โดนหลอก ทางจุฬาฯ มี ‘อำพล สุวรรณธาดา’ (นักกลอนอาวุโสปูชนียบุคคลภาษาไทย) และอีกหลายคน นั่งรถคอกหมูตระเวนภาคใต้ ไปตกลงกันอย่างไรไม่รู้ รู้แต่ผมต้องเอาผ้าขาวม้าแขวนคอนั่งไปถึงภูเก็ต ไม่มีตังค์ ไปเปิดวิกเล่นกลอนสดเอาตังค์ เนาวรัตน์เป็นผู้สนับสนุน อุปโลกน์ให้ผมเป็นพ่อเพลง ฝั่งจุฬามีคุณพรรณราย ก็เล่นเพลงฉ่อย จนผู้ว่าคนหนึ่งที่ภูเก็ตเห็นเราเล่นก็เข้ามาดู เขาบอกจุฬาฯ ธรรมศาสตร์ มาเล่นแบบนี้ได้ไง ผมก็บอก ‘ไม่มีตังค์กินข้าว’ เขาให้ตังค์มา ระเหเร่ร่อนไปได้ถึงขนาดนั้น จากนั้นมาไปไหนนึกถึงความลำบากนี้มาตลอด มันทำให้มิตรภาพของเราไม่เปลี่ยนแปลง และเราก็รู้สันดานมาแต่นั้นว่าใครเป็นอย่างไร

อีกประการ ชัชวาลย์ เรียนให้ทราบว่า นิภาเป็นคนเขียนกลอนรักแล้วไม่เอียน เพราะได้เชื้อจาก “สวัสดิ์ ธงศรีเจริญ”

“แต่ตอนหลังจะเห็นว่านิภากับทวีสุขเขียนกลอนสไตล์เดียวกัน จนผมจำไม่ได้ ว่าอันไหนของใคร

รักกันก็ไม่บอกใคร ติดตาม อ้อนกันไปเรื่อย

“ฉันไม่คิดว่าฉันมีความดีมาก แต่ไม่อยากคิดว่ามีไม่ดีหมด” เขียนถึงกันสองคนแต่ไปถูกใจคนอื่น

เล่มนี้ก็เหมือนกัน กลอนนิภาจะเขียนถึงทวีสุขสัก 80 เปอร์เซ็นต์ ถ้าอยากรู้ว่าคนนู้นคนนี้เป็นใคร ผมตอบได้เลยว่า “ทวีสุข” เพราะนิภาไม่เคยมีนิยายรักกับใคร คนแอบรักนิภาเยอะ แต่ไม่กล้าบอก เพราะนิภาชอบทำเฉยๆ

มิตรรักนักกลอนร่วมเปิดตัวรวมบทกวี “คืนวันที่ผันผ่าน” ของนิภา บางยี่ขัน

คือพี่ที่ดูแลน้อง
คือนักกลอนผู้ไม่ดื่มเหล้า

ทาง อดีตประธานศาลรัฐธรรมนูญ “วสันต์ สร้อยพิสุทธิ์” บอกว่า

“สมัยก่อนตอนเรียนหนังสืออยู่ปี 4 พี่นิภาทำหนังสือรวมกลอนให้ เฝ้าโรงพิมพ์ ดูแลน้องๆ ทำให้หมด สิ่งที่ประทับใจที่สุด สมัยก่อนตกระกำลำบาก แต่สนุกไปกันเรื่อย ไปถึงภูเก็ต โผล่ไปหนองคาย พี่นิภาทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงของน้องๆ แต่การเป็นพี่เลี้ยงไม่ใช่เรื่องเขียนกลอน เพราะแกไม่ค่อยสอน

ผมเข้าไปถาม ‘พี่นิภา กลอนนี้ทำไมเขียนอย่างนี้’ แกบอก ‘ไม่บอก’ แต่จะบอกว่า ตรงนี้พี่ไม่ค่อยชอบ แต่ที่ว่าไม่ค่อยชอบก็คือ ไม่ผ่าน ส่วนใหญ่พวกน้องพวกผมก็จะนิสัยไม่ค่อยดี ไปพึ่งพาอาศัยขอข้าวกิน เป็นเรื่องอื่นๆ ที่ไม่ค่อยเกี่ยวกับกวีนิพนธ์เท่าไหร่

สิ่งที่ประทับใจที่สุดที่ผมเอามาขียนในเล่มนี้ด้วย คือเมื่อก่อนพวกนักกลอนทั้งหลายขี้เมาทั้งนั้น ไม่ต้องพูดถึงเฮียชัชวาลย์ พวกผมก็ไม่เบา ไปไหนก็กินเหล้า เมากันหัวราน้ำ พี่นิภาเป็นคนที่เอาผ้าชุบน้ำมาเช็ด และก็บอกว่า ‘เพิ่งเห็นว่านี่ล่ะวะ เขาเรียกว่ากินเผื่อหมา ที่คายออกมาหมาก็ไม่กิน มันเหม็น’ ทีนี้ก็ต่อกลอนกันสนุกสนาน ทะลึ่งตึงตังไปหมด แต่พูดถึงความไว เจ๊ดวงใจไวที่สุด

(จากซ้าย) อภิชาติ คำดี, วสันต์ สร้อยพิสุทธิ์, เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์, ชัชวาลย์ อินทรภาษิต, ศ.นรนิติ เศรษฐบุตร

ต่อกลอนสด ‘ผ้าถุงดีกว่าผ้าขาวม้า’ พอกรรมการบอกกระทู้ขาดคำ เจ๊ดวงใจขึ้นประโยคนี้ทันที

‘ผ้าถุงดีกว่าผ้าขาวม้าแน่ เพราะว่าแม่ใครใครก็ใช้อยู่’ ความว่องไวทำให้คู่ต่อสู้เสียขวัญ ไปไม่เป็น

ยังจำได้ว่าเวลาเราเล่นกันเร็วๆ ทีมคู่ต่อสู่ของเราตอนนั้นเขียนจนตกกระดานดำ เก็บชอล์กขึ้นมาเขียนใหม่ น่าจะเป็น ‘เสถียร จันทิมาธร’ วสันต์รำลึกความ

“สมัยก่อนเล่นแบบกันเอง ไม่ได้จะเอาชนะคะคานกันจริงจัง แต่มารุ่นผมและรุ่นหลัง เอาเป็นเอาตาย จนความเป็นมิตรเริ่มเลือนหายไป”

“แม้แต่การเมืองก็ระบาดเข้ามาในวงการวรรณศิลป์ เลยอึดอัดกันไปหมด แต่ตอนนี้พูดได้ เพราะต่างก็เป็นราษฎรเต็มขั้น” อดีตประธานศาลรัฐธรรมนูญว่าอย่างนั้น

 

“คืนวันที่ผันผ่าน” ของ นิภา บางยี่ขัน หนังสือรวมบทกวีคัดสรรในช่วง 60 ปี (2502-2562) โดยสำนักพิมพ์เพลงวรรณ

จัดทำเป็นรูปเล่มสี่เหลี่ยมจัตุรัส ขนาด 20×20 ซม. ปกอ่อน จัดพิมพ์ด้วยกระดาษอาร์ตอย่างดี สีสันทั้งเล่ม

ภายในเล่มรวบรวมบทกลอนที่ประพันธ์โดย นิภา บางยี่ขัน จำนวนกว่า 60 บท ความหนา 88 หน้า

ออกแบบรูปเล่มและภาพประกอบสีน้ำ โดย ศักดา ศรีคำ

มี อดุล จันทรศักดิ์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ เป็นผู้ดำเนินการจัดทำ พร้อมทั้งเป็นบรรณาธิการ

จัดพิมพ์ครั้งที่ 1 จำนวน 1,000 เล่ม ราคาปกละ 300 บาท

สอบถามหรือสั่งซื้อได้ที่ Saiporn Jaemkham หรือโทร 08-1554-7754

ภายในยังประกอบไปด้วยข้อความที่มิตรรักวรรณศิลป์เขียนถึง นิภา หรือ “บุษาท่าพระจันทร์” เนื่องในวาระอายุครบ 80 ปี

เช่น ส่วนหนึ่งของข้อความ ที่ ขรรค์ชัย บุนปาน ประธานกรรมการบริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) เขียนถึง “พี่นิภา” เรียกได้ว่าเป็นหนังสือที่น่าจับอ่านอย่างยิ่ง

“ขอให้เชื่อเถอะว่า การส่งเสริมการอ่านในประเทศด้อยพัฒนาแห่งนี้ ยังต้องดำเนินต่อไป

และถ้าถ้อยคำคือสติปัญญา ก็น่าเชื่ออีกว่า

ทั้งแผ่นดิน จะไม่มีใครยากจน ถ้ารักและหลงใหลในการอ่านโคลงฉันท์กาพย์กลอน

หนังสือกวีนิพนธ์ของพี่นิภา เล่มน้อยๆ เล่มนี้

เป็นเพียงเสี้ยวเดียวของเสี้ยวสมองผู้เขียน

อ่านด้วยความรักเถิด

โลกจะเป็นโลกที่น่ารักอย่างเดิม”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image