1 วันของ ‘ผู้ก้าวพลาด’ ในเรือนจำธรรมชาติ ‘แคน้อย’ หยิบยื่นหลากโอกาส เพื่อชีวิตหมุนต่อได้

ปิยะศักดิ์ อุกฤษฎ์นุกูล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เงินติดล้อ จำกัด พูดคุยกับผู้ก้าวพลาด ขณะตัดใบวอเตอร์เครส

“สะเดียง” ตำบลหนึ่งในอำเภอเมือง จังหวัดเพชรบูรณ์ ที่อาจยังไม่คุ้นหู

ไม่เพียงเป็นพื้นที่ซึ่งรายล้อมด้วยธรรมชาติอันบริสุทธิ์ ทว่ายังเป็นที่ตั้งของ เรือนจำชั่วคราวแคน้อย หนึ่งใน 12 เรือนจำในประเทศไทย ที่มีการเตรียมความพร้อมผู้ก้าวพลาดอย่างเต็มรูปแบบก่อนพ้นผิดกลับไปดำเนินชีวิตในสังคมตามปกติ

ที่แห่งนี้นอกจากจะเป็นเรือนจำชั่วคราวหญิงแบบเปิดแห่งแรกและแห่งเดียวในไทย ยังเป็นหนึ่งใน 4 เรือนจำนำร่อง ภายใต้ “โครงการกำลังใจในพระดำริพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา” ในการน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้

เรือนจำแห่งนี้มีตั้งแต่เรือกสวนไร่นา ภูเขา เล้าไก่ ไปจนถึงคอกวัว คอกหมู ดูจะแตกต่างจากภาพจำของทัณฑสถานทั่วไป เพราะไร้ซึ่งกำแพงปิดกั้นโลกภายนอกและออกจะเป็นบรรยากาศที่เอื้อให้ผู้ก้าวพลาดมีโอกาสปรับตัวได้ง่าย ตั้งอยู่บนพื้นที่ 237 ไร่ ในสภาพแวดล้อมที่เห็นได้ทั่วไปในภาคเหนือตอนล่าง

Advertisement

วันเพ็ญ ว่องไวกิตติสิน ผู้บัญชาการเรือนจำ จังหวัดเพชรบูรณ์ ออกมาต้อนรับขับสู้ ก่อนจะอาสาพาลัดเลาะไปตามไร่นา เล่าถึงชีวิตใน 1 วัน ของผู้ก้าวพลาด

เริ่มตั้งแต่ตื่นตี 5 ครึ่ง สวดมนต์ นั่งสมาธิ 06.00 น. ลงนาหว่านไถ ออกกำลังกาย ทำธุระส่วนตัว จากนั้น 08.00 น. เคารพธงชาติ และแยกย้ายไปตามกลุ่มที่รับผิดชอบเพื่อเก็บผัก ทำสวน หรือเลี้ยงสัตว์

Advertisement
บริการนวดแผนไทย

“ส่วนใหญ่เราจะสอนเรื่องเกษตรกรรม ทั้งทฤษฎีและปฏิบัติ โดยยึดหลัก ‘พออยู่ พอกิน พอประมาณ อยู่อย่างพอเพียง พึ่งพาตัวเองก่อนพึ่งพาผู้อื่น’ ที่นี่จะมีการปลูกข้าว ปลูกพืชผักปลอดสารพิษ เพาะเห็ด เลี้ยงกระบือ เลี้ยงไก่ ขายไข่ ฯลฯ นอกจากเรื่องเกษตรกรรมและการเลี้ยงสัตว์แล้ว เรายังเน้นการฝึกวิชาชีพให้กับผู้ก้าวพลาด ที่ด้านหน้าของโครงการจะมีโซนฝึกทำธุรกิจ ให้ประชาชนทั่วไปมาใช้บริการของผู้ก้าวพลาด ทั้งล้างรถ เสริมสวย ซักรีด นวดแผนไทย นอกจากนี้เรามีการฝึกทักษะประกอบอาชีพ ทั้งการขายอาหาร เครื่องดื่มและเบเกอรี่ มีร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของเรือนจำ ที่ทุกคนจะได้รับเงินปันผลอย่างเท่าเทียม” วันเพ็ญระบุ พร้อมบอกอีกว่า

“ผู้ก้าวพลาดที่นี่มีความรู้ เพียงแต่คิดผิด ตัดสินใจผิด พอจะออกไป สังคมก็ไม่ไว้วางใจ การที่ได้วิชาความรู้จากเรา และได้ทุนในการประกอบอาชีพจะเป็นกำลังใจที่สำคัญ

เพราะใครกันที่จะหยิบยื่นโอกาสให้พวกเขา”

หมู่บ้านกำลังใจ

“กำลังใจ” หมู่บ้านจำลองชีวิต

เรียนรู้สู่พอเพียง เลี้ยงชีพด้วยสองมือ

เรือนจำชั่วคราวแคน้อยไม่ได้สอนแค่อาชีพ แต่ยังแฝงการใช้ชีวิตร่วมกับคนในสังคม เรียกได้ว่าเป็นการจำลองชีวิตจริง

101 คนจากโครงการ แบ่งเป็น 5 “หมู่บ้านกำลังใจ” ให้สมาชิกเลือกคนที่มีความเป็นผู้นำขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่บ้าน เพื่อสอดส่องดูแลกันและกัน ในยามที่มีปัญหาก็จะเข้ามาปรึกษาเจ้าหน้าที่ประจำหมู่บ้าน

ข้ามเข้าเขตพื้นที่หมู่ 1 ผู้ก้าวพลาดกำลังง่วนอยู่กับการ “ตัดวอ” หรือการคัดเอา 4 ใบแรกของ วอเตอร์เครส (Watercress) ผักสลัดน้ำ สำหรับใส่สลัดหรือต้มจืด เพื่อส่งขายให้บริษัท Natural & Premium Food (N&P) สำหรับขายวันพรุ่งนี้

ปภาสร จันหัวนา

ปภาสร จันหัวนา หรือ “พี่เดียว” หัวหน้าเรือนจำชั่วคราวแคน้อย เล่าว่า ที่นี่ปลูกพืชแบบเกษตรอินทรีย์ (ออร์แกนิค 100 เปอร์เซ็นต์) ทุกวันอังคารและพฤหัสบดีจะมีรถของบริษัท N&P มารับซื้อผักที่เก็บได้แบบไม่จำกัดจำนวน นอกจากวอเตอร์เครสแล้ว เรายังมีผักโขมเขียวและโขมแดง แต่ละวันเก็บขายได้สูงสุดถึง 400 กิโลกรัม ใน 1 วันจะแบ่งกันเก็บคนละ 1.2 กก. บางคน 1 ชั่วโมงก็ได้แล้ว ไม่ได้ตัดทั้งวัน และเราจะมีบ้านพักในแต่ละหมู่บ้านให้ผู้ก้าวพลาดนั่งพักรับประทานอาหารด้วยกัน

ไม่ไกลจากหมู่ 1 ยังมีที่ผลิตปุ๋ยอินทรีย์ความจุกว่า 1 ตัน

“เราจะห่วงวัชพืชมาก ไม่ทิ้ง ไม่เผา เอาไว้ทำปุ๋ย ทะเลาะแย่งกันเพราะขายได้ราคาสูง กิโลกรัมละ 50 บาท ที่อื่นทำ 3 เดือน แต่ของเรา 10 วันก็ใช้ได้” พี่เดียวเผย พร้อมกระซิบบอกด้วยว่า เป็นเพราะมี “สูตรลับ” คือการใช้น้ำจากสระเลี้ยงปลามารดปุ๋ย ทิ้งไว้ 3 วัน ปุ๋ยก็จะไร้กลิ่น จากนั้น 10 วัน ก็จะตักขึ้นมาเพียง 30% เพื่อส่งขายและใช้ในแปลงผัก และทำเพิ่มลงไปอีก 30% โดยให้ปุ๋ย 70% ที่ค้างอยู่เป็นตัวเร่ง

หมูปลอดภัย

เดินลัดเลาะไปอีกสักครู่ จะพบกับเหล่า “หมูปลอดภัย” 51 ตัว จำนวนเท่าผู้ก้าวพลาด พี่เดียวบอกว่า ที่ได้ชื่อนี้ก็เพราะกินเศษอาหารที่เหลือจากเรือนจำแล้วเอามาต้มเลี้ยง ไม่ใช้อาหารสำเร็จรูป ข้อดีคือถึงแม้จะโตช้า แต่ไม่มีสารเคมีหรือสารเร่งเนื้อแดงอย่างแน่นอน ส่วนการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมของที่นี่ ก็จะคัดเอาหม่อน 3 ใบแรกไปทำชา และเอาไหมไปเข้าจ่อ ส่งขายให้กับไร่กำนันจุลเพื่อไปเข้าโรงงานต้ม สาวเป็นเส้น ผลิตเป็นผ้าไหม โดยทางเรือนจำยังได้ทดลองซื้อไหมบริสุทธิ์จากกำนันจุลมาย้อมสีธรรมชาติเพื่อสร้างเป็นผลิตภัณฑ์อีกด้วย

ภายในเรือนจำมีฐานเรียนรู้ด้านการเกษตรที่หลากหลาย

พี่เดียวยังบอกอีกว่า ผู้ก้าวยังพลาดสามารถตกลงกันได้ว่าอยากปลูกอะไร

“เราให้คิดว่านี่คือหมู่บ้านของเขา กลางวันก็ออกมาทำงานในแปลงรวมเสมือนว่าออกไปทำงานนอกบ้าน พยายามจำลองให้เขาใช้ชีวิตเสมือนจริง เหมือนใช้ชีวิตกับครอบครัว” หัวหน้าเรือนจำหญิงกล่าวส่งท้าย “ขอบคุณนะคะ ที่ให้โอกาสพวกเรา” ก่อนจะ “ยิ้ม” และเดินไปพูดคุยกับผู้ก้าวพลาด

เพราะชีวิตหมุนต่อได้ด้วย ‘โอกาส’

ในฐานะผู้ให้บริการสินเชื่อทะเบียนรถ ที่มุ่งสร้างโอกาสทางการเงินให้กลุ่มผู้มีรายได้น้อยและผู้ประกอบอาชีพอิสระ ให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบที่เป็นธรรมและโปร่งใส

หลังริเริ่มโครงการให้ความรู้ทางการเงินแก่กลุ่มพ่อค้าแม่ค้า ในปี 2556 จนขยายเป็น “โครงการนำความรู้สู่ชุมชน เพื่อชีวิตหมุนต่อได้” ในปี 2558

ล่าสุด “เงินติดล้อ” เข้ามาสนับสนุน “โครงการกำลังใจ” ในพระดำริพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา เพื่อให้ความรู้ทางการเงิน มอบโอกาสทางสินเชื่อเพื่อการประกอบอาชีพ และสนับสนุนผลิตภัณฑ์งานฝีมือจากกลุ่มผู้ก้าวพลาด

โดยทีมงานเงินติดล้อได้ลงพื้นที่สำรวจปัญหาและความต้องการของผู้ก้าวพลาดที่เรือนจำ จ.ระยอง และ จ.จันทบุรี นำไปสู่การทดลองสอนหลักสูตรแก่ผู้ก้าวพลาดชายที่เรือนจำชั่วคราวเขาระกำ จ.ตราด เมื่อต้นปีที่ผ่านมา

สำรวจพัฒนาจนได้หลักสูตรอบรมในรูปแบบที่เป็นมิตร ให้ผู้ก้าวพลาดเรียนรู้ผ่านการทำกิจกรรม

ให้การเรียนรู้ด้านการเงินเป็นเรื่องสนุก เข้าใจง่าย

กิจกรรมให้ความรู้ทางการเงิน โดย เงินติดล้อ

24 กรกฎาคม วันแรกของโครงการ คณะผู้บริหารของบริษัทเงินติดล้อ จำกัด นำโดย ปิยะศักดิ์ อุกฤษฎ์นุกูล กรรมการผู้จัดการใหญ่ ไปจนถึงผู้บริหาร และทีมงาน พร้อมทั้ง จิรภา สินธุนาวา แม่งานใหญ่โครงการกำลังใจในพระดำริพระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ในฐานะผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านนโยบายและยุทธศาสตร์กองพัฒนานวัตกรรมการยุติธรรม กระทรวงยุติธรรม เข้ามาร่วมฟังปัญหาของผู้ก้าวพลาดร่วมกับทางเงินติดล้อ

เพื่อหาแนวทางลดปัญหาผู้ต้องขังล้นเรือนจำ และหาแนวทางช่วยเหลือด้านอาชีพและการเงิน

ปิยะศักดิ์ อุกฤษฎ์นุกูล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เงินติดล้อ จำกัด กล่าวว่า การที่จะได้รับโอกาสเริ่มชีวิตใหม่เป็นสิ่งสำคัญ โอกาสแรกที่ผู้ก้าวพลาดได้รับจากกระทรวงยุติธรรมคือความรู้ในการประกอบอาชีพ ในวันนี้เงินติดล้อเข้ามาเสริมทักษะในเรื่องของการบริหารจัดการการเงิน โดยสอนให้ผู้ก้าวพลาด รู้เรื่องต้องรู้ก่อนประกอบอาชีพ เพื่อเข้าใจประเภทของต้นทุน เข้าใจว่าจะต้องเตรียมตัวอย่างไรในการประกอบอาชีพ ให้เขาระดมความเห็นกันในกลุ่ม ทั้ง เรื่องวัตถุดิบ อุปกรณ์ และสถานที่ในการทำธุรกิจ ผ่านกิจกรรม ชวนคิดจากอาชีพตัวอย่าง คำนวณค่าใช้จ่ายจากต้นทุน ผ่านโมเดลธุรกิจขายลูกชิ้นปิ้ง เพื่อฝึกแยกประเภทและประมาณต้นทุนด้วยตัวเอง รวมทั้งเรียนรู้วิธีการเพิ่มกำไร ลดต้นทุน เพิ่มมูลค่าของสินค้า และการกำหนดราคาอย่างเหมาะสม รวมถึงการกันเงินส่วนที่ไม่เกี่ยวข้องกับธุรกิจเพื่อการใช้ชีวิตและเก็บออม สุดท้ายเราสอนเรื่องการเขียน แผนธุรกิจ เพื่อให้เขาลองวางแผนอนาคตด้วยตัวเอง

กิจกรรมชวนคิด ผ่านโมเดลธุรกิจ “ลูกชิ้นปิ้ง”

ปิยะศักดิ์ เล่าถึง มุก ผู้ก้าวพลาดหญิง ในวัย 29 ปี จากความผิดเกี่ยวกับเพศ ที่ยืนยันว่าตนไม่ได้ก่อ แต่ต้องมาเป็นแพะรับกรรมเพราะไว้ใจเพื่อนสนิท

“มุกบอกว่าออกไปแล้วจะขายข้าวเหนียวหมูอัญชัน แต่ที่อยากทำและชอบจริงๆ คือ ‘ตัดขนสุนัข’ เพราะเป็นอาชีพที่เคยทำมาก่อน แต่เขาไม่มีเงินทุน เรานั่งคุยและแนะนำเขาได้ในระดับหนึ่ง เพราะมองว่าบางทีคนก็อาจจะมีความยากลำบากในการพาหมาขึ้นรถเพื่อไปตัดขนที่ร้าน เลยแนะนำว่า ไม่ต้องลงทุนมาก มีอุปกรณ์ เปิดร้านผ่านเฟซบุ๊ก และไปดิลิเวอรีที่บ้านจะดีไหม ให้เป็นธุรกิจในลักษณะปากต่อปาก ลงทุนน้อยแต่ใช้ทักษะที่เรียนรู้ไปต่อยอด”

บริการล้างรถโดยผู้ก้าวพลาด

“เพราะมุกพูดเรื่องสุนัข แล้วอิน มีความสุข หลายคนมีความอยาก แต่คำถามแรกๆ ที่เราต้องถามคือ ‘เขาชอบอะไร ถนัดเรื่องไหน?’ เพราะถ้าอยาก แต่ไม่มีความรู้ความถนัด ธุรกิจจะไม่ยั่งยืน” ปิยะศักดิ์เผย ก่อนปิดท้ายว่า

“เราอยากจะเตรียมถุงยังชีพให้เขา ว่าการจะกลับไปเริ่มต้นชีวิตใหม่ ควรจะต้องมีอะไรบ้างเป็นพื้นฐาน

ที่อยากฝากไว้ คือ “ความท้าทาย อุปสรรค และความรู้” เป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จ เป็นสิ่งที่เราทุกคนต้องเจอ ถ้าเจอแล้วเราเข้าใจว่า “ภาวะแย่ๆ คือภาวะที่ชั่วคราว” เราจะผ่านพ้นไปได้ ขอให้มี “สติ อดทน และขยัน”

ขอเป็นกำลังใจให้ผู้ก้าวพลาดทุกคน”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image