พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ การเมืองเรื่อง ‘เครือญาติ’ ในประวัติศาสตร์สุโขทัย เมื่อรัฐในอุดมคติไม่ใช่ราชธานีแห่งแรก

31 ปีในประวัติศาสตร์ชาติไทย หรือดินแดนใดในโลก อาจห่างไกลจากคำว่ายาวนาน

ทว่า 31 ปี สำหรับการตีพิมพ์หนังสือเล่มเดียวกัน จากครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2531 กระทั่งครั้งที่ 2 ใน พ.ศ.2562 ย่อมถือว่าเป็นระยะทางอันยาวนานจนเพียงพอต่อการปรับปรุงข้อมูลไปตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์และการตีความจากการค้นพบใหม่ๆ ใต้ผืนดินแห่งอารยธรรม

สุโขทัยเมืองพระร่วง โดย พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมศิลปากร คือหนังสือที่กำลังถูกกล่าวถึง ไม่ใช่เพียงในเส้นบรรทัดของกระดาษหนังสือพิมพ์ที่กำลังอ่านอยู่นี้ หากแต่กลายเป็นที่อ้างอิงและพาดพิงอีกครั้งหลังงานเสวนา “สุโขทัยเมืองพระร่วง : คุณูปการของหนังสือประวัติศาสตร์โบราณคดีไทย” เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา แม้ชื่อหัวข้อไม่หวือหวา แต่เนื้อหาเข้มข้น เปี่ยมสีสันด้วยการบุกวิพากษ์โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ คอลัมนิสต์ชื่อดัง ผู้ก่อตั้งนิตยสารศิลปวัฒนธรรม มียอดผู้เข้าชมผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์ล้นหลาม

การเมือง ‘เรื่องเครือญาติ’ ชาตินี้เราคงแยกจากกันไม่ได้

“มันคือการเมืองระบบในเครือญาติ ของสุโขทัย สุพรรณ ละโว้ อยุธยา หนังสือทั้งเล่มอยู่ตรงนี้” สุจิตต์กล่าวสรุปให้ใน 1 ประโยค พร้อมขยายความตามแนวคิดของ พิเศษ ผู้เขียน ว่าในสำนึกของอยุธยา “สุโขทัยคือพื้นที่ของเขา จะเอาใจออกห่างไปได้อย่างไร ส่วนสุพรรณ ถือว่าสุโขทัยเป็นเครือญาติ เป็นบ้านพี่เมืองน้อง”

Advertisement

เมื่อเป็นญาติกัน การที่ประวัติศาสตร์ไทยบอกว่าสุโขทัยคือราชธานีแห่งแรก และอยุธยาเป็นแห่งที่ 2 ก็ผิด

นี่คืออีกประเด็นสำคัญ ที่หนังสือเล่มนี้นำเสนอข้อมูลน่าสนใจยิ่ง

“อยุธยามีมาก่อนสุโขทัย เพราะมาจากละโว้ กษัตริย์ละโว้ก็มาเป็นกษัตริย์อยุธยา เพียงแต่ย้ายศูนย์กลาง เพราะฉะนั้นอยุธยาเป็นคนหนุนให้เกิดสุโขทัย สุโขทัยกับสุพรรณเป็นพี่น้องกัน แง่พูดภาษาตระกูลไทด้วยกัน ส่วนละโว้กับอยุธยาพูดเขมร สุพรรณเป็นญาติกับนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นอีกรัฐหนึ่ง ปัตตานีอยู่ใต้สุด แล้วพ่อขุนรามคำแหง จะมีอำนาจถึงปัตตานี สุดแหลมมลายูได้อย่างไร กองทัพในอดีตใช้ประเด็นที่ว่าปัตตานีมาอาศัยแผ่นดินไทย จึงมีปัญหาเลอะเทอะในทางประวัติศาสตร์ นั่นเพราะประวัติศาสตร์ชาตินิยมสุดโต่ง แบบอาณานิคม” สุจิตต์กล่าว และยังบอกว่า นี่สิ่งมหัศจรรย์ทางวิชาการ เป็นผลงานที่มีความก้าวหน้าเป็นสากล โดยก่อนที่จะมีหนังสือเล่มนี้เกิดขึ้น วิธีคิดเดิมในกรมศิลปากร ยังเป็นแบบอาณานิคมมาตลอด พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ เป็นคนเอาหลักฐานทั้งหมดทางโบราณคดีมาอธิบายใหม่ ตีความใหม่ ว่าเป็นเรื่องของศาสนาการเมือง โครงสร้างในระบบการเมืองแบบเครือญาติ ทำให้เห็นภาพรวมระหว่างสุโขทัย ละโว้ สุพรรณ อยุธยา

Advertisement
บรรยากาศเสวนา “สุโขทัยเมืองพระร่วง : คุณูปการของหนังสือประวัติศาสตร์โบราณคดีไทบ” ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร เมื่อเร็วๆ นี้ สุจิตต์ วงษ์เทศ ร่วมวิพากษ์อย่างเข้มข้น

รับได้ไหม? หากสุโขทัยคือ ‘หัวเมืองเหนือ’ ของอยุธยา

สุจิตต์ปูทางมาขนาดนี้ ต้องผายมือไปที่ผู้เขียน อย่าง พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ ซึ่งอธิบายอย่างลงลึกในประเด็นความเป็นเครือญาติระหว่าง 2 รัฐ ความตอนหนึ่งปรากฏในหนังสือเล่มดังกล่าวว่า

“พระมหาธรรมราชาไสลือไททรงปกครองแคว้นสุโขทัยในฐานะเป็นเจ้านายในราชนิกูลและยอมรับในอำนาจของกรุงศรีอยุธยา ต่อมาไม่นาน พระองค์ก็ได้สวรรคตลง

พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาได้กล่าวว่า ใน พ.ศ.1962 พระมหาธรรมราชาธิราชเจ้านฤพาน เมืองเหนือทั้งปวงเป็นจลาจล สมเด็จพระนครินทราธิราชต้องเสด็จขึ้นมาถึงเมืองพระบาง (คือเมืองนครสวรรค์) เพื่อระงับข้อพิพาทต่างๆ ครั้งนั้นพระยาบาลเมือง และพระยารามเชื้อสายของแคว้นสุโขทัยต้องลงมาเข้าเฝ้า

เรื่องการจลาจลไม่สงบในแคว้นสุโขทัยครั้งนี้ แต่เดิมเข้าใจกันโดยอัตโนมัติตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์และแนวคิดที่มีอยู่เดิมว่าน่าจะเป็นเรื่องการแย่งชิงอำนาจกันเองระหว่างพระยาบาลเมืองกับพระยาราม

บุคคลทั้งสองนี้ปัจจุบันสามารถประมวลจากหลักฐานที่เป็นศิลาจารึกของสุโขทัยได้ว่าพระยาบาลเมืองคือเชื้อสายราชวงศ์สุโขทัยที่สืบตระกูลอยู่ที่เมืองสรลวงสองแคว (ภายหลังคือเมืองพิษณุโลก) ในขณะที่พระยารามคือเชื้อสายที่สืบตระกูลกันมาที่เมืองสุโขทัย” พิเศษ กล่าว และอธิบายต่อไปว่า อย่างไรก็ตาม เมื่อได้มีการพิจารณาหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่มีอยู่กันใหม่อย่างถี่ถ้วนระมัดระวังยิ่งขึ้น ก็จะพบหลักฐานที่สำคัญอย่างหนึ่งว่า ขณะนั้นเจ้าสามพระยาโอรสของสมเด็จพระนครินทราธิราชกษัตริย์กรุงศรีอยุธยาพร้อมพระราชมารดาผู้เป็นเจ้าหญิงในราชวงศ์สุโขทัย มีนิวาสสถานอยู่ที่เมืองพิษณุโลกด้วย โดยที่ในขณะนั้นมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “เมืองชัยนาท”

ดังนั้น การจลาจลที่มีขึ้นที่เมืองเหนือในครั้งนี้ จึงน่าจะเป็นความขัดแย้งกันระหว่างฝ่ายเจ้าสามพระยาโอรสของกษัตริย์อยุธยากับเจ้าเมืองผู้เป็นญาติพี่น้องทางฝ่ายมารดาของพระองค์ คือพระยาบาลเมืองและพระยาราม และ/หรือกับเจ้าเมืองเหนือคนอื่นๆ อีกก็น่าจะเป็นได้ พิเศษ ระบุ ก่อนอธิบายต่อไปว่า ด้วยนัยนี้ เจ้าสามพระยาผู้ภายหลังได้เสวยราชสมบัติกรุงศรีอยุธยาองค์ต่อมาก็คือ เจ้าชายอยุธยาผู้มีพระราชมารดาสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพระมหาธรรมราชา “ผู้นฤพาน” อย่างแน่นอน (เป็นพี่น้องกัน) และหลังจากนั้นต่อมา ช่วงระยะเวลาหนึ่ง ก็พบว่าเมืองพิษณุโลกได้กลายเป็นเมืองของรัชทายาทผู้ที่จะก้าวขึ้นสู่ราชบัลลังก์กรุงศรีอยุธยาเป็นพระองค์ต่อไป เหมือนดังเช่นสมเด็จเจ้าสามพระยาด้วย ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา เมืองสุโขทัยในฐานะเป็นศูนย์กลางของบ้านเมืองในดินแดนกลุ่มเมืองเหนือ ทั้งในช่วงระยะเวลาการมีอำนาจปกครองตนเองโดยอิสระ และในช่วงเวลาการผนวกเข้าเป็นหัวเมืองเหนือ โดยยอมรับอำนาจจากกรุงศรีอยุธยาก็ได้ถึงเวลาสิ้นสุดลง

“ในช่วงเวลาที่ดินแดนสุโขทัยได้รับการผนวกเข้ากับราชอาณาจักรอยุธยาตอนแรกๆ บางครั้งมีศูนย์รวมอำนาจอยู่ที่เมืองสรลวงสองแควหรือเมืองพิษณุโลกและขึ้นต่อกรุงศรีอยุธยาอีกทีหนึ่ง บางครั้งกรุงศรีอยุธยาก็ดึงอำนาจไว้ที่ศูนย์กลางที่กรุงศรีอยุธยาเพียงแห่งเดียว จนกระทั่งถึงสมัยสมเด็จพระมหาธรรมราชาแห่งเมืองพิษณุโลกได้ขึ้นครองราชย์ที่กรุงศรีอยุธยาในสมัยที่เสียกรุงศรีอยุธยาแก่พม่าครั้งที่ 1 แล้ว ความคิดเกี่ยวกับการเป็นกลุ่มเมืองที่มีศูนย์กลางปกครองกันเองโดยอิสระอีกแห่งหนึ่งได้หมดสิ้นไปอย่างแน่นอนจากผู้นำของบ้านเมืองในแว่นแคว้นสุโขทัย

ผู้ครองเมืองสุโขทัยและเมืองอื่นๆ ในแว่นแคว้น แม้จะได้ชื่อว่าเป็นเจ้าเมือง ก็มีลักษณะเป็นข้าราชการเมืองเหนือของกรุงศรีอยุธยาอย่างชัดเจน” พิเศษยืนยันหนักแน่น

สุโขทัยคือ ‘อุดมคติ’ แต่ไม่ใช่ ‘ราชธานีแห่งแรก’

พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ ยังระบุด้วยว่า ช่วงระยะเวลาประมาณ 200 ปีเศษของประวัติศาสตร์การเป็นแคว้นสุโขทัยได้ชี้ให้เห็นถึงความพยายามของผู้นำแคว้นที่จะสร้างเสริมการเป็นศูนย์อำนาจเดิม คือราชอาณาจักรขอมกัมพูชาและราชอาณาจักรพุกาม

“แม้ว่าความพยายามนั้นจะไม่พบความสำเร็จในด้านหนึ่ง คือ ด้านอำนาจทางการเมืองการปกครอง แต่อีกด้านหนึ่งที่ได้ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก คือการปูพื้นฐานทางด้านวัฒนธรรมไทยโดยส่วนรวมที่สืบทอดมาถึงปัจจุบัน” พิเศษ กล่าวชัดเจน พร้อมมีข้อความสำคัญทิ้งท้ายเชื่อมโยงความเป็นมาเป็นไปจากหน้าหนึ่งของประวัติศาสตร์ สู่ความทรงจำร่วมของคนไทยในปัจจุบันที่ว่า ความเป็นธรรมราชาได้กลายเป็นอุดมคติสำหรับผู้นำของคนไทยมาทุกยุคสมัยและเช่นเดียวกันกับที่ปรากฏในประวัติศาสตร์ของสุโขทัย เมืองสุโขทัยคือเมืองในอุดมคติที่มนุษย์ได้เคยตั้งความหวังไว้สำหรับสันติสุขที่อาจใฝ่หาได้ในพื้นพิภพ

กลับมาที่ สุจิตต์ เจ้าเก่า ที่เสริมประเด็นดังกล่าวของ พิเศษ ว่า ประวัติศาสตร์ไทยถูกเสกสรรปั้นแต่งโดยคนรุ่นก่อนๆ ให้เป็น “เส้นตรง” คือจากเหนือลงใต้ จากบนลงล่าง จากภูเขาอัลไตมาน่านเจ้า สุโขทัย อยุธยา ธนบุรี รัตนโกสินทร์

“นั่นเป็นวิธีคิดแบบประวัติศาสตร์อำนาจนิยม คืออารยัน หรือความเจริญต้องมาจากทิศเหนือ ซึ่งอาจารย์พิเศษไม่รับตรงนั้น อย่างที่ผมกล่าวไปแล้วว่า เมื่อมีประเด็นเรื่องการเป็นเครือญาติกัน การที่ประวัติศาสตร์ไทยบอกว่าสุโขทัยคือราชธานีแห่งแรก ก็ผิด แถมอยุธยายังหนุนให้เกิดสุโขทัยด้วยซ้ำ” คอลัมนิสต์ชื่อดังเล่าอย่างมีอารมณ์ร่วม พร้อมลั่นวาจาว่าตนขอเชียร์หนังสือเล่มนี้อย่างสุดลิ่มทิ่มประตู ใครยังไม่มีต้องรีบหาซื้อ

ผลงานอมตะ ตีความพ้นพรมแดน ‘ประวัติศาสตร์ศิลปะ’

สุโขทัยเมืองพระร่วง ได้รับการยกย่องเป็นผลงานอมตะเล่มหนึ่งของวงการประวัติศาสตร์โบราณคดี โดยถูกใช้งานอ้างอิงอย่างต่อเนื่องยาวนาน นับแต่การตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อกว่า 3 ทศวรรษที่แล้ว ครั้นพบหลักฐานใหม่ๆ พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ ก็สะสมข้อมูล สั่งสมประสบการณ์ ตีความอย่างใจกว้าง และ “ก้าวหน้า” ไม่ติดเพดานหรือพรมแดนด้านประวัติศาสตร์ศิลปะ ทั้งที่เป็นผู้ใช้หลักฐานด้านศิลปะของวัดวาอาราม สถูปเจดีย์ และพระพุทธรูปอันงดงามเป็นจำนวนมาก แต่ไม่ใช้ในการ “ฟันธง” ทางประวัติศาสตร์ อย่างที่หลายๆ ครั้งหลักฐานด้านดังกล่าวถูกใช้ไปในลักษณะเช่นนั้น

สุจิตต์ยังย้อนบอกเล่าความสัมพันธ์ในอดีตระหว่างเจ้าตัวกับผู้ทรงคุณวุฒิกรมศิลปากรท่านนี้ว่าเป็น “รุ่นพี่รุ่นน้อง” กันเมื่อครั้งเป็นนักศึกษาคณะโบราณคดี รั้ววังท่าพระ

“สมัยที่ผมเข้าเรียนคณะโบราณคดี ม.ศิลปากร อาจารย์พิเศษเป็นรุ่นพี่ผมหนึ่งปี ยุคนั้นใช้ประวัติศาสตร์ศิลปะเป็นตัวชี้ขาดประวัติศาสตร์ไทย เถียงไม่ได้ เลยแบ่งยุคสมัยเหมือนขนมชั้น ทวารวดี สุโขทัย อยุธยา ธนบุรี รัตนโกสินทร์ แต่ชีวิตคนเป็นอย่างนั้นเมื่อไหร่เล่า

งานอาจารย์พิเศษอยู่เหนือกรอบประวัติศาสตร์ศิลปะแบบอาณานิคมและแบบชาตินิยม โดยไม่ทิ้งหลักฐานไป อาจารย์พูดเรื่องพระพุทธรูปทั้งวันทั้งคืนไม่จบ จนผมก็รับไม่ไหว ขี้เกียจฟัง (หัวเราะ) แต่การอธิบาย ตีความเป็นอีกเรื่อง หลักฐานประวัติศาสตร์ศิลปะไม่ใช่ไม่สำคัญ แต่ไม่ใช่เอามานำหน้า เรื่องที่ต้องนำหน้าคือเศรษฐกิจ การเมือง เรื่องของคน”

ก้าวหน้าในดง ‘อนุรักษนิยม’ นำโบราณคดีไทยสู่สากล

พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ ไม่เพียงเป็นนักวิชาการที่มีความสามารถสูงโดยได้รับการยอมรับจากแวดวงทั้งในประเทศ และต่างประเทศ หากแต่ยังเป็นหนึ่งในผู้อยู่เบื้องหลังของการร่วมเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์ไทยที่ขับเคลื่อนโดยภาคประชาชนตามความตั้งใจของ สุจิตต์ วงษ์เทศ ผู้ก่อตั้งนิตยสารศิลปวัฒนธรรมเมื่อ พ.ศ.2522 ท่ามกลางเสียงอวยพรอย่างห่วงใยว่า (ไม่ต้อง) สงสัย “เจ๊งแน่!”

“ตอนนั้นมีคนเยาะเย้ย ถากถาง ด่าทอ ว่าเจ๊งแน่ เอ้า! จะไปยากอะไร เจ๊งก็ทำใหม่ ถามว่าแล้วทำไปทำไม ตอบว่า ก็จะด่ารัฐบาลไทย ด่ากรมศิลป์โกหกประชาชนว่าสุโขทัยเป็นราชธานีแห่งแรก ที่เล่าเรื่องนี้ เพราะผมได้พึ่งอาจารย์พิเศษตั้งแต่แรก โดยขอบทความที่ท่านเขียนลงที่อื่นมาก่อนแล้ว เช่น นิตยสารศิลปากร และเมืองโบราณ ท่านก็ให้ และในที่สุดพิมพ์รวมบทความชื่อ ศาสนาและการเมืองกรุงสุโขทัย พิมพ์ครั้ง 2528 ขายดีฉิบหาย กองเหลือที่บ้าน ไม่มีคนซื้อ กระทั่งเพื่อนมาขอไปเป็นหนังสืองานศพพ่อ

ต่อมา บรรยากาศการถกเถียงทางวิชการมีมากขึ้น คนตั้งคำถามกับกรุงสุโขทัยมากขึ้น ผมเลยเอามาปรุงใหม่ ตั้งชื่อใหม่เป็นศาสนาและการเมืองในประวัติศาสตร์สุโขทัย อยุธยา มติชนพิมพ์วางตลาดเดือนมิถุนายน 2545 ขายเรียบหมด แล้วพิมพ์ครั้งที่ 2 ในเดือนพฤศจิกายน ปีเดียวกัน เป็นที่ยอมรับในกลุ่มนักวิชาการไทยและต่างประเทศ ปกติหนังสือแบบนี้ 10 ปียังขายไม่หมด มันแสดงให้เห็นความตื่นตัวของความรู้ที่ต้องการหลักฐาน ความจริงและการอธิบายใหม่ๆ”

สุจิตต์ยังบอกว่า พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ คือนักวิชาการ “ระดับท็อป” ของไทยตั้งแต่บัดนั้น บัดนี้และอนาคต

“ผมว่างานของอาจารย์พิเศษเป็นงานคลาสสิกทางวิชาการไปแล้ว เรื่องสำคัญคือประเด็นศาสนา การเมืองและแนวคิดในระบบเครือญาติ รายละเอียดซับซ้อนมีมากอยู่ในหนังสือเกือบทุกเล่มของท่าน”

พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ จึงนับเป็นผู้มีคุณูปการสำคัญยิ่งต่อวงการโบราณคดีที่ควรได้รับมากกว่าตำแหน่ง รางวัลและเสียงปรบมือ หากแต่การเผยแพร่ผลงานของบุคคลผู้นี้ คือการสร้างประโยชน์มหาศาลในความเข้าใจประวัติศาสตร์ไทยผ่านหลักฐาน ก้าวผ่านอคติ และความเป็นชาติในแบบที่กีดกันผู้อื่นให้พ้นพรมแดนที่ขีดเส้นขึ้นมาเอง


 

ภาพปกหนังสือผลงานชุมนุมศึกษาวัฒนธรรม-โบราณคดีที่ ‘พิเศษ เจียจันทร์พงษ์’ เป็นประธานคนแรก

กล่าวกันว่า ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ย่อมมีประวัติศาสตร์ของตัวเอง แม้แต่ประวัติศาสตร์ของประวัติศาสตร์ ประวัติศาสตร์ของโบราณคดี รวมถึงประวัติศาสตร์ชีวิตของนักประวัติศาสตร์โบราณคดี ดังเช่น พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ เจ้าของผลงานอมตะที่เพิ่งพิมพ์ซ้ำอย่างภาคภูมิ “สุโขทัยเมืองพระร่วง”

พิเศษ เป็นชาวอุตรดิตถ์ เข้าศึกษา ณ ตึกพรรณราย คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร เป็น “รุ่นพี่” ที่คุ้นเคยของ สองกุมารสยาม ขรรค์ชัย บุนปาน หัวเรือใหญ่ค่ายมติชน และสุจิตต์ วงษ์เทศ ผู้ก่อตั้งนิตยสารศิลปวัฒนธรรม

ในยุคนั้น นอกจากพบเห็น พิเศษ ได้ตามแหล่งโบราณสถานและหลุมขุดค้น ยังได้ชื่อว่าเป็นหนุ่มหล่อเปี่ยมเสน่ห์ เป่าแซกโซโฟนได้อย่างไพเราะชวนหลงใหล ทั้งยังเป็นนักกิจกรรมทางวิชาการตัวยง นั่งเก้าอี้ประธานคนแรกของ ชุมนุมศึกษาวัฒนธรรม-โบราณคดี อันเป็นแหล่งรวมนักศึกษาผู้สนใจในเรื่องราวสไตล์เดียวกัน โดยใช้เวลาว่างในการสำรวจแหล่งอารยธรรมในประเทศไทยแบบไม่ได้ทำกัน “เล่นๆ” แต่ตีพิมพ์ผลงานของชุมนุมอย่างจริงจัง อีกทั้งจัดอภิปรายทางวิชาการ อาทิ “ลุ่มน้ำเจ้าพระยาในสมัยโบราณ” เมื่อ อาทิตย์ที่ 6 มีนาคม พ.ศ.2509 ณ ท้องพระโรงวังท่าพระ

เมื่อเรียนจบ เข้ารับราชการสังกัดกรมศิลปากร มีความก้าวหน้าในหน้าที่การงานตามลำดับ โดยเป็นที่ยอมรับในความรู้ความสามารถ เผยแพร่ผลงานเป็นที่ประจักษ์ อาทิ ตำนาน, ฟื้นฝอยหาตะเข็บ, พระสุริโยทัย เป็นใคร ? มาจากไหน ?, ศาสนาและการเมืองในประวัติศาสตร์สุโขทัย-อยุธยา, หาพระหาเจ้า, เมืองราดของพ่อขุนผาเมืองกรุงสุโขทัยและรอยเชื่อมในประวัติศาสตร์ไทย เป็นต้น

เป็นผู้อธิบายความอย่างย้ำชัดว่า “พระร่วง” ที่ไปเมืองจีน จนได้ความรู้เรื่อง “สังคโลก” ไม่ใช่พ่อขุนรามคำแหงอย่างที่เคยเชื่อกัน หากแต่เป็น “เจ้านครอินทร์” ผู้มีสิทธิธรรมทางการเมืองด้วยเชื้อสายมารดาชาวสุโขทัย

10 กุมภาพันธ์ 2542 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติให้แต่งตั้ง พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ ดำรงตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน โบราณคดี (โบราณคดีและพิพิธภัณฑ์) กรมศิลปากร

จากวันนั้น จนถึงวินาทีนี้ เจ้าตัวยังคงค้นคว้าอย่างไม่หยุดยั้ง ยังขยันตั้งคำถามและหาคำตอบ ราวกับว่ายังเป็นนักโบราณคดีหนุ่มไฟแรง แม้เป็น “รุ่นใหญ่” ในวงการ ทว่าเปิดใจรับฟังความเห็นของนักวิชาการรุ่นใหม่อย่างไม่ดูแคลน

หากลิสต์รายนามผู้มีคุณูปการในประวัติศาสตร์ไทยภายใต้ร่มเงากรมศิลปากร แน่นอน ย่อมมี พิเศษ เจียร์จันทร์พงษ์ เป็นหนึ่งในนั้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image