‘ศิลปศาสตร์’ ไม่เคยตาย! คำต่อคำ ‘ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ’ 72 ปี กับประวัติศาสตร์ไทยในเหวลึก

“ที่บ้านบอกว่า นับดูแล้วยังไม่ถึง ปีหน้าถึงจะ 72 ทีมงานบอกว่าทำก่อนก็ไม่เป็นไร”

ศ.ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ อดีตคณบดีคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) คว้าไมค์กล่าวขำๆ ก่อนจะเริ่มปาฐกถาในหัวข้อ ประวัติศาสตร์สอนอะไร : ข้อคิดจากประวัติศาสตร์สหรัฐอเมริกาและไทย เนื่องในวันสถาปนาคณะศิลปศาสตร์ มธ. และวาระ “72 ปี ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ” จัดขึ้นเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา

วันนั้น ศ.ดร.ธเนศย้อนเล่าความสำคัญของเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ซึ่งเป็นการปฏิวัติครั้งสำคัญในประเทศไทย และเป็นครั้งที่ “คนข้างล่าง” จำนวนมากเข้าร่วมผลักดันสิ่งต่างๆ ทำให้บรรยากาศทางการเมืองและสังคมเปลี่ยนไป

สั่นสะเทือนถึง “วิชาประวัติศาสตร์” ที่ต้องแบกรับคำถามของคนในสังคมที่มีต่อปัญหาและอนาคตการเมือง จน “ประวัติศาสตร์” กลายเป็นวิชาเรียนอันดับหนึ่งช่วงปี 2516-2519 มีจำนวนผู้ศึกษาเพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจ

Advertisement

ไม่เพียงเท่านั้น เพราะ 14 ตุลาฯ ยังทำให้การเขียนประวัติศาสตร์ไทยครั้งแรกเขียนด้วยหลายกระแส ไม่ว่าจะซ้าย ขวา หน้า หรือหลัง ทั้งยังตอบโต้และเกิดวิวาทะที่ทำให้รู้ว่าแต่ละฝ่ายคิดอย่างไร ทว่าก็เป็นการวิวาทะกันอย่างฉันมิตร

ศ.ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ

อดีตคณบดีฯไล่เรียงเหตุการณ์สำคัญต่างๆ กระทั่งถึงจุดพลิกผันหนึ่งในชีวิต เมื่อสถานการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ทำให้เขาทำงานที่ไทยต่อไปไม่ได้ ประกอบกับมีผู้หวังดีแนะนำให้ไปเรียนปริญญาเอกต่อที่สหรัฐอเมริกา โดยมี “เบน แอนเดอร์สัน” อาจารย์ของมหาวิทยาลัยคอร์เนล ติดต่อให้ไปศึกษาที่นั่น

แต่แล้วก็เกิดเหตุการณ์ที่ทำให้อาจารย์เบนต้องปฏิเสธรับคนไทยรายนี้เข้าเรียน พร้อมกับฝากไว้กับศาสตราจารย์ยูจีน เยโนเวซี นักประวัติศาสตร์อเมริกันผู้เชี่ยวชาญด้านระบบทาสผิวดำ และเป็นนักลัทธิมาร์กซ์ กระทั่ง ศ.ดร.ธเนศได้ศึกษาประวัติศาสตร์อเมริกาจนแตกฉาน

Advertisement

ย้อนดู ‘ประวัติศาสตร์อเมริกา’ สอนอะไรคนทั้งโลก?

ประวัติศาสตร์อเมริกาจะสอนอะไรได้บ้าง? ศ.ดร.ธเนศสรุปไว้ 3 ข้อ

หนึ่ง เจ้าของประวัติศาสตร์คือ คนส่วนใหญ่ ด้วยสังคมอเมริกาเริ่มจากคนข้างล่างและกลาง หลักฐานที่มีคือหลักฐานของคนธรรมดาทั้งสิ้น จึงกล่าวได้ว่าเป็นประวัติศาสตร์ของประชาชน 100 เปอร์เซ็นต์

“อุดมการณ์และอำนาจอันชอบธรรมเป็นของประชาชน เรื่องนี้จบตั้งแต่วันแรกที่มาตั้งอาณานิคม โดยชาวบ้านเป็นผู้ตั้งและออกกฎปกครองกันเอง ภายหลังอังกฤษมาปกครองก็เฉพาะส่วนกลาง ทั้งนี้ ข้อค้นพบที่ผมคิดว่าใหญ่มากคือ อเมริกาปกครองตนเองหรือท้องถิ่นก่อนที่อำนาจรัฐส่วนกลางหรือรัฐบาลกลางจะเกิด แต่ ‘ประวัติศาสตร์ไทย’ นั้น รัฐเกิดก่อนแล้วจึงเกิดหมู่บ้าน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ดังนั้น การกระจายอำนาจจึงยาก เหมือนเข็นครกขึ้นภูเขา แต่ของอเมริกาอำนาจส่วนกลางต้องวิ่งลงมา ทำให้ประชาธิปไตยไทยและอเมริกาเดินสวนทางกันตั้งแต่วันแรก” ศ.ดร.ธเนศกล่าว ก่อนจะบอกถึง ข้อสอง

“ประวัติศาสตร์เป็นพื้นที่กลางของการเรียนรู้ และสร้างสำนึกร่วมกันของความเป็นปัจเจกบุคคลและชุมชน หรือศัพท์สมัยใหม่เรียกว่า ‘การสร้างอัตลักษณ์’ ทันทีที่ประวัติศาสตร์อเมริกาถูกเผยแพร่ ถูกผลิตซ้ำขึ้นมา มันค่อยๆ กลายเป็นพื้นที่กลางให้คนทุกกลุ่มที่อยู่ในสังคมเข้ามาค้นหาความเป็นตัวของตัวเอง เช่น เขาเป็นใคร มาจากไหน จะไปทางใดได้บ้าง ข้อนี้ชัดมากหากเทียบกับประวัติศาสตร์ไทย

“และ สาม คือทุกสังคมมีความขัดแย้ง แม้แต่ในสังคมที่เริ่มกันอย่างเสมอหน้าก็ยังมีอะไรให้ทะเลาะกันอีก เช่น ปัญหา Racism การเหยียดผิวและเหยียดเชื้อชาติ”

เหวลึกของประวัติศาสตร์ไทย ยิ่งชำระ ยิ่งไม่โต?

สำหรับ ประวัติศาสตร์ไทย ในสายตา ศ.ดร.ธเนศนั้น เจ้าตัวบอกว่าเหมือน เหวลึก ที่ไม่รู้ว่าก้นบึ้งอยู่ตรงไหน ที่สำคัญยัง “ตรงข้าม” กับประวัติศาสตร์อเมริกาอย่างสิ้นเชิง

เขาบอกว่า ในตำราประวัติศาสตร์ไทย เรารู้ว่าใครเป็นเจ้าของประวัติศาสตร์ เขียนเพราะอะไร มีเป้าหมายอย่างไร โดยไม่ต้องเสียเวลาถกเถียงในเรื่องเหล่านี้ ที่สำคัญคือมีการชำระประวัติศาสตร์อย่างจริงจัง เสมือนไม่ต้องการให้แปดเปื้อน

นอกจากนี้ประวัติศาสตร์ไทยยังเป็นพื้นที่ หวงห้าม ไม่เปิดให้คนเข้าไปถกเถียง หาอัตลักษณ์ หรือตัวตนต่างๆ ได้ง่ายๆ

“ที่กล่าวว่าเป็นหุบเหวคือ หากเริ่มจากกรมพระยาดำรงราชานุภาพ จะพบว่ากระแสหลักไม่เคยถูกเปลี่ยน เคยถูกท้าทายด้วยฝ่ายซ้ายหรือโฉมหน้าศักดินาไทยนิดหน่อย มีผลกระทบบ้าง แต่ไม่กระเทือนถึงขั้นเปลี่ยนแปลง ดังนั้น นี่เป็นประวัติศาสตร์กระแสหลักที่คงทนมาก หรืออาจคงทนมากที่สุดในโลก

“ผมสงสัยว่าทำไมไม่มีคนเขียนประวัติศาสตร์ไทยฉบับง่ายๆ ลึก และมีความหมาย เดาว่าคำตอบคือเพราะหลายสิบปีที่ผ่านมาพวกสมมุติฐานการเขียนประวัติศาสตร์กระแสหลัก หรือแบบกรมพระยาดำรงฯ ไม่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ ไม่มีการแลกเปลี่ยน ต่อยอด เสริมสร้าง นอกจากนั้นยังมี การชำระประวัติศาสตร์ ตั้งแต่ต้นรัตนโกสินทร์ ที่มีพงศาวดารไทยสมัยฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ก็มีการเรียกไปชำระประวัติศาสตร์ให้ตรงตามคติชนชั้นนำรัตนโกสินทร์รับได้ แม้แต่กรมพระยาดำรงฯก็ชำระพระราชพงศาวดารรัชกาลที่ 1 ที่เจ้าพระยาทิพากรวงศ์เขียน

พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1 โดยเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ ทรงตรวจชำระโดยสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ (ภาพจากเว็บไซต์ห้องสมุดดิจิทัลวชิรญาณ)

“สมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ก็ตั้งกรรมการชำระประวัติศาสตร์อย่างจริงจัง สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี ดังนั้น หากเราชำระประวัติศาสตร์แปลว่า ประวัติศาสตร์ไม่โต สกปรกไม่ได้ ไม่มีใครมาทำให้แปดเปื้อน แต่ประวัติศาสตร์ต้องเปื้อนมันจะได้โต เหมือนเด็กที่คุณไม่ยอมให้เขาเล่นทราย เอาแต่อาบน้ำ อยู่ในห้องแอร์ เด็กจะเติบโตและมีสติปัญญาได้อย่างไร? ฉะนั้น ประวัติศาสตร์ไทยคือประวัติศาสตร์ในห้องไอซียู มันน่ากลัวมาก เหมือนเป็นเหวลึก แต่คนไม่เข้าใจ กลับไปดีใจว่าประวัติศาสตร์เราครบถ้วน อธิบายดีทุกอย่างตั้งแต่ต้นจนจบ และยังอธิบายต่อไปถึงข้างหน้าได้”

ท้ายที่สุดแล้ว อดีตคณบดีฯสะท้อนว่า ประวัติศาสตร์ไทยไม่ใช่การสอนบทเรียน แต่เป็นการซึมซับและตระหนักถึงความจริงในประวัติศาสตร์ ประวัติศาสตร์สมัยใหม่เน้นความเป็นจริงว่าคืออะไร ซึ่ง “ความจริง” เพียงอย่างเดียวที่ทำให้เกิดการเรียนรู้ โดยเฉพาะในความเปลี่ยนแปลงทำให้พบว่าประวัติศาสตร์ไม่ได้หยุด หากหยุดนิ่ง แช่แข็ง ก็จบ ไม่เพียงเท่านั้น เพราะต้องไม่ทำให้ทรรศนะทางประวัติศาสตร์เป็นสำนักเดียว ต้องเปิดให้มีการวิพากษ์และโต้เถียง หากรัฐหรือผู้ที่มีความชอบธรรมพูดแล้ว อิงประวัติศาสตร์แล้วก็จบ เถียงไม่ได้ และไม่เป็นผลดีของการสร้างและมีประวัติศาสตร์

“ประวัติศาสตร์เริ่มจากการมีหลักฐาน มีข้อมูล แต่จะไม่เกิดเป็นประวัติศาสตร์ถ้าไม่มีคนเอามาเรียบเรียง พรรณนาสิ่งที่เล่าออกมา… ประวัติศาสตร์ต้องทำให้คนเขียนและคนอ่านรู้ว่าความจริงคืออะไร ไม่ใช่แค่รู้เพื่อเล่าแล้วเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ทำให้เป็นประวัติศาสตร์ที่สอนความเปลี่ยนแปลงที่ไม่เปลี่ยนแปลง”

ดังนั้น ถ้าคนเขียนและคนอ่านไม่รู้ว่าจริงๆ แล้วคืออะไร นี่คือเหวลึกของประวัติศาสตร์ไทย

เมื่อ ‘ศิลปศาสตร์’ ควรออกสู่สาธารณะ

ในวาระครบรอบ 57 ปี คณะศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ นอกจากจะมีปาฐกถาโดย ศ.ดร.ธเนศแล้ว ยังมีสัมมนาวิชาการ หัวข้อ ศิลปศาสตร์กับสาธารณะ โดยมีวิทยากรจากหลากหลายสถาบันการศึกษาร่วมพูดคุย

อ.ดร.เบญจรัตน์ แซ่ฉั่ว สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา ม.มหิดล กล่าวเป็นคนแรก พร้อมรับสารภาพว่า ไม่นานมานี้เพิ่งเข้าใจว่าศิลปศาสตร์ไม่ได้แปลว่าศิลปะ โดย Liberal Arts Education เป็นการศึกษาเกี่ยวกับเสรีภาพ เพื่อให้เป็นพลเมืองที่เสรีเพื่อสร้างสังคมที่เสรี ดังนั้น เป้าหมายของการศึกษาศิลปศาสตร์คือเพื่อสร้างมนุษย์เป็นเสรีและมีปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์อื่นๆ สำหรับทักษะการเป็นพลเมืองที่เสรี เช่น การคิดเองได้อย่างเสรี คิดได้อย่างวิพากษ์ ตั้งคำถามและแก้ไขปัญหาเป็น รวมทั้งการเข้าใจและการทำงานกับคนอื่นได้ ที่สำคัญคือการศึกษาเพื่อมีการสอนเรื่องระบบคุณค่าเพื่อเน้นความเท่าเทียม เป็นธรรม และเสรี

ถามว่าสังคมนี้ต้องการ Liberal Arts Education ไหม? อ.ดร.เบญจรัตน์ตอบเสียงดัง “จำเป็นมาก เพราะเราต้องการคนที่คิดเป็น”

“…เราต้องการคนตั้งคำถาม วิพากษ์ระบบที่ทำให้เกิดและหล่อเลี้ยงอำนาจที่ไม่เท่าเทียมสังคมนี้ วิพากษ์สิ่งที่เอื้อให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชน วิพากษ์สิ่งที่เรียกว่าวัฒนธรรมอันดีงามของไทยที่ทำให้คนไม่เท่าเทียม เชื่อว่าหาก Liberal Arts ทำงานได้อย่างเต็มที่ก็จะช่วยให้คนสามารถตั้งคำถามเหล่านี้ได้”

ขณะที่ รศ.ดร.ยุกติ มุกดาวิจิตร คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ม.ธรรมศาสตร์ เล่าเหตุการณ์สำคัญในชีวิตให้ฟังหลายเรื่อง อาทิ การลงพื้นที่ทำวิจัยด้านมานุษยวิทยาที่จังหวัดหนึ่งในประเทศเวียดนาม ก่อนจะถูกเจ้าหน้าที่ “ปฏิเสธ” พร้อมให้เหตุผลเป็นลายลักษณ์อักษรว่า จังหวัดดังกล่าวมีงานวิจัยด้านมานุษยวิทยาเยอะแล้ว ให้หาอ่านเอง รวมทั้งงานวิจัยส่วนใหญ่ที่ทำออกมาแล้วไม่เป็นประโยชน์กับชาวบ้าน หรือเหตุการณ์ที่อเมริกา ขณะไปศึกษาเล่าเรียนและกำลังจะกลับไทย ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ที่เคารพนับถือฝากว่า เมื่อกลับไปแล้วควรเร่งผลิตงานวิชาการ ทำวิจัย อย่าวอกแวกไปเรื่องการเมือง เพราะจะทำให้เสียเวลาและเสียความเป็นนักวิชาการ

หรือเหตุการณ์เมื่อไม่กี่ปีก่อนที่ รศ.ดร.ยุกติเล่าว่า เขาโดนปฏิเสธเข้ารับตำแหน่งรองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการในสถาบันทางวิชาการแห่งหนึ่ง เพียงเพราะ “จุดยืนทางการเมือง”

“ทั้ง 3 เรื่องนี้บอกว่า วิชาการกับการเข้าสู่สาธารณะมักจะถูกคาดหวังในรูปแบบต่างๆ เสมอ ไม่ว่าจะในบริบทของโลกหรือสังคม ทั้งนี้ ในโลกวิชาการสากลก็คาดหวังการทำงานที่ปลอดค่านิยมทางสังคม ย้อนกลับมาที่สถาบันทางวิชาการที่ปฏิเสธผม เชื่อว่าถูกปฏิเสธเพราะจุดยืนทางการเมืองมากกว่า สิ่งสำคัญกว่าจุดยืนคือเราไปสร้างข้อจำกัด หรือส่งผลกระทบต่อใครอย่างไรบ้างหรือไม่ โดยจุดยืนดังกล่าวหมายถึงอัตวิสัย การคิดถึงอัตวิสัยน่าจะทำให้ศาสตร์ใดๆ ก็ตาม ไม่ว่าจะสังคมศาสตร์หรือวิทยาศาสตร์หนีไม่พ้นกับพลังของมนุษยศาสตร์ที่ให้ความสำคัญของอัตวิสัย”

จากซ้าย รศ.ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ คณะศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ดำเนินรายการ, รศ.ดร.ยุกติ มุกดาวิจิตร, อ.ดร.เบญจรัตน์ แซ่ฉั่ว และ อ.ดร.ธนาวิ โชติประดิษฐ

ก่อนจะจบด้วย อ.ดร.ธนาวิ โชติประดิษฐ คณะโบราณคดี ม.ศิลปากร ที่ระบุว่า ศิลปศาสตร์หรือมนุษยศาสตร์กับสาธารณะคือโจทย์อมตะ และไม่ได้เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในไทยเท่านั้น เพราะไม่กี่ปีที่ผ่านมาก็ได้ยินว่าวิกฤตการณ์มนุษยศาสตร์เกิดขึ้นทั่วโลก ทว่าในไทยมีลักษณะเฉพาะเจาะจงลงไปในวิกฤตนี้ เพื่อตอบโจทย์อะไรบางอย่างที่มีอำนาจเหนือตัวเอง เช่น มหาวิทยาลัยที่สังกัด แหล่งทุน หรือนโยบายของรัฐบาลแต่ละยุคสมัย ซึ่งไม่ได้ตอบโจทย์ตัวเองตั้งแต่แรก

อาจารย์คณะโบราณฯชวนให้ขบคิดต่อว่า เมื่อตั้งโจทย์ขึ้นมาว่าความสัมพันธ์ระหว่างศิลปศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และสาธารณะควรจะต้องเป็นอย่างไร สิ่งที่มักจะเกิดขึ้นคือแทนที่จะไปมีปฏิสัมพันธ์กับสาธารณะได้อย่างไรบ้าง กลับถูกทำให้ง่ายขึ้น (Simplify) จนกลายเป็นช่องทางแคบๆ บางช่องทางถึงจะถูกนับว่ามีความสัมพันธ์กับสาธารณชน และสิ่งที่ทำให้เศร้าคือสถาบันการศึกษา สถาบันวิจัย แหล่งทุนต่างๆ กลับใช้โจทย์ดังกล่าวกำหนดกรอบการทำงานวิชาการ ทำให้มนุษยศาสตร์แคบลงกว่าเดิม

“ท้ายที่สุดแล้ว งานทางศิลปศาสตร์จำเป็นจะต้องยืนยันตัวเองถึงคุณค่าที่มีอยู่ ไม่ใช่ทำตัวเชื่อง เพราะองค์ความรู้จะพัฒนาต่อไปได้ก็ต่อเมื่อคุณเริ่มต้นจากการละเมิด ละเมิดเพื่อผลักขอบเขตของมันออกไป ไม่ใช่การทำตัวเชื่อฟังเพื่ออยู่ในนี้

“แล้วเราจะได้ประวัติศาสตร์แบบไอซียู ปลอดเชื้อ แล้วก็จะไม่ไปทางไหน…”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image