333 ปี เมื่อโกษาปานไปฝรั่งเศส

ภาพเหมือนครึ่งตัวโกษาปาน (ออกพระวิสุทธสุนทร) ราชทูต วาดโดยชอง ไฮเซลมาน (Jean Hainzelman) จิตรกรชาวเยอรมัน แต่มาพำนักในฝรั่งเศส ต้นฉบับเป็นสมบัติของหอสมุดแห่งชาติฝรั่งเศส

1 กันยายน พ.ศ.2229 หรือเมื่อ 333 ปีล่วงมาแล้ว ชาวสยามที่มีชื่อเสียงท่านหนึ่งเดินทางรอนแรมทางทะเลแรมเดือนเกือบครึ่งปี ทำหน้าที่เป็นผู้แทนองค์สมเด็จพระนารายณ์มหาราชแห่งกรุงศรีอยุธยา ไปเข้าเฝ้าพระเจ้าหลุยส์ที่ 1 แห่งประเทศฝรั่งเศส ณ ท้องพระโรงพระราชวังแวร์ซายส์ นับเป็นเกียรติภูมิที่ตราตรึงในประวัติศาสตร์การทูตไทยมาจนปัจจุบัน

ราชสำนักสยามกับฝรั่งเศสมีสัมพันธ์อันดีต่อกัน ได้แลกเปลี่ยนคณะทูตหลายครั้ง ทั้งในพระนครศรีอยุธยาเองเล่าก็เต็มไปด้วยบาทหลวงมิชชันนารีและพ่อค้าฝรั่งเศสที่เดินทางเข้ามาเติมความฝันของตนให้เป็นจริง แต่กว่าที่ โกษาปาน หรือ ออกพระวิสุทสุนทร จะได้รับเลือกไปยังฝรั่งเศสนั้น คงมีหลายเหตุปัจจัย แน่นอนว่าความรู้ความสามารถของโกษาปานเองก็เป็นคุณสมบัติที่สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงคัดเลือกผู้ที่จะทำงานต่างพระเนตรพระกรรณ แต่ก็คงมีการเมืองระหว่างประเทศเป็นเหตุผลแฝงอยู่บ้าง อย่างไรก็ดี เมื่อคณะทูตสยามเตรียมพร้อมแล้วก็ออกเดินทางจากปากน้ำพระยาในปลายปี พ.ศ.2228 และเดินทางไปถึงฝรั่งเศสในเดือนมิถุนายน 2229 พร้อมกับการต้อนรับอย่างยิ่งใหญ่สมเกียรติ

แผนที่เส้นทางของคณะทูตเดอ โชมองต์

เมื่อโกษาปานพำนักที่เมืองแบรสต์อยู่ช่วงระยะเวลาหนึ่ง มีผู้คนจำนวนมากเดินทางมาเยี่ยมเยียน พร้อมกับนำสิ่งของต่างๆ มาให้ จากนั้นจึงเดินทางต่อไปตามเมืองต่างๆ ด้วยขบวนรถม้าที่พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 โปรดให้จัดแต่งออกมารับ และมีพระราชบัญชาให้เจ้าเมืองต่างๆ ดูแลเรื่องที่พัก อาหาร ตลอดจนอำนวยความสะดวกต่างๆ ให้คณะราชทูตสยาม กระทั่งเข้าใกล้ปารีส เพื่อเตรียมการรอเข้าเฝ้าพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ณ พระราชวังแวร์ซายส์ ตามวันเวลาที่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ

คณะราชทูตโกษาปานเข้าเฝ้าถวายพระราชสาส์นพระนารายณ์ต่อพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ที่ท้องพระโรงพระราชวังแวร์ซายส์ เมื่อวันที่ 1 กันยายน ค.ศ. 1686 (พ.ศ. 2229) ภาพลายเส้นสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 17

1 กันยายน พ.ศ.2229 เป็นวันสำคัญยิ่งของประวัติศาสตร์การทูตและประวัติศาสตร์ไทย ขบวนราชทูตสยามอัญเชิญพระราชสาส์นขึ้นพระมณฑป ตั้งกระบวนแห่เข้าพระราชวังแวร์ซายส์อย่างยิ่งใหญ่ มีผู้คนมาเฝ้าชมราวกับเป็นงานมหกรรมที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน โกษาปานในฐานะราชทูต นำคณะชาวสยามเข้าเฝ้าพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ณ ท้องพระโรงกระจก พระราชวังแวร์ซายส์ เหตุการณ์อันยิ่งใหญ่นี้ได้รับเกียรติยศอย่างสูง มีแถวทหารเกียรติยศตั้งรับ พระบรมวงศ์ในราชสำนักฝรั่งเศสเข้าร่วมในพิธีถวายพระราชสาส์นด้วย

Advertisement
เอกสารลายมือของโกษาปาน

และโกษาปานก็ไม่ได้ทำให้ชาวสยามผิดหวัง เพราะด้วยท่าทีอันอ่อนน้อมถ่อมตน การให้ความเคารพอย่างสูงต่อพระมหากษัตริย์ คณะทูตสยามจึงคลานเข่าเข้าไปแทบเบื้องพระแท่นที่ประทับ และถวายบังคมตามแบบชาวสยาม ก่อนที่จะทูลเกล้าฯ ถวายพระราชสาส์นและเครื่องมงคลราชบรรณาการอื่นๆกระบวนแห่งพระราชสาส์นที่หน้าพระราชวังแวร์ซายส์

รูปหมู่คณะราชทูตสยาม ออกพระวิสุทธสุนทร ราชทูต ออกหลวงกัลยาณราชไมตรี (บางครั้งเรียกออกหลวงกัลยาราชไมตรี) อุปทูต และออกขุนศรีวิสารวาจา ตรีทูต ในมือของท่านราชทูตถือแผ่นกระดาษม้วนมีข้อความว่า “ทูลพระมหากษัตริย์” ซึ่งสมมุติให้หมายถึงพระราชสาส์นพระนารายณ์ทรงมีถึงพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แต่แท้จริงแล้วพระราชสาส์นตัวจริงจารบนแผ่นทองคำและพับไปมาคล้ายสมุดไทยบรรจุอยู่ในภาชนะทรงผอบต้นฉบับเป็นสมบัติของหอสมุดแห่งชาติฝรั่งเศส

พระราชานุกิจของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศสบันทึกเหตุการณ์ ณ วันที่ 1 กันยายน 2229 ไว้ว่า “คณะทั้งหมดเดินตัดผ่านห้องพระตำหนัก จนถึงพระทวารทางเข้าท้องพระโรง บรรดาขุนนางสยามเมื่อแลเห็นพระเจ้าแผ่นดินประทับอยู่แต่ไกลๆ บนพระโธรน ก็ถวายความเคารพโดยไม่ถอดลอมพอกออก พวกเขาประนมมือยกขึ้นในระดับปาก อันเป็นการแสดงความเคารพ แล้วก็โน้มตัวลงไปข้างหน้าอย่างต่ำที่สุด แล้วยกตัวขึ้นมาใหม่ ทำซ้ำ 3 หน จากนั้นค่อยขยับเข้าไปทีละน้อยจนใกล้ถึงพระโธรนที่ประทับ เมื่อถึงฐานล่างพวกเขาก็คุกเข่า และถวายบังคม 3 ครั้ง เฉพาะพระพักตร์ แล้วนั่งราบอยู่เช่นนั้นตลอดเวลาที่เข้าเฝ้า

ภาพครึ่งตัวโกษาปานนั่งบนบัลลังก์ว่าราชการ ต้นฉบับเป็นสมบัติของหอสมุดแห่งชาติฝรั่งเศส

ทูตท่านอื่นก็เช่นกัน คือเมื่อเห็นองค์พระเจ้าแผ่นดินแล้ว ก็ถวายบังคมแสดงความเคารพ 3 ครั้ง โดยประนมมือขึ้นเหนือศีรษะ พวกเขาคลานเข่า มือยังประสานกันอยู่ และค่อยๆ คืบคลานทีละน้อยด้วยท่าทีที่แสดงความเคารพสูงสุด จนกระทั่งพวกเขาได้มาหยุดอยู่ที่ฐานของพระโธรนที่ประทับ ซึ่งมี ดยุ๊ค เดอ ลา เฟยยาร์ด ดยุ๊ค เดอ ลุกซอมบูร์ก ซิเยอร์ เดอ แบลงนุยย์ เดอ แซงโต และ เดอ บอนเนยย์ ยืนคอยอยู่แล้ว ขณะที่พระเจ้าแผ่นดินประทับอยู่ที่พระราชอาสน์ ถอดพระมาลาเพื่อแสดงการต้อนรับคณะทูต พระเจ้ากรุงฝรั่งเศสประทับแวดล้อมด้วยมงเซนเยอร์ เลอ โดฟีน เมอซิเออร์ เดอ ชาร์เทรอะ เมอซิเออร์ เดอ ดุ๊ค เมอซิเออร์ เลอ ดุ๊ค เดอ บูร์บง เมอซิเออร์ เลอ ดุ๊ค ดูเมนส์ และเมอซิเออร์ เลอ กง เดอ ตูลูช

Advertisement
ภาพพิมพ์สมเด็จพระนารายณ์มหาราช โดย เป.แบร์ทร็องด์ (P.Bertrand) จิตรกรชาวฝรั่งเศส พิมพ์ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ในราว พ.ศ.2230 จะสังเกตเห็นพระราชนิยมเปอร์เซียที่ปรากฏในฉลองพระองค์ เช่น ผ้าโพกพระเศียร เป็นต้น

หัวหน้าคณะทูต (ราชทูต) ซึ่งยังคงอยู่ตรงกลางขบวนและยังคงประนมมืออยู่ระหว่างหน้าผาก ได้ถวายบังคมพระเจ้าแผ่นดิน อุปทูตและตรีทูต ทั้ง 2 ก็ถวายบังคมด้วยกิริยาอย่างเดียวกันนั้นต่อหน้าพระพักตร์

เมื่อราชทูตกราบบังคมทูลจบ บาทหลวง เดอ ลิยอนน์ ซึ่งเรียนภาษาสยามจากบ้านพักของคณะมิชชันนารีในเมืองสยามมาก่อน ก็คลานเข้าไปใกล้พระเจ้าอยู่หัว เพื่อแปลคำกราบบังคมทูลของราชทูตให้ทรงทราบ และพระเจ้าแผ่นดินก็มีพระราชดำรัสตอบด้วยถ้อยคำอันซาบซึ้งกินใจ เมื่อบาทหลวง เดอ ลิยอนน์ รับกระแสพระราชดำรัสตอบจากพระเจ้าอยู่หัวแล้ว คณะทูตทั้ง 3 นายก็คลานขึ้นไปบนชานพระโธรน

ราชทูตรับพระราชสาส์นของพระเจ้าแผ่นดินสยามจากขุนนางที่เชิญมาถวายแล้ว ทูลเกล้าฯ ถวายแก่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวซึ่งทรงแสดงความเคารพ และทรงรับ จากนั้นพระราชทานต่อให้เมอซิเออร์ เดอ ครัวซี ราชเลขานุการด้านการต่างประเทศของพระองค์ถือเชิญไว้ จากนั้นพระเจ้าอยู่หัวมีรับสั่งกับคณะราชทูตอยู่ชั่วระยะเวลาหนึ่ง มีบาทหลวง เดอ ลิยอนน์ เป็นผู้คอยแปลพระราชกระแสนั้น

การถวายพระราชสาส์นที่พระราชวังแวร์ซายส์

เมื่อการพระราชทานพระราชดำรัสเสร็จสิ้นลง คณะราชทูตค่อยเคลื่อนขยับลงจากชานพระโธรน โดยได้ถวายบังคมอันเป็นการแสดงความเคารพสูงสุด ขณะที่ขุนนางสยามคนอื่นก็คุกเข่าถวายบังคมพระเจ้าแผ่นดิน แล้วค่อยๆ ขยับถอยหลังในขณะที่ขุนนางคนอื่นด้านหลังก็ยืนขึ้น แล้วทั้งหมดก็ค่อยๆ เดินเข่าถอยหลังด้วยกิริยาเช่นเดียวกันกับเมื่อคราวเดินหน้าไปเข้าเฝ้าฯ ในห้องท้องพระโรงนี้โดยไม่ต้องหันหลังให้องค์พระเจ้าแผ่นดิน และเดินถอยหลังจนถึงปลายสุดของห้อง แล้วก็จะเห็นบรรดาพระบรมวงศานุวงศ์ที่ยืนต้อนรับทั้ง 2 ข้างนั้น จนลับสายตาไป”

นี่คือความยิ่งใหญ่ในการแสดงความเป็นไทย โดยไม่จำเป็นต้องเอ่ยอะไรให้มากมาย

333 ปีให้หลัง สิ่งที่น่าจะต้องรำลึกถึงเหตุการณ์สำคัญเช่นนี้มิใช่อยู่ที่เพียงการนำเสนอข้อมูลว่าเกิดอะไรขึ้นในวันที่ 1 กันยายน หากแต่ต้องกลับไปตระหนักในหน้าที่ว่า ที่โกษาปานแสดงความอุตสาหะเดินทางแรมเดือน เพื่อไปยังบ้านเมืองที่ไม่เคยมีใครไปมาก่อน มีแต่ความแปลกตา ทั้งอาคารบ้านเรือน ผู้คน อาหารการกิน ภาษา และวัฒนธรรม แต่ก็สามารถแสดงให้ชาวตะวันตกที่มักเอ่ยอ้างเสมอว่าเป็นผู้ศิวิไลซ์ ได้ยอมรับในความเป็นนักการทูตที่แท้จริง

กระบวนแห่งพระราชสาส์นที่หน้าพระราชวังแวร์ซายส์
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image