เปลี่ยนห้องเรียนเป็นพื้นที่ทดลอง ‘ซีไอดีไอ ชนาพัฒน์’ แหล่งสร้าง ‘นักออกแบบ’ เต็มตัว

วิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 สร้างผลกระทบต่อประเทศไทยมากมาย บริษัท ห้าง ร้านจำนวนมากจำเป็นต้องปิดตัวลง เกิดปัญหาว่างงาน ประชาชนประสบความเดือดร้อนถ้วนหน้า

พระเจติยาจารย์ หรือ หลวงพ่อวิริยังค์ สิรินฺธโร เจ้าอาวาสวัดธรรมมงคล ไม่อาจเพิกเฉย ต้องการช่วยพัฒนาคนไทยและเพิ่มมูลค่าให้สินค้าไทย จึงเสนอทางเลือกด้วยการเปิดสอนวิชา “ดีไซน์” ให้คนไทย ด้วยความหวังอยากสร้าง “นักออกแบบไทย” เพื่อนำรายได้กลับเข้าประเทศ เริ่มต้นด้วยการนำเข้าหลักสูตรและคณะอาจารย์มาจากเมืองฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี เปิดสอนดีไซน์ครั้งแรกอยู่ที่ใต้เจดีย์ในวัดธรรมมงคลเมื่อ 19 ปีก่อน ภายในชื่อ สถาบันออกแบบนานาชาติชนาพัฒน์ (CIDI Chanapatana)

จากนักเรียนไม่ถึง 20 คนในชั้นเรียนของวันนั้น กลายเป็นปีละ 200 คนที่ย้ายเข้ามาเรียนในอาคารรูปแบบโมเดิร์นสีสันสดใสในวันนี้ ทว่ายังคงยืนยันสนับสนุนนักออกแบบไทยให้ไปอยู่ในระดับนานาชาติ พร้อมปรับเปลี่ยนหลักสูตรให้มีความเป็นสากลอย่างต่อเนื่อง

“สถาบันออกแบบนานาชาติชนาพัฒน์” ออกแบบหลักสูตรระดับสากล 2 ปี เปิดสอน 2 โปรแกรมคือ หลักสูตรออกแบบตกแต่งภายในและผลิตภัณฑ์ และหลักสูตรการออกแบบแฟชั่น สอนเป็นภาษาอังกฤษโดยคณาจารย์ชาวต่างชาติผู้มีประสบการณ์ทำงานไม่น้อยกว่า 5 ปี นอกจากนี้ที่นี่ยังเป็น สถาบันการศึกษาเพียงแห่งเดียวในประเทศไทยที่ผ่านการคัดเลือกให้อยู่ในสมาคม Cumulus หรือเครือข่ายนานาชาติหนึ่งเดียวที่เป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และงานวิจัยด้านการออกแบบจากทั่วโลก ส่งผลให้นักศึกษาต่างชาติตั้งใจบินมาเรียนการออกแบบถึงเมืองไทยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

Advertisement


ที่น่าสนใจมากกว่านั้นคือ ขั้นตอนการสมัครเข้าเรียนไม่ได้ยุ่งยากเลย เพราะที่นี่ไม่ต้องสอบเข้า ไม่จำกัดอายุผู้เรียน และไม่จำเป็นต้องมีประสบการณ์การทำงาน เพียงแค่มีวุฒิ ม.6 บวกกับทักษะพอสื่อสารภาษาอังกฤษได้ และมีความสนใจเรื่องการออกแบบเป็นพอ

“เราเชื่อว่าทุกคนฝึกฝนกันได้ เพียงแค่ขอให้รักการออกแบบเป็นพื้นฐาน” ทาเคชิ เค.เอ็น อาจารย์ลูกครึ่งญี่ปุ่น-เวียดนาม ประจำสาขาแฟชั่นดีไซน์ และผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายกิจการต่างประเทศ สถาบันออกแบบนานาชาติชนาพัฒน์กล่าว

Advertisement
ทาเคชิ เค.เอ็น

เขายอมรับว่าการทำงานช่วงแรกๆ นั้น “เครียด” เพราะต้องปรับตัว เนื่องจากนักเรียนในคลาสมีช่องว่างระหว่างวัย อีกทั้งแต่ละคนมีประสบการณ์การทำงานจากหลายวงการ ทำให้ห้องเรียนกลายเป็น “พื้นที่ตรงกลาง” ให้ทุกคนแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของกันและกันได้

“ผมมักจะให้เวลาประมาณ 5-10 นาทีก่อนเริ่มสอน เพื่อให้นักเรียนสักคนในห้องได้ออกมาแบ่งปันประสบการณ์และความรู้ของตัวเองกับเพื่อนคนอื่น เช่น บางคนเป็นนักบัญชีหรือนักการตลาดมาก่อน ก็สามารถแชร์ความรู้ให้เพื่อนคนอื่นได้ สุดท้ายแล้วทุกคนมีจุดเด่นของแต่ละคน และแฟชั่นก็ไม่ได้มีแค่มิติเรื่องการออกแบบเสื้อผ้าเพียงอย่างเดียว” อาจารย์ลูกครึ่งญี่ปุ่น-เวียดนามกล่าว

นอกจากนี้ทาเคชิยังย้ำอยู่เสมอว่า งานออกแบบที่เกิดขึ้นในห้องเรียนต้องต่อยอดใช้ได้จริงและขายได้จริงนอกห้องเรียนด้วย พิสูจน์ผลลัพธ์ความสำเร็จได้จากผลงานของทั้งศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบันของสถาบันที่ออกไปโลดแล่นในวงการดีไซน์ทั้งไทยและนานาชาติอย่างต่อเนื่อง


สำหรับใครที่อยากเป็น “ดีไซเนอร์” สิ่งแรกที่ทาเคชิแนะนำคือ ต้องใช้เวลาอย่างหนักเพื่อทำความเข้าใจตัวเอง เข้าใจความต้องการ ความถนัด ความชอบหรือไม่ชอบของตัวเอง เมื่อรู้จักตัวเองแล้ว ด่านต่อไปคือกล้าก้าวข้ามความกลัวและความไม่มั่นใจที่ฝังลึกอยู่ในจิตใจ ด้วยวิธีคิดที่อยากเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ลองผิดลองถูก เพราะนั่นเป็น กระบวนการของการออกแบบงานที่ดี และการเรียนออกแบบเป็นเรื่องของการทดลอง

สถาบันออกแบบนานาชาติชนาพัฒน์อาจเป็นเหมือนพื้นที่ฝึกและทดลองให้ค้นพบความสามารถของแต่ละคนเพื่อถ่ายทอดเป็นงานออกแบบ เป็นหลักสูตรที่เหมาะกับคนอยากเริ่มต้นลงมือแปรเปลี่ยนไอเดีย “ความฝัน” ให้ก้าวกระโดดสู่ “อาชีพนักออกแบบ” ในอนาคต

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image