หลงกลิ่นอาย ‘ละโว้ ศรีเทพ เสมา’ มัณฑละแห่ง ‘ศรีจนาศะ’

เช้าตรู่ของวันที่ 10 สิงหาคม กว่า 30 ชีวิต จัดเสื้อผ้า รวมตัว ร่วมเดินทาง 3 วัน 2 คืน เพื่อศึกษาการมีอยู่ของรัฐ “ศรีจนาศะ” อาณาบริเวณในเขตชายขอบที่ราบสูงโคราชอันต่อติดกับดินแดนภาคกลาง เพื่อทำความเข้าใจกลุ่มบ้านเมืองที่รุ่งเรืองราวพุทธศตวรรษที่ 12-15

นี่คือกิจกรรมใหม่โดย มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ ที่อาสาพานำชม สาระทางประวัติศาสตร์ ศึกษาภูมิวัฒนธรรมของบ้านเมืองโบราณ ทั้งโบราณสถานและโบราณวัตถุ ตลอดจนพาร่วมลงลึกถึงหลุมขุดค้นทางโบราณคดี ที่น้อยคนนักจะมีโอกาสได้สัมผัส ไปพร้อมๆ กับฟังคำบรรยายถึงความหมายของดินแดนที่ถูกเรียกว่า “ศรีจนาศะ” ทั้งเมือง ละโว้ ศรีเทพ และ เสมา ที่มีร่องรอยของเส้นทางติดต่อถึงกันระหว่างเมือง ผ่านสายตาของปรมาจารย์ด้านโบราณคดีและประวัติศาสตร์ ศรีศักร วัลลิโภดม เสริมความโดย วลัยลักษณ์ ทรงศิริ

08.30 น. ออกเดินทางจากกรุงเทพมหานคร มุ่งหน้าสู่เมืองลพบุรี ผู้ร่วมเดินทางสนทนาทายทัก ก่อนจะรับประทานของว่าง เอนเบาะนั่งอ่านข้อมูลจากคู่มือเพื่อทำความเข้าใจในเบื้องต้น และฟังเสียงบรรยายจากวิทยากรไปพร้อมๆ กัน

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สมเด็จพระนารายณ์ คือหมุดหมายปลายทางที่จะฉายให้เห็นภาพกว้างของเมือง “ละโว้”

Advertisement

อ.ศรีศักรเริ่มอธิบายแผนผังพระนารายณ์ราชนิเวศน์ ก่อนจะพาชม

“เมื่อทำเมืองใหม่ ปรางค์แขกกลายเป็นว่ามาอยู่กลางถนนที่ชั้นนอก ขอบๆ เป็นท้องพระโรง พระคลังหรือที่ทำการอยู่ด้านนอก เข้าไปเป็นเขตพระราชฐาน (ชั้นใน) มีกำแพงกั้น สมเด็จพระนารายณ์ประทับที่นั่น มีที่ว่าราชการ ผังเป็นแบบนี้ วัง แบ่งเป็น 3 ชั้น เกิดครั้งแรกที่พระราชวังอยุธยา แต่ก่อนหน้านี้อยุธยาไม่มี อยุธยาเป็นราชอาณาจักรจึงเกิดราชวังขึ้นมา วังพระนเรศวรที่พิษณุโลกก็คล้ายกัน ที่อื่นจะเป็นวังจำลอง เมืองใหญ่จำลองจากตรงนี้”

ผ่านกำแพงแก้ว เลี้ยวซ้าย จะเจอพระที่นั่งดุสิตสวรรค์ธัญญมหาปราสาท สถานอันเป็นที่เข้าใจกันว่าคือพระที่นั่งท้องพระโรง ที่สมเด็จพระนารายณ์มหาราชเสด็จออกรับคณะราชทูตของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศส

Advertisement

“ที่ฝรั่งเขียนว่าพระนารายณ์เสด็จออกรับราชทูต เชอวาลิแยร์ เดอ โชมองต์ ที่จริงแล้วฝรั่งเขียนผิดการรับราชทูตครั้งนั้น รับที่พระนครศรีอยุธยา พระที่นั่งสรรเพชญมหาปราสาท แต่ฝรั่งไม่เคยเข้าไปที่นั่น เห็นที่สูงๆ ก็เขียนขึ้นมา ถ้ารับที่นี่พระนารายณ์ต้องก้มลงมารับ พวกนั้นเขียนเลอะเทอะ”

พระที่นั่งดุสิตสวรรค์ธัญญมหาปราสาท

เพราะคัดประวัติศาสตร์แบบตำนานมาเขียน แต่เมื่อวิเคราะห์ในยุคที่เรียนแบบฝรั่ง บ่อยครั้งจึงเห็นแย้ง

“เวลาเรียนประวัติศาสตร์ ไม่ได้เรียนโดยท่อง ต้องตั้งคำถาม” อ.ศรีศักรย้ำ ก่อนจะพาลูกศิษย์เดินตามเข้าไป ชมนิทรรศการ เริ่มจากอธิบายธรณีสัณฐานของ “ละโว้” เมืองที่ตั้งอยู่ปลายตะพักของที่ลาดเชิงเขาสามยอด ซึ่งเป็นแหล่งน้ำที่อุดมสมบูรณ์ด้วยแร่ธาตุจากเขา ทั้งแร่เหล็ก และทองแดง เหมาะแก่การตั้งถิ่นฐาน

ภายในนิทรรศการยังจัดแสดงหลักฐานทางโบราณคดีที่พบร่องรอยของชุมชนโบราณ สะท้อนการเข้ามาอยู่อาศัยของคนไม่ตำกว่า 3,500 ปีก่อนหน้า ทั้ง “ยุคก่อนเหล็ก” จากการค้นพบเครื่องประดับ เครื่องมือเครื่องใช้ อาวุธที่ทำจากหอยทะเลลึก และโลหะสัมฤทธิ์ (ทองแดง ดีบุก และตะกั่ว) ไปจนถึง “ยุคเหล็ก” จากการใช้เหล็กเป็นอาวุธและเครื่องมือ หินสีกึ่งรัตนชาติ ที่ดูเหมือนลูกปัดนั่นก็เช่นกัน เพราะในยุคนี้มีกระทั่งต่างหูและกำไร ที่นี่เป็นแหล่งแลกเปลี่ยนสินค้าหลากหลายกลุ่ม ยังมีแหล่งผลิตเครื่องประดับจากเปลือกหอยทะเลลึก เช่น หอยมือเสือ หอยสังข์ ที่อีกมิติหนึ่งคือ สินค้า ใช้แทนราคาค่างวดได้ และเครื่องประดับ เช่น กำไล เป็นตัวชี้ฐานะ แต่อีกนัยก็จะใส่อุทิศให้คนตาย

“เครื่องเซ่นศพกับเครื่องประดับต่างกัน ดูให้ดี เดี๋ยวโดนผีหลอก” อ.ศรีศักรหยอก

นอกจากนี้ยังมี “แวดินเผา” เครื่องมือที่ใช้ปั่นด้าย “ตะคัน” ที่ใช้จุดไฟประดับในงานพิธีกรรม มีปูนปั้นรูปสิงห์ในโบราณสถาน ภาชนะหรือ รูปสัตว์ตามความเชื่อทางศาสนาสำหรับทำพิธีกรรม มีภาพพิมพ์และเครื่องหมายต่างๆ “รูปพระนางมายาเทวี” เทพแห่งความอุดมสมบูรณ์ “ท้าวกุเวร” เทพแห่งความมั่งคั่ง ไปจนถึงพระพุทธ รูป

จากนั้นจึงขนทัพไปรับประทานมื้อเที่ยงที่ร้าน “มัดหมี่” ร้านอาหารขึ้นชื่อโดยคนพวนเมืองลพบุรี

อิ่มท้องเดินทางต่อไปยัง “วัดนครโกษา” พระสถูปเก่าแก่กลางเมือง ติดกับรางรถไฟสถานีลพบุรี ให้อารมณ์เหมือนยืนอยู่พระประโทณเจดีย์ จ.นครปฐม อ.ศรีศักรไม่รอช้า พาทำความเข้าใจศาสนสถานของฮินดูรุ่นแรกๆ ในเมืองละโว้ ที่มองเห็นภูมิทัศน์ทั้งศาลพระกาฬ พระปรางค์สามยอด วัดมหาธาตุ วาดอยู่ฉากหลัง

ศรีศักร วัลลิโภดม

“ฐานของเจดีย์พระนครโกษา เป็นการใช้แกลบข้าวเมล็ดสั้นผสมในอิฐ เพื่อเป็นฐานรองรับเจดีย์ขนาดใหญ่ นี่คือจุดที่เช็กดูได้ว่าเป็นเจดีย์ชวาหรือไม่ ที่นี่เป็นพุทธเถรวาทผสมมหายาน มีความเป็นบายน แบบบ้านนอก (เขตสยาม) และยังถือเป็นแหล่งศึกษาปูนปั้นระยะแรกๆ ก่อนอยุธยาตอนต้นทั้งนั้น เก็บภาพไว้ก่อนจะหายไป” หลัง อ.ศรีศักรพูดจบ คณะต่างพากินหยิบกล้องถ่ายภาพเดินชมอย่างเพลินใจ

ขึ้นรถผ่านวงเวียน อนุสาวรีย์สมเด็จพระนารายณ์มหาราช เดินทางต่อไปยัง “บ้านพรหมทินใต้” ตรงข้ามเขาทับควาย ในอดีตที่แห่งนี้สำคัญ เพราะคือแหล่งแร่ คือความร่ำรวยของเมืองลพบุรี คือพื้นที่เขาไล่ไปศรีเทพ คือเส้นทางโบราณ ที่เชื่อมความเป็นลพบุรีและศรีจนาศะ

หลุมขุดค้น ณ แหล่งโบราณคดีบ้านพรหมทินใต้

ที่หลุมขุดค้นขนาด 6X6 สุวรรณ ตรีทศ ผู้ประสานงานแหล่งโบราณคดี ในวัย 53 เข้าต้อนรับขับสู้ด้วยน้ำท่า ก่อนจะพาพาเดินชมพิพิธภัณฑ์ ที่ใช้งบประมาณก่อสร้าง 1.4 ล้านบาท หวังให้เป็นพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น

ภายในนิทรรศการเล่าถึงบ้านพรหมทินใต้ในยุคโบราณ ที่มีความสำคัญในระดับท้องถิ่นและในระดับภูมิภาค รับรู้ได้จาก “ข้อความ” ที่บรรพบุรุษในหมู่บ้านส่งมาถึงคนรุ่นปัจจุบัน ผ่านสิ่งของเครื่องใช้ โบราณวัตถุต่างๆ มีตั้งแต่ แวดินเผา ลูกกระพรวนสัมฤทธิ์ ต่างหูเปลือกหอย กำไลเปลือกหอย ลูกปัดหิน และแหวนสัมฤทธิ์ที่นอกจากจะแสดงถึงฐานะความร่ำรวยแล้ว ยังบอกได้อีกว่า นี่คือดินแดน ทวารวดี เพราะเจอ พวยการูปสัตว์ ไม่ว่าจะ งู (หรือนาค) นก (หรือหงส์) ในชั้นดินที่เชื่อว่าเป็นวัฒนธรรมสมัยทวารวดีตอนต้น ราวพุทธศตวรรษที่ 12-13

พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ยังบอกได้กระทั่งว่า บรรพบุรุษบ้านพรหมทินใต้เป็นอยู่ และทำมาหากินอย่างไร โดยในอดีตชาวบ้านจะเป็นผู้ผลิตและส่งออกเครื่องมือที่ทำจากโลหะทองแดง เนื่องจากพบหลักฐานว่ามีการถลุงทองแดงระดับอุตสาหกรรมชุมชนที่นี่ พบตะกรันอันเป็นเศษขยะจากการถลุงแร่ทองแดง ในระดับความลึกประมาณ 1 เมตร

เดินลัดเลาะไปรอบวัด อ.ศรีศักร พาชมตั้งแต่พระพุทธรูปและใบเสมาของวัดที่มีความสวยและสมบูรณ์มากแห่งหนึ่งในไทย

ปิดท้ายวันแรก ด้วยบรรยากาศริมนาตอนพระอาทิตย์ตก ชาวบ้านแหล่งโบราณคดีบ้านพรหมทินใต้ เซอร์ไพรส์ด้วยวีดิทัศน์ที่ถ่ายทำและตัดต่อเองขณะทำการขุดค้นร่วมกับคณะโบราณคดี ศิลปากร

อ.ศรีศักรเอ่ยชม ว่า “ดีมาก” พร้อมแนะแนวทางพัฒนาแหล่งโบราณคดีบ้านพรหมทินใต้ ให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยงเชิงประวัติศาสตร์ที่แตกต่างอย่างคงเอกลักษณ์ ให้นักท่องเที่ยวได้เห็นร่องรอยการเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์อย่างแจ่มชัดที่สุด

ปรางค์ศรีเทพ

เช้าตรู่วันอาทิตย์ หลังเติมท้องในห้องอาหารของโรงแรม ขึ้นรถคันเดิม ออกเดินทางสู่เมือง “ศรีเทพ” จ.เพชรบูรณ์ในเวลา 08.00 น. ผ่านช่องทาง อ.โคกเจริญ ไม่นานนัก 2 ชั่วโมงก็มาถึง

นักเรียนของคุณครูศรีศักร สวมหมวก พกร่ม ออกเยี่ยมชมเมืองชั้นนอก อย่างไม่กลัวแดดฝน

อ.ศรีศักรกางแผนที่จากเอกสารเมืองโบราณ เล่าถึงความเป็นเมืองที่รุ่มรวยด้วยทรัพยากรธรรมชาติและแหล่งน้ำ ก่อนจะพาชมสระแก้ว สระขวัญ แหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่ใช้เป็นส่วนหนึ่งในการประกอบพิธีบรมราชาภิเษกของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

อ.ศรีศักรอธิบายว่า ศรีเทพ คืออาณาบริเวณที่สะท้อนภูมิปัญญาของกลุ่มชนที่สร้างเมือง เพราะคือบริเวณเนินดินดอนใหญ่ที่เป็นเกาะอยู่ท่ามกลางที่ราบลุ่มน้ำท่วมถึง ที่บริเวณดอนเกาะชาวบ้านใช้วิธีขุดเป็นสระหนองเก็บน้ำไว้กินไว้ใช้ และมีป่าโปร่งที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นแหล่งป่าโคกที่น้ำท่วมไม่ถึงซึ่งเหมาะแก่การตั้งถิ่นฐาน ทำให้มีชุมชนกระจายอยู่รอบๆ ส่วนดอนเกาะทางเหนือเป็นพื้นที่กว้างใหญ่สูงต่ำ เป็นที่ตั้งชุมชน ห่างจากนี้ราว 3 กม. เป็นปริมณฑลของนครศรีเทพ อันเป็นที่ตั้งของศาสนสถานสำคัญ ทั้งพุทธศาสนามหายาน และฮินดู

จากนั้นเข้าแวะชมปรางค์ฤาษี ที่บริเวณวัดป่าสระแก้ว ไม่ไกลกัน พอตะวันพ้นหัว มุ่งหน้าชมเมืองเก่า ในพื้นที่อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ

เริ่มที่อาคารจัดแสดงนิทรรศการและโบราณวัตถุ ที่อัดแน่นไปด้วยกลุ่มศาสนสถานแบบฮินดูและพุทธ นั่งรถรางรับลมชมวิว คณะสัมผัสได้ถึงระดับของพื้นที่ไม่เท่ากันดังที่ อ.ศรีศักรบอก “เนินสูงๆ อาจจะมีอาคารข้างใต้” ทั้งคณะประหลาดใจ อ.ศรีศักรไม่รอช้าพามาต่อที่หลุมขุดค้นทางโบราณคดี ที่แม้จะไม่เจออาคาร แต่เจอโครงกระดูก อายุกว่า 1,700 ปี ทั้งผู้ใหญ่และทารก บางร่างมีแหวนและกำไล บางโครงมีกระดูกของสุนัขอยู่ข้างๆ ไปจนถึงโครงกระดูกเด็กรวมกับสัตว์อื่นๆ ในภาชนะดินเผา กระดูกสัตว์อื่นๆ เช่น ช้าง กระต่าย ปลา งู เต่า ตะกวด เศษอาหารในภาชนะ แนวขึ้นหินศิลาแลง เครื่องประดับ เครื่องมือเหล็ก ไปจนถึงชิ้นส่วนเครื่องถ้วยเปอร์เซีย สะท้อนให้เห็นภาพการอยู่อาศัย ที่สำคัญคือความเชื่อของคนตั้งแต่สมัยก่อนยุคประวัติศาสตร์ตอนปลาย

จบจากหลุมขุดค้น ชมศิลปะทวารวดีรอบเขาคลังใน อันเกิดจากการแพร่หลายของพุทธศาสนาเถรวาทและมหายาน สะท้อนผ่านหลักฐานทางโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศาสนสถาน ศาสนวัตถุ ศิลาจารึก พระพุทธรูป พระสถูป และลวดลายเครื่องประดับที่พบในภาคกลาง ตะวันออกเฉียงเหนือ และใต้ในไทย ราวพุทธศตวรรษที่ 12-16

โครงกระดูก พบในหลุมขุดค้นทางโบราณคดี

รูปคนแคระปั้นมือ สัตว์หลากชนิด ทั้งครุฑ ลิง เทวดา กนก 3 ตัวเรียงกันแบบลายไทยในเบื้องหน้า

นี่คือต้นแบบของลายกนก ยังมีลายประจำยาม ดอกพุดตาน และดอกประกอบปั้นสด ลายพฤกษา สันนิษฐานว่าเป็นช่างมาจากที่อื่น และน่าจะหลายคนปั้น เพราะแต่ละก้อนไม่เหมือนกัน เส้นสายแตกต่าง

ประติมากรรมปั้นมือ สมัยทวารวดี รอบเขาคลังใน

ก่อนจะขับรถมุ่งหน้าไปชมโบราณสถานเขาคลังนอก ในยามพระอาทิตย์เตรียมจะลับฟ้า

เจ้าหน้าที่เริ่มอธิบายความหมายของสถานที่ ตามที่ได้เรียนรู้มา อ.ศรีศักรมองอีกด้าน ผ่านการถกแย้งเล็กน้อย สรุปแล้วเจ้าหน้าที่บอก ขอตัวเดินฟังอาจารย์ด้วยคนนะครับ จะได้เอาความรู้มาเล่านักท่องเที่ยว

เป็นอีกวันที่อิ่มเอมใจก่อนจะแยกย้ายพักผ่อนกายา

ปราสาทโนนกู่ ต.โคราช อ.สูงเนิน จ.นครราชสีมา

เช้าวันแม่ 12 สิงหาคม ออกเดินทางสู่เมืองเสมา จ.นครราชสีมา จิบกาแฟและเดินทางต่อผ่านช่องหินลับ ด่านขุดทด เพื่อสำรวจพื้นที่นอกเมืองเสมา อาทิ โบราณสถานบ้านแก่นท้าว พระธาตุพนมวัน บ้านหินตั้ง รวมทั้งภายในเมืองเสมา

จากนั้นชมพระปางปรินิพพานที่ทำจากหินทราย อยู่ในวัดธรรมจักรเสมาราม โดยด้านหน้าพระพักตร์มีร่องรอยที่ตั้งธรรมจักร แกะสลักจากหินที่ขุดค้นบริเวณหน้าพระพักตร์ถูกขโมยไป และได้กลับคืนมา ปัจจุบันประดิษฐานภายในวัด เป็นศาสนวัตถุที่สำคัญ เพราะบ่งบอกความมีรากฐานวัฒนธรรมทวารวดี จากเรื่องการนับถือพุทธศาสนา ทั้งเถวรวาทและมหายาน จากศาสนสถานและศาสนวัตถุ ทั้งเมืองชั้นในและชั้นนอก อีกทั้งจากเจดีย์ วิหาร ใบเสมาหินทราย พระพุทธรูป ธรรมจักรศิลาขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 1.4 เมตร ซึ่งป็นรูปแบบศิลปกรรมที่ได้รับอิทธิพลมาจากศิลปะทวารวดี

ธรรมจักร พบหน้าพระพักตร์พระพุทธรูปปรางปรินิพพาน ที่วัดธรรมจักรเสมาราม

ก่อนจะเดินทางกลับกรุงเทพฯ เยี่ยมชมกลุ่มโบราณสถาน ปราสาทหิน ปราสาทโนนกู่ ปราสาทเมืองแขก และปราสาทเมืองเก่า ใกล้กับเมืองเสมา

สิริมิตร สิริโสฬส อาจารย์เอกปรัชญา ดูแลแผนกท่องเที่ยวของอาชีวะ หนึ่งในผู้ร่วมทริปกับมูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์เป็นหนแรก

ถ้าพูดถึงความแตกต่างของการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ กับที่ไปเอง สิริมิตรบอกว่า แตกต่างอย่างมาก

“ชอบมากถึง 100 เปอร์เซ็นต์ เพราะในฐานะที่เป็นอาจารย์ดูแลแผนกท่องเที่ยวของอาชีวะ นี่คือจุดเปลี่ยนอย่างมาก เราสามารถเอาไปใช้กับระบบการศึกษาไทยในเรื่องการท่องเที่ยวได้ ต้องพัฒนาศักยภาพของผู้นำเที่ยวให้มีความเป็นวิชาการมากขึ้น ทำให้เห็นข้อแตกต่าง มองอะไรที่ลึกซึ้ง และได้คุณประโยชน์กับสาขาวิชา และองค์ความรู้ของนักศึกษาในเรื่องทางประวัติศาสตร์ที่บางครั้งถูกครอบไว้ ยังไม่ถูกเปิด ทริปนี้แตกต่างจากการนำเที่ยวของไกด์ทั่วไปอย่างชัดเจน”

สิริมิตร สิริโสฬส

“อยากให้นักเรียน นักศึกษา หรือผู้สนใจประวัติศาสตร์ การท่องเที่ยว แม้กระทั่งคนที่ทำอาชีพไกด์ มาร่วมทริปกับทาง มูลนิธิเล็ก-ประไพร วิริยะพันธุ์ เพื่อจะได้ต่อยอดองค์ความรู้ พัฒนาศักยภาพของตัวเอง รวมทั้งเผยแพร่ความรู้ที่ถูกครอบไว้ด้วยกระบวนการที่หลงลืม หรือไม่ได้กล่าวถึง มาเจาะลึก จะได้เห็นอะไรที่แตกต่างจากความเข้าใจ มาสัมผัส และเอนจอยตรงนี้ แล้วการท่องเที่ยวจะมีประโยชน์”

สิริมิตรยังยืนยันอีกว่า ถ้ามีการจัดครั้งหน้าจะตามไปทุกที่ ไม่ว่าจะมุมมนุษยวิทยา ชาติพันธุ์ คติชน การันตีว่าไปแน่นอน

ปราสาทเมืองเก่า สถานที่สุดท้ายก่อนเดินทางกลับ

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image