กองทุน ‘เปรมดนตรี’ ม.มหิดล สานต่อเจตนา ‘ป๋า’ สนับสนุน ‘ดุริยางคศิลป์’

ในหอแสดงดนตรี วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล

วันที่ 23 กันยายน วันนั้นเป็นวันครบรอบ 25 ปีของวิทยาลัยดุริยางคศิลป์

ความพิเศษของวันครบรอบในปีนี้ นอกจากจะมีพิธีการตลอดทั้งวันแล้ว ในช่วงเย็นคือพิธีเปิด “กองทุนเปรมดนตรี”

กองทุนที่ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีอนุญาตให้ตั้งขึ้นและนำชื่อตัวเองมาใช้

Advertisement

ก่อนพิธีการจะเริ่มต้น หนุ่มสาวนักศึกษาวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ เอกขับร้อง ได้ออกมายืนเด่นเป็นสง่าบนเวที

จากนั้นบทเพลงต่างๆ ได้เริ่มต้น นักศึกษาหนุ่มสาวได้ใช้ความสามารถทางเสียงขับกล่อมผู้ฟังในหอแสดงดนตรี

แต่ละบทเพลงที่ขับร้องมีหลายบทเพลง เป็นบทเพลงที่ใช้ในการแสดงโอเปรา ผู้ขับร้องจึงต้องมีทักษะ

Advertisement

บทเพลงหนึ่งที่คุ้นหู คือ บทเพลงชื่อ “Brindisi” จากโอเปรา La traviata ของ Giuseppe Verdi

การขับร้องบทเพลงโอเปรานั้น ต้องมีทักษะทั้งเสียงต่ำ และเสียงสูง ตั้งแต่เสียงเบสไปจนถึงเสียงโซปราโน

คนที่จะทำเช่นนี้ได้ต้องผ่านการอบรม ฝึกซ้อม และพัฒนาฝีมือ

นักเรียนเหล่านี้ขับร้องบทเพลงต่างๆ ให้ฟังจนรู้สึกทึ่ง

เป็นผลพวงของวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่ตอกย้ำคุณภาพ

ดร.ณรงค์ ปรางค์เจริญ คณบดีวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ฯ เปิดเผยว่า วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มุ่งเน้นเรื่องการให้โอกาสทางการศึกษา ต้องการให้ทุกคนมีโอกาสที่สมบูรณ์ที่จะพัฒนาประเทศต่อไป จึงจัดตั้งกองทุนเปรมดนตรีขึ้น

ดร.ณรงค์บอกว่า “อย่างที่ทราบกันดีว่า ป๋าเป็นคนที่รักดนตรี และทุกครั้งที่ป๋าเดินทางมาที่วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ ป๋าจะมีภาพที่มีความสุขตลอดเวลา เราอยากให้ภาพเหล่านี้อยู่ในความทรงจำ เและพยายามที่จะทำทุกอย่างที่จะให้เป็นไปตามแบบอย่างที่ป๋าสอน

“ป๋าสอนพวกเราว่าการที่เกิดเป็นคนไทยต้องรู้จักชดใช้ และทดแทนบุญคุณแผ่นดิน”

สำหรับที่มาที่ไปของกองทุนเปรมดนตรี ดร.ณรงค์ เล่าให้ฟังว่า “ป๋าได้มาเยี่ยมพวกเราบ่อย เราได้ขอป๋าว่า เงินในกองทุน อยากปรับมาใช้เพื่อการศึกษา และใช้เฉพาะดอกผล ใช้เพื่อการศึกษาเท่านั้น เราได้ทำหนังสือไปเรียนปรึกษาป๋า และได้พบป๋าเมื่อวันที่ 28 ธันวาคมปีที่แล้ว ป๋าได้อนุญาต และให้เราจัดตั้งกองทุน และได้ทำหนังสืออีกรอบ ป๋าได้ตอบรับกลับมาว่ายินดีให้การสนับสนุน และอยากให้ปรับกองทุนนี้เป็นกองทุนเพื่อการศึกษาให้มากที่สุด”

ดร.ณรงค์กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของกองทุนว่า จะเอาเฉพาะดอกผลมาเป็นทุนการศึกษา เงินในกองทุนส่วนหนึ่งจะเป็นทุนการศึกษา อีกส่วนหนึ่งจะคืนกลับเข้าไปในกองทุน เพื่อให้กองทุนงอกเงยขึ้นเรื่อยๆ เวลาที่มีผู้บริจาคจะนำเงินที่ได้รับการบริจาคเก็บไว้ในกองทุน กองทุนก็จะมีความมั่นคง และสามารถสร้างประโยชน์ และสร้างทุนการศึกษาให้น้องๆ ที่เรียนดี เล่นดนตรีดี

ขณะที่ นพ.บรรจง มไหสวิรยะ รักษาการอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ขึ้นเวที และกล่าวแสดงความชื่นชมผู้บริหารของวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ตลอด 25 ปีที่ผ่านมา

แสดงความชื่นชมตั้งแต่ รศ.ดร.สุกรี เจริญสุข อดีตคณบดีและผู้ก่อตั้งวิทยาลัย ตลอดจน ดร.ณรงค์ ที่สานต่อ

พร้อมกันนั้น นพ.บรรจง ยังยืนยันว่า ดุริยางคศิลป์เป็นวิทยาลัยแห่งหนึ่งที่ทำชื่อเสียงกับมหาวิทยาลัยมหิดล โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเป็นสากล เพราะดนตรีเป็นเรื่องสากล ไปที่ไหนดนตรีก็เป็นทักษะที่สื่อสารได้ คนที่รักดนตรีก็มีความพึงพอใจและเป็นมิตรสหายได้ไม่ยาก

ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยมหิดลไม่ได้เน้นแต่เฉพาะความเข้มแข็งด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพเท่านั้น


“ผมอยากกราบเรียนว่า เมื่อ 50 ปีก่อนหน้านี้ รัชกาลที่ 9 ได้พระราชทานนามมหาวิทยาลัย เพื่อให้มหาวิทยาลัยมหิดลเป็น comprehensive university หมายความว่า เป็นมหาวิทยาลัยที่สมบูรณ์ ไม่ได้เป็นเพียงมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ที่เน้นแต่การแพทย์เพียงอย่างเดียว”

นพ.บรรจงกล่าวว่า การที่มีชีวิตอยู่ในโลกทุกวันนี้ ไม่ใช่เทคโนโลยีวิทยาศาสตร์เป็นตัวนำแล้วจะเจริญก้าวหน้า ผมเชื่อว่าศาสตร์ทางสังคม ศิลปะ เป็นเรื่องที่ควบคู่ไปกับวิทยาศาสตร์

“มหาตมะ คานธี บอกว่า มี บาป 7 ประการ หนึ่งในนั้นคือ วิทยาศาสตร์เลิศล้ำแต่ไม่มีธรรมแห่งมนุษย์ (Science without humanity) ผมเชื่อว่า หัวใจที่จะทำให้คนเป็นคนที่สมบูรณ์ต้องมีทักษะทางสังคม ดังนั้น ดุริยางคศิลป์จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง”

นพ.บรรจง ได้ไขข้อสงสัยเกี่ยวกับการเปิดการเรียนการสอนด้านดนตรีว่า “บางครั้งอาจจะมีความรู้สึกว่า เรามีคณะดนตรีไปทำไม ผมอยากบอกว่า โลกเราเจริญด้วยเทคโนโลยีก็จริง แต่จะอยู่อย่างผาสุก มีความสุขสมบูรณ์ได้ต้องมีศาสตร์ทางด้านสังคม ซึ่งเป็นลักษณะสมบูรณ์ในชีวิตมนุษย์”

การเข้าถึงศาสตร์ดังกล่าว ดนตรีคือองค์ประกอบหนึ่งที่สำคัญ

ขณะนี้มหาวิทยาลัยมหิดลมีอาคารที่มีระบบเสียงระดับอาเซียน มีนักดนตรีที่มีฝีมือ นักเรียนที่จบไปสร้างชื่อเสียงให้มากมาย ขณะที่ครูในมหาวิทยาลัยมหิดลก็ต้องให้การสนับสนุนนักเรียนในด้านต่างๆ

“อาจารย์ณรงค์มาปรึกษาหารือ บอกว่ามีเงินทุนที่ พล.อ.เปรมมอบไว้ให้ คิดว่าน่าจะนำมาดำเนินการ เพื่อเป็นกุศลจิตตามที่ พล.อ.เปรมอยากจะเห็น และอยากจะทำให้กับประเทศชาติ ดร.ณรงค์ได้นำเจตนาดังกล่าวมาดำเนินการให้เป็นจริง โดยจัดตั้งกองทุนเปรมดนตรีขึ้น”

นพ.บรรจงย้ำอีกครั้งว่า วัตถุประสงค์การใช้เงินจากกองทุนคือการนำดอกผลมาเป็นทุนการศึกษาให้นักเรียน เพื่อสนับสนุนให้เรียนดนตรี ส่วนมหาวิทยาลัยมีหน้าที่ที่จะทำให้กองทุนนี้มีโอกาสสร้างดอกผลให้มากที่สุด ซึ่งเรามีหน่วยงานที่รับผิดชอบคืองานที่เกี่ยวกับการลงทุนต่างๆ ซึ่งที่ผ่านมา 2-3 ปีนี้ สามารถสร้างกำไรได้ไม่ต่ำกว่า 4.5 เปอร์เซ็นต์ การดำเนินการมีระเบียบปฏิบัติอย่างรัดกุม โปร่งใส


“ผมทราบว่า ตัวเลขเริ่มต้นของกองทุนมีประมาณ 60 ล้านบาท เชื่อว่าคงจะได้ดอกผลปีละไม่น้อยกว่า 3 ล้านบาท เงินก้อนนี้จะเป็นทุนที่สนับสนุนเด็กที่มีความสามารถ แต่ขาดแคลนทุนทรัพย์”

เชื่อว่าด้วยเจตนาที่เป็นกตัญญูทิตาต่อ พล.อ.เปรม การดำเนินการครั้งนี้จะลุล่วง

ต่อมา คุณหญิงปัทมา ลีสวัสดิ์ตระกูล ผู้ให้การสนับสนุนวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดลมาตั้งแต่ต้นได้ขึ้นกล่าว

“ในฐานะที่เป็นหนึ่งในผู้ให้การสนับสนุน ตั้งแต่ท่านอาจารย์สุกรี รู้สึกภูมิใจที่ได้เห็นการเติบโต การพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ก่อให้เกิดนวัตกรรมและความเป็นเลิศอย่างมากมาย หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นด้านบุคลากร การเรียนการสอน วัฒนธรรม สภาพแวดล้อม และการรับใช้สังคมของทางวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ อันนำมาซึ่งชื่อเสียง ทั้งต่อมหาวิทยาลัยมหิดลและต่อประเทศชาติ

“วันนี้ยังเป็นโอกาสสำคัญในการน้อมจิตใจร่วมกันคิดถึงคุณูปการของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ รัฐบุรุษศิลปิน ผู้ที่ได้ให้การสนับสนุนวิทยาลัยแห่งนี้อย่างมาก และอย่างที่ทุกคนได้กล่าวมาแล้ว พล.อ.เปรมยังอนุญาตให้ตั้งกองทุนด้วยชื่อของท่าน กองทุนเปรมดนตรี เพื่อเป็นทุนการศึกษาให้กับนักเรียน เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความยั่งยืนให้กับวิทยาลัยดุริยางคศิลป์แห่งนี้”

หลังจากนั้นได้มีผู้ประสงค์จะบริจาคเงินเข้ากองทุน เริ่มจาก นายสมศักดิ์ และคุณหญิงปัทมา ลีสวัสดิ์ตระกูล บริจาค 1 ล้านบาท คุณรัมภา-วศิน กำเนิดรัตน์ บริจาค 1 ล้านบาท ดร.ดิสพล จันศิริ บริจาค 1 ล้านบาท นพ.บุญ วนาสิน บริจาค 1 ล้านบาท มิสเตอร์ Donald Moisen 400,000 ดอลลาร์สหรัฐ และยังมีผู้ไม่ประสงค์ออกนาม บริจาค 1,000 ดอลลาร์สหรัฐ

เงินทั้งหมดนำไปเป็นเงินต้นในกองทุนเปรมดนตรีเพื่อการศึกษา

ส่วนดอกผลจากเงินต้นจะนำไปเป็นทุนการศึกษาให้แก่นักเรียนนักศึกษาดุริยางคศิลป์

เป็นการสานต่อเจตนารมณ์ของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ที่อนุญาตให้ใช้ชื่อของตัวเองมาเป็นชื่อของกองทุนนี้

กองทุนเปรมดนตรีเพื่อการศึกษา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image