‘ระยอง’ ประวัติศาสตร์แห่ง ‘ความสุข’ บนเส้นทางการค้า 2,000 ปี

ปากน้ำประแส

จบไปได้พักใหญ่แต่กลิ่นอายของความสุขยังคงไม่เสื่อมคลาย สำหรับทริปสุดพิเศษของ ขรรค์ชัย บุนปาน ประธานกรรมการบริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) ที่ควงแขน สุจิตต์ วงษ์เทศ คอลัมนิสต์ชื่อดังทางประวัติศาสตร์ เดินทางลัดเลาะชายฝั่งอ่าวไทยไปยังดินแดนแห่งความอุดมสมบูรณ์ในภาคตะวันออกซึ่งวันนี้เป็นที่รู้จักในชื่อ ‘ระยอง’ จังหวัดใหญ่ที่กลายเป็นเมืองอุตสาหกรรมสร้างรายได้หล่อเลี้ยงผู้คนบนถนนของความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่พัฒนาไม่หยุดยั้ง ครั้นเมื่อย้อนหลังไปในประวัติศาสตร์อันยาวนานก็พบร่องรอยหลักฐานของการเป็นชุมชนการค้าสำคัญ กระทั่งสร้างบ้าน แปลงเมือง เติบโตเป็นส่วนหนึ่งของรัฐและราชอาณาจักรไทยในวันนี้

และนี่คือส่วนหนึ่งของรายการ ‘ขรรค์ชัย-สุจิตต์ ทอดน่องท่องเที่ยว’ ตอน ‘ระยอง โยงโลกกว้าง เส้นทางแห่งความสุข’

เปิดไทม์ไลน์ชุมชนการค้าชายฝั่ง ‘อีอีซี’ 2 พันปีมาแล้ว

(อดีต) สองกุมารสยาม นัดพบหน้า ศาลเจ้าแม่หลักเมือง ริมฝั่งแม่น้ำระยอง ฝั่งตรงข้าม วัดบ้านค่าย ซึ่ง สุจิตต์ เช็กอินโลเกชั่นว่าเป็นพิกัดสำคัญที่สุดของความเป็นเมืองระยองในระยะเริ่มต้น

“เมืองนี้ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างโดดๆ แต่เกี่ยวข้องกับเมืองที่อยู่เหนือขึ้นไป คือเมืองพญาเร่ และเมืองพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี ซึ่งเก่าแก่กว่า ที่นี่เป็นเหมือนสถานีการค้าให้เมืองเหล่านั้นซึ่งอยู่ลึกเข้าไปข้างใน ระยองมีพัฒนาการเกิดขึ้นจากเมืองที่มีมาก่อนแล้วค้าขายทรัพยากรกับภายนอก ก่อตัวเป็นชุมชนการค้าชายฝั่งตั้งแต่ราว 2,000 ปีมาแล้ว คนดั้งเดิมมีทั้งกลุ่มชอง ซึ่งพูดภาษาตระกูลมอญ-เขมร และกลุ่มมลายู ซึ่งเปลี่ยนมาพูดภาษาไทยในภายหลัง เพราะเป็นภาษากลางทางการค้าของภูมิภาค แล้วกลายเป็นคนไทยในที่สุด” สุจิตต์กล่าว แล้วชวน ขรรค์ชัย เขยิบเข้าไปยังเรื่องราวของ ‘วังสามพญา’ ในวัดละหารไร่ซึ่งยังเหลือบ่อน้ำโบราณไว้เป็นหลักฐานของชุมชนเก่าแก่ในตอนบนของแม่น้ำระยอง นอกจากนี้จดหมายเหตุจีนก็เคยกล่าวถึงดินแดนแถบนี้ไว้ตั้งแต่ราว พ.ศ.1700

Advertisement
เอกภัทร์ เชิดธรรมธร, ขรรค์ชัย บุนปาน และสุจิตต์ วงษ์เทศ ที่ศาลเจ้าแม่หลักเมือง ใกล้วัดบ้านค่าย ริมแม่น้ำระยอง


“ชุมชนเก่าสุดของระยองเท่าที่พบหลักฐาน คือยุคก่อนอยุธยา แล้วพัฒนามาเรื่อยๆ จนมีชุมชนหนาแน่นบริเวณบ้านค่าย มีร่องรอยคูน้ำคันดินซึ่งคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากรเพิ่งเข้ามาสำรวจด้วยการสนับสนุนของ GC (บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)) ในโครงการเส้นทางแห่งความสุข พบพระพุทธรูปหินทรายสมัยทวารวดี

เพราะฉะนั้นความเป็นเมืองระยองที่เก่าสุดคือชุมชนวัดบ้านค่าย แล้วค่อยๆ ขยับขยายไปหาปากน้ำออกทะเล กลายเป็นเมืองใหญ่ ประกอบด้วยชุมชนคนจีนซึ่งพัฒนาขึ้นมาหลัง พ.ศ.1700 เพราะจีนเอาสำเภาออกมาค้าขายใหญ่โตแล้วมาหนุนสุพรรณภูมิ สุพรรณบุรี ยึดละโว้ออกจากเขมรเพื่อเป็นกรุงศรีอยุธยา”

ครั้นเข้าสู่สมัยอยุธยา มีหลักฐานโดดเด่นและงดงามยิ่ง นั่นคืออุโบสถวัดบ้านเก่า นอกจากนี้ ล่าสุด ผศ.ดร.ประภัสสร์ ชูวิเชียร อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี ม.ศิลปากร พร้อมทีมสำรวจภายใต้โครงการเส้นทางแห่งความสุข ของ GC ยังพบโบราณวัตถุล้ำค่า นั่นคือ ตู้พระธรรมสมัยรัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยมีจารึกระบุศักราชอย่างชัดเจน

Advertisement

เส้นทาง ‘พระเจ้าตาก’ จากพงศาวดาร ถึงข้อสันนิษฐานใหม่

มาถึงประเด็นที่มาของชื่อ ‘ระยอง’ ซึ่งขรรค์ชัย-สุจิตต์ บอกว่าเป็นชื่อดั้งเดิม พบหลักฐานเก่าสุดอยู่ในนิราศเมืองแกลง ของสุนทรภู่ โดยมาจากภาษา ‘ชอง’ ของกลุ่มชาติพันธุ์ที่พูดภาษาตระกูลมอญ-เขมร แปลว่า ‘ต้นประดู่’ ส่วนคำถามที่ถามกันมากอย่าง ‘สำเนียงระยอง’ อันเป็นเอกลักษณ์เปี่ยมเสน่ห์นี้มาจากไหน?

“สำเนียงระยอง เป็นสำเนียงหลวงของกรุงศรีอยุธยา ตรงกับสำเนียงโคราช สำเนียงตราด ระยอง ปราจีนฯ ตรงกันหมด ใครจะเถียง เถียงมา ไม่ว่าอะไร” สุจิตต์กล่าวตามสไตล์ ‘ท้ารบ’ ทางความคิดเช่นเคย

ขรรค์ชัย-สุจิตต์ เน้นย้ำความสำคัญของ ‘ประวัติศาสตร์การค้า’ ที่แบบเรียนไทยไม่ได้ให้ความสำคัญเท่าที่ควร ทั้งที่มีความสำคัญอย่างมาก เพราะช่วยให้เข้าใจการก่อเกิดของชุมชนจนพัฒนาสู่เมืองและรัฐขนาดใหญ่ ดังเช่นระยองซึ่งไม่ได้เพิ่งเป็นเมืองสำคัญทางเศรษฐกิจ หากแต่มีบทบาทในการค้ามาแต่ยุคโบราณ

“ระยองอยู่ริมอ่าวไทย ก็ต้องค้าขายทางทะเล ใช้เส้นทางออกจากปากน้ำเจ้าพระยา โดยไม่ได้ตัดตรงลงใต้ แต่ใช้วิธีเลียบชายฝั่งตะวันออก ลงไปยังเมืองตราด มุ่งหน้าหาลมมรสุม แล้วข้ามอ่าวไทยไปสุราษฎร์ธานี”

นอกจากนี้ ยังกล่าวเชื่อมโยงถึงความเป็น ‘พ่อค้า’ ของ ‘พระเจ้าตาก’ ซึ่งสุจิตต์เชื่อว่าทำให้พระองค์ทรงรู้จักเส้นทางนี้ พร้อมกันนั้นยังเปิดข้อสันนิษฐานใหม่ของ ศาสตราจารย์พิเศษศรีศักร วัลลิโภดม นักประวัติศาสตร์ชื่อดังผู้เป็นอาจารย์ของสุจิตต์-ขรรค์ชัยตั้งแต่ครั้งที่ทั้งคู่ยังเป็นนักศึกษาคณะโบราณคดีรั้วศิลปากร

“พระเจ้าตากตัดสินใจมาทางตะวันออกก็เพราะไปที่อื่นแล้วมีพม่า ทรงเป็นพ่อค้า เลยรู้จักเส้นทางนี้ ประเด็นที่น่าศึกษาสำหรับระยองตอนนี้ คืองานศึกษาของอาจารย์ศรีศักร ซึ่งในพระราชพงศาวดารที่เรียนมา ทุกคนก็รู้ว่าพระเจ้าตากออกจากอยุธยา ผ่านมาทางสระบุรี เข้าหินกอง ออกนครนายก มาถึงปราจีนบุรี ข้ามแม่น้ำปราจีนฯ ที่ด่านกบแจะ ถึงดงศรีมหาโพธิ์ ผ่านอำเภอศรีมโหสถ เข้าพนมสารคาม บางคล้า บางปลาสร้อย มาสัตหีบ และระยอง เลาะชายฝั่งมาตลอด

คำถามที่เกิดขึ้นคือ เมื่อมาถึงพนมสารคาม ทำไมต้องเลาะชายฝั่งเพื่ออ้อม ทั้งๆ ที่ตัดตรงได้ คือ จากพนมสารคามตัดมาระยองได้เลย โดยผ่านพนัสนิคม บ่อทอง บ้านค่าย ทะเลน้อย ไปจันทบุรี

แต่พงศาวดารซึ่งเขียนหลังการสวรรคตของพระเจ้าตากทำให้อ้อม เส้นทางที่อาจารย์ศรีศักรศึกษาและตั้งข้อสันนิษฐาน ควรเป็นเส้นทางจริง” สุจิตต์กล่าว แล้วทิ้งปมให้ขบคิดเพิ่มเติมในเรื่องราวของ ‘สังฆราชชื่น’ สมัยกรุงธนบุรี ซึ่งสันนิษฐานว่าเคยจำพรรษาอยู่ ณ ‘วัดราชบัลลังก์’ เมืองระยอง เนื่องด้วยปรากฏหลักฐานหลายอย่าง รวมถึงนิทานพระเจ้าตากซึ่งเล่าว่าทรงไปประทับที่พระแท่นที่วัดดังกล่าวด้วย

“เมื่อเปลี่ยนแผ่นดิน รัชกาลที่ 1 โปรดให้ไปชำระพระไตรปิฎก โดยดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดหงส์รัตนาราม ตู้พระธรรมที่วัดบ้านเก่า จะมีอะไรเกี่ยวกับสังฆราชชื่นหรือไม่ ไม่ทราบ แต่น่าจะเกี่ยวกับความรู้ของพระสงฆ์ในแถบนี้จำนวนมาก”

ศิลปะ โบราณคดี วิถีชุมชน
บน ‘เส้นทางแห่งความสุข’

มาถึงตรงนี้ จะเห็นได้ว่าจากหลากหลายหลักฐานใหม่ดังที่สุจิตต์-ขรรค์ชัยกล่าวถึงข้างต้น ถูกค้นพบจากการสำรวจภายใต้โครงการเส้นทางแห่งความสุข ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด หรือ ‘GC’ และมหาวิทยาลัยศิลปากร ตามนโยบายที่ให้ความสำคัญกับการดูแลสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม

โดยเฉพาะระยองซึ่งถือเป็นที่ตั้งฐานการผลิตหลัก โครงการนี้จึงถือกำเนิดขึ้นโดยมีเป้าหมายเพื่อเสริมสร้างแหล่งศิลปวัฒนธรรมอันทรงคุณค่า อีกทั้งสนับสนุนแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ต่อยอดองค์ความรู้มาประยุกต์ใช้ร่วมกันศึกษาวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้อย่างบูรณาการ

เอกภัทร์ เชิดธรรมธร พิธีกรรายการ เชิญสองกุมาร ขรรค์ชัย-สุจิตต์ พักสักครู่ แล้วพาแฟนๆ รายการแว่บไปดู ‘วัดโขดทิมทาราม’ อันงดงามด้วยศิลปะยุคปลายกรุงศรีอยุธยา สืบเนื่องต้นกรุงรัตนโกสินทร์ โดยนัดหมาย ปลื้มกมล แก้วทอง คนระยองแท้ๆ ที่วันนี้คือผู้ช่วยนักวิจัยใน โครงการคลังข้อมูลสารสนเทศ ศิลปวัฒนธรรมของจังหวัดระยอง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในโครงการเส้นทางแห่งความสุข โดยมุ่งเน้นศึกษาข้อมูลประวัติศาสตร์ โบราณคดี และวิถีชุมชน

ปลื้มกมลเล่าว่า หลายคนมองระยองเป็นเมืองอุตสาหกรรม หรือเมืองท่องเที่ยวชายทะเลที่มี ‘เกาะเสม็ด’ เป็นไฮไลต์ ทว่า แท้จริงแล้วระยองยังเป็นพื้นที่ซึ่งมากมายด้วยหลักฐานทางประวัติศาสตร์ อย่างวัดโขดทิมทารามแห่งนี้ ซึ่งมีพระอุโบสถสร้างขึ้นตามแบบอย่างศิลปะยุคอยุธยาตอนปลาย จิตรกรรมภายในแต่งแต้มด้วยเทคนิคยุคต้นรัตนโกสินทร์ สมัยรัชกาลที่ 3-รัชกาลที่ 4 เนรมิตภาพทศชาติชาดกแบบไทยประเพณี โดยมีตอนสำคัญคือ ‘เวสสันดรชาดก’

ผู้ช่วยนักวิจัยเลือดเนื้อเขื้อไขชาวระยองยังลงลึกถึงรายละเอียดว่า โครงการคลังข้อมูลสารสนเทศ ศิลปวัฒนธรรมของจังหวัดระยอง ซึ่งแบ่งเป็น 4 โครงการย่อย เพื่อศึกษาครอบคลุมด้านต่างๆ ได้แก่ 1.โบราณคดีและเส้นทางประวัติศาสตร์ 2.สถาปัตยกรรม 3.วิถีชุมชน 4.เอกสารโบราณ

การดำเนินการครั้งนี้ ทำให้ค้นพบสมุดข่อย หรือสมุดไทยเรื่อง ‘พระมาลัย’ สมัยอยุธยา ที่วัดโขดทิมทารามซึ่งเป็นหลักฐานสำคัญมาก เพราะในไทยพบสมบูรณ์เพียงเล่มนี้ ‘เล่มเดียว’ เท่านั้น โดยก่อนหน้านี้แม้เคยพบ แต่ก็อยู่ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ นี่จึงเป็นการค้นพบที่น่าตื่นเต้นอย่างยิ่ง ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการเตรียมนำออกเผยแพร่ในรูปแบบอื่นๆ ที่จะไม่ส่งผลกระทบต่อต้นฉบับซึ่งต้องได้รับการดูแลอย่างดี

“ทางโครงการยังลงพื้นที่ชุมชนยมจินดา เพื่อไปดูว่าในอดีตและปัจจุบันเป็นอย่างไร เราศึกษาทั้งประวัติศาสตร์ท้องถิ่น และต่อยอดเพื่อสนับสนุนการสร้างรายได้ให้ชุมชน เช่น บ้านหนองแฟบ ซึ่งชาวบ้านทำข้าวหลามเป็นสินค้าสำคัญ คณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ กับคณะมัณฑนศิลป์ จึงร่วมมือกันออกแบบบรรจุภัณฑ์ ถือเป็นโครงการที่ได้ความสุขทุกฝ่าย ทั้งชุมชนและผู้เดินทางมาท่องเที่ยว ซึ่งต้องขอบคุณจีซีที่เล็งเห็นถึงความสำคัญของพื้นที่ตรงนี้” ปลื้มกมลปิดท้ายด้วยรอยยิ้มแห่งความสุข

จากนั้น พิธีกรหนุ่มสวมเสื้อยืดที่ถักทอจาก ‘ขยะทะเล” สกรีนข้อความ ‘เรารักระยอง’ เดินทางไปเยี่ยมเยือนหลากชุมชนที่ GC เข้าไปส่งเสริมในด้านการตลาด อาทิ สวนพุทราบ้านคุณปู่ ซึ่งเป็นสวนเก่าแก่ยุคแรกของเทศบาลมาบตาพุด, วิสาหกิจชุมชนคลองน้ำหู ซึ่งสร้างสรรค์ ‘ผ้าหมักน้ำนมข้าว’ อันเลื่องชื่อด้วยความนุ่มนวล มีกลิ่นหอมธรรมชาติของน้ำนมข้าวแสนละมุน นอกจากนี้ยังแวะทักทายน้องๆ ที่โรงเรียนบ้านหนองแฟบ ซึ่งคณะจิตรกรรมเข้าไปทำเวิร์กช็อปประติมากรรมจาก ‘ขยะพลาสติก’ เป็นรูปกุ้ง หอย ปู ปลา สุดน่ารัก กระตุ้นการเรียนรู้สู่เด็กๆ ในชุมชนด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทางทะเล ซึ่งเป็นแนวคิดหนึ่งของโครงการเส้นทางแห่งความสุขเช่นกัน

สุขยั่งยืน ฟื้นแหล่งน้ำ ทำ ‘มิวเซียม’ ไม่ปิดกั้นความรู้ใหม่

ตัดฉากกลับมาที่สองผู้อาวุโสซึ่งมูฟไปที่ ‘ศาลเจ้าแม่รำพึง’ ปากอ่าวระยอง หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า ‘อ่าวแม่รำพึง’ เป็นที่เรียบร้อย

ภาพจากมุมสูงมองเห็นการถูกขนาบข้างโดยแม่น้ำและท้องทะเลกว้างไกล

สุจิตต์เล่าถึงความเชื่อเรื่องเจ้าแม่รำพึง เจ้าแม่ทับทิม เทพเจ้าของนักเดินเรือซึ่งเมื่อความเชื่อนี้เดินทางมาถึงประเทศไทยก็ถูกหลอมรวม ปรับเปลี่ยน กลายเป็นอย่างที่คุ้นหูกันทุกวันนี้ ก่อนมีบทสรุปน่าสนใจที่ว่า อ่าวไทย เชื่อมประเทศไทยสู่โลก ในขณะเดียวกันก็ ‘แม่ย่านาง’ ดึงโลกเข้าสู่ประเทศไทย ทะเลทำให้เกิดการคมนาคม นำวัฒนธรรมจากภายนอกเข้ามา กระทั่งสร้างบ้านแปลงเมืองเป็นรัฐและอาณาจักร

ด้าน ขรรค์ชัย ปิดท้ายด้วยข้อคิดเฉียบคมที่จะนำมาซึ่ง ‘ความสุข’ อย่างยั่งยืน โดยเน้นความสำคัญของ ‘แม่น้ำระยอง’ ที่ตอนนี้บางช่วงตื้นเขิน รกชัฏด้วยหญ้าและต้นไม้ หากเป็นไปได้ควรขุดลอกเพื่อคืนความอุดมสมบูรณ์อย่างที่เคยเป็น ในขณะที่ สุจิตต์ย้ำว่าหลักฐานใหม่ ข้อมูลใหม่ทางประวัติศาสตร์โบราณคดีที่ถูกค้นพบต้องได้รับการเผยแพร่สู่สาธารณะและ ‘เปิดใจ’ ไม่ปิดกั้นในยุคแห่งข้อมูลข่าวสารเช่นนี้ ไม่เพียงเท่านั้น ยังตั้งข้อสังเกตว่าในระยอง รวมถึงภาคตะวันออกยังไม่มี ‘มิวเซียม’ อย่างมาตรฐานสากลซึ่งเป็นสิ่งที่ควรได้รับการผลักดันให้เกิดขึ้นเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่จากรากเหง้าที่เรามี พูดง่ายๆ ว่า ‘ครีเอทีฟ อีโคโนมี’ จะเกิดได้ต้องมีอะไรให้ปิ๊งไอเดีย

เป็นอีกหนึ่งเส้นทางที่มากมายทั้งความสุขและความรู้ใหม่ๆ ที่ไม่มีวัน ‘เอาต์’ เพราะเป็นส่วนหนึ่งของรากเหง้าความเป็นไทยที่หลอมรวมความหลากหลาย สั่งสมวัฒนธรรมต่อเนื่องยาวนานมาจนถึงวินาทีนี้


ไฮไลต์หลักฐานใหม่ใน ‘เส้นทางแห่งความสุข’

ระหว่างการสำรวจทางโบราณคดีในจังหวัดระยองภายใต้ ‘โครงการเส้นทางแห่งความสุข’ ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างบริษัทพีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด หรือ ‘GC’ และมหาวิทยาลัยศิลปากร พบหลักฐานชิ้นใหม่ที่ล้ำค่ายิ่ง


ตู้พระธรรมลายรดน้ำ
วัดบ้านเก่ามีข้อความจดจารแจ่มชัดว่าสร้างขึ้นในรัชกาลที่ 1 ซึ่งไม่อาจพบโดยง่าย กลายเป็นการค้นพบครั้งสำคัญ

ประณีตอ่อนช้อยด้วยฝีมือ ‘ช่างหลวง’ ปรากฏภาพน่าสนใจอย่างการ ‘ปลงอสุภะ’ เชื่อมโยงธรรมชาติของชีวิตมนุษย์ในวังวนวัฏสงสารตามหลักการแห่งพระพุทธศาสนา อีกทั้งลายพันธุ์พฤกษาสุดงดงาม เป็นหนึ่งในโบราณวัตถุ ‘ชิ้นเอก’ อย่างแท้จริง

สมุดข่อย หรือสมุดไทยขาว เรื่อง ‘พระมาลัย’ เขียนขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา พบที่วัดโขดทิมทาราม เขียนด้วยอักษรขอม ภาษาบาลี แต่งแต้มอย่างประณีตด้วยจิตรกรรมแบบไทยประเพณี ลงบนพื้นผิวกระดาษอันบอบบางล้ำค่า

นับเป็นโบราณวัตถุชิ้นสำคัญ เนื่องจากเป็นการพบวรรณคดีเรื่องดังกล่าวเพียงเล่มเดียวในขณะนี้ที่เก่าแก่ถึงสมัยอยุธยาโดยก่อนหน้านี้แม้เคยมีการพบเรื่องพระมาลัยยุคกรุงเก่า ทว่า ต้นฉบับไม่ได้อยู่ในประเทศไทย แต่ถูกเก็บรักษาไว้ที่สวิตเซอร์แลนด์

ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการเตรียมนำออกเผยแพร่ในรูปแบบอื่นๆ ที่จะไม่ส่งผลกระทบต่อต้นฉบับซึ่งต้องมีการดูแลตามหลักวิชาการ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image