4 ชั่วโมงประวัติศาสตร์ เสด็จประพาส ‘สำเพ็ง’ 3 มิถุนายน 2489

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล และพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ครั้งดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช เสด็จประพาส "สำเพ็ง" เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน พุทธศักราช 2489

เป็นความปีติยิ่งของพสกนิกร โดยเฉพาะกลุ่มคนไทยเชื้อสายจีน เมื่อวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะเสด็จประพาสสำเพ็งในวันที่ 6 ธันวาคมนี้

ย่านดังกล่าว มีความเป็นมาอันยาวนาน นับแต่ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงปราบดาภิเษกและขึ้นครองราชย์ เมื่อ พ.ศ.2325

ทรงมีพระราชดำริให้ข้ามมาสร้างพระนครใหม่ทางคุ้งแม่น้ำเจ้าพระยาฟากตะวันออก ทว่าบริเวณที่โปรดฯ ให้สร้างพระบรมมหาราชวังเป็นที่อยู่ของ “พระยาราชาเศรษฐี” และชาวจีนจำนวนหนึ่ง จึงโปรดให้ชาวจีนกลุ่มนี้ย้ายไปตั้งหลักปักฐานบริเวณนอกประตูพระนครทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ขนานไปกับลำน้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่คลองวัดสามปลื้ม หรือวัดจักรวรรดิราชาวาส ไปจนถึงคลองวัดสามเพ็ง

ดังปรากฏหลักฐานใน “พระราชพงศาวดารฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์” ความตอนหนึ่งว่า

Advertisement

“ให้พระยาราชาเศรษฐี และพวกจีนย้ายไปตั้งบ้านเรือนอยู่ ณ ที่สวนตั้งแต่คลองวัดสามปลื้มไปจนถึงคลองวัดสามเพ็ง”

บ้านของชาวจีนเหล่านี้ นอกจากเป็นที่พักอาศัย ยังถูกใช้เป็นร้านรวงค้าขาย กระทั่งกลายเป็น “ย่านการค้า” สำคัญยิ่ง

ส่วนที่มาของชื่อ “สำเพ็ง” ที่เรารู้จักกันทุกวันนี้ มีหลากข้อสันนิษฐาน ซึ่งล้วนน่าสนใจทั้งสิ้น บ้างก็เชื่อว่า เพี้ยนมาจากคำว่า “สามเพ็ง” ซึ่งเป็นชื่อวัดและชื่อคลองที่อยู่ละแวกนั้น คนจีนในย่านเดียวกันชินกับการออกเสียงสั้น จึงทำให้จาก “สามเพ็ง” กลายเป็น “สำเพ็ง” บ้างก็ว่า มาจากคำจีนแต้จิ๋วว่า “สามเผง” แปลตรงตัวได้ว่า “ศานติทั้งสาม”นอกจากนี้ ยังมีข้อสันนิษฐานอันเชื่อมโยงกับลักษณะภูมิประเทศของย่านที่มีคลองขวาง 2 คลอง ได้แก่ คลองเหนือวัดสำเพ็ง และคลองวัดสามปลื้ม ทำให้ตัดแผ่นดินเป็นสามตอน หรือ “สามแผ่น” ต่อมาจึงเพี้ยนไปตามสำเนียงคนจีนกลายเป็น “สำเพ็ง” หรืออาจเพี้ยนมาจากคำว่า “สามแพร่ง” ที่เป็นลักษณะของภูมิประเทศเช่นกัน

Advertisement

หรือแม้กระทั่งเชื่อว่าเพี้ยนมาจากชื่อต้น “ลำเพ็ง” พืชตระกูลเฟิร์นชนิดหนึ่ง มีลักษณะคล้ายใบโหระพา ซึ่งเคยมีมากในบริเวณดังกล่าว

ในการเสด็จฯครั้งนั้น พ่อค้าจีนได้ทูลเกล้าฯ ถวายของมีค่าต่างๆ อีกทั้งเงินโดยเสด็จพระราชกุศล รวม 13,000 บาท ซึ่งนับว่ามากในยุคนั้นต่อมา โปรดฯ ให้ตั้งเป็น “ทุนพ่อค้าหลวง” และพระราชทานแก่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์

แม้ทุกวันนี้ ที่มาของชื่อสำเพ็งยังไม่เป็นที่ยุติ แต่สิ่งที่นักประวัติศาสตร์มองเห็นตรงกันคือการเป็นย่านการค้าของชาวจีนอันรุ่งเรือง และหลากหลาย ไม่เพียงจำหน่ายข้าวของ สินค้านานาชนิด แต่ยังเป็นแหล่ง “รับจ้าง” ต่างๆ นานา ตั้งแต่เรื่องเล็กๆ น้อยๆ อย่างปะชุนเสื้อผ้า ไปจนถึงรับจ้างเขียนจดหมายส่งกลับ “บ้านเกิด” ในเมืองจีน นับเป็น “ไชน่าทาวน์” ที่เปี่ยมสีสันและมีพัฒนาการตลอดมาจนถึงวันนี้

บนเส้นทางยาวไกลในประวัติศาสตร์ย่านสำเพ็งตลอดจนถึง “เยาวราช” มีเหตุการณ์สำคัญที่ถูกจดจารในความทรงจำไม่เพียงแต่ชาวไทยเชื้อสายจีน หากแต่รวมถึงพสกนิกรทุกหมู่เหล่า นั่นคือการเสด็จประพาสสำเพ็งของพระพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล ในหลวงรัชกาลที่ 8 และพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ 9 ครั้งดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระอนุชา เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน พุทธศักราช 2489 โดยเป็นเหตุการณ์ที่ช่วยพลิกสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างชาวไทยและชาวจีนในห้วงเวลานั้น ซึ่งส่อเค้าลุกลามบานปลายให้กลับกลายเป็นความสันติด้วยพระบารมีของทั้ง 2 พระองค์ หลังจากเกิดการลุกฮือก่อจลาจลโดยชาวจีนในไทยครั้งสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 เนื่องด้วยความไม่พอใจในท่าทีของรัฐบาลสยาม เพราะเกลียดชังญี่ปุ่น

ชาวจีนในสำเพ็ง เยาวราช ราชวงศ์ ประดับธงชาติจีน หยุดงาน ปิดร้านรวง ไปจนถึงก่อเหตุวิวาทกับคนไทยจนทางการต้องส่งกำลังเข้าระงับเหตุ

เป็นความขัดแย้งร้าวลึก ส่อเค้าบานปลายจนน่าหวาดหวั่น

ในหลวงรัชกาลที่ 8 และสมเด็จพระอนุชา ตัดสินพระทัยเสด็จฯ ประพาสสำเพ็ง อันเป็นพื้นที่ขัดแย้งหลัก “พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก” เรียบเรียงข้อมูลในรายละเอียดตรงนี้ไว้ว่า การตัดสินพระทัยในขั้นต้น ได้รับการทักท้วงเพราะรัฐบาลเกรงว่าจะไม่ปลอดภัย แต่ทรงมีรับสั่งให้สำนักราชเลขานุการในพระองค์ แจ้งยืนยันให้รัฐบาลทราบ เพราะทั้งรัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 6 ก็เคยเสด็จพระราชดำเนินมาแล้ว

เมื่อชาวจีนในสำเพ็งได้ทราบข่าวอันน่ายินดีนี้ ต่างได้ร่วมแรงร่วมใจเตรียมสถานที่รอรับเสด็จ

พสกนิกรเฝ้ารับเสด็จเนืองแน่น มีการจัดสร้างซุ้มประตูปรากฏข้อความอักษรจีน และไทยว่า “ขอให้ทรงพระเจริญ”

3 มิถุนายน 2489 เวลา 9 นาฬิกา ล้นเกล้าทั้ง 2 พระองค์เสด็จพระราชดำเนินถึงสำเพ็ง นายกเทศมนตรีพระนคร เป็นผู้ถวายบังคมทูลเบิกผู้รักษาการแทนนายกสมาคมพาณิชย์จีน เข้าเฝ้าฯ

ทั้ง 2 พระองค์เสด็จฯ ทอดพระเนตรชีวิตความเป็นอยู่ของชาวสำเพ็ง ชาวสำเพ็งได้จัดสร้างซุ้มรับเสด็จถึง 7 ซุ้ม ตลอดระยะทาง 3 กม.ในเวลา 4 ชั่วโมง

มีการจัดตั้งโต๊ะหมู่บูชา และประดับธงไตรรงค์ดูสวยงาม โดยที่ตลอดสองข้างทางมีคนจีนที่อาศัยในย่านนั้นเดินทางมาเฝ้าฯ

ประดับประดาย่านสำเพ็งอย่างงดงามด้วยดอกไม้สด ธงทิว ผ้าแพรพรรณ และเครื่องลายคราม

ในระหว่างเสด็จพระราชดำเนิน บรรดาพ่อค้าชาวจีนได้ทูลเกล้าฯ ถวายของมีค่า เช่น เครื่องกระเบื้อง และสิ่งของที่ทำด้วยหยก รวมทั้งถวายเงินโดยเสด็จพระราชกุศล รวม 13,000 บาท ซึ่งนับว่าเป็นเงินจำนวนมากในสมัยนั้น ต่อมาโปรดเกล้าฯ ตั้งเป็นทุนพ่อค้าหลวง และพระราชทานแก่ รพ.จุฬาลงกรณ์ เพื่อให้เก็บดอกผล สำหรับรักษาพยาบาลผู้ป่วยที่ยากไร้

ครั้นเมื่อเสด็จฯจนสุดย่านสำเพ็งแล้ว ทั้ง 2 พระองค์ ยังได้เสด็จฯเยือนสถานที่สำคัญในย่านใกล้เคียง ได้แก่ รพ.เทียนอัน สมาคมพาณิชย์จีน ที่สาทร ทรงเสวยพระกระยาหารกลางวันที่ทางสมาคมจัดถวาย แล้วเสด็จฯเยี่ยมมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง และ รพ.หัวเฉียว ก่อนเสด็จพระราชดำเนินกลับในช่วงเย็นวันดังกล่าว

นับเป็นเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ ที่พลิกสถานการณ์จากความร้อนรุ่ม สู่ความฉ่ำเย็นด้วยน้ำพระทัยอันยิ่งใหญ่ ตราตรึงในใจพสกนิกรภายใต้พระบรมโพธิสมภาร จากอดีตจวบจนปัจจุบัน มิเสื่อมคลาย

สำเพ็ง เยาวราช ย่านจนจีนเก่าแก่ที่มีความเป็นมายาวนานตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นย่านการค้าสำคัญตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image