คอลัมน์ เล่าเรื่องหนัง : Billionaires, Explained ชนชาติ ‘เศรษฐีพันล้าน’

ภาพประกอบจาก Youtube Video / Netflix

หากนำทรัพย์สินของเศรษฐีพันล้านทั่วโลกในวันนี้ที่มีจำนวนหยิบมือ หรือราวกว่า 2,000 คน จากทั้งโลกมารวมเงินกันแล้วก่อตั้งประเทศขึ้นมาสักหนึ่งประเทศ นั่นจะเป็นประเทศ “Billionaire Nation” หรือ “ประเทศที่ร่ำรวยที่สุดในโลก” เป็นอันดับ 8 เลยทีเดียว ตามหลังสหรัฐอเมริกา จีน ญี่ปุ่น เยอรมนี อังกฤษ ฝรั่งเศส และอิตาลี ขณะเดียวกัน “ประเทศเศรษฐีพันล้าน” นี้ จะมีความมั่งคั่งมากกว่าแคนาดาทั้งประเทศเสียด้วย

นี่คือสถิติที่ถูกเล่าไว้ได้อย่างเห็นภาพชัดเจน ในซีรีส์สารคดีชุด Explained ตอน “Billionaires” หรือ “เศรษฐีพันล้าน” ซีรีส์สารคดีข่าวที่สร้างโดย Vox สำนักสื่อ-คอนเทนต์ออนไลน์ชั้นนำของสหรัฐอเมริกา โดยตัวซีรีส์สารคดีสร้างออกมาแล้ว 2 ซีซั่น คาดว่าจะมีการผลิตออกมาอย่างต่อเนื่อง โดยเอกลักษณ์ของซีรีส์ชุด Explained คือการเลือกเล่าและอธิบายถึงเรื่องราวที่อยู่ในกระแสทั้งด้านวัฒนธรรม เศรษฐกิจ สังคม การเมือง ปรัชญา และเทรนด์ของโลก

หนึ่งในตอนที่จะขอหยิบยกมาเล่าถึง คือ ตอนที่ชื่อว่า “Billionaires” ที่ต้องการไขความกระจ่างว่าทำไมจำนวน “เศรษฐีระดับพันล้านเหรียญสหรัฐ” จึงเพิ่มปริมาณขึ้นในอัตราเร่งอย่างรวดเร็วทั่วโลก

Advertisement

ย้อนไปดูสถิติตั้งแต่ปี 1987 ทั่วโลกมีเศรษฐีพันล้านประมาณ 140 คน กระทั่งปี 2019 ทั้งโลกมีเศรษฐีพันล้านเพิ่มขึ้น 15 เท่า หรือประมาณ 2,153 คน โดยความมั่งคั่งนี้นับรวมแล้วทั้งหมดเป็นมูลค่ามากถึง 9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ

หากพิจารณาเฉพาะทำเนียบมหาเศรษฐีในสหรัฐอเมริกา ซึ่งถือเป็นประเทศที่มีเศรษฐีจำนวนมากที่สุดในโลก ก่อนเพิ่งถูกจีนขึ้นแซงหน้าไปเมื่อเร็วๆ นี้ จะพบว่าวิวัฒนาการมหาเศรษฐีของสหรัฐ มียุคที่เรียกขานบรรดาเศรษฐีพันล้านในอดีตว่า ยุค “Gilded Age” หรือ “ยุคทองชุบ” เป็นยุคที่เศรษฐีพันล้านสร้างความร่ำรวยด้วยธุรกิจของตัวเอง ผสมด้วยเส้นสายทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็น “จอห์น ดี ร็อกเกอเฟลเลอร์”, “แอนดรูว์ คาร์เนกี” ที่หากประเมินสินทรัพย์ของพวกเขาในยุคนั้นเทียบกับค่าเงินดอลลาร์ในปัจจุบันนี้ กับทรัพย์สินของ “เจฟฟ์ เบโซส” มหาเศรษฐีรวยอันดับหนึ่งของโลกขณะนี้ จะพบว่าเศรษฐียุคทองชุบรวยกว่าเศรษฐีที่รวยที่สุดของโลกวันนี้กว่า 2 เท่า

“เจฟฟรีย์ ซาทช์” นักเศรษฐศาสตร์ ให้ความเห็นว่า เหตุที่ทำให้ความร่ำรวยของสหรัฐพุ่งพรวดในยุคนั้น เกิดจากการขยายตัวของเศรษฐกิจในระดับทวีปเป็นครั้งแรก และความรุ่งเรืองที่เกิดขึ้นจากบริษัทขนาดใหญ่ที่ก่อสร้างทางรถไฟเส้นทางใหม่ๆ นับแสนไมล์ที่เชื่อมทวีปถึงกันเป็นครั้งแรก ซึ่งนั่นช่วยเปลี่ยนสหรัฐเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ เช่นเดียวกับเศรษฐีพันล้านมาแรงในยุคนี้ก็เพราะเศรษฐกิจที่เติบโตในระดับโลกเช่นเดียวกัน ตัวอย่างที่เห็นชัดในยุคสมัยนี้ คือ ความร่ำรวยของจีนที่มีเศรษฐีใหม่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

Advertisement

ทว่าการมีเศรษฐีใหม่เกิดขึ้นได้ง่าย ไม่น่าตื่นตะลึงเท่าเศรษฐีเหล่านี้สามารถขยายความมั่งคั่งออกไปได้อย่างไม่สิ้นสุด

วิธีการต่อยอดความมั่งมีโดยมากคือการสะสม “หลักทรัพย์” ไม่ว่าจะเป็นหุ้น อสังหาริมทรัพย์ พันธบัตร ลิขสิทธิ์ ที่มีแต่จะทวีคูณไปอีก

ในอดีตเศรษฐียุคทองชุบ ใช้วิธีควบรวมกิจการต่างๆ เป็นกองทรัสต์ก็ยิ่งทำให้ทรัพย์สมบัติงอกเงยมากขึ้น ส่วนเศรษฐียุคใหม่นอกจากสะสมหลักทรัพย์ อย่างอสังหาริมทรัพย์ราคาสูงที่อยู่ในทำเลแพงระยับแล้ว ไม่กี่ปีมานี้ทั้งโลกได้รู้เรื่องราวจาก “เอกสารปานามา” ที่รั่วไหลออกมา จนพบว่าบรรดาเศรษฐี เซเลบริตี้ ผู้มีอิทธิพลหลายคนใช้วิธีนำเงินไปหลบเก็บไว้นอกประเทศผ่าน “ช่องว่าง” ทางกฎหมาย หรือกฎหมายบางพื้นที่ที่เอื้อให้ทำแบบนั้นได้ บ้างก็หาวิธีที่จะกันเงินออกไปเก็บในบัญชีธนาคารนอกประเทศเพื่อเลี่ยงภาระภาษี

ที่น่าสนใจคือในสารคดีนี้ อ้างอิงถึงการที่อภิมหาเศรษฐีสามารถใช้เงินซื้ออสังหาริมทรัพย์ราคาสูงแบบปิดบังอำพรางตัวได้ โดยเป็นการซื้อผ่านบริษัทเอกชน หรือกองทรัสต์ ซึ่งมักยอมให้ผู้ซื้อไม่ต้องเปิดเผยตัว

แน่นอนว่าวิธีอำพรางต่างๆ นานาทำให้กรณีที่มีการเปิดเผยการจัดอันดับ “ทำเนียบเศรษฐีโลก” แท้จริงอาจไม่ใช่ข้อมูลที่ถูกต้องอย่างสมบูรณ์ เพราะใช้วิธีตรวจสอบโดยอ้างอิงจากข้อมูลที่ “เปิดเผยสาธารณะ” เช่น หาจำนวนหุ้นในบริษัทมหาชน คูณราคาหุ้น เพื่อดูมูลค่า แต่ข้อเท็จจริงมีผู้คนมากมายในโลกที่ร่ำรวยจากแหล่งอื่น และบางรายก็ร่ำรวยโดยที่ไม่ได้มีบริษัทอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ จึงมีความเป็นไปได้ว่าวันนี้ เราประเมินมูลค่าความมั่งคั่งในโลกนี้ต่ำเกินไป บรรดามหาเศรษฐีพันล้านจำนวนหนึ่งจึงน่าจะมีสินทรัพย์มากกว่าที่ปรากฏอยู่บนหน้าสื่อที่มีรายงานกันด้วยซ้ำ

แล้วโลกรับมือกับความร่ำรวยสุดมหาศาลนี้อย่างไร?

ในสหภาพยุโรป มีการขึ้นบัญชีดำแหล่งเลี่ยงภาษีทั่วโลก แต่ไม่มีใครรู้ว่าจะได้ผลหรือไม่ ส่วนในสหรัฐ นักการเมืองฝ่ายซ้ายเริ่มผลักดันให้เก็บภาษีคนรวยสูงกว่าเดิมมาก

เช่นเดียวกับ “วอร์เรน บัฟเฟตต์” มหาเศรษฐีผู้มีสินทรัพย์กว่า 8.2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ก็ยังยอมรับว่าระบบภาษีเอียงเข้าข้างคนรวย และถอยห่างจากชนชั้นกลาง ซึ่งเขาเห็นด้วยที่ควรจะต้องคุยเรื่องนี้กันจริงจัง

สารคดี “Billionaires” ได้ตอบคำถามที่ว่าทำไมคนรวยจึงมีแต่มั่งคั่งขึ้นอย่างไม่หยุดยั้งจนเป็นอนันต์ไม่รู้จบ มูลค่าทรัพย์สินที่คนรวยเหล่านี้มีนั้น “มหาศาลจนน่าเหลือเชื่อ”

แล้วโลกจะอยู่กับความมั่งคั่งในทิศทางไหน?

คำตอบมีหลากหลาย ตั้งแต่มันคือสัญลักษณ์ของความไม่เท่าเทียม ระบบโครงสร้างที่รั่วไหล หรือแม้แต่จะเป็นสัญลักษณ์ของความดี ความชั่ว ความเมตตาก็ย่อมได้

นักเศรษฐศาสตร์บางคนอาจมองถึงหลักปรัชญาของ “ความมั่งคั่ง” ว่าเราจะวัดว่า “ความรวย” เป็นความดีหรือความชั่วกันแน่ ต้องดูที่ “วิธีการ” ที่ทำคุณร่ำรวยว่ามาจากความยากลำบากของคนอื่นหรือคุณสร้างความร่ำรวยด้วยการสร้างสินค้าดีๆ เพื่อคนอื่นในสังคมออกมา

แต่ไม่ว่าจะตีความหมายความร่ำรวยไว้อย่างไร “เบอร์นี แซนเดอร์” วุฒิสมาชิกฝ่ายซ้ายจากพรรคเดโมแครต ผู้พยายามต่อสู้ผลักดันแก้ปัญหาความไม่เสมอภาคทางเศรษฐกิจมาตลอดช่วงชีวิต สรุปไว้ชัดเจนว่า

“ผมไม่กังวลกับตัวบุคคล (คนรวย) แต่ระบบต่างหากที่เอื้อให้เกิดรายได้มหาศาล และความร่ำรวยที่ไม่เท่าเทียมนี้”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image